Wednesday, July 21, 2010

Strategies to Questing for Top Talents in the Next Decades

ท่านรู้สึกไหมว่าทุกสิ่งรอบตัวท่านกำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เรื่องโลกร้อน หรืออากาศเป็นพิษ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกภาคส่วน ทั้งการทำธุรกิจ การศึกษา พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ การแข่งขัน สาเหตุหนึ่ง เกิดจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานจัดให้มีการประชุมทางวิชาการนา ๆ ชาติ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชน มีเรื่องมาฝากสองสามเรื่อง ในการเสวนากลุ่มของนักอุตสาหกรรม วิทยากรหลายท่านมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อความอยู่รอดในสิบปีข้างหน้า ธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข่าวดี โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพราะท่านตั้งเป้าว่า อยากให้ประเทศไทยเพิ่มการใช้จ่ายเพื่องานวิจัยและพัฒนา จากเดิม มีเพียงประมาณร้อยละ 0.25 ของ GDP เป็นร้อยละ 1.0  ข่าวร้าย คือ จะมีการแข่งขันชิงนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรมือดี รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเหมือนประเทศอื่น ๆในโลกว่า จากวันนี้ไป การเพิ่ม Demand side ด้าน Knowledge workers จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ Supply side มีแนวโน้มลดลง หรือไม่เพิ่มเลย

ในอีกมุมหนึ่ง นักการศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป สืบเนื่องจากการเติบโตและแพร่กระจายของสื่อสังคม และอินเทอร์เน็ต เด็กรุ่นใหม่ เข้าสังคมมากขึ้น เปิดเผยมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเรียนการสอนจำเป็นต้องปฎิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับอุปนิสัยใจคอของเยาชนรุ่นใหม่ ที่สำคัญคือ ความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มคนรุ่นใหม่น้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ ที่แย่อยู่แล้ว ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ทั้งสองเรื่องที่กล่าว จะมีผลทำให้การสรรหานักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ฝีมือดี ยากขึ้น  พวกเราต้องเริ่มหาทางแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินแก้
เมื่อสองปีก่อน Delloitte ได้สังเกตว่าผลประกอบการของธุรกิจอเมริกัน ทดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ เศรษฐกิจในภาพรวมได้เริ่มฟืนตัว และเมื่อวัดผลของ Return on Asset ก็ไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้น Delloitee ตัดสินใจทำโครงการสำรวจเพื่อศึกษาหาสาเหตุ ให้เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หวังว่า จะสามารถหาทางเปลี่ยนทิศทาง ให้ธุรกิจกลับฟืนสู่สภาพปกติได้ โครงการที่กล่าวคือ "Shift Index"
Delloitte ได้ตีพิมพ์รายงานภายใต้หัวข้อ Big Shift ชี้ให้เห็นว่า โลกเรากำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ จากเดิมที่มีเสถียรภาพ มาอยู่ในฐานะที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ความไม่แน่นอนเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่คนเรายังไม่เข้าใจมากนัก แต่พื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญ การศึกษาพาไปสู่การกำหนดตัวชี้วัดสามกลุ่ม เรียกเป็นคลื่นสามลูก ได้แก่ Foundation Wave, Flow Wave, และ Impact Wave

Foundation Wave เป็นเรื่องวัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้งพื้นฐานของการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหลัก ราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงเรื่อย ๆ ความเร็วของการสื่อสารที่มีความเร็วสูงขึ้น รวมทั้งเท็คนิคการบริการไอซีทีแบบเบ็ดเสร็จที่ผู้ใช้ไม่ต้องลงทุนใด ๆ เป็นเหตุให้ธุรกิจทุกขนาด ทุกระดับสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เกิดการเชื่อมโยงกันเพื่อทำธุรกิจร่วมกันได้ทั่วทั้งโลก
Flow Wave เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทรัพยากร มีทั้งองค์ความรู้ เงินทุน และทรัพยากรมนุษย์ อย่างเป็นอิสระบนเครือยข่ายอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคม องค์ความรู้ซึ่งป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตสินค้าและบริการ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ต้องการทำงานแบบอาชีพอิสระ มีการเคลื่อนย้ายอยู่ทั่วไป ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
Impact Wave คือผลที่เกิดจากคลื่นสองลูกแรก เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ได้กล่าวนำมาแล้วข้างต้น และเป็นเรื่องที่เราจะพูดกันต่อไป

ทั้งหมดที่ได้พูดมา กำลังชี้ประเด็นว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า จะเกิดการขาดแคลน Knowledge worker โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกร และนักเทคโนโลยี เพราะ Demand จะเพิ่ม ในขณะที่ Supply มีโอกาสที่จะลดลง นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานของ Knowledge workers ที่ต้องการทำงานเป็นอิสระ เริ่มมีการเคลื่อนย้าย ไม่ชอบทำงานประจำ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ มีมาตรการแก้ไขอย่างไร บริษัทที่ต้องพึ่งพานักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยอย่างเช่น Lockheed Martin คาดว่า ในปี 2018 นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของเขากว่าครึ่งหนึ่งจะครบกำหนดเกษียณอายุ  ในขณะที่มหาวิทยาลัย UCLA รายงานผลการสำรวจนักศึกษาเริ่มเข้าเรียนว่า มีเพียงร้อยละ 7.5 ที่ต้องการเลือกอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเมื่อเรียนจบ เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 1970ซึ่งส่อเค้าให้เห็นปัญหาที่กล่าวกำลังเกิดขึ้นจริง
กลับมาดูประเทศไทย สวทช ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนักวิจัยในปี 2009 ประมาณ 1,700 คน กลุ่มใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 31-40 ซึ่งจะครบกำหนดเกษียณอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า และ ณ วันนั้นนักวิจัยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen X/Y/Z หรือ Millennial หรือ Net Gen ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของ IDC ที่ได้สรุปว่า ภายในปี 2020 พนักงานที่เป็น Knowledge worker ประมาณร้อยละ 40 จะเป็นกลุ่ม Net Gen ที่ใช้ ICT เป็นประจำ IDC เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Hyperconnected เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อสังคมเป็นเวทีติดต่อสื่อสาร ทำงานและดำเนินชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพื่อจะได้สามารถบริหารคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล
คนรุ่นใหม่ชอบอะไร คนรุ่นใหม่ชอบอยู่ในสังคมที่มีความคิดอ่านคล้ายคลึงกัน เรียนรู้จากกันและกัน ชอบความท้าทาย เขาต้องการสร้างสรรค์ในสิ่งที่อาศัยความรู้ใหม่ที่เรียนด้วยตนเอง เรียนจากเพื่อน ๆ เรียนจากเครือข่ายสังคม คนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานภายใต้ความกดดัน ไม่ชอบทำงานอยู่ในกรอบที่มีชี้วัด คนรุ่นใหม่ต้องการงานที่ มีโจทย์ที่ชัดจัด ให้ความไว้วางใจ ปล่อยให้เขาเลือกทีมงานที่เข้ากันได้จากภายในและภายนอก ให้บริหารจัดการงานเอง

ปัญหาจริงของชีวิตในวันพรุ่งนี้ คือการแข่งขันแย่งชิงคนที่มีฝีมือ ซึ่งมีจำนวนจำกัด ที่กระจายอยู่ทั่วโลก และมีวิถีการทำงาน และพฤติกรรมการทำงาน ตลอดจนแนวคิดในการดำเนินชีวิต แตกต่างจากคนรุ่นก่อน องค์กรไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ให้ตามสมัย การสรรหาบุคลากรที่เป็นที่มีฝีมือ ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ที่รับผิดชอบทรัพยากรมนุษย์อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ขององค์กรที่มีความสำคัญมาก การแข่งขันเพื่อให้ได้คนที่มีทักษะและความรู้ที่ต้องการกลายเป็น Business priority อย่างน้อย องค์กรต้องมีนโยบายที่จะสร้าง Talent pool เพื่อ (1) พัฒนากลุ่มที่มีความสามารถตามความต้องการ (needed talent), (2) มีการฝึกอบรมบุคลากรที่มีอยู่ให้เข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง (retrain existing talent)  และ (3) มีนโยบายดึงดูดคนที่มีความสามารถให้สนใจที่จะร่วมทำงานด้วย นโยบายที่กล่าวนำไปสู่ยุทธศาสตร์อย่างน้อยดังนี้

  1. ให้องค์กรเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคม  เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่ทำงานระดับ Knowledge workers จะเป็นสมาชิกของเครือข่ายสังคมค่ายใดค่ายหนึ่ง หรือหลายค่ายมากขึ้น คนกลุ่มนี้จะกินอยู่กับเครือข่ายสังคมมากขึ้นทุกวัน คนรุ่นใหม่นี้คาดหวังว่าองค์กรที่ทำงาน จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคมด้วย พวกเขาต้องการให้องค์กรมีเวทีที่ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับคนทำงาน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม พวกเขาเชื่อว่า การเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายสังคมจะทำให้เกิดความโปร่งใส และเปิดกว้าง รู้ปัญหาระหว่างกัน ไม่ปิดบังกัน ทำงานร่วมกันด้วยความไว้วางใจกัน คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานกับองค์กรลักษณะนี้
  2. สรรหาคนทำงานจากเครือข่ายสังคม การศึกษาข้อมูลของผู้สมัครงาน และสอบสัมภาษณ์ไม่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจเราจะเลือกถูกคน ถ้าการสรรหาคนประเภท Knowledge worker มีการวางแผนตั้งแต่ต้น เราสามารถเสาะหาผู้สมัครได้จากเครือข่ายสังคม ติดตามพฤติกรรมได้จากการอ่าน Blog หรือข้อความที่ได้ Post ไว้ในเว็บ หรือแม้กระทั่งติดตามกิจกรรมที่พวกเขาทำอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายสังคม หรือแม้กระทั่งหาโอกาสปฎิสัมพันธ์ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การ Chat การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก Posting ทำให้เราเรียนรู้อุปนิสัยใจคอ พฤติกรรม ตลอดจนความรู้และทักษะของผู้สมัครได้ระดับหนึ่ง การเป็นพันธมิตรกัน ระหว่างผู้สมัครกับองค์กรผ่านเครือข่ายสังคม ทำให้เกิดความไว้ใจกัน ทำให้เราสามารถได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคนในระดับลึกได้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจคัดเลือกเพื่อการว่าจ้างต่อไป ในขณะเดียวกัน ผู้สมัครก็มีโอกาสเข้าใจและใกล้ชิดกับองค์กรก่อนที่จะตัดสินใจรับข้อเสนอขององค์กร การสรรหาบุคลาการผ่านเครือข่ายสังคมได้กลายเป็นวิธีที่มีผู้นิยมใช้เพื่อสรรหาบุคลากรมากขึ้น
  3. ใช้เทคนิคการตลาดยุคใหม่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการคัดเลือกมาทำงานด้วย การตลาดยุคใหม่ให้ความสำคัญกับโฆษณาน้อยลง แต่ใช้การปฎิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น อาศัยเทคนิคเรียกว่า Information Symmetry หมายถึงพยายามให้ข้อมูลแก่กลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง และจุดที่เป็น Corporate value เพื่อสร้างความไว้วางใจให้แก่ลูกค้าอย่างเปิดกว้าง เราสามารถใช้เทคนิคเดียวกันในการเรียกความสนใจเบื้องต้นจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Candidates ที่วันหนึ่งเขาอาจสนใจมาทำงานให้กับเรา
  4. ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสามารถทำงานร่วมกับคนภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญที่ต้องการ มีแนวโน้มว่า คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางต้องการทำงานเป็นอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น คนกลุ่มหนึ่งอาจมาแบบตัวคนเดียว หรือรวมกลุ่มตั้งเป็นบริษัทเล็ก ๆ เพื่อรับงานเป็นโครงการ คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่สำคัญ ถ้าเราเรียนรู้วิธีที่จะยอมรับ และทำงานร่วมกัน ยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่เป็นการ Outsource งานให้คนอื่น เพราะ Outsourcing ในอดีตเน้นการลดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ทำให้เกิดผลในเชิงนวัตกรรมหรืองานสร้างสรรค์ แต่การทำงานกับความชำนาญจากภายนอก (External Specialization) เป็นเรื่องของการร่วมทำงานกับคนที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางที่องค์กรไม่มี หรือไม่เพียงพอ หรือการนำนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่ได้ทำมาแล้ว มาต่อยอด ภายใต้ความคิดที่ว่า งานสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องทำด้วยตนเองทั้งหมด และเราเชื่อว่า งานสร้างสรรค์ต้องทำด้วยบุคคลที่มีความรู้และทักษะหลากหลายที่มีอยู่นอกองค์กรของเรา มากกว่าที่เรามีในองค์กร การปรับวัฒนธรรมและระเบียบองค์กรเพื่อใช้ประโยชน์จากความชำนาญภายนอก จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ควรพิจารณา

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น คือประเด็นที่ผมไปพูดในงาน PICMET'10 Conference ภายใต้ Theme "Technology Management for Global Economic Growth" ที่ภูเก็ตสองวันที่ผ่านมา จึงขอ Share กับท่านผู้อ่านที่สนใจ PICMET หรือ Portland International Center for management of Engineering and Technology มีภารกิจที่ตรงกับชื่อ ท่านสามารถเรียนรู้รายละเอียด PICMET ได้ที่เว็บไซท์นี้

No comments:

Post a Comment