Tuesday, January 27, 2015

การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตอนที่ 1



เมื่อปีที่แล้ว MIT Sloan School of Management ได้เปิดตัวโครงการ “Initiative on the Digital Economy” (Website: http://mitsloan.mit.edu/ide/) และกล่าวนำด้วยประโยคเริ่มต้นว่า The Initiative on the Digital Economy is a major effort addressing one of the most critical issues of our time: the impact of digital technology on business, the economy, and society.”  ถ้าจะเขียนเป็นไทยแบบง่าย ๆ และสั้น ๆ ก็คงจะได้ความหมายว่าการริเริ่มในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ที่เน้นสิ่งที่มีความสำคัญมากในยุคนี้ นั่นก็คือเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อธุรกิจ ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม

เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก ๆ คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุปกรณ์พกพา ทำให้คนเราทำกิจกรรมอย่างเป็นอิสระจากเวลา (Time) และสถานที่ (Space) คือทำงานและทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Mobility” เทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อสังคม (Social Media) ที่เชื่อมโยงคนทั่วทั้งโลก (Connectivity) เทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big data analytics) ทำให้เรารู้เท่าทันเหตุการณ์ทุกด้านและทุกเวลา  และเทคโนโลยีที่เกิดบริการ Cloud Computing มีผลทำให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานที่ใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology, ICT) ซึ่งครั้งหนึ่งมีความสำคัญต่อการประมวลผลข้อมูลและการสื่อสารข้อมูล บัดนี้ได้กลายมามีบทบาทและมีอิทธิพลมากต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (Disruptive transform) ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมจากความสามารถที่คนเราสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลกด้วยบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและด้วยอุปกรณ์พกพา

ความหมายของเศรษฐกิจดิจิทัล
เศรษฐกิจดิจิทัลหมายถึงเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  ดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญที่จะปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนและการศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 

               ข้อความข้างต้นเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจนมีผลต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ  การปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนี้จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรม (Innovation) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นองค์ประกอบสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจึงจำเป็นต้องอาศัยทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะในด้านสร้างสรรค์และนวัตกรรมด้วย Creative Economy จึงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของ Digital Economy

1.         ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล
นักธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไม่เคยทำได้มาก่อน เราใช้โทรศัพท์มือถือจองรถบริการหรือเรียกบริการรถแท็กซี่ได้ Gartner เชื่อว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปการทำธุรกรรมและการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอุปกรณ์พกพาจะมากกว่าครึ่งของรายการค้าที่ทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์พกพาร่วมกับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจจากนี้ไป

Amazon.com ใช้ Big Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้สามารถแนะนำสินค้า เช่นหนังสือที่ใกล้เคียงความสนใจทุกครั้งที่ผู้ซื้อได้ทำรายการสั่งซื้อ ทำให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

บริษัท Treadless.com ใช้ความสามารถของสื่อสังคมสร้างธุรกิจหมื่นล้านบาทจากการออกแบบและจำหน่ายเสื้อยึดทั่วโลก อาศัยประชาชนทั่วไปช่วยออกแบบ และร่วมกับพันธมิตรธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ถือว่าสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ๆ

ธุรกิจเริ่มใช้วิธีโฆษณาสินค้าและสร้างแบรนด์ด้วยเทคโนโลยีรหัส QR (Quick Response)  QR ทำงานเหมือนรหัสแท่ง (Bar code) ที่พิมพ์บนหีบห่อสินค้า หรือแผ่นป้ายโฆษณา ผู้บริโภคใช้เครื่องโทรศัพท์พกพาอ่านรหัส QR ได้ ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่ธุรกิจได้จัดเตรียมนำเสนอ ข้อมูลอาจเป็นข้อความบรรยายสรรพคุณของสินค้า หรือคลิปวีดิทัศน์นำเสนอสิ่งที่น่าสนใจผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นวิธีการปฏิวัติแนวทางการโฆษณาและการสื่อสารธุรกิจที่มีอิทธิพลสูงมาก

นอกจากความสามารถที่กล่าว เทคโนโลยีดิจิทัลยังเชื่อมโยงคนแพร่กระจายไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในทวีปหนึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจในอีกทวีปหนึ่งทันที สินค้าที่วางจำหน่ายที่มุมหนึ่งของโลก คนอีกมุมหนึ่งก็มีโอกาสได้รับรู้และเข้าถึงได้ มีเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาทโดยไม่ต้องลงทุน เพียงแค่เสาะหาสินค้าไทยไปวางจำหน่ายผ่าน e-Marketplace ระดับโลก เช่น Alibaba.com หรือ Amazon.com  เทคโนโลยีดิจิทัลยังเปิดโอกาสให้คนทุกคน โดยเฉพาะระดับรากหญ้าก็ยังสามารถเพิ่มรายได้จากการขายของทุกชนิดที่หาได้ มีคนนำเสื้อผ้ามือสองไปวางขายผ่านอินเทอร์เน็ตก็ยังสามารถหาผู้ซื้อได้โดยไม่ยาก บางประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยชาวบ้านขายสินค้าพื้นบ้านทำให้เกิดรายได้พิเศษ บางประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการเงินกู้ระดับชาวบ้านเพื่อเป็นเงินหมุนเวียน ช่วยให้คนรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างที่ไม่เคยมีโอกาสมาก่อน เทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยชาวนาชาวไร่มีโอกาสได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของราคาพืชไร่เพื่อช่วยตัดสินใจและบริหารผลผลิต ทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่ธุรกิจได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ถ้าเข้าใจและรู้วิธีใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทของแต่ละบุคคล ตัวอย่างที่กล่าวทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีดิจิทัลนี้ต่างกับเทคโนโลยีไอซีทียุคก่อน คอมพิวเตอร์เทคโนโลยีในห้าสิบปีที่ผ่านมาได้ช่วยปูพื้นฐานเพื่อให้ในยุคนี้ มีเทคโนโลยีใหม่ศักยภาพสูงที่สามารถสร้างคุณค่าในทางธุรกิจด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ ยุคที่ผ่านมา เป็นยุคของข่าวสารข้อมูล หรือยุคเศรษฐกิจฐานข้อมูล หรือ Information Economy โดยในยุคนั้นเราให้ความสำคัญกับการประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในยุค Digital Economy เป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เน้นด้านการเชื่อมโยงกับตลาด ไม่เฉพาะตลาดภายในประเทศ แต่ตลาดโลก เป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อแข่งขันด้วยการสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้ลูกค้า ซึ่งความสามารถนี้เป็นพื้นฐานของการปฏิรูปแนวทางการทำธุรกิจใหม่ของศตวรรษที่ 21

2.         การสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
พวกเรามักเข้าใจว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของนักเทคโนโลยี วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ แต่ในยุคดิจิทัล นวัตกรรมเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก่อเกิดประโยชน์และสร้างคุณค่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะขาดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ไม่ได้

ธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเสนอความคิดใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปิดบัญชีออมทรัพย์ โดยธนาคารเสนอให้ลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตและสั่งจ่ายหักบัญชีกับธนาคารให้ความยินยอมหักบัญชีด้วยการปัดเศษขึ้นที่หนึ่งเหรียญ หมายความว่า ถ้าลูกค้าสั่งจ่ายหักบัญชีจำนวนเงิน เช่น 45.27 เหรียญ ก็ยินยอมให้ธนาคารหักจ่ายเป็นจำนวนเงิน 46.00 เหรียญ โดยส่วนต่าง 73 เซ็นต์นั้น ธนาคารจะนำฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของเจ้าของบัตรเครดิต และเมื่อสิ้นปี ธนาคารจะคำนวณยอดเงินออมสะสม แล้วแถมเงินให้ในรูปดอกเบี้ยตามอัตราส่วน ข้อเสนอนี้ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก จนสามารถเพิ่มบัญชีออมทรัพย์เปิดใหม่กว่าล้านบัญชีภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี นี่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม เป็นนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจ (Business model innovation) และนวัตกรรมในเชิงกระบวนการ (Business process innovation)

นวัตกรรมในยุคดิจิทัลเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนที่เข้าใจดิจิทัล ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไป ธุรกิจจำหน่ายหนังสือแต่เดิมเราคุ้นเคยกับการจัดพิมพ์หนังสือเป็นเล่มแล้วจัดจำหน่ายผ่านร้านขายหนังสือ หรือผ่านระบบขายออนไลน์ เราต้องซื้อทั้งเล่มถึงแม้ต้องการเนื้อหาสาระเพียงบางบท แต่ถูกบังคับให้ต้องซื้อทั้งเล่ม หนังสือส่วนที่ไม่ต้องการ เมื่อได้ซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ ก็ไม่มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคแต่อย่างใด และถือว่าเป็นความสิ้นเปลืองทั้งแก่ผู้บริโภคและสังคม  ในบางครั้ง ผู้บริโภคอาจไม่มีโอกาสได้ศึกษาและพิจารณาละเอียดเพียงพอก่อนจะตัดสินใจซื้อ มาผิดหวังภายหลังจากได้หนังสือมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะพบว่า เนื้อหาสาระของหนังสือโดยรวมไม่ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง สิ่งที่ผู้ซื้อได้มาคือความเป็นกรรมสิทธิ์ แต่หามีคุณค่าไม่  นักธุรกิจที่มีแนวคิดจะเปลี่ยนกลยุทธ์ในเชิงสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภค ต้องยอมเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ สนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อน้อย หรือซื้อตามความจำเป็น ไม่ยัดเหยียดให้ซื้อในสิ่งที่ไม่มีคุณค่า รูปแบบหนึ่งที่เริ่มมีผู้ใช้กัน คืออาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบบริการ (Service System) ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคเลือกซื้อเฉพาะบทที่ตนสนใจได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผู้ซื้อซื้อได้และอ่านได้จากเครื่องโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ผู้ขายยังสามารถสร้างข้อเสนออื่น ๆ ที่มีคุณค่าเช่น
·      สรุปใจความสำคัญของแต่ละบทเพื่อช่วยลูกค้าตัดสินใจ
·      ใช้คุณสมบัติของสื่อสังคม (Social Network) เป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจตั้งประเด็นข้อสังเกตเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อหนังสือมีโอกาสปรึกษาหารือระหว่างกันเป็นรายบทได้
·      มีระบบชำระเงินได้อย่างสะดวก
ที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมอีกแบบหนึ่งที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่โดยเน้นที่ประโยชน์และคุณค่าสูงสุดของผู้บริโภค

Zara เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความได้เปลี่ยนในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม Zara เป็นธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าสำหรับสตรี สุภาพบุรุษ และเด็ก ชั้นนำของโลก วิกีพีเดียให้ข้อมูลว่า Zara เป็นธุรกิจของสเปน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.. 1975 เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจแฟชั่น Inditex แทนที่จะเน้นการจ้างผลิตเสื้อผ้าชั้นนำระดับโลกจำนวนมากจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยต้นทุนต่ำเหมือนธุรกิจเสื้อผ้าทั่วไป Zara กลับเน้นการแข่งขันด้วยนวัตกรรมในหลาย ๆ ด้านดังนี้
·      Zara จะออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมวางจำหน่ายตามร้านภายในทุก ๆ สองสัปดาห์ เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นราคาไม่แพง ในแต่ละปี Zara สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่เสนอต่อผู้บริโภคประมาณ 10,000 ชิ้น ในขณะที่คู่แข่งที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเฉลี่ยเพียง 2000-4000 รายการต่อปี  Zara ให้ความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์การประหยัดจากความหลากหลาย (Economies of scope)  
·      Zara ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภค ด้วยผลิตภัณฑ์แฟชั่นในความนิยมด้วยวิธีการไม่เหมือนใคร ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย ถ้าไม่มีผู้ซื้อเลยภายในหนึ่งสัปดาห์จะถูกถอนออก และทดแทนด้วยสินค้าใหม่ ด้วยวิธีการนี้ ลูกค้าจะได้สัมผัสกับสินค้าตามแฟชั่นใหม่อยู่ตลอดเวลา สำหรับสินค้ายอดนิยมจะวางขายนานประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสซื้อซ้ำได้ โดยเฉลี่ยลูกค้าจะกลับมาซื้อใหม่ประมาณ 17 ครั้งต่อปี ในขณะที่คู่แข่งเพียงประมาณ 3 ครั้งต่อปี ธุรกิจที่มีความสามารถในด้านนวัตกรรมสูงจึงจะให้บริการลูกค้าในลักษณะนี้ได้
·      นอกจากให้ความสำคัญในนวัตกรรมเกี่ยวกับการออกแบบสินค้าและการจัดการวางจำหน่ายแล้ว Zara ยังให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการให้บริการลูกค้าด้วย นอกจากวางจำหน่ายสินค้าในร้าน Zara กว่า 2,000 แห่งทั่วโลก Zara ยังเปิดขายผ่านออนไลน์ ด้วยระบบออนไลน์ที่ให้ความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและชำระเงิน โดยลูกค้าเลือกรับสินค้าจากร้านใกล้เคียง หรือจัดส่งผ่านบริการพัสดุได้

รูปแบบธุรกิจของ Zara เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลขายสินค้าจากสาขาทั่วโลก อาศัยเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) เพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ แล้วอาศัยผลนี้กำหนดกลยุทธ์จัดวางประเภทสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม การจัดระบบจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางระบบออนไลน์เสริมร้านค้าตามหัวเมืองทั่วโลก ทำให้ Zara สามารถตอบสนองความต้องการส่วนตัวของผู้บริโภค ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจและกระบวนการทำงานทางธุรกิจที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล

ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจ และสร้างตลาดใหม่ที่มีคุณค่ามากมายแก่ผู้บริโภคได้ ตัวอย่างที่ดีคือธุรกิจทางดนตรี แต่เดิมธุรกิจด้านดนตรีเป็นธุรกิจของการผลิตจานเสียง เทปดนตรี และแผ่นซีดี (Compact Disk)  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องเดินทางไปเลือกหาซื้อตามร้านค้า เป็นธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดของสถานที่ เวลา และตัวบุคคล การทำธุรกรรมภายใต้ข้อจำกัดทางกายภาพของตัวสินค้า ลดคุณค่าที่ผู้บริโภคพึงได้หลายประการ  ประการแรก ข้อจำกัดทางกายภาพเป็นเหตุให้เกิดช่วงห่างระหว่างเวลาที่ผู้บริโภคต้องการเพลง (Needs) กับช่วงเวลาที่ได้เพลงมาเป็นกรรมสิทธิ์และได้ฟังเพลงที่ต้องการ (มีคุณค่า)  พูดกันง่าย ๆ เราเกิดความอยากฟังเพลงเพลงหนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง แต่ต้องเดินทางไปหาร้านค้าจำหน่ายแผ่นซีดี ใช้เวลาค้นหา แล้วซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์  กว่าจะได้ฟังเพลงสมความต้องการต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง  ในบริบทเช่นที่กล่าวนี้ หลายคนอาจถอดใจหายอยาก คือไม่ไปหาซื้อและยกเลิกความอยาก ทำให้ธุรกิจเสียรายได้โดยปริยาย  ประการที่สอง ข้อจำกัดทางกายภาพเป็นเหตุให้เพลงและดนตรีถูกจำกัดในด้านประโยชน์ กล่าวคือแผ่นซีดีนำไปใช้กับเครื่องเล่นในรถยนต์ หรือในห้องรับแขกที่บ้าน ประโยชน์จึงถูกจำกัดเพียงภายในบริบทที่เรามีอารมณ์อยากฟังเพลง ซึ่งเป็นเพียงบางโอกาสเท่านั้น แต่ถ้าเราแปลงเพลงเป็นรูปแบบดิจิทัล (Digitization) อย่างเช่นทุกวันนี้  เราขยายการใช้ประโยชน์จากเพลงเดียวกันในบริบทอื่น ๆ อีกมาก เช่น ฟังในขณะออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์พกพา ฟังในขณะนั่งอยู่รถไฟฟ้า ฟังในขณะเดินช้อปปิ้ง ประการที่สาม จำกัดการเข้าถึงเพลงที่หลากหลาย ในยุคที่เพลงเป็นธุรกิจซื้อขายกรรมสิทธิ์กันนั้น ผู้บริโภคต้องถือครองเป็นกรรมสิทธิ์จึงมีโอกาสได้ฟังเพลง เป็นการจำกัดการเข้าถึงเพลงที่มีคุณค่าอื่นมากมาย  ในยุคสารสนเทศ เพลงส่วนใหญ่ถูกแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัล ผู้บริโภคเลือกข้อเสนอจากผู้ประกอบการผ่านอินเทอร์เน็ตได้หลากหลายมาก ทั้งที่ต้องเสียเงิน และที่ให้บริการฟรี ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถแปลงสินค้าบางประเภทและข้อมูลให้เป็นรูปแบบดิจิทัล สร้างโอกาสมหาศาลที่นักธุรกิจจะพัฒนาเป็นข้อเสนอที่มีคุณค่าแก่ผู้บริโภคได้ สุดแล้วแต่จินตนาการ  ความสามารถที่จะนำจินตนาการมาสู่ข้อเสนอที่มีคุณค่าคือความท้าทายของนักธุรกิจยุคใหม่

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายความหมายของเศรษฐกิจดิจิทัล จะเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เพียงแต่ความสามารถของธุรกิจที่ใช้ไอซีทีทำธุรกิจ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับทักษะในการสร้างนวัตกรรมจนนำไปสู่การปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างมากจนนำหน้าคู่แข่ง และสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  บทความชุดนี้ ขอจบด้วยการนำเสนอความหมายของ Digital Economy ในมุมมองของ British Computer Society (BCS)  ตอนหนึ่ง[1]ว่า

“The digital economy refers to an economy that is based on digital technologies, although we increasingly perceive this as conducting business through markets based on the internet and the World Wide Web. The digital economy is not limited to traditional business models. It encompasses every aspect of modern life; entertainment, health, education, business to banking, the ability of the citizen to engage with government and society to stimulate new ideas and help influence political and social change. Digital networking and communication infrastructures provide a global platform over which people and organizations devise and employ new business strategies, interact, communicate, collaborate and seek information regardless of time and location.”


บทความตอนต่อไปจะนำเสนอแนวคิดการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

Saturday, January 24, 2015

บทบาทของ Enterprise Architecture กับ Service Scienceในการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ตอนที่ 11



ในบทความตอนที่ 10 ได้แนะนำ ArchiMate ซึ่งเป็น Modeling language ที่ใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร  ภาษาสร้างแบบชุดนี้ใช้ได้ดีกับวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรของ TOGAF (The Open Group Architecture Framework)  บทความตอนใหม่จะเล่าถึงกรอบหรือต้นแบบ หรือ Viewpoint ชุดมาตรฐานของ ArchiMate ที่สามารถช่วยสถาปนิกสร้าง Blueprint และเครื่องมือ Archi ที่ใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร

3.2    Viewpoint ของ ArchiMate
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่ 8 ว่า IEEE 1471 ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของต้นแบบของสถาปัตยกรรมองค์กร ที่นำไปสู่การสร้างแผ่นพิมพ์เขียว (Blueprint) หรือ View โดยกำหนดว่าให้แผ่นพิมพ์เขียวแต่ละชนิดถูกสร้างขึ้นโดยมี Pattern หรือ Viewpoint เป็นต้นแบบ  ผู้ที่คุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรมด้วย Object oriented technology จะเปรียบ View เหมือน “Object” ในขณะที่ Viewpoint เหมือน “Class”   ArchiMate อาศัยหลักคิดนี้และได้ออกแบบต้นแบบหรือ Viewpoint ถึง 27 แบบเพื่อให้สถาปนิกเลือกใช้ตามขั้นตอนการสร้างสถาปัตยกรรมของ TOGAF (Architecture Development Method (ADM)) ที่ได้อธิบายแล้วในบทความตอนที่ 9 และขอนำเสนออีกครั้งตามภาพข้างล่างนี้




ArchiMate ได้จัดกลุ่ม Viewpoint ให้เหมาะสมกับงานในแต่ละขั้นตอน เป็น 3 กลุ่มตามวงจรของการสร้างสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย  1) Motivation 2) ArchiMate core และ 3) Implementation and migration

1)        Motivation เป็นขั้นกำหนดเป้าประสงค์ กำหนดหลักการ และความต้องการขององค์กร เป็นขั้นตอนการทำงานที่เกี่ยวกับ Phase A: Architecture vision ภายใต้กรอบ ADM ของ TOGAF ที่แสดงในรูปข้างต้น งานหลัก ๆ ประกอบด้วยประมาณขนาดของโครงการหรือปริมาณเนื้องาน ทำความเข้าใจเรื่องข้อจำกัด ทำความเข้าใจความต้องการ (Business requirement) อย่างกว้าง ๆ เนื้องานทั้งหมดจะถูกสรุปเป็น “Request for Architecture Work” และต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำงานในขั้น Phase B: Business Architecture ได้
แต่ก่อนที่จะทำงานใน Phase A นี้ จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “Preliminary Phase” ซึ่งเป็นงานตระเตรียมความพร้อม ประกอบด้วยการทำความรู้จักกับคนที่เกี่ยวข้อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีทำงานระหว่างสมาชิกในทีม ให้ทุกคนเข้าใจถึงมาตรการการจัดการและการควบคุมการทำงานให้บรรลุคุณภาพตามความคาดหมาย  และที่สำคัญทุกคนต้องเข้าใจหลักการของสถาปัตยกรรมองค์กร
ArchiMate กำหนดให้มีต้นแบบ (Viewpoint) ภายในกลุ่มนี้จำนวน 6 ต้นแบบ ประกอบด้วย (รายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ ArchiMate[1])
·      Stakeholder Viewpoint
·      Goal Realization Viewpoint
·      Goal Contribution Viewpoint
·      Principle Viewpoint
·      Requirements Realization Viewpoint
·      Motivation Viewpoint
2)        ArchiMate Core ใช้สำหรับงานของ Phase B, C, และ D ซึ่งเป็นขั้นตอนหลักของสถาปัตยกรรมองค์กร ประกอบด้วย Business Architecture, Information Systems Architecture (Data architecture and Application Architecture) และ Technology Architecture.  ArchiMate กำหนดให้มีต้นแบบ (Viewpoint) จำนวน 18 ต้นแบบ ในที่นี้จะแนะนำเพียงบางรายการเพื่อให้พอเห็นภาพเท่านั้น ส่วนรายละเอียดสามารถอ่านได้จากหนังสือ ArchiMate หรือบทความที่เกี่ยวข้องจากเว็บไซท์
·      Business Function Viewpoint
·      Process Viewpoint
·      Business Process Co-operation Viewpoint
·      Application Behavior Viewpoint
·      Application Usage Viewpoint
·      Infrastructure Usage Viewpoint
·      Information Structure Viewpoint
·      Service Realization Viewpoint
3)        Implementation and migration ใช้สำหรับงานใน Phase E (Opportunities and solutions), F (Migration plan), G (Implementation governance), และ H (Architectural change management) มีทั้งหมด 3 ต้นแบบประกอบด้วย
·      Project viewpoint เน้นการจัดรูปแบบเพื่อจัดการกับ Architectural change
·      Migration Viewpoint เน้นบรรยายแนวคิดและวิธีการปรับปรุงขั้นตอนเพื่อ Migrate ระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่
·      Implementation and Migration Viewpoint บรรยายให้เห็นภาพการ Implement ระบบงานใหม่ในรูปโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะ Migrate จากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่
ต้นแบบหรือ Viewpoint ทั้ง 27 ต้นแบบใช้เป็น Guideline สำคัญสำหรับสถาปนิกเพื่อออกแบบ Blueprint ต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมองค์กร อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานในเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกันในสิ่งที่นำเสนอด้วย
3.3    เครื่องมือออกแบบ
มีผู้พัฒนาเครื่องมือซอฟต์แวร์เพื่อใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรด้วยภาษาภาพ ArchiMate เป็นจำนวนมาก เช่น Visual Paradigm, Archi, ArchiSpark Neat, BizzDsign, และอื่น ๆ ในที่นี้จะแนะนำเครื่องมือชุด Archi[2] ซึ่งเป็น Open source ที่พัฒนาโดย Phillip Beauvoir  ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก JISC (the Joint Information Systems Committee) ของสหราชอาณาจักร Archi ถูกพัฒนาให้ทำงานอยู่บน Eclipse 4  จึงมี User interface ที่คุ้นหน้าคุ้นตาสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังแสดงในภาพข้างล่างนี้

Archi แยกส่วนประกอบ (Elements) ของ Blueprint เป็น Folder ตามโครงสร้าง 3 ชั้นของ ArchiMate Framework กล่าวคือ Business Layer, Application Layer, และ Technology Layer สำหรับตัว Blueprint หรือ View นั้นถูกแยกเก็บไว้ใน Folder เรียกว่า “Views” ส่วนประกอบ หรือ Elements ที่ใช้สร้าง Blueprint นั้นมีลักษณะดังตัวอย่างต่อไปนี้

เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อความหมายภายในแผ่นพิมพ์เขียว (View),  Archi ใช้สีเพื่อแสดงความแตกต่างระหว่าง Elements ภายในแต่ละ Layers โดยใช้สีเหลืองแสดงกลุ่ม Elements ภายใน Business Layer สีฟ้า แสดง Elements ใน Application Layer และสีเขียวในส่วนของ Technology Layer  นอกจากนี้ ยังมี Element ในกลุ่ม Motivation ที่ใช้สีม่วง และสีชมพูในกลุ่ม Implementation & Migration อย่างไรก็ตาม Archi เปิดให้เราเปลี่ยนสีได้เองตามความเหมาะสม ภาพต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของ ArchiMate model ที่ถูกสร้างขึ้นด้วย Archi

จุดเด่นของ ArchiMate คือการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมของแต่ละชั้นหรือ Layer ได้ ซึ่งหมายถึงส่วน Business Architecture, Application Architecture และ Technology Architecture ในแผ่นพิมพ์เขียวเดียวกันภายใต้ต้นแบบมาตรฐานของ ArchiMate (Viewpoint)  เครื่องมือ Archi เปิดให้เราแยกออกแบบสถาปัตยกรรมแต่ละชั้นหรือ Layer อย่างอิสระ แล้วนำมาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันภายหลังได้ด้วยกลไกของ Viewpoint   นอกจากนี้ การเลือก Viewpoint เพื่อออกแบบ View นั้น  Archi ยังช่วย Block สัญลักษณ์ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องออกจาก Canvas ที่สถาปนิกใช้ทำงาน เป็นการช่วยขจัดความผิดพลาดจากการเลือกใช้ Elements ที่อยู่นอกกรอบของ Viewpoint ได้
Archi มี Features ค่อนข้างครบถ้วนสำหรับใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กโดยยึดหลักของภาษา ArchiMate ทุกประการ นอกจากนี้ ยังมี Function ที่อำนวยความสะดวกในการนำเสนอโมเดล ด้วยวิธีแปลงภาพให้เป็นรูปแบบอื่น เช่น PDF, MS Word, หรือ MS Powerpoint ได้

บทสรุป
ที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กต้องปรับกลยุทธ์รับมือกับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และปรับปรุงระบบสารสนเทศที่สร้างรองรับการดำเนินธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีมีมูลค่าสูงมาก ยิ่งจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนซ้ำซ้อน และสามารถตอบโจทย์ของยุทธศาสตร์องค์กรได้ นอกจากนี้ ยังต้องให้มั่นใจว่าระบบสารสนเทศทั้งเก่าและใหม่สามารถทำงานบูรณาการเพื่อให้มีศักยภาพบริการทั้งแก่พนักงานภายในองค์กรและลูกค้ารวมทั้งพันธมิตร สถาปัตยกรรมองค์กรจึงมีความจำเป็นและถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่บันทึกและแสดงโครงสร้างขององค์กรและระบบงาน เพื่อช่วยการสื่อสารเกี่ยวกับการทำงานในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงการบริหารจัดการการออกแบบและการปรับปรุงลักษณะโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และการจัดหาเครื่องมือสารสนเทศที่ประสานกัน สามารถทำงานประสานกันอย่างราบรื่นระหว่างคนและเครื่องจักร
บทความชุดนี้เริ่มด้วยการแนะนำกรอบแนวคิดพื้นฐานของสถาปัตยกรรมองค์กรคือ Zachman Framework ที่ให้นำเสนอส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมแยกเป็น 36 ชนิด เราได้พูดถึงกรอบมาตรฐานของ IEEE 1471 ที่แนะนำออกแบบการนำเสนอสถาปัตยกรรมองค์กรโดยยึดแนวคิดของ Concerns ของ Stakeholders ในรูปของ Viewpoints และ Views เราได้พูดถึงขั้นตอนการสร้างสถาปัตยกรรมที่มี 8 ขั้นตอนของ TOGAF และสุดท้ายได้พูดถึงภาษาภาพที่ใช้สื่อสารสถาปัตยกรรม ArchiMate รวมทั้ง Viewpoint มาตรฐานจำนวน 27 แบบที่ช่วยสถาปนิกออกแบบสถาปัตยกรรม และสุดท้ายได้แนะนำ Archi เครื่องมือที่ใช้ออกแบบสถาปัตยกรรม
จากความจำเป็นไปสู่กรอบแนวคิดและเครื่องมือที่ช่วยออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรที่กล่าวมา น่าจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารธุรกิจ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ นักออกแบบระบบสารสนเทศ และพนักงานระดับอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการนำเสนอกรอบสถาปัตยกรรมองค์กรที่ช่วยสื่อสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานและระหว่างระบบงาน ตลอดจนมีข้อมูลที่สมบูรณ์ในทุกมิติที่จะช่วยการออกแบบระบบงานใหม่ มีแผ่นพิมพ์เขียวบันทึกความเชื่อมโยงของส่วนสำคัญ ๆ ขององค์กรและระบบงาน เพื่อให้การบริหารจัดการ การปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และต่อเติมโครงสร้างขององค์กร กระบวนการทำงาน และระบบงานทำได้อย่างเป็นระบบ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผิดพลาดในการตัดสินใจเพื่อลงทุน ตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ และในเชิงแก้ไขปัญหาทางธุรกิจอื่น ๆ ได้ และเมื่อเกิดความสนใจที่จะใช้ EA ในองค์กร ก็ยังสามารถเลือกกรอบเพื่อการพัฒนาสถาปัตยกรรม กำหนดขั้นตอนการพัฒนา และเลือกใช้เครื่องมือช่วยพัฒนาได้อย่างเหมาะสมด้วย



[1] Josey, Andrew et al., Archimate 2.1 A Pocket Guide, Van Haren Publishing, www.vanhaen.net, March 2012.
[2] http://www.archimatetool.com/