Friday, August 31, 2012

แนวทางตัดสินใจเลือกชนิดของบริการคลาวด์


วิธีใช้คอมพิวเตอร์และไอซีทีในลักษณะบริการแบบสาธารณูปโภค (Utility)ได้รับความนิยมมากขึ้น การตัดสินใจเลือกใช้ชนิดบริการคลาวด์เป็นประเด็นที่ผู้บริหารต้องตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ บนพื้นฐานของความเหมาะสมในบริบทของแต่ละองค์กรที่ต่างกัน องค์กรส่วนใหญ่ทุกวันนี้ มีศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ให้บริการคอมพิวเตอร์และไอซีทีของตนเอง ภายใต้การบริหารจัดการของตนเองเป็นส่วนใหญ่ การจะเปลี่ยนแปลงไปใช้บริการคลาวด์แทน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ มีเหตุมีผลที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรต้องเข้าใจและยอมรับ และต้องทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่ดีที่สุด ให้ทำเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ไอซีทีระยะสั้นและปานกลางขององค์กร และต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กรด้วย (IT Strategy-Business Strategy Alignment) 

              จากนี้ไป องค์กรมีทางเลือกใช้บริการคอมพิวเตอร์จากสามแหล่ง คือ ใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ของตนเอง ใช้บริการคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) และใช้บริการคลาวด์สาธารณะ (Pubic Cloud) แต่แนวโน้มที่เห็นชัดเจน องค์กรจะใช้บริการทั้งสามชนิดปนกัน เรียกว่าใช้บริการคลาวด์แบบผสมผสาน หรือ Hybrid Cloud Service ซึ่งจะเป็น Enterprise Computing Environment รูปแบบใหม่ การตัดสินใจเลือกใช้บริการปนกันได้อย่างเหมาะสมกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับผู้บริหาร บทความตอนนี้จะแนะนำวิธีผสมชนิดบริการให้เหมาะสม แต่ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกับการบริการแต่ละชนิดให้ตรงกันก่อน 

1.          การใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ของตนเอง
ศูนย์คอมพิวเตอร์รูปแบบเดิม เป็นศูนย์บริการแบบเอนกประสงค์ (General purpose data center) คือให้บริการคอมพิวเตอร์ทุกอย่าง เบ็ดเสร็จภายในตัว ตั้งแต่บริการพัฒนาระบบงาน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาทั้งระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง และระบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง ให้บริการการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายทุกระดับ รับผิดชอบการบำรุงรักษา แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ทางด้านเทคนิค ตลอดจนการวางแผนการใช้ไอซีทีขององค์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กร
งานที่ใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ มีทั้งงานประเภท Core application เช่นระบบซื้อขาย ระบบบริหารลูกหนี้เจ้าหนี้ ระบบรับชำระเงิน รวมทั้งระบบบริหารทรัพยากรองค์กรอื่น ๆ (Enterprise Resource Management) ระบบบริหารการผลิต การบริการห่วงโซ่อุปทาน ระบบเหล่านี้ เป็นจุดกำเนิดของข้อมูลเหลักขององค์กรที่เกี่ยวข้องข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลสินค้า ข้อมูลด้านการเงิน และข้อมูลเกี่ยวกับพันธมิตรอื่น ๆ นอกจากงานหลักขององค์กรตามที่กล่าว ยังมีงานด้านบริหารอื่น เช่นระบบบริหารบุคคล ระบบลูกค้าสัมพันธ์ ระบบสื่อสารภายในและภายนอก เช่นระบบอีเมล์  ระบบสารบรรณ ระบบบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบเว็บไซท์ ฝ่ายพัฒนาระบบงาน ยังใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดสรรทรัพยากรคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพื่อการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และทดสอบระบบซอฟต์แวร์ใหม่ด้วย

2.          การใช้บริการจากคลาวด์ส่วนตัว (Private cloud)
การบริการคลาวด์ส่วนตัว เป็นลักษณะใช้บริการไอซีทีด้วยระบบงานและอุปกรณ์ที่จัดให้พิเศษ สำหรับใช้งานขององค์กร หรือบริการกลุ่มลูกค้า และพันธมิตรที่องค์กรกำหนด เพื่อการใช้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างมั่นคงและปลอดภัย ระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการคลาวด์ส่วนตัว มักจะต้องติดตั้งระบบไฟรวอลกั้นไว้เป็นด่านหน้า เพื่อป้องกันการบุกรุก ระบบคลาวด์ส่วนตัวอาจติดตั้งอยู่ในองค์กร เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือ Outsource ให้บุคคลที่สามบริหารจัดการ และดูแลอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แทนองค์กรก็ได้

3.          การใช้บริการคลาวด์สาธารณะ (Public cloud) เป็นการใช้บริการไอซีทีจากภายนอก ซึ่งมีทั้งการให้บริการแบบชุมชน คือผู้ใช้ที่มีเบอร์อีเมล์ ก็สามารถ Log-in ใช้งานฟรีได้ จนถึงบริการสาธารณะแบบมีข้อตกลง หรือสัญญาในเชิงธุรกิจ มีค่าบริการ และเงื่อนไขการให้บริการเฉพาะอย่าง

แนวทางการเลือกใช้ชนิดบริการ
การบริการคลาวด์คอมพิวติงเปิดโอกาสให้องค์กรหันมาจัดระเบียบใหม่เกี่ยวกับการใช้ไอซีที โดยจัดแบ่งกลุ่มงาน แล้วเลือกใช้ชนิดบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มงานดังนี้
1.          กลุ่มงานที่เป็นงานหลักขององค์กร เช่นระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ระบบบริหารการผลิต ระบบการเงิน ฯลฯ ระบบงานเหล่านี้ มีปัจจัยเกี่ยวกับด้านความมั่นคงและความลับขององค์กร เป็นระบบที่ต้องการให้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด มีมาตรการบริหารความเสี่ยง และต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของทางราชการ (Regulatory Compliance) รวมทั้งระบบงานแบบเก่า ๆ ที่หลากหลาย แต่ยังใช้งานได้ดี (Legacy systems) ระบบงานเหล่านี้ ยังเหมาะที่จะใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กรเอง
2.          กลุ่มงานที่เป็นงานบริการลูกค้า หรือพันธมิตรภายในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เป็นระบบงานที่เกี่ยวกับบริการให้ข้อมูลข่าวสาร และเป็นงานติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก  เช่นระบบเว็บไซท์ขององค์กร ระบบอีเมล์ ระบบบริการพนักงานที่ต้องพบปะลูกค้าจำนวนมาก ต้องอาศัยข้อมูลจากระบบลูกค้าสัมพันธ์ด้วยอุปกรณ์พกพาหลาย ๆ รูปแบบ ฯลฯ งานกลุ่มนี้เหมาะที่จะใช้บริการประเภทคลาวด์สาธารณะ
3.          กลุ่มงานที่เป็นงานพัฒนาระบบงาน หรือทดสอบระบบงาน เป็นงานที่ทำอยู่ภายในทีมงานที่ไม่ใหญ่มาก ต้องอาศัยข้อมูลสำคัญขององค์กรเพื่อการทดสอบ มีการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เฉพาะอย่าง และใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อเสร็จงานแล้ว ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่จัดสรรให้จะส่งคืนให้แก่ส่วนกลางโดยอัตโนมัติ และจัดสรรให้ใหม่ สำหรับโครงการใหม่ตามความต้องการได้อย่างคล่องตัว งานเช่นนี้ เหมาะที่จะเลือกใช้บริการประเภทคลาวด์ส่วนตัว โดยเฉพาะบริการคลาวด์ส่วนตัวขององค์กรเอง นอกจากนี้ การบริการคลาวด์ส่วนตัว ยังเหมาะสำคัญงานที่ใช้ทำธุรกรรมกับกลุ่มคู่ค้าจำนวนมาก ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นงานธุรกรรมที่ก่อเกิดรายได้หลักที่ทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่คงตัว เช่นการรับการสั่งซื้อ และชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ งานลักษณะนี้ เหมาะที่จะจัดให้ทำงานอยู่ภายในกรอบของคลาวด์ส่วนตัว แทนที่จะใช้คลาวด์สาธารณะที่ต้องจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้บริการคลาวด์ทุกครั้งที่เกิดรายการซื้อขาย

               จึงเห็นได้ว่า องค์กรส่วนใหญ่ มีโอกาสที่จะใช้บริการไอซีทีทั้งสามรูปแบบ ผสมผสานกันในลักษณะที่เรียกว่า Hybrid Cloud บริการที่จะเป็น Hybrid Cloud ได้นั้น มีเงื่อนไขว่า ต้องให้บริการกับงานที่เชื่อมโยงกัน ยังผลให้เกิดคุณค่าอย่างชัดเจน การใช้บริการหลาย ๆ รูปแบบ แต่ไม่เชื่อมโยงกัน ทั้งในเชิงใช้ข้อมูล และหรือ Software services ไม่ถือว่าเป็น Hybrid Cloud ตัวอย่างเช่น ใช้คลาวด์ส่วนตัวเพื่อการพัฒนาระบบงานใหม่ แต่ไม่ได้ใช้ระบบฐานข้อมูลของระบบงานอื่นเพื่อการทดสอบ จากศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือจากคลาวด์สาธารณะ เช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการใช้บริการ Hybrid Cloud หรือตัวอย่างการใช้ระบบงานบริหารลูกค้าสัมพันธ์จากคลาวด์สาธารณะโดยลำพัง อย่างเป็นอิสระ ไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบซื้อขาย ที่ทำงานอยู่ในศูนย์คอมพิวเตอร์ ลักษณะการใช้บริการเช่นนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็น Hybrid Computer  ความเป็นคลาวด์ลูกผสมต้องเป็นการใช้บริการไอซีทีปนกันหลาย ๆ แบบ โดยระบบงานที่เกี่ยวข้องทำงานแบบบูรณาการ (Integration) ทั้งการบูรณาการด้วยข้อมูล และหรือบูรณาการด้วยบริการซอฟต์แวร์ 

              แนวคิดการใช้บริการไอซีทีแบบ Hybrid Computer ตามความหมายที่กล่าวข้างต้น มีความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กร เป็นยุทธศาสตร์ไอทีที่ต้องสอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์ธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นการให้บริการลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ต้องทำงานแบบบูรณาการ เพื่อจะช่วยสลายวิธีทำงานแบบ Silo และพัฒนาวิธีทำงานแบบร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในงานด้านบริการ ผู้ออกแบบระบบงาน Hybrid Cloud Environment จำเป็นต้องรู้เทคนิคที่จะบูรณาการระบบงาน และเลือกรูปแบบบริการระบบงานได้อย่างเหมาะสม ทุกวันนี้ เรานิยมใช้เทคนิคการเชื่อมโยงที่เป็น Service Oriented Integration ทั้งในระดับกระบวนการ (Process level) และระดับข้อมูล ในยุคที่ธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่า (Value creation)ให้ลูกค้าด้วยบริการ ระบบงานที่เป็น Front stage ซึ่งเป็นเวทีสำคัญเพื่อการทำงานปฎิสัมพันธ์ ระหว่างพนักงานขององค์กร ลูกค้า และคู่ค้าจำนวนมาก ต้องสามารถให้บริการได้หลาย ๆ รูปแบบ และด้วยอุปกรณ์พกพาหลากหลายชนิด งานที่กล่าว มีปริมาณข้อมูลที่คาดเดาได้ยาก บางวันอาจมี Traffic ของข้อมูลสูงมาก ในขณะที่บางวันอาจมีน้อยมาก งานลักษณะนี้เหมาะที่จะใช้บริการคลาวด์สาธารณะ ในขณะที่งานประเภทประมวลผลจะจัดการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นงาน Black stage อาจยังเหมาะที่จะใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กร ทั้งในรูปแบบ Legacy หรือแบบใช้คลาวด์ส่วนตัวที่บริหารด้วยองค์กรเอง หรือบริหารจากบุคคลที่สาม การเลือกใช้บริการไม่ว่าจะเป็นการบริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ จากคลาวด์ส่วนตัว หรือจากคลาวด์สาธารณะ จึงเป็นการตัดสินใจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้หลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเทคนิค และด้านบริหาร และต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านไอที และด้านยุทธศาสตร์ธุรกิจขององค์กร

Sunday, August 26, 2012

โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที ตอนที่ 4


 บทความเรื่อง โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีทีตอนใหม่ ขอพูดเรื่องประเด็นปัญหา Mismatch between worker skills and jobs ที่ต้องรับการแก้ไข

ความไม่ตรงกันระหว่างทักษะของแรงงานและการจ้างงาน

           มีรายงานวิเคราะห์จากสถาบันต่างประเทศหลายแห่ง (แนะนำอ่านรายงาน McKinsey & Co.  เรื่อง “Help WantedFuture of Work”) สรุปตรงกันว่า แนวโน้มการว่างงาน โดยเฉพาะกลุ่มบัณฑิตจบใหม่จะเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจจะหาคนที่ต้องการยากขึ้น McKinsey ใช้คำว่า “Mismatch between worker skills and jobs” คนที่ต้องการหางานก็หาไม่ได้ คนที่จะจ้างคนก็จ้างไม่ได้ เกิดช่องว่าง (Gap) ระหว่างคนที่จะหางาน กับธุรกิจที่ต้องการจ้างงาน เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ นักเศรษฐศาสตร์ให้เหตุผลว่า เกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยี และโลกาภิวัฒน์

           ในด้านปัญหาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีนั้น พอเข้าใจที่มาดังต่อไปนี้

1.   การใช้เทคโนโลยี เช่นเครื่องจักรกล ได้ทดแทนแรงงานในสายการผลิตมาช้านาน ประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้ว นิยมลงทุนในระบบอัตโนมัติ ทำให้ใช้แรงงานน้อยลง แต่มีจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ลงทุน กลับเลือกกลยุทธ์ Outsource การผลิตไปประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เป็นเหตุให้ประเทศเหล่านี้ มีอัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนตกงานกลุ่มนี้ หางานอื่นทำได้ยาก เนื่องจากขาดทักษะและความรู้ที่ธุรกิจต้องการ สำหรับประเทศไทยนั้น เรายังดำเนินนโยบายสร้างรายได้จากการผลิต แต่ไม่นิยมลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ผลจากนโยบายที่กล่าว ทำให้ต้องเผชิญปัญหา Mismatch ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือมีบัณฑิตตกงานมาก ในขณะที่ขาดแคลนช่างฝีมือป้อนโรงงาน เป็นปัญหาที่เกิดจากค่านิยม  คือแรงงานรุ่นใหม่มุ่งเรียนระดับปริญญาที่ไม่เกี่ยวกับช่างฝีมือ หวังจะทำงานเบา แต่ให้มีรายได้สูง มาพบว่า งานในสำนักงานก็กำลังหายากตามที่จะกล่าวในข้อ  2 ต่อไป
2.   งานในสำนักงานที่ใช้เทคโนโลยี เช่นคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่เน้นใช้เครื่องจักรประมวลผลข้อมูล และจัดการเกี่ยวกับงานเอกสาร ความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำงานตามกระบวนการแบบอัตโนมัติ ทดแทนการทำงานด้วยคน ทำให้สำนักงานใช้คนน้อยลง ขณะนี้ ภาคการศึกษายังคงผลิตบัณฑิตตามแนวคิดเดิม คือเน้นสอนไอซีที เพื่อใช้งานประมวลผล และทำงานตามกระบวนการของสำนักงานแบบอัตโนมัติ เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว เมื่อสำนักงานสามารถใช้ไอซีทีเพิ่มศักยภาพทำงานได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนว่างงานระดับบัณฑิตก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การแข่งขันธุรกิจที่รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ จากการมุ่งพัฒนาศักยภาคการผลิต และการตลาด มาเป็นการสร้างทักษะการสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภค (Value creation) จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะรูปแบบใหม่ที่ยังหาไม่ได้
3.   การใช้เทคโนโลยีไอซีทียุคใหม่ เป็นการ Empower ให้คนทำงาน มีความสามารถที่จะปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าและพันธมิตร เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับจัดการ หรือเจ้าหน้าที่การคลาดและการขาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่บริการลูกค้า และตำแหน่งหน้าที่อื่น ๆ จำเป็นต้องมีความรู้ทักษะในเชิงบริการรูปแบบใหม่ ที่เน้นการสร้างคุณค่าเป็นหลัก การบริการแนวใหม่ เป็นการใช้ทักษะและความรู้ เพื่อสร้างคุณค่าให้บุคคลอื่น อาศัยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก และใช้ความรู้และข้อมูลเป็นหลักสำคัญของการให้บริการ ทั้งนี้ รวมทั้งผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เช่นครูอาจารย์ แพทย์ นักการปกครอง ทนายความ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ฯลฯ ทั้งหมดถือเป็นงานในหน้าที่ที่เน้นการใช้ทักษะและความรู้เฉพาะในรูปแบบบริการและสร้างคุณค่า โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นทักษะและความรู้แขนงใหม่ที่ขาดแคลน การ Mismatch ระหว่างทักษะและความรู้ของคนงาน กับงานที่ต้องการทักษะและความรู้แขนงใหม่ ๆ จะขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่รีบเร่งแก้ไข

              ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ถูกออกแบบให้สอนหลักสูตรไอซีที เพื่อให้บัณฑิตสามารถสร้างระบบงานที่ทำงานแบบ Transaction คือประมวลผลรายการข้อมูลตามกระบวนการของธุรกิจ แต่ธุรกจยุคใหม่ เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ไอซีทีเพื่อปฎิสัมพันธ์ (Interaction) กับลูกค้าและพันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่า (Value creation) เป็นการใช้ไอซีทีต่างมิติ ทั้งการออกแบบระบบไอซีที และแนวคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ไอซีทีจะถูกนำมาใช้ เพื่อสนับสนุนการทำงานประเภท Complex interaction สามารถตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลในเชิงสร้าง Customer experience ช่วยผู้อื่นแก้ปัญหาในบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งหมดเป็นเรื่องของงานที่อาศัยความรู้ระดับสูง (Deep knowledge) ทั้งสิ้น การปรับปรุงหลักสูตรเพื่อรองรับปรากฎการณ์ที่กล่าว เป็นการปรับปรุงในระดับสหวิทยาการ ซึ่งต้องใช้เวลาและการลงทุน ในขณะที่ความกดดันจากการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถรอนานได้
                             หนทางแก้ไขปัญหาการ Mismatch ระหว่างคนว่างงาน กับทักษะความรู้ชนิดใหม่ที่ธุรกิจต้องการ ต้องอาศัยระบบการศึกษาที่มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร และวิธีการสอนตามความต้องการของตลาด ไม่อยู่ในกรอบของกฎระเบียบของทั้งรัฐบาล และข้อจำกัดของสถาบัน ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือบริษัทยักษ์ใหญ่ Infosis ของอินเดีย ที่ให้บริการ Outsource ด้านไอซีทีจากบริษัททั่วโลก ต้องสร้างสถาบันฝึกอบรมสำหรับตัวเอง เพื่อฝึกผู้ชำนาญการด้านไอซีทีแขนงต่าง ๆ ที่ทันสมัย สนองความต้องการลูกค้าทั่วโลก ปีละกว่า 45,000 คน โดยเน้นการสอนเฉพาะกลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องการการทำงานเท่านั้น ภารกิจของสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที มีลักษณะคล้ายสถาบันพัฒนาแรงงานฝีมือด้านไอซีทีของ Infosis

           ช่องว่างระหว่างการว่างงาน กับการจ้างงาน ยังเกิดจากปัญญาสมองไหลไปสู่ต่างประเทศ ที่มีงานที่ท้าทายกว่า โลกาภิวัฒน์ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงาน และเงินทุน รื่นไหลจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งได้สะดวก และเป็นอิสระมากขึ้น งาน และเงินทุนย่อมจะไหลไปสู่ประเทศที่มีแรงงานที่มีทักษะและความรู้ตรงตามที่ต้องการ ปัญญาและความรู้พิเศษเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก และหายาก ประเทศที่สามารถพัฒนาให้พลเมืองของตนมีปัญญาและความรู้พิเศษที่ธุรกิจต้องการ ย่อมจะมีความได้เปรียบ ในยุคที่ไอซีทีช่วยเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ให้เป็นโลกที่ปราศจากพรมแดน ทำให้เกิดสงครามแย่งแรงงานที่มีปัญญาและทักษะ ในโลกของการเชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต การแย่งแรงงานฝีมือ ไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศเหมือนแต่ก่อน งานประเภทใช้ปัญญาและความรู้ ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ที่ทำงาน คนที่มีปัญญาและความรู้เลือกทำงานตามสถานที่ที่เหมาะสม เป็นเหตุให้การไหลออกซึ่งทรัพยากรที่มีค่าไปสู่ประเทศที่มีงานรอรับอย่างขาดการควบคุม ปัญหาเรื่องสมองไหลในประเทศที่กำลังพัฒนาจะรุนแรงกว่ายุคก่อนมาก

           ประเทศไทยอยู่ในฐานะลำบากมาก ในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปํญหาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างการว่างงาน กับการจ้างงาน อันเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี และโลกาภิวัฒน์ ประเทศไทยถูกประเมินโดย World Economic Forum (WEF) ว่าศักยภาพการแข่งขัน อยู่ในระดับที่สอง คือระดับที่สร้างศักยภาพการแข่งขัน ด้วยระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม และแรงงานที่ถูกกว่า เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตจากต่างประเทศ แต่ยังขาดศักยภาพด้านสร้างนวัตกรรม และการทำธุรกิจที่อาศัยปัญญา ความรู้ และการสร้างสรรค์ เป็นที่รู้กันว่า ไทยได้อาศัยมาตรการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านการผลิต จนประสบความสำเร็จอย่างมากในรอบกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไทยจะทำเช่นนี้ต่อไปอีก 40 ปีคงเป็นไปไม่ได้   เราได้มาถึงจุดที่มาตรการเดิมเริ่มจะล้าสมัย และไม่ยั่งยืน ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเราต่างรู้ว่า All good things must come to an end แต่ที่น่ากังวล คือมาตรการที่จะนำไทยไปสู่ ระดับที่สามของการแข่งยันระดับโลก คือการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและปัญญา ตาม Roadmap ของ WEF นั้น ยังไม่ชัดเจน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไทยเริ่มมีปัญหาขาดคนงานฝีมือที่จะป้อนโรงงาน ในขณะที่แรงงานภาคอื่นเริ่มหางานทำยากขึ้น อัตราการขยายคนงานที่มีปัญญาและความรู้รองรับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ที่เน้นการสร้างคุณค่า และธุรกิจเชิงปฎิสัมพันธ์ และเชิงความรู้ ยังต่ำมาก โดยเฉพาะในส่วนของไอซีทีและเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่ 3

เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง Mismatch ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ประเทศไทย จำเป็นต้องมีสถาบัน หรือหน่วยงานที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานที่ทันสมัย ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มปฎิรูปแนวทางการทำธุรกิจ โดยเน้นทักษะด้านการปฎิสัมพันธ์ และการสร้างคุณค่า ภายใต้เศรษฐกิจฐานความรู้ และสร้างสรรค์ในเชิงบริการ ในขณะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีไอซีทีสมัยใหม่ และการประยุกต์ใช้ไอซีทีสมัยใหม่ ที่รองรับการปฎิรูปแนวทางการทำธุรกิจที่กล่าวข้างต้น สถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที น่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสม

Wednesday, August 15, 2012

โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที ตอนที่ 3


บทความตอนแรกของเรื่อง โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีทีเราได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ และวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า โครงการนี้มีภารกิจซ้ำซ้อนกับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้จัดสอนหลักสูตรไอซีทีมาช้านาน หรือไม่อย่างไร ตอนที่สอง เราได้วิเคราะห์ถึงการขาดแคลนบุคลากรไอซีทีระดับสูง และความต้อการบุคลากรที่มีทักษะไอซีทีสมัยใหม่ สำหรับตอนที่ 3 นี้ เราจะพูดถึงความสามารถผลิตบุคลากรไอซีทีกลุ่มซอฟต์แวร์ในสถาบันการศึกษาของไทย และการพัฒนาบุคลากรไอซีที ตามแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015

4)         การผลิตบัณฑิตสาขาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
ครั้งสุดท้ายที่ผมมีโอกาสศึกษาเรื่องการผลิตบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย คือเมื่อประมาณปี 2008 หรือ 4 ปีที่ผ่านมา ในครั้งนั้น เป็นการศึกษาภายใต้โครงการศึกษาการพัฒนาบุคลากรสาขาขาดแคลนของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ ในหัวข้อ การประมาณความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ในสาขาต่าง ๆเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากผมยังไม่สามารถหาข้อมูลในเรื่องนี้ ที่ใหม่กว่า จึงขออนุญาตนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อย่างน้อย ผู้อ่านจะได้เห็นภาพการพัฒนาบัณฑิตสาขาซอฟต์แวร์ของประเทศในระดับหนึ่ง เข้าใจว่าปัญหาการขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยในขณะนี้ คงไม่แตกต่างจากเมื่อ 4-5 ปีก่อนมากนัก (ท่านสามารถอ่านรายงาน การประมาณความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ในสาขาต่าง ๆ ได้จาก Link นี้ครับ)

                     จากรายงานของ สกอ ปี 2550 มหาวิทยาลัยภาครัฐ รวมมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนราชมงคล ได้รับนักศึกษาสาขาต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ระดับปริญญาตรี รวมประมาณ 10,505 คน สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น จำนวนรับเข้าประมาณว่าอยู่ในระดับ 8,000 คน นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาอาชีวอีกประมาณ 5,000 คน โดยภาพรวม ภาคการศึกษาทั้งระบบของไทยในขณะนั้น สามารถรับนักศึกษาสาขาซอฟต์แวร์ ประมาณปีละ 24,600 คน เมื่อเรียนจบหลักสูตร ประมาณว่า บัณฑิตเข้าทำงานเพียงไม่เกิน 17,220 คน จำนวน 12,700 คน เข้าทำงานในฐานะผู้ใช้ซอฟต์แวร์  มีเพียงประมาณ 6,000 คนที่เข้าทำงานในฐานะเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software developers) อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี มีผู้ออกจากภาคการผลิตประมาณร้อยละ 7 หรือประมาณ 2,800 คน ดังนั้น แรงงานเพิ่มสุทธิมีเพียงไม่เกินปีละ 3,200 คนเท่านั้น

                         NECTEC/SIPA ได้สรุปไว้ในรายงาน สรุปผลสำรวจตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยปี 2550” ว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ประเภทต่าง ๆ ประมาณ 41,620 คน แยกตามความชำนาญดังนี้
นักซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์ระดับสูง ประกอบด้วย กลุ่ม Project managers/It professional, software engineers, analysts and designers, และ software architect รวมกัน เทียบได้เป็นร้อยละ 33 ในขณะที่กลุ่ม Programmers & software developer เป็นร้อยละ 53.2 และผู้สนับสนุน เช่นผู้ที่มีหน้าที่ทำ technical documents และ อื่น ๆ อีกร้อยละ 13.8   ส่วนหนึ่งของคนสองกลุ่มหลัง เป็นบัณฑิตจบใหม่
                    รายงานข้างต้น ยังชี้ให้เห็นว่า ในปี 2550 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,400 คน ในขณะที่บัณฑิตจบใหม่ที่เข้าสู่ระบบผลิตซอฟต์แวร์นั้น มีเพียง 3200 หมายความว่า ระบบการศึกษาภาคปกติ มีศักยภาพที่จะผลิตบัณฑิตป้อนตลาดได้เพียงร้อยละ 50 ของความต้องการ และเมื่อพิจารณาถึงความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ระดับสูง คือกลุ่ม Project managers/It professional, software engineers, analysts and designers, และ software architect ยิ่งจะเห็นว่า ความขาดแคลนทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ตามที่รู้กัน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซอฟต์แวร์ไทย โดยเฉพาะระบบใหญ่ ไม่สามารถแข่งขันในตลาดภูมิภาค หรือตลาดโลกได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องซื้อซอฟต์แวร์ระบบใหญ่จากต่างประเทศมาตลอด ปัญหาที่พวกเราประสบมา ไม่ใช่เพราะคนไทยทำซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ไม่เป็น แต่อยู่ที่ข้อจำกัดของระบบการศึกษา ที่ไม่สามารถเพิ่มการผลิตบัณฑิต ในกลุ่มที่มีทักษะด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ ได้เพียงพอกับความต้องการ
                    ประเด็นที่ต้องแก้ไข คือเร่งส่งเสริมให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผลิตบัณฑิตซอฟต์แวร์ระดับสูงให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มจำนวนบัณฑิตที่มีสมรรถนะ ที่จะเป็น Project managers/It professional, software engineers, analysts and designers, และ software architect ได้ในอนาคตอันใกล้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะซอฟต์แวร์ระดับสูง ในรูปศึกษาต่อเนื่อง และ Professional training สำหรับบุคลาการซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่ ให้มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ สถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที น่าจะรับภารกิจนี้ได้ในระดับหนึ่ง

5)         การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านไอซีทีให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ไอซีทีของอาเซียน
    อาเซียนได้จัดทำแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกใช้เป็นกรอบในการพัฒนาศักยภาพไอซีทีของแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง ภายใต้วิสัยทัศน์ดังต่อไปนี้ (อ่านรายละเอียด แผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ฉบับภาษาไทย ได้ที่นี่ครับ)
ไอซีทีจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อให้เกิดการรวมตัวทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจในอาเซียน ไอซีทีจะช่วยการปฎิรูปอาเซียนให้เป็นตลาดเดียว ด้วยวิธีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีทียุคใหม่ และพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีฝีมือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม จัดให้มีนโยบายส่งเสริม และสร้างสภาพแวดล้อมที่มีกฎระเบียบ ด้วยมาตรการดังกล่าว อาเซียนจะเสริมสร้างพลังให้แก่ชุมชน และผลักดันให้อาเซียนมีสถานภาพเป็นศูนย์กลางไอซีที ที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง และคึกคัก  ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เหมาะกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

         วิสัยทัศน์ที่กล่าว นำไปสู่การเสนอยุทธศาสตร์ 6 ข้อ และ 1 ใน 6 ของยุทธศาสตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้มีสมรรถนะและทักษะด้านไอซีที เพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคไอซีที และส่งผลต่อการปฎิรูปเศรษฐกิจในภาคอื่น ๆ ด้วย โดยกำหนดให้มีมาตรการหลัก ๆ เช่น
·      สร้างเกณฑ์การให้ทุนการศึกษาและกำหนดแหล่งเงินทุน
·      สร้างความดึงดูดให้ผู้ที่มีความสามารถของอาเซียนได้เลือกไอซีทีเป็นอาชีพ
·      มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มบุคคลที่มีความถนัดด้านไอซีที
·      พัฒนามาตรฐานวิชาชีพไอซีที และจัดทำโปรแกรมเพิ่มพูนความรู้ด้านไอซีที
           นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะ ส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายทุนมนุษย์ด้านไอซีทีภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยมาตรการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangement, MRA) เพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพสาขาไอซีทีด้วย
           ถ้าประเทศไทยไม่รีบแก้ไขปัญหาความขาดแคลนบุคลากรไอซีทีระดับสูงตามกล่าวข้างต้น ก็จะอยู่ในฐานะเสียเปรียบ นอกจากไทยพลาดโอกาสที่จะส่งซอฟต์แวร์ที่สูงด้วยคุณภาพไปแข่งขันในอาเซียนแล้ว ยังอาจกลายเป็นตลาดซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่สำหรับประเทศอื่น นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการที่บุคลากรซอฟต์แวร์ระดับฝีมือและคุณภาพสูงของไทย จะถูกซื้อตัวไปสร้างผลงานให้แก่ประเทศคู่แข่ง และถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนบุคลาการซอตฟ์แวร์ระดับสูงของไทย รุนแรงยิ่งขึ้น โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที น่าจะเป็นมาตรการที่ดี ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ผมจะนำเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรไอซีทีแนวใหม่ในตอนต่อไปครับ