Saturday, December 31, 2016

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 7



              บทความตอนที่ 6  ได้กล่าวถึงนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศไทยบนพื้นฐานของแนวคิด Cyber-Physical System (CPS)  และได้แนะนำความหมายของ Industry 4.0 ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจดิจิทัลที่อาศัยการเชื่อมโยงธุรกิจในทุกมิติ ทั้งแนวลึกและแนวกว้าง (Vertical and Horizontal Integration) ทั้ง Top-floor และ Shop-floor  บทความตอนใหม่นี้จะกล่าวถึงกรอบความคิดของการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย และบทบาทของรัฐในการส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0

1.             กรอบความคิดของการพัฒนา Industry 4.0
       Industry 4.0 ตามที่ได้อธิบายมาในตอนที่แล้ว บางครั้งเรียกว่า “Industrial Internet” หมายถึงการทำธุรกิจที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจและทำประมวลผลข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ จนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รูปแบบธุรกิจ (Business Model) สินค้าและบริการ กระบวนการผลิต และกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ธุรกิจพัฒนาไปในทิศทางที่เน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง  Industry 4.0 เป็นคำที่ใช้เพื่อสื่อความหมายถึงยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจทั้งภายใน (Vertical Integration) และกระบวนการทางธุรกิจภายนอก (Horizontal Integration) ที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการทำธุรกิจใหม่โดยเน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) และประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer Centricity) พื้นฐานสำคัญของ Industrial Internet คือการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network หรือ Value Constellation) เพื่อทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ระหว่างพันธมิตร และทำให้เกิดธุรกิจ Outsourcing มากขึ้นทั่วโลกด้ายวิธีเชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตทุกรูปแบบ ที่สำคัญ เน้นการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อให้การทำงานในทุก ๆ กระบวนการมีความฉลาดและรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังสร้างมาตรการทางธุรกิจที่มีความโดดเด่นและทันสมัยรับมือกับการแข่งขันที่มีพลวัตรสูง

โดยสรุป ธุรกิจและอุตสาหกรรมภายใต้แนวความคิดของ Industry 4.0 หรืออุตสาหกรรม 4.0 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1) สินค้าและบริการ  2)  กระบวนการทำงานแบบบูรณาการ และ 3) รูปแบบธุรกิจ (Business Model)

1)            การพัฒนาสินค้าสินค้าและบริการ
เป็นแนวคิดการ Digitize สินค้าและบริการเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า การใช้อุปกรณ์ Sensors หรือ IoT ทำให้สินค้าสามารถสื่อสารข้อมูลกับผู้บริโภคหรือเครื่องจักร เป็นแนวคิดใหม่ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของใช้ทำงานกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ เช่นเครื่องฉีดน้ำอัตโนมัติที่ใช้ในภาคเกษตรมีอุปกรณ์ Sensors วัดอุณหภูมิและความชื้น เพื่อควบคุมการฉีดน้ำอย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ  หรือการสร้างบริการดิจิทัลที่ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์ได้คุณค่าเพิ่มขึ้น เช่นการสร้าง Mobile apps สารพัดอย่างทำให้เครื่องโทรศัพท์พกพา นอกจากจะใช้เป็นเครื่องสื่อสารโทรศัพท์ ยังสามารถทำงานอื่น ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่การสื่อสารที่ใช้ตัวหนังสือ เช่น Line และ WhatsApp จนถึงเป็นอุปกรณ์เล่นเพลงและดูข่าวชมภาพยนตร์จนถึงการสั่งซื้อสินค้าและชำระเงิน อุตสาหกรรมในยุคดิจิทัลจึงต้องแข่งขันที่นวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความฉลาด และนวัตกรรมด้านบริการดิจิทัลที่สร้างประโยชน์และคุณค่าจากสินค้าและบริการได้อย่างมาก

2)            การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบบูรณาการ
อุตสาหกรรมที่ทำธุรกรรมด้วยดิจิทัลหรือธุรกิจดิจิทัลมักจะทำธุรกรรมส่วนใหญ่ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รูปแบบการทำงานและการบริหารจัดการจะแตกต่างจากเดิมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่กลุ่มกระบวนการงานหลัก (Core processes) เช่นงานด้านการผลิต การจัดหาสินค้า การตลาด การจัดจำหน่าย การบริการหลังการขาย และกลุ่มงานสนับสนุน (Supporting processes) ประกอบด้วยงานด้านการเงินการบัญชี การบริหารบุคลากร การจัดซื้อจัดหา ฯลฯ  รูปแบบงานทั้งหมดต้องถูกออกแบบใหม่และปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การทำงานทุกขั้นตอนมีโอกาสจะทำร่วมกับบุคคลภายนอก หมายถึงกับพันธมิตรและลูกค้า กระบวนการงานหลักของธุรกิจประกอบด้วย 

·       งานด้านจัดซื้อ (Procurement)
·       งานด้านการผลิต (Manufacturing)
·       งานด้านจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) และ
·       งานด้านจัดจำหน่าย (Order management)

กระบวนการงานหลักเหล่านี้ถูกออกแบบให้ทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบบูรณาการกัน (Vertical and Horizontal Integration) ความสลับซับซ้อนของกระบวนการงานหลักเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและขนาดของธุรกิจ ความสามารถออกแบบกระบวนการงานหลักที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรมแบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับคู่ค้าและลูกค้าได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเป็นเรื่องที่บ่งชี้ถึงความสามารถที่ธุรกิจเหล่านี้จะแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล
3)            การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business Model)
 พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจจนถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ใหม่ให้มีลักษณะดังนี้ 

·       เน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) แทนการเพิ่มคุณค่า (Value-added)
·       สร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจเดิม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) จนได้ผลเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
·       สร้างความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่องค์กรเพื่อพัฒนาธุรกิจแนวใหม่บนพื้นฐานของแนวความติดใหม่ (Mindset) ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติ จนเป็นผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
รูปแบบของธุรกิจดิจิทัลจึงเกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสินค้าและบริการ และกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่ร่วมมือกับพันธมิตรในลักษณะเป็นเครือข่ายที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างคุณค่าและตอบโจทย์ของลูกค้าได้ตามบริบท



                       รูปที่ 1  สรุปกรอบแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 (source: PWC, 2014.)

ภาพที่แสดงในรูปที่ 1 นอกจากจะแสดงถึงการพัฒนาธุรกิจ 3 มิติเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ยังตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างพันธมิตรทั้งในรูปแบบการร่วมมือกันหรือรูปแบบการ Outsource และความสำคัญของการใช้ข้อมูลในวงกว้างเพื่อให้เกิดความรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน (Insights) เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัลภายใต้กรอบความคิดของอุตสาหกรรม 4.0 สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ที่มีพลวัตรสูงมากได้

2.             บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0

เป้าหมายของรัฐบาลภายใน 10-20 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกกิจกรรมจะต้องเชื่อมต่อภายในและระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นำประเทศไทยไปเป็นส่วนสำคัญของระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยต้องเริ่มสนับสนุนให้ธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม  Digitize ตนเองให้เป็น Digital Business ก่อน เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศต่อไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยภาครัฐจะต้องเตรียมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในสิ่งต่อไปนี้

2.1.       สนับสนุนให้อุตสาหกรรมปรับตัวให้เป็นธุรกิจดิจิทัล
การ Digitize ธุรกิจให้เป็นธุรกิจดิจิทัลนั้นต้องเริ่มจากการช่วยให้ปรับขั้นตอนการทำงาน (Business processes) เป็นดิจิทัล และสามารถเชื่อมโยงกับคู่ค้าโดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่เพื่อทำรายการค้า (Business Transaction) แบบออนไลน์ ในเบื้องต้นควรครอบคลุมรายการค้าสำคัญพื้นฐาน 4 ชนิดคือ
·       รายการสั่งซื้อ (Purchasing Order, PO)
·       รายการขาย (Invoice)
·       รายการสั่งจ่ายเงิน (Payment)
·       รายการรับเงิน (Receive)

จุดเริ่มต้นเพื่อเตรียมตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 นี้รัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

1)            สนับสนุนให้ใช้มาตรฐานข้อมูลและ Standard Messages ประกอบด้วย

· มาตรฐานรหัสสินค้าสากล ซึ่งขณะนี้ภาครัฐและเอกชนได้ตกลงเลือกมาตรฐาน Global Trade Item Number (GTIN 13 หลัก) ของ GS1
· มาตรฐานรหัสแยกกลุ่มสินค้า ซึ่งขณะนี้ได้ตกลงใช้รหัส UNSPSC ของสหประชาชาติ (UN Development Programme (UNDP)) ภายใต้การจัดการของ GS1 รหัส UNSPSC เป็นมาตรฐานรหัสแยกกลุ่มสินค้าและบริการหลายระดับ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการบริหารจัดการการค้าระดับสากล
· มาตรฐานใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร และสภาอุตสาหกรรม โดยใช้มาตรฐานที่อิงกับมาตรฐานของ UN/CEFACT  มาตรฐานใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์นี้ครอบคลุมถึงเอกสารรายการค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น ใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice) ใบเสร็จรับเงิน (e-Receipt) และอื่น ๆ การใช้มาตรฐานรายการค้าอิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้จะทำให้การค้าออนไลน์ของไทยแบบ End-to-end ทำได้สมบูรณ์ขึ้น
· มาตรฐานข้อมูลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมพัฒนามาตรฐานกลางข้อความการชำระเงิน (Nation Payment Message Standard) ที่จะส่งผลให้ข้อมูลการค้าและข้อมูลการชำระเงินเชื่อมโยงกันได้โดยอัตโนมัติแบบ Straight-Through Processing ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจ ประเทศไทยได้เลือกใช้มาตรฐาน ISO 20022 

ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานข้อความที่ใช้ในกิจกรรมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0


             ยังมีต่อครับ

Monday, August 22, 2016

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 6



            บทความตอนที่ 5  ภายใต้หัวข้อ “Cyber-Physical System” ได้กล่าวถึงบทบาทของโลกดิจิทัล (Digital World หรือ Digital Layer)  โดยมี IoT ทำหน้าที่ส่งข้อมูลและบอกสถานภาพของสิ่งต่าง ๆ ในโลกกายภาพ แล้วนำไปประมวลผลในโลกดิจิทัล และโลกดิจิทัลนี้เป็นที่เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับบริการที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) การสร้างบริการดิจิทัลทำงานด้วยข้อมูลบน Digital layer นี้ช่วยเชื่อมโยงสินค้า เครื่องมือ เครื่องจักร และอื่น ๆ ทำให้เกิด Visibility หรือการมองเห็นทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้า (Customer intimacy) และช่วยขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่สากล (Globalization)  IoT จึงถูกมองว่าเป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งใหม่ที่สำคัญและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของศตวรรษที่ 21 บทความตอนที่ 6 จะกล่าวถึงนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศไทยบนพื้นฐานของแนวคิดของระบบ CPS และเรื่อง Industry 4.0

Thailand 4.0

ประเทศไทย 4.0” เป็นคำที่รัฐบาลต้องการสื่อสารกับประชาชนในเชิงนโยบายว่าจากนี้ไปรัฐบาลต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยอาศัยเทคโนโลยีที่สามารถสร้างมูลค่าที่สูงกว่าแต่ก่อน แทนที่จะเน้นการสร้างเศรษฐกิจจากแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติเหมือนในอดีต รัฐบาลต้องการเห็นประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ โดยอาศัยทักษะในด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่  เป็นนโยบายพัฒนาประเทศในรูปแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าสูงที่แข่งขันได้จากสินค้าและบริการเดิม และให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากรูปแบบเศรษฐกิจเดิมสามยุคแรกคือ Thailand 1.0, Thailand 2.0 และ Thailand 3.0 โดย Thailand 1.0 หมายถึงยุคที่ประเทศไทยพัฒนาประเทศด้วยเกษตรกรรม Thailand 2.0 เป็นการพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมเบา และเป็นช่วงที่ประเทศไทยพัฒนาจากประเทศยากจนมีรายได้ต่ำกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และ Thailand 3.0 เป็นยุคที่ประเทศไทยพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมหนักและสามารถผลักดันให้ประเทศพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป  อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังคงติดกับดักอยู่กับการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง  Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่หวังจะอาศัยเทคโนโลยีพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงโดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการให้มากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง

การพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีในยุคใหม่นี้ไม่ใช่เพียงแค่นำเทคโนโลยีช่วยให้การผลิตและการบริการมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่สร้างคุณค่า (Value Creation) จากเทคโนโลยี  ประเทศไทยจะมีศักยภาพแข่งขันด้วยการสร้างคุณค่าได้นั้นต้องอาศัยความสามารถด้านนวัตกรรม สามารถคิดนอกกรอบจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (การปฏิรูป, Transformation) ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านแนวคิด (Mindset) ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เปลี่ยนแปลงแนวคิดในด้านพัฒนาสินค้าและบริการ เปลี่ยนแนวความคิดในรูปแบบของธุรกิจ (Business model) รวมทั้งเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในทุกระดับ (Business processes) และการจัดการทรัพยากร (Resource management) ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าหมายไปสู่การสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศไทยต้องมีความพร้อมในการแข่งขันบนพื้นฐานความคิดที่ว่าธุรกิจยุคใหม่นี้ต้องไม่ทำเพียงแค่เน้นการผลิตและจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนมาเป็นบริการลูกค้าให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากสินค้าและบริการที่ได้ซื้อไป นั่นหมายถึงว่ารัฐต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สามารถปฏิรูปตนเองสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยดังนี้

1)   แทนที่จะเน้นการผลิตสินค้าแบบ Mass production เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพสูงแต่ราคาถูกในลักษณะสินค้าแบบ Commodity ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและบริการที่เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมในลักษณะเป็น Digital Services ที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้จริงในลักษณะของ Mass Customization หรือให้ดีต้องสามารถให้บริการเพื่อตอบโจทย์เป็นรายตัว หรือ Personalization ได้

2)   สร้างสรรค์กระบวนการผลิตจากเดิมที่มีรูปแบบเป็นรูปโซ่ ตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดมาเป็นกระบวนการผลิตที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพันธมิตรในลักษณะเครือข่าย มีลักษณะเป็น Connected supply chain

3)   เปลี่ยนจากรูปแบบการผลิตและจำหน่ายสินค้ามาเป็นการให้บริการที่อาศัยสินค้าเป็นกลไกของการให้บริการ

หลักคิดของ Thailand 4.0 จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจทั้งสามภาคกลายเป็น Smart Agriculture, Smart Manufacturing, และ Smart Service ที่เน้นประโยชน์และสร้างคุณค่าให้แก้ผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความยั่งยืนได้

Industry 4.0

คำว่า “Industry” หรือ อุตสาหกรรมเป็นคำจำกัดความที่ใช้กับกิจกรรมที่ใช้ทุนและแรงงาน เพื่อที่จะผลิตสิ่งของ หรือ จัดให้มีบริการ (ที่มา: th.wikipedia) ธุรกิจที่มีการทำธุรกรรมอย่างเป็นระบบไม่ว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการบริการหรือเกษตรกรรม ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ดังนั้น Industry 4.0 จึงหมายถึงธุรกิจที่ทำกิจกรรมอย่างเป็นระบบทุกชนิดที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทำให้เกิด Digitization (ทำให้เป็นดิจิทัล หรือทำให้เกิดข้อมูลหรือรูปแบบใดก็ได้ที่มีลักษณะเป็นดิจิทัล) และที่สำคัญทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน (Connection) ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เช่นอินเทอร์เน็ตในกลุ่มสินค้า เครื่องจักร และกระบวนการทำงานในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ดังนั้น Industry 4.0 จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น Industrial Internet of Things เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในโรงงานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเชื่อมโยงกันในกระบวนทำงานอย่างบูรณาการทั้งกระบวนการภายในโรงงาน (Shop floor) และบูรณาการทำงานในสำนักงาน (Office floor) โดยเฉพาะบูรณาการกับกระบวนการห่วงโซ่คุณค่าของพันธมิตรและของลูกค้าด้วย การปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาระบบงานที่อาศัย Internet Solution ระดับสูงครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากการบริหารและบูรณาการภายในห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับองค์กร (Vertical Integration) และระดับข้ามองค์กร (Horizontal Integration) การบูรณาการด้วย Internet solution ในลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการของ Smart supply chain

        การปฏิรูปอุตสาหกรรมในลักษณะที่สอง เป็นการใช้เทคนิค Digitization และการเชื่อมโยงกัน (Connectivity) กับกลุ่มสินค้าและบริการ แล้วเสริมด้วย Digital services ที่เน้นการสร้างคุณค่า (Value creation) ให้ผู้บริโภค ทำให้สินค้าและบริการเดิมกลายเป็น Smart product bundle หรือ Smart product system ที่ทำให้เกิดคุณค่าแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริงและสามารถตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคลตามบริบทได้ (Personalized value in-context) ในกรณีหลังนี้ ถ้ามีการคิดค้นนวัตกรรมที่ค่อนข้างฉีกแนว (Disruptive) มักจะทำให้รูปแบบธุรกิจ (Business model) เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะแข่งขันได้ยาก รูปแบบธุรกิจใหม่นี้มักจะเน้นการเสนอ Value proposition ให้ผู้บริโภคที่สามารถตอบโจทย์ Pains และ Gains ได้อย่างตรงเป้าหมาย รูปแบบของรายได้ก็อาจเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง ในรูปแบบธุรกิจใหม่นี้ธุรกิจมักจะดึงเอาลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมุ่งเน้นให้ลูกค้ามีส่วนช่วยตัวเองในการสร้างคุณค่าตามบริบทของตนเอง

        โดยสรุป Industry 4.0 จะอาศัย Internet of Things เชื่อมโยงธุรกรรมในโลกกายภาพและโลกดิจิทัล เป็นการเชื่อมโยงคน สรรพสิ่งรวมทั้งสินค้าและเครื่องจักรเพื่อให้เกิด Internet Solutions ที่สร้างคุณค่าให้แก่ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเชื่อมโยงนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่สร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริง


ตอนต่อไป ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความชุดนี้จะจบด้วยเรื่อง แนวทางส่งเสริม Industry 4.0 ของประเทศไทย


Sunday, August 14, 2016

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 5



         บทความตอนที่ 4  ภายใต้หัวข้อ “Cyber-Physical System” ได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในโลกกายภาพด้วยซอฟต์แวร์ในวงกว้าง เป็นผลให้เกิดระบบทำงานแบบอัตโนมัติมิติใหม่ที่สามารถปรับรูปแบบการทำงานตามความเหมาะสมจนนำไปสู่การปฏิรูปธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป้าหมายของการปฏิรูปนี้จะเน้นการปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดคุณค่า (Value creation) แก่ผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง บทความตอนที่ 5 นี้จะกล่าวถึงบทบาทของชั้น “Digital Layer” หรือ “Digital World” ในโลกธุรกิจสมัยใหม่

3.  บทบาทของชั้นดิจิทัล (Digital Layer) ในโลกธุรกิจสมัยใหม่

ตามที่ได้กล่าวมาตอนต้นว่าธุรกิจจากนี้ไปจะถูกออกแบบให้ทำงานอยู่ในโลกสองใบ คือโลกดิจิทัล (Digital หรือ Cyber World) และโลกกายภาพใบเดิม (Physical World) โลกชั้นดิจิทัลเป็นโลกของข้อมูลและซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบให้ทำงานแทนมนุษย์และสามารถปฏิสัมพันธ์กับเครื่องจักรและสรรพสิ่งได้ผ่านอุปกรณ์เช่น Sensors และ Actuators และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม Internet of Things (IoT)



ภาพที่แสดงข้างต้นสื่อให้เห็นว่า IoT จะทำหน้าที่สร้างข้อมูลที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งในโลกกายภาพโดยตรง เช่นตัวสินค้า ส่วนประกอบในการบริการโลจิสติกส์ เครื่องจักรในโรงงาน ฯลฯ ตัวสินค้าสามารถบอกตำแหน่งของตนเองภายในคลังสินค้า หรือสินค้าที่บรรทุกอยู่ในรถขนส่งสามารถระบุตำแหน่งในขณะขนส่งรวมทั้งประมาณการณ์ได้ว่าจะถึงตำแหน่งของผู้รับสินค้าภายในอีกกี่ชั่วโมง ข้อมูลเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้วก็จะไปปรากฏอยู่ในโลกดิจิทัล  ระบบซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลจะทำให้การประสานการทำงานในโลกกายภาพมีประสิทธิผลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ข้อมูลในโลกดิจิทัลรวมกับระบบซอฟต์แวร์เมื่อเชื่อมโยงกับระบบการทำงานในโลกกายภาพที่แพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งโลก จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการไปในลักษณะ Intelligent มากขึ้นและทำได้กว้างไกลมากขึ้นดังจะบรรยายต่อไป    

ระบบ Cyber-Physical System (CPS) นอกจากจะพบในระบบงานที่สลับสับซ้อนเช่นรถยนต์สมัยใหม่ ระบบบริการจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาลที่ทันสมัย จนถึงระบบเครื่องจักรกลสมัยใหม่ที่พบในโรงงานขนาดใหญ่ ยังจะพบได้ในระบบงานโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานห่วงโซ่อุปสงค์สมัยใหม่ด้วย ที่ผ่านมาระบบห่วงโซ่อุปทานทำหน้าที่เพียงแค่จัดหาวัสดุป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต แล้วส่งผลผลิตต่อให้ลูกค้า การบริการโลจิสติกส์เน้นการขนส่งสินค้า และห่วงโซ่อุปสงค์เน้นการจำหน่ายสินค้าและบริการหลังการขาย แต่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ธุรกิจต้องทบทวนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันใหม่ด้วยมาตรการสร้างคุณค่า (Value) ในทุกขั้นตอน มาตรการที่กล่าวรวมตั้งแต่การทำให้เครื่องมือและเครื่องจักรที่ทำงานด้านการผลิตและอื่น ๆ รู้จักคิดด้วยตัวเอง ในขณะที่สินค้าที่ผลิตนั้นต้องรู้เส้นทางเดินของตนเองจากสายการผลิตไปสู่ผู้บริโภค  หลักคิดของ “Self-Control” ทั้งในระดับเครื่องจักรกล เครื่องไม้เครื่องมือ และสินค้าที่รู้สถานภาพของตนเอง และปรับสถานภาพของตนเองในกระบวนการธุรกิจให้เหมาะสมได้ เป็นจุดต่างที่สำคัญระหว่างรูปแบบธุรกิจเก่าและใหม่  IoT ทำหน้าที่ส่งข้อมูลบอกสถานภาพของสิ่งต่าง ๆ ในโลกกายภาพไปประมวลผลในโลกดิจิทัลทำให้คุณลักษณะของระบบธุรกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อยดังต่อไปนี้

1)   ทรัพยากรทุกอย่างที่มีตัวตนจะถูกฝังด้วย Sensors, actuators, RFID, QR code และอื่น ๆ ทำให้สิ่งที่มีตัวตนเหล่านี้มีความสามารถเพิ่มขึ้นจากข้อมูลและซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกัน
2)   การเชื่อมโยงกันผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งระบบสายและไร้สาย ทำให้กระบวนการทางธุรกิจสื่อสารกันกับทุกส่วนของธุรกิจในวงกว้างทั่วทั้งโลกได้ ทำให้ธุรกิจทุกชนิดและทุกขนาดเป็นส่วนหนึ่งของ Global Value Chain
3)   ด้วยความสามารถของซอฟต์แวร์ ทุกส่วนของธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนสถานภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม (Dynamically Re-configuration) เช่นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในระหว่างรายการส่งเสริมการขายพิเศษ (Sales Promotion) สามารถปรับเปลี่ยนสถานภาพของสินค้าคงคลังให้เหมาะสมร่วมกับโรงงานผู้ผลิตตามปริมาณที่ขายได้จริงแบบเรียลไทม์
4)   กระบวนการทางธุรกิจสามารถเพิ่มความเป็นอัตโนมัติได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่จัดซื้อวัสดุอาศัยข้อมูลจากสายการผลิตร่วมกับข้อมูลจากคลังสินค้าและประวัติการสั่งซื้อจากระบบจัดซื้อ แล้วพิจารณาสั่งซื้อสินค้าจากผู้จำหน่ายที่เหมาะสมที่สุดด้วยระบบซอฟต์แวร์เอง

ความสามารถเชื่อมโยงกันในระหว่างกระบวนการธุรกิจ และความสามารถสื่อสารข้อมูลในทุก ๆ ขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทำให้ธุรกิจผลิตสินค้าตามสั่งในรูปแบบ Mass Customization ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอ ๆ กันกับ Mass Production ทั้งหมดนำไปสู่การบริหารจัดการธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นรายบุคคล (Personalized value creation) ในที่สุด

ชั้นดิจิทัล (Digital Layer) ในธุรกิจสมัยใหม่จึงมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นที่เกิดของนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) นวัตกรรมที่นำไปสู่การปฏิรูปทางธุรกิจอย่างหนึ่งคือการทำ “Servitization” ซึ่งก็คือแนวความคิดเกี่ยวกับการเพิ่มบริการดิจิทัลบนสินค้าและบริการที่จัดจำหน่ายในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคได้คุณค่ามากขึ้น เช่นร้านอาหารเพิ่มบริการจองโต๊ะด้วยการขอบัตรคิวผ่าน Mobile apps การขอบัตรคิวจาก Mobile apps ถือได้ว่าเป็น Digital Service ที่ให้บริการบน Digital Layer และเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิมบน Physical layer (world) ผ่านโทรศัพท์มือถือ การให้บริการ Google map นำทางถือได้ว่าเป็น Digital service ที่ช่วยให้คนใช้รถยนต์ได้คุณค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล การใช้ RFID ติดบนสินค้าระดับ SKU ช่วยการติดตามตำแหน่งของสินค้าในคลังสินค้าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ Digital service ที่ช่วยการจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่กล่าวเป็นการสร้างบริการดิจิทัลทำงานด้วยข้อมูลบนระดับ Digital layer เชื่อมโยงกับสินค้า เครื่องมือ เครื่องจักร โดยเฉพาะยานพาหนะบนโลกกายภาพทำให้กระบวนการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปบนพื้นฐานการออกแบบระบบ Cyber-Physical System

กระบวนการทำงานต่าง ๆ ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าเป็นกระบวนการหลัก (Core processes) ที่สำคัญของธุรกิจทุกชนิดทุกขนาด เมื่อนำความคิดของ Cyber-Physical System มาประยุกต์ใช้จะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจได้อย่างมากอย่างน้อยดังนี้

1)   ทำให้เกิด Visibility หรือการมองเห็นในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิคของ IoT ที่ปรากฏอยู่ในระดับ Digital layer นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจรู้สถานภาพของวัสดุและสินค้าในระหว่างการผลิต ยังสามารถรับรู้สถานภาพของวัสดุและสินค้าคงคลังของลูกค้าได้ด้วย ทำให้ธุรกิจเสนอบริการจัดการสินค้าคงคลังให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด โดยเฉพาะเสนอให้บริการ Replenishment หรือบริการเติมเต็มวัสดุและสินค้าตามความจำเป็นแบบเรียวไทม์ได้
2)   สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดลูกค้า (Customer intimacy) ในยุคของดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต Internet of Customers (IoC) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการแข่งขัน IoC เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้านอกจากจะช่วยให้รู้ความต้องการของรู้ค้าเพื่อจะได้จัดหา Digital services ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อบริการลูกค้าด้วยวิธี Customization คือให้ลูกค้ามีโอกาสเสนอความต้องการในเชิงต้นแบบของสินค้าและบริการได้
3)   ขยายขอบเขตธุรกิจสู่สากล (Globalization) ธุรกิจที่ออกแบบระบบให้ทำงานอยู่ในโลกสองใบสามารถขยาย Market reach หรือขยายตลาดให้กว้างไกลสู่สากลได้โดยง่าย ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสินค้าและบริการของธุรกิจถูกค้นพบจากคนได้ทั่วทั้งโลก เป็นเหตุให้ขยายตลาดได้อย่างไม่มีขอบเขตและไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ห่วงโซ่อุปทานจากนี้ไปจะเป็นธุรกิจที่เข้าตรงได้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย นำมาสู่การเพิ่มยอดขายและผลกำไรในที่สุด

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น IoT จึงถูกมองว่าเป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจอย่างมาก IoT สนับสนุนแนวคิดของ Cyber-Physical System (CPS) ที่เชื่อมโยงเวทีของธุรกิจที่ปรากฏอยู่ในโลกสองใบ คือโลกดิจิทัลและโลกกายภาพ นำไปสู่การพัฒนาเวทีการค้าโลกครั้งสำคัญคือเวทีการค้า “Global Value Chain (GVC)” ของศตวรรษที่ 21