Monday, August 22, 2016

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 6



            บทความตอนที่ 5  ภายใต้หัวข้อ “Cyber-Physical System” ได้กล่าวถึงบทบาทของโลกดิจิทัล (Digital World หรือ Digital Layer)  โดยมี IoT ทำหน้าที่ส่งข้อมูลและบอกสถานภาพของสิ่งต่าง ๆ ในโลกกายภาพ แล้วนำไปประมวลผลในโลกดิจิทัล และโลกดิจิทัลนี้เป็นที่เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับบริการที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) การสร้างบริการดิจิทัลทำงานด้วยข้อมูลบน Digital layer นี้ช่วยเชื่อมโยงสินค้า เครื่องมือ เครื่องจักร และอื่น ๆ ทำให้เกิด Visibility หรือการมองเห็นทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้า (Customer intimacy) และช่วยขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่สากล (Globalization)  IoT จึงถูกมองว่าเป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งใหม่ที่สำคัญและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของศตวรรษที่ 21 บทความตอนที่ 6 จะกล่าวถึงนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศไทยบนพื้นฐานของแนวคิดของระบบ CPS และเรื่อง Industry 4.0

Thailand 4.0

ประเทศไทย 4.0” เป็นคำที่รัฐบาลต้องการสื่อสารกับประชาชนในเชิงนโยบายว่าจากนี้ไปรัฐบาลต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยอาศัยเทคโนโลยีที่สามารถสร้างมูลค่าที่สูงกว่าแต่ก่อน แทนที่จะเน้นการสร้างเศรษฐกิจจากแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติเหมือนในอดีต รัฐบาลต้องการเห็นประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ โดยอาศัยทักษะในด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่  เป็นนโยบายพัฒนาประเทศในรูปแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าสูงที่แข่งขันได้จากสินค้าและบริการเดิม และให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากรูปแบบเศรษฐกิจเดิมสามยุคแรกคือ Thailand 1.0, Thailand 2.0 และ Thailand 3.0 โดย Thailand 1.0 หมายถึงยุคที่ประเทศไทยพัฒนาประเทศด้วยเกษตรกรรม Thailand 2.0 เป็นการพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมเบา และเป็นช่วงที่ประเทศไทยพัฒนาจากประเทศยากจนมีรายได้ต่ำกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และ Thailand 3.0 เป็นยุคที่ประเทศไทยพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมหนักและสามารถผลักดันให้ประเทศพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป  อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังคงติดกับดักอยู่กับการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง  Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่หวังจะอาศัยเทคโนโลยีพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงโดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการให้มากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง

การพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีในยุคใหม่นี้ไม่ใช่เพียงแค่นำเทคโนโลยีช่วยให้การผลิตและการบริการมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่สร้างคุณค่า (Value Creation) จากเทคโนโลยี  ประเทศไทยจะมีศักยภาพแข่งขันด้วยการสร้างคุณค่าได้นั้นต้องอาศัยความสามารถด้านนวัตกรรม สามารถคิดนอกกรอบจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (การปฏิรูป, Transformation) ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านแนวคิด (Mindset) ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เปลี่ยนแปลงแนวคิดในด้านพัฒนาสินค้าและบริการ เปลี่ยนแนวความคิดในรูปแบบของธุรกิจ (Business model) รวมทั้งเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในทุกระดับ (Business processes) และการจัดการทรัพยากร (Resource management) ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าหมายไปสู่การสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศไทยต้องมีความพร้อมในการแข่งขันบนพื้นฐานความคิดที่ว่าธุรกิจยุคใหม่นี้ต้องไม่ทำเพียงแค่เน้นการผลิตและจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนมาเป็นบริการลูกค้าให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากสินค้าและบริการที่ได้ซื้อไป นั่นหมายถึงว่ารัฐต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สามารถปฏิรูปตนเองสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยดังนี้

1)   แทนที่จะเน้นการผลิตสินค้าแบบ Mass production เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพสูงแต่ราคาถูกในลักษณะสินค้าแบบ Commodity ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและบริการที่เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมในลักษณะเป็น Digital Services ที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้จริงในลักษณะของ Mass Customization หรือให้ดีต้องสามารถให้บริการเพื่อตอบโจทย์เป็นรายตัว หรือ Personalization ได้

2)   สร้างสรรค์กระบวนการผลิตจากเดิมที่มีรูปแบบเป็นรูปโซ่ ตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดมาเป็นกระบวนการผลิตที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพันธมิตรในลักษณะเครือข่าย มีลักษณะเป็น Connected supply chain

3)   เปลี่ยนจากรูปแบบการผลิตและจำหน่ายสินค้ามาเป็นการให้บริการที่อาศัยสินค้าเป็นกลไกของการให้บริการ

หลักคิดของ Thailand 4.0 จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจทั้งสามภาคกลายเป็น Smart Agriculture, Smart Manufacturing, และ Smart Service ที่เน้นประโยชน์และสร้างคุณค่าให้แก้ผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความยั่งยืนได้

Industry 4.0

คำว่า “Industry” หรือ อุตสาหกรรมเป็นคำจำกัดความที่ใช้กับกิจกรรมที่ใช้ทุนและแรงงาน เพื่อที่จะผลิตสิ่งของ หรือ จัดให้มีบริการ (ที่มา: th.wikipedia) ธุรกิจที่มีการทำธุรกรรมอย่างเป็นระบบไม่ว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการบริการหรือเกษตรกรรม ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ดังนั้น Industry 4.0 จึงหมายถึงธุรกิจที่ทำกิจกรรมอย่างเป็นระบบทุกชนิดที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทำให้เกิด Digitization (ทำให้เป็นดิจิทัล หรือทำให้เกิดข้อมูลหรือรูปแบบใดก็ได้ที่มีลักษณะเป็นดิจิทัล) และที่สำคัญทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน (Connection) ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เช่นอินเทอร์เน็ตในกลุ่มสินค้า เครื่องจักร และกระบวนการทำงานในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ดังนั้น Industry 4.0 จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น Industrial Internet of Things เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในโรงงานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเชื่อมโยงกันในกระบวนทำงานอย่างบูรณาการทั้งกระบวนการภายในโรงงาน (Shop floor) และบูรณาการทำงานในสำนักงาน (Office floor) โดยเฉพาะบูรณาการกับกระบวนการห่วงโซ่คุณค่าของพันธมิตรและของลูกค้าด้วย การปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาระบบงานที่อาศัย Internet Solution ระดับสูงครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากการบริหารและบูรณาการภายในห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับองค์กร (Vertical Integration) และระดับข้ามองค์กร (Horizontal Integration) การบูรณาการด้วย Internet solution ในลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการของ Smart supply chain

        การปฏิรูปอุตสาหกรรมในลักษณะที่สอง เป็นการใช้เทคนิค Digitization และการเชื่อมโยงกัน (Connectivity) กับกลุ่มสินค้าและบริการ แล้วเสริมด้วย Digital services ที่เน้นการสร้างคุณค่า (Value creation) ให้ผู้บริโภค ทำให้สินค้าและบริการเดิมกลายเป็น Smart product bundle หรือ Smart product system ที่ทำให้เกิดคุณค่าแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริงและสามารถตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคลตามบริบทได้ (Personalized value in-context) ในกรณีหลังนี้ ถ้ามีการคิดค้นนวัตกรรมที่ค่อนข้างฉีกแนว (Disruptive) มักจะทำให้รูปแบบธุรกิจ (Business model) เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะแข่งขันได้ยาก รูปแบบธุรกิจใหม่นี้มักจะเน้นการเสนอ Value proposition ให้ผู้บริโภคที่สามารถตอบโจทย์ Pains และ Gains ได้อย่างตรงเป้าหมาย รูปแบบของรายได้ก็อาจเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง ในรูปแบบธุรกิจใหม่นี้ธุรกิจมักจะดึงเอาลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมุ่งเน้นให้ลูกค้ามีส่วนช่วยตัวเองในการสร้างคุณค่าตามบริบทของตนเอง

        โดยสรุป Industry 4.0 จะอาศัย Internet of Things เชื่อมโยงธุรกรรมในโลกกายภาพและโลกดิจิทัล เป็นการเชื่อมโยงคน สรรพสิ่งรวมทั้งสินค้าและเครื่องจักรเพื่อให้เกิด Internet Solutions ที่สร้างคุณค่าให้แก่ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเชื่อมโยงนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่สร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริง


ตอนต่อไป ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความชุดนี้จะจบด้วยเรื่อง แนวทางส่งเสริม Industry 4.0 ของประเทศไทย


No comments:

Post a Comment