Sunday, July 25, 2010

Social Customer กับโอกาสของธุรกิจซอฟต์แวร์

แนวคิดหนึ่งของการขยายฐานตลาดซอฟต์แวร์ คือเล่นกับคลื่นลูกใหม่ ที่เกี่ยวกับการใช้ไอซีทีในภาคธุรกิจ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เน้นเรื่อง "Transactional" ซึ่งหมายถึงระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการค้า เช่นระบบ ERP แต่จากนี้ไป เราจะพบการใช้ไอซีทีที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง "Customer Experiences" มากขึ้น แล้วอะไรคือ Customer Experience และมีนัยสำคัญอย่างไรต่อการขยายฐานของธุรกิจซอฟต์แวร์ Wikipedia ให้คำจำกัดความว่า Customer Experience หมายถึงประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการ ตลอดช่วงเวลาที่ยังมีความสัมพันธ์กันในฐานะผู้บริโภค และผู้จำหน่ายหรือให้บริการ นักธุรกิจจากนี้ไป จะถูกบังคับจากการแข่งขัน ให้ดูแลและเอาใจใส่ผู้บริโภคมากขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภค โดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม โลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป จากครั้งหนึ่ง ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือผู้บริโภค มาเป็นผู้บริโภคมีอิทธิพลเหนือกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะข้อมูลข่าวสารได้ Empower ให้เกิดขึ้น ข่าวสารที่กระจายอยู่ในอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคม เป็นเหตุให้ผู้บริโภครู้ข้อเท็จจริงมากขึ้น โอกาสที่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะชักจูงผู้บริโภคนั้นน้อยลง ปรัชญาของการทำธุรกิจจึงเริ่มเปลี่ยนจากการเห็นลูกค้าเป็นเป้าหมายของการขาย กลายเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า การสร้างประสบการณ์ที่ดี และสร้างความพึงพอใจ มักจะเกิดจากการบริการ ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจทุกประเภทจะต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้า โดยไม่คำนึงว่า ธุรกิจหลักจะเป็นธุรกิจภาคการผลิต หรือภาคบริการ

งานบริการ และงานสร้าง Customer Experience จำเป็นต้องอาศัยระบบซอฟต์แวร์ที่แตกต่างจาก Transactional application การบริการต้องอาศัยซอฟต์แวร์ที่มีการปฎิสัมพันธ์กับผู้บริโภคในฐานะผู้ร่วมผลิต (Co-creator) การบริการเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนงาน (Processes) ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว(Personalized) ดังนั้น ระบบซอฟต์แวร์เพื่องานบริการจึงต้องมีสถาปัตยกรรมที่เหมาะกับงานบริการ (Service Orientation) ที่คุ้นเคยในชื่อ Service Oriented Architecture (SOA) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบซอฟต์แวร์ที่รองรับงานบริการแตกต่างจากระบบ Transaction Processing System คืองานบริการมีห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ไม่เหมือนใคร เนื่องจากมีผู้บริโภคเป็นผู้ร่วมผลิต ความแตกต่างอาจมองในด้านการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ในธุรกิจจำหน่ายสินค้า ราคาถูกกำหนดจากการเพิ่มมูลค่าภายในกระบวนการผลิต เป็นแบบ Value added Pricing แต่การกำหนดราคาของงานบริการ เป็นแบบ Experience Pricing หมายถึงการขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ดี หรือความพึงพอใจของลูกค้า ตัวอย่างที่ดี ได้แก่การบริการของร้านกาแฟแบบ Franchise ที่ดัง ๆ มีคนเคยประมาณว่า ต้นทุนของกาแฟหนึ่งถ้วย มีค่าไม่เกิน 20 บาท แต่ราคาจำหน่ายสูงกว่า 5 เท่า ที่ยังขายได้เป็นเพราะลูกค้ามีความพอใจที่จะจ่าย เนื่องจากเกิดประสบการณ์ที่ดี เช่นนั่งคุยกับเพื่อน ๆ แบบสบาย ๆ เล่นอินเทอร์เน็ตได้ อ่านหนังสือได้ ฯลฯ การบริการที่เน้นการสร้างความพอใจและประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ต้องอาศัยระบบบริการที่มีคุณลักษณะพิเศษ และสนับสนุนการทำนวัตกรรมการบริการ ทุกครั้งที่มีนวัตกรรมการบริการเกิดขึ้นใหม่ ธุรกิจต้องการระบบซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการบริการนั้น ๆ เนื่องจากแนวคิดการบริการมักจะมีลักษณะเฉพาะตัว  ความต้องการระบบซอฟต์แวร์เพื่อรองรับงานบริการจะเพิ่มขึ้นตามแนวทางการปฎิรูปธุรกิจ จากแนวคิดการขายสินค้า ไปเป็นบริการ จากกิจกรรมที่เน้นการขายและทำรายการ ไปเป็นการเน้นสร้าง Customer Experience นี่คือโอกาสใหม่ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

เรามั่นใจได้อย่างไรว่า ธุรกิจจะปฎิรูปไปในทิศทางที่กล่าว คือธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าจากการบริการ (Service Driven Businesses) คำตอบอยู่ที่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ที่ถูกเรียกว่ากลุ่ม Net Gen หรือ Digital Natives หรือ Millennials (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2520 ถึง 2540) จะเรียกว่าอะไรก็ตาม กลุ่มนี้คือกลุ่มที่เกิดมากับเทคโนโลยี และใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากกว่าหน้าจอทีวี กลุ่มนี้จะเชื่อข้อมูลที่ได้จากเพื่อน ๆ ผ่านเครือข่ายสังคม มากกว่าข้อมูลที่ได้โดยตรงจากผู้ผลิต หรือผู้ขาย พวกเขาเชื่อว่าผู้ใช้สินค้าย่อมต้องรู้ดีกว่าผู้ขาย เพราะผู้ขายไม่มีประสบการณ์ในฐานะผู้ใช้ คนที่รู้ดีคือผู้ออกแบบสินค้า แต่ผู้ออกแบบมักจะอยู่แต่ในห้องปฎิบัติการ ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารที่เกิดจาก Net Gen จึงมีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ท่านคิดว่าการโฆษณารูปแบบเดิม จะโดยสื่อโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ จะยังช่วยได้หรือไม่ ก่อนยุคอินเทอร์เน็ต คนใช้เวลาอยู่หน้าทีวี และอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นช่องทางที่นิยมกันมากในขณะนั้น การโฆษณาผ่านสื่อกลุ่มนี้จึงมีผลมาก แต่ในวันนี้ คนรุ่นใหม่รับข่าวสารส่วนใหญ่จากอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคม ซึ่งอยู่กระจัดกระจาย ไม่เกาะเป็นกลุ่มอยู่เพียงไม่กี่สถานี หรือหัวหนังสือพิมพ์ไม่กี่หัว ดังนั้นโอกาสที่จะใช้สื่อเดิม โฆษณา เพื่อให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อนั้นลดน้อยลงมาก นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังนิยมความสะดวกในการสั่งซื้อ การสั่งสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีที่นิยมกันมาก นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากการบริการส่งสินค้าแบบใหม่ (Courier Services) ที่รวดเร็วและสะดวก ทำให้พฤติกรรมของการทำรายการสั่งซื้อสินค้าเริ่มเปลี่ยนไป การสั่งสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต และไปรับสินค้าที่ร้าน หรือรับผ่าน Courier Service กลายเป็นช่องทางใหม่ที่นับวันจะนิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีหนึ่งของ Co-creation ที่มีผลให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายลดลง ธุรกิจที่ไม่ได้ปรับตัวเข้ากับช่องทางการซื้อขายแบบใหม่นี้ น่าจะมีปัญหาต่อการแข่งขัน การซื้อขายรูปแบบใหม่ เป็นความชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญในการใช้ไอซีที คนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมซื้อขายตามที่กล่าว ถูกเรียกว่า "Social Customer"

Paul Greenberg เจ้าของ Blog เรื่อง Social CRM เคยกล่าวว่าธุรกิจจะมองข้ามพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ไม่ได้ เพราะมีผลต่อกลยุทธ์ของการแข่งขัน พฤติกรรมที่มีนัยสำคัญประกอบด้วย

  1. คนรุ่นใหม่นิยมใช้เครือข่ายสังคมติดต่อกัน (Connected) พวกเขาจะรวมกันเป็นชุมชน แลกเปลี่ยนข่าวสารกัน ชี้แนะให้แก่กันและกัน บางครั้ง ถึงขั้นร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน และช่วยเหลือกัน
  2. คนรุ่นใหม่มีความกระหายข่าวสาร (Content) พวกเขาจะอาศัยข่าวสารช่วยตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ พวกเขาจะเลือกผู้จำหน่ายและผู้ให้บริการที่ได้รับการแนะนำจากพรรคพวกในแวดวงสื่อสังคม 
  3. คนรุ่นใหม่ไม่ลังเลที่จะแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ (Creative) เมื่ออยู่กันในกลุ่มผ่านเครือข่ายสังคม ส่วนมากเป็นการเสนอความคิดแบบไม่หวังผลประโยชน์
  4. คนรุ่นใหม่กระตือรือร้นที่จะร่วมมือกันทำกิจกรรม (Collaborative) เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม และส่วนรวม 
  5. คนรุ่นใหม่เข้าถึงกันภายในกลุ่มตลอดเวลา การติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข่าวสาร (Communication) กลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ในฐานะนักธุรกิจ ท่านมีโอกาสที่จะถูกกล่าวถึงได้ ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ขึ้นอยู่ที่ผลการกระทำของท่านเอง

นักธุรกิจอาจจะถามว่า จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มที่กล่าว ถ้าท่านไม่คิดเปลี่ยน แต่ลูกค้าของท่านเริ่มเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนตามอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศ ถ้าท่านไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน คู่แข่งของท่านอาจจะพร้อม และเริ่มปฎิรูปแนวทางการทำธุรกิจกับคนรุ่นใหม่ ตามคลื่นลูกใหม่ ที่ชี้นำโดยผู้บริโภค ฝรั่งใช้คำว่า Business is no more in control, it is the customer who is now in control แปลเป็นไทยได้ความว่า จากนี้ไป การตัดสินใจซื้อขายไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย แต่เกิดจากลูกค้า

Wednesday, July 21, 2010

Strategies to Questing for Top Talents in the Next Decades

ท่านรู้สึกไหมว่าทุกสิ่งรอบตัวท่านกำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เรื่องโลกร้อน หรืออากาศเป็นพิษ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกภาคส่วน ทั้งการทำธุรกิจ การศึกษา พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ การแข่งขัน สาเหตุหนึ่ง เกิดจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานจัดให้มีการประชุมทางวิชาการนา ๆ ชาติ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชน มีเรื่องมาฝากสองสามเรื่อง ในการเสวนากลุ่มของนักอุตสาหกรรม วิทยากรหลายท่านมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อความอยู่รอดในสิบปีข้างหน้า ธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข่าวดี โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพราะท่านตั้งเป้าว่า อยากให้ประเทศไทยเพิ่มการใช้จ่ายเพื่องานวิจัยและพัฒนา จากเดิม มีเพียงประมาณร้อยละ 0.25 ของ GDP เป็นร้อยละ 1.0  ข่าวร้าย คือ จะมีการแข่งขันชิงนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรมือดี รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเหมือนประเทศอื่น ๆในโลกว่า จากวันนี้ไป การเพิ่ม Demand side ด้าน Knowledge workers จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ Supply side มีแนวโน้มลดลง หรือไม่เพิ่มเลย

ในอีกมุมหนึ่ง นักการศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป สืบเนื่องจากการเติบโตและแพร่กระจายของสื่อสังคม และอินเทอร์เน็ต เด็กรุ่นใหม่ เข้าสังคมมากขึ้น เปิดเผยมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเรียนการสอนจำเป็นต้องปฎิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับอุปนิสัยใจคอของเยาชนรุ่นใหม่ ที่สำคัญคือ ความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มคนรุ่นใหม่น้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ ที่แย่อยู่แล้ว ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ทั้งสองเรื่องที่กล่าว จะมีผลทำให้การสรรหานักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ฝีมือดี ยากขึ้น  พวกเราต้องเริ่มหาทางแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินแก้
เมื่อสองปีก่อน Delloitte ได้สังเกตว่าผลประกอบการของธุรกิจอเมริกัน ทดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ เศรษฐกิจในภาพรวมได้เริ่มฟืนตัว และเมื่อวัดผลของ Return on Asset ก็ไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้น Delloitee ตัดสินใจทำโครงการสำรวจเพื่อศึกษาหาสาเหตุ ให้เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หวังว่า จะสามารถหาทางเปลี่ยนทิศทาง ให้ธุรกิจกลับฟืนสู่สภาพปกติได้ โครงการที่กล่าวคือ "Shift Index"
Delloitte ได้ตีพิมพ์รายงานภายใต้หัวข้อ Big Shift ชี้ให้เห็นว่า โลกเรากำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ จากเดิมที่มีเสถียรภาพ มาอยู่ในฐานะที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ความไม่แน่นอนเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่คนเรายังไม่เข้าใจมากนัก แต่พื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญ การศึกษาพาไปสู่การกำหนดตัวชี้วัดสามกลุ่ม เรียกเป็นคลื่นสามลูก ได้แก่ Foundation Wave, Flow Wave, และ Impact Wave

Foundation Wave เป็นเรื่องวัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้งพื้นฐานของการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหลัก ราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงเรื่อย ๆ ความเร็วของการสื่อสารที่มีความเร็วสูงขึ้น รวมทั้งเท็คนิคการบริการไอซีทีแบบเบ็ดเสร็จที่ผู้ใช้ไม่ต้องลงทุนใด ๆ เป็นเหตุให้ธุรกิจทุกขนาด ทุกระดับสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เกิดการเชื่อมโยงกันเพื่อทำธุรกิจร่วมกันได้ทั่วทั้งโลก
Flow Wave เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทรัพยากร มีทั้งองค์ความรู้ เงินทุน และทรัพยากรมนุษย์ อย่างเป็นอิสระบนเครือยข่ายอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคม องค์ความรู้ซึ่งป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตสินค้าและบริการ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ต้องการทำงานแบบอาชีพอิสระ มีการเคลื่อนย้ายอยู่ทั่วไป ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
Impact Wave คือผลที่เกิดจากคลื่นสองลูกแรก เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ได้กล่าวนำมาแล้วข้างต้น และเป็นเรื่องที่เราจะพูดกันต่อไป

ทั้งหมดที่ได้พูดมา กำลังชี้ประเด็นว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า จะเกิดการขาดแคลน Knowledge worker โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกร และนักเทคโนโลยี เพราะ Demand จะเพิ่ม ในขณะที่ Supply มีโอกาสที่จะลดลง นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานของ Knowledge workers ที่ต้องการทำงานเป็นอิสระ เริ่มมีการเคลื่อนย้าย ไม่ชอบทำงานประจำ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ มีมาตรการแก้ไขอย่างไร บริษัทที่ต้องพึ่งพานักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยอย่างเช่น Lockheed Martin คาดว่า ในปี 2018 นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของเขากว่าครึ่งหนึ่งจะครบกำหนดเกษียณอายุ  ในขณะที่มหาวิทยาลัย UCLA รายงานผลการสำรวจนักศึกษาเริ่มเข้าเรียนว่า มีเพียงร้อยละ 7.5 ที่ต้องการเลือกอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเมื่อเรียนจบ เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 1970ซึ่งส่อเค้าให้เห็นปัญหาที่กล่าวกำลังเกิดขึ้นจริง
กลับมาดูประเทศไทย สวทช ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนักวิจัยในปี 2009 ประมาณ 1,700 คน กลุ่มใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 31-40 ซึ่งจะครบกำหนดเกษียณอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า และ ณ วันนั้นนักวิจัยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen X/Y/Z หรือ Millennial หรือ Net Gen ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของ IDC ที่ได้สรุปว่า ภายในปี 2020 พนักงานที่เป็น Knowledge worker ประมาณร้อยละ 40 จะเป็นกลุ่ม Net Gen ที่ใช้ ICT เป็นประจำ IDC เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Hyperconnected เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อสังคมเป็นเวทีติดต่อสื่อสาร ทำงานและดำเนินชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพื่อจะได้สามารถบริหารคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล
คนรุ่นใหม่ชอบอะไร คนรุ่นใหม่ชอบอยู่ในสังคมที่มีความคิดอ่านคล้ายคลึงกัน เรียนรู้จากกันและกัน ชอบความท้าทาย เขาต้องการสร้างสรรค์ในสิ่งที่อาศัยความรู้ใหม่ที่เรียนด้วยตนเอง เรียนจากเพื่อน ๆ เรียนจากเครือข่ายสังคม คนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานภายใต้ความกดดัน ไม่ชอบทำงานอยู่ในกรอบที่มีชี้วัด คนรุ่นใหม่ต้องการงานที่ มีโจทย์ที่ชัดจัด ให้ความไว้วางใจ ปล่อยให้เขาเลือกทีมงานที่เข้ากันได้จากภายในและภายนอก ให้บริหารจัดการงานเอง

ปัญหาจริงของชีวิตในวันพรุ่งนี้ คือการแข่งขันแย่งชิงคนที่มีฝีมือ ซึ่งมีจำนวนจำกัด ที่กระจายอยู่ทั่วโลก และมีวิถีการทำงาน และพฤติกรรมการทำงาน ตลอดจนแนวคิดในการดำเนินชีวิต แตกต่างจากคนรุ่นก่อน องค์กรไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ให้ตามสมัย การสรรหาบุคลากรที่เป็นที่มีฝีมือ ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ที่รับผิดชอบทรัพยากรมนุษย์อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ขององค์กรที่มีความสำคัญมาก การแข่งขันเพื่อให้ได้คนที่มีทักษะและความรู้ที่ต้องการกลายเป็น Business priority อย่างน้อย องค์กรต้องมีนโยบายที่จะสร้าง Talent pool เพื่อ (1) พัฒนากลุ่มที่มีความสามารถตามความต้องการ (needed talent), (2) มีการฝึกอบรมบุคลากรที่มีอยู่ให้เข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง (retrain existing talent)  และ (3) มีนโยบายดึงดูดคนที่มีความสามารถให้สนใจที่จะร่วมทำงานด้วย นโยบายที่กล่าวนำไปสู่ยุทธศาสตร์อย่างน้อยดังนี้

  1. ให้องค์กรเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคม  เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่ทำงานระดับ Knowledge workers จะเป็นสมาชิกของเครือข่ายสังคมค่ายใดค่ายหนึ่ง หรือหลายค่ายมากขึ้น คนกลุ่มนี้จะกินอยู่กับเครือข่ายสังคมมากขึ้นทุกวัน คนรุ่นใหม่นี้คาดหวังว่าองค์กรที่ทำงาน จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคมด้วย พวกเขาต้องการให้องค์กรมีเวทีที่ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับคนทำงาน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม พวกเขาเชื่อว่า การเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายสังคมจะทำให้เกิดความโปร่งใส และเปิดกว้าง รู้ปัญหาระหว่างกัน ไม่ปิดบังกัน ทำงานร่วมกันด้วยความไว้วางใจกัน คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานกับองค์กรลักษณะนี้
  2. สรรหาคนทำงานจากเครือข่ายสังคม การศึกษาข้อมูลของผู้สมัครงาน และสอบสัมภาษณ์ไม่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจเราจะเลือกถูกคน ถ้าการสรรหาคนประเภท Knowledge worker มีการวางแผนตั้งแต่ต้น เราสามารถเสาะหาผู้สมัครได้จากเครือข่ายสังคม ติดตามพฤติกรรมได้จากการอ่าน Blog หรือข้อความที่ได้ Post ไว้ในเว็บ หรือแม้กระทั่งติดตามกิจกรรมที่พวกเขาทำอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายสังคม หรือแม้กระทั่งหาโอกาสปฎิสัมพันธ์ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การ Chat การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก Posting ทำให้เราเรียนรู้อุปนิสัยใจคอ พฤติกรรม ตลอดจนความรู้และทักษะของผู้สมัครได้ระดับหนึ่ง การเป็นพันธมิตรกัน ระหว่างผู้สมัครกับองค์กรผ่านเครือข่ายสังคม ทำให้เกิดความไว้ใจกัน ทำให้เราสามารถได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคนในระดับลึกได้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจคัดเลือกเพื่อการว่าจ้างต่อไป ในขณะเดียวกัน ผู้สมัครก็มีโอกาสเข้าใจและใกล้ชิดกับองค์กรก่อนที่จะตัดสินใจรับข้อเสนอขององค์กร การสรรหาบุคลาการผ่านเครือข่ายสังคมได้กลายเป็นวิธีที่มีผู้นิยมใช้เพื่อสรรหาบุคลากรมากขึ้น
  3. ใช้เทคนิคการตลาดยุคใหม่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการคัดเลือกมาทำงานด้วย การตลาดยุคใหม่ให้ความสำคัญกับโฆษณาน้อยลง แต่ใช้การปฎิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น อาศัยเทคนิคเรียกว่า Information Symmetry หมายถึงพยายามให้ข้อมูลแก่กลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง และจุดที่เป็น Corporate value เพื่อสร้างความไว้วางใจให้แก่ลูกค้าอย่างเปิดกว้าง เราสามารถใช้เทคนิคเดียวกันในการเรียกความสนใจเบื้องต้นจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Candidates ที่วันหนึ่งเขาอาจสนใจมาทำงานให้กับเรา
  4. ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสามารถทำงานร่วมกับคนภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญที่ต้องการ มีแนวโน้มว่า คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางต้องการทำงานเป็นอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น คนกลุ่มหนึ่งอาจมาแบบตัวคนเดียว หรือรวมกลุ่มตั้งเป็นบริษัทเล็ก ๆ เพื่อรับงานเป็นโครงการ คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่สำคัญ ถ้าเราเรียนรู้วิธีที่จะยอมรับ และทำงานร่วมกัน ยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่เป็นการ Outsource งานให้คนอื่น เพราะ Outsourcing ในอดีตเน้นการลดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ทำให้เกิดผลในเชิงนวัตกรรมหรืองานสร้างสรรค์ แต่การทำงานกับความชำนาญจากภายนอก (External Specialization) เป็นเรื่องของการร่วมทำงานกับคนที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางที่องค์กรไม่มี หรือไม่เพียงพอ หรือการนำนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่ได้ทำมาแล้ว มาต่อยอด ภายใต้ความคิดที่ว่า งานสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องทำด้วยตนเองทั้งหมด และเราเชื่อว่า งานสร้างสรรค์ต้องทำด้วยบุคคลที่มีความรู้และทักษะหลากหลายที่มีอยู่นอกองค์กรของเรา มากกว่าที่เรามีในองค์กร การปรับวัฒนธรรมและระเบียบองค์กรเพื่อใช้ประโยชน์จากความชำนาญภายนอก จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ควรพิจารณา

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น คือประเด็นที่ผมไปพูดในงาน PICMET'10 Conference ภายใต้ Theme "Technology Management for Global Economic Growth" ที่ภูเก็ตสองวันที่ผ่านมา จึงขอ Share กับท่านผู้อ่านที่สนใจ PICMET หรือ Portland International Center for management of Engineering and Technology มีภารกิจที่ตรงกับชื่อ ท่านสามารถเรียนรู้รายละเอียด PICMET ได้ที่เว็บไซท์นี้

Sunday, July 18, 2010

พัฒนาคนด้อยโอกาสเพื่อทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น

ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่แล้ว เกี่ยวกับการประชุมทางวิชาการ “Mega-Trand in Human Capital and Labour Productivity towards Global Integration” จัดโดยกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 15-16 กรกฏาคม 2553 ว่า ที่ประชุม ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนากลุ่มคนยากจนในชนบท ให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม  ตามโปรแกรมเดิม ดร.มีชัย วีระไวทยะจะเป็นผู้มาเล่าให้ฟังถึงแนวคิด และโครงการที่ท่านได้ทำมาแล้ว ภายใต้โครงการของการพัฒนาประชากรและชุมชน และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน แต่ด้วยเหตุสุดวิสัย ท่านมาร่วมรายการไม่ได้ แต่ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ให้หนึ่งชุด เข้าใจว่า คณะผู้จัดงาน คงจะจัดให้มีการเดาโหลดจากเว็บไซท์ของการประชุมในเวลาต่อมา

ผมได้อ่านเอกสารที่ ดร. มีชัย วีระไวยทยะที่กรุณาจัดทำให้ เห็นว่าเนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การสัมมนามีความสมบูรณ์ ในส่วนเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส เพื่อให้กลายเป็นทุนมนุษย์ของประเทศที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น และถ้าหากทำได้สำเร็จทั้งระบบ ประเทศไทยก็จะเพิ่มทุนมนุษย์ที่ Productive สามารถช่วยขยายฐานระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตขึ้น จึงขอนำประเด็นที่สำคัญมาแบ่งปันกัน ไหน ๆ เราอยู่ในโลกของสื่อสังคม ถ้า Message นี้สามารถเข้าถึงผู้ที่มีจิตสาธารณะ ที่มีแนวคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศชาติ จะได้ช่วยกันระดมความคิดโดยอาศัยช่องทางใหม่ คือ Social Media ช่วยกันขยายผล ให้โครงการในลักษณะเช่นนี้ ขยายพันธุ์ให้รวดเร็วและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น

แนวคิดหลักของการบรรเทาความยากจน คือการช่วยพัฒนาทักษะด้านธุรกิจให้แก่กลุ่มคนรายได้น้อย และด้อยโอกาส และให้เข้าถึงแหล่งทุนซึ่งจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ ดร.มีชัยพยายามบอกว่า การแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่การให้ (Charity) แต่เป็นการช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Through Businesses) เพราะการให้ จะยิ่งทำให้ต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น การให้ไม่ใช่หนทางการสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อการยังชีพ การให้จะไม่ทำให้คนยากจนพึ่งพาตัวเองได้ และแน่นอน การให้เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน วิธีที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาความยากจน คือช่วยให้เขาพึ่งพาตัวเอง ด้วยการประกอบอาชีพตามสมรรถนะของแต่ละบุคคล โครงการที่จะช่วยขจัดความยากจนที่ดร.มีชัยทำขึ้น จึงเน้นเรื่องการทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการเป็นนักธุรกิจที่คุณมีชัยเรียกว่า “Barefoot Entrepreneurs”

ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจโครงการหนึ่ง คือการช่วยจัดตั้งเงินกองทุนเพื่อให้เงินกู้ สำหรับประกอบอาชีพในชุมชน และพัฒนาให้สมาชิกในชุมชนมีทักษะพื้นฐานเพื่อการบริการจัดการเงินทุน และความรู้การทำธุรกิจขั้นพื้นฐาน ตามโครงการนี้ มีการหาเงินกองทุนเพื่อตั้งเป็นธนาคารชุมชน (Village Development Bank) วิธีการคือ ให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันปลูกต้นไม้ โดยกำหนดให้ต้นไม้ต้นหนึ่งมีมูลค่า 40 บาท ถ้าชุมชนร่วมกันปลูกได้ 25,000 ต้น กองทุนก็จะมีเงิน 1,000,000 บาท เงินจำนวนนี้ถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนประเดิมเพื่อจัดตั้ง ธนาคารชุมชนที่กล่าว เจ้าของเงิน 1,000,000 บาท จะได้เงินคืน เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้น ถึงขั้นตัดขายสู่ตลาดได้ ธนาคารชุมชนนี้ดำเนินการโดยสมาชิกของชุมชน มีการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจการให้กู้ยีมเงินในรูปแบบ Mirco Credit และให้ชุมชนร่วมรับผิดชอบในธุรกิจของธนาคารเอง ชาวบ้านสามารถกู้เงินไปประกอบธุรกิจ ตามความถนัด ตั้งแต่ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ ทอผ้า ทำดอกไม้เทียม ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กู้จะต้องผ่านการอบรมเรียนรู้การบริการการเงิน และการบริหารธุรกิจพื้นฐานก่อน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทางของชุมชน เป็นการร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคเอกชน

นอกจากโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาเยาชนให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นผู้นำในอนาคต วิธีการเริ่มตั้งแต่คัดเลือกเยาชนอายุระหว่าง 14-24 จากหมู่บ้าน แห่งละ 8 คน เพื่อรับการฝึกและให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย หลักการปฎิบัติที่มีธรรมภิบาล และความมีจิตสาธารณะ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชน เยาชนกลุ่มนี้ถูกฝึกให้มีความคิดริเริ่ม มีความเป็นผู้นำ มีทักษะที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ถูกฝึกให้มีทักษะด้านการค้าการขายด้วย จะเห็นว่า แนวคิดของโครงการที่ริเริ่มโดยดร.มีชัย เป็นแนวคิดตรงกับที่วิทยากรได้นำเสนอในที่ประชุมจากประเทศหลายประเทศ ที่ต้องการพัฒนาเยาชนรุ่นใหม่ เน้นการปฎิบัติ และเน้นให้มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการเน้นการดำเนินชีวิตที่พอเพียงและยั่งยืน มีจิตสำนึกที่จะแบ่งปันกัน

ในด้านการสร้างจิตสำนึกเพื่อการแบ่งปันกัน ดร.มีชัยได้เริ่มโครงการหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือโครงการที่เรียกว่า “The Green Village Toy Library” หลักคิดของโครงการนี้ คือส่งเสริมให้เด็ก ๆ ในชนบทบริจาคของเล่นของตัวเอง โดยความเห็นชอบของผู้ปกครอง ให้แก่ชุมชน เพื่อจัดเป็นคลังของเล่น Toy Library โครงการนี้จะสอนเด็กอายุตั้ง 8-14 ขวบเพื่อให้มีความรู้ในการบริการจัดการคลังของเล่นนี้ และร่วมกันรับผิดชอบในสินทรัพย์ของส่วนรวม เด็ก ๆ ในชุมชนสามารถขอยืมของเล่นได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนก่อน เช่นช่วยการปลูกต้นไม้ เก็บขยะ หรือทำความสะอาดวัดวาอาราม และที่สาธารณะ

ทั้งหมดที่กล่าว เป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วม (Paricipative), Empowerment และการร่วมมือกัน (Collaborative) เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ระดับรากหญ้าให้มีคุณค่าต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านแนวคิดของ Social Businesses วันนี้ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ก้าวไกลถึงจุดที่เรากำลังพูดถึง Social networking และ Ubiquitous เรากำลังพูดถึงแนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์ภายใต้สังคมยุคใหม่ ลองช่วยกันคิดลึก ๆ สักครั้งดูว่า เราได้ใช้ความเก่งของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ช่วยพัฒนาทุกมนุษย์ในกลุ่มด้อยโอกาส เพื่อให้เขาเหล่านี้สามารถช่วยตัวเอง และช่วยชุมชน เพียงพอหรือยัง

Saturday, July 17, 2010

รายงานจากการสัมมนา Mega-Trend in Human Capital and Labor Productivity towards Global Integration

ท่านที่ได้เข้าร่วมสัมมนาในรายการนี้ คงต้องยอมรับว่าได้รับข้อมูลมากมาย และหลากหลายมุมมองจากวิทยากรนา ๆ ชาติจำนวนกว่า 60 ท่าน คุ้มค่าเวลาสองวันที่ไปนั่งฟังอยู่ที่หอประชุมสหประชาชาติ จัดโดยกระทรวงแรงงาน ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำหรับท่านที่พลาดโอกาส ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความ และสาระที่ได้นำเสนอโดยวิทยากรจากเว็บไซท์ของงานนี้ได้ ผมขอสรุปสาระสำคัญ แยกเป็น 4 หัวข้อเกี่ยวกับ Mega-Trend in Human Capital ได้แก่ Trends, Attribute, Coverage, และ Technology
  1. Trends. แนวโน้มในสิบปีข้างหน้าที่เกี่ยวกับทุนมนุษย์ (วิทยากรบางท่านบอกว่าทุนมนุษย์กับทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งเดียวกัน) ให้คำนึงถึง แนวคิดการแบ่งแรงงาน (Division of Labor) ที่เปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กระบวนการของการเจริญเติบโตหรือความมั่งคั่ง ที่เกิดจากการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจจากนี้ไป ส่วนหนึ่งจะเกิดจากการเติบโตของ Intangible output ซึ่งได้แก่การเพิ่มมูลค่าจากบริการ (Servitization) ทำให้บ่วงโซ่มูลค่าทางธุรกิจ (Value chain) เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจจากนี้ไปจะแข่งขันด้วยการบริการมากขึ้น การบริการจากนี้ไป ไม่จำกัดแต่เฉพาะในธุรกิจภาคบริการ (Service Sector) ธุรกิจภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนของบริการมากขึ้น และกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่การสร้างนวัตกรรมการบริการจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสหวิทยาการ (Multi-disciplinary) บุคลาการที่จะเข้าสู่ธุรกิจบริการต้องมีความรู้ทักษะทั้งในแนวกว้างและในแนวลึก เรียกว่า T-shape professionals วิทยากรหลายท่านให้ความเห็นว่า การพัฒนาบุคลาการให้เป็น T-shape professional ควรเริ่มตั้งแต่เยาวัย หรือไม่ก็ไปเสริมทักษะด้านสหวิทยาการจากประสบการณ์การทำงาน หรือเพิ่มวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา เพราะในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ไม่มีเวลาพอที่ให้ความรู้ทั้งแนวกว้างและแนวลึกได้
  2. Attribute. คุณลักษณะของบุคลากรในยุคใหม่นอกจากต้องรู้ภาษาต่างประเทศแล้ว ยังต้องมีทักษะและความรู้ด้านไอซีที คนรุ่นใหม่อยู่กับสื่อสังคมมากขึ้น ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการดำรงชีวิต รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยอาศัยไอซีทีเป็นหลัก หลายคนเห็นว่า คนรุ่นใหม่นอกจากต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาการแล้ว ยังต้องมี Soft skill ในหลายด้าน เช่น Communication skill, Problem solving capability, Adaption to changes, and the skill of critical thinking and analysis การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบใหม่นี้ ควรเริ่มตันในวัยเด็ก และเน้นการสร้างทักษะด้านความสามารถกาสร้างนวัตกรรมด้วย  นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ ยังต้องสอนให้มีความตระหนักในด้านความรับผิดชอบต่อส่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
  3. Coverage. การครอบคลุม ได้ให้ความสำคัญในกลุ่มคนยากจน และผู้ที่ไม่รู้หนังสือ วิทยากรได้ให้แนวคิดในอีกมุมมองหนึ่งว่า ในยุคต่อไป ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ว่ามีคนไม่รู้หนังสือ แต่ปัญหาอยู่ที่กลุ่มคนที่ไม่เพิ่มพูนความรู้ต่อเนื่อง หรือไม่ยอมเข้ารับการ Retrain จะทำอย่างไรจึงจะพัฒนากลุ่มคนสามกลุ่มนี้ คือคนยากจน คนไม่รู้หนังสือ และกลุ่มไม่รับสนองการ Retrain ให้คนกลุ่มนี้เป็นทุนมนุษย์ที่สามารถ Contribute แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้ มีการพูดขึ้นคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น และคนเกษียณอายุช้าลง ต้องคำนึงให้คนผู้สูงอายุ Productive และกลายเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ มีการพูดถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ในภาคเกษตรกรรม ให้มีความรู้ เพื่อลดระดับการถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้ความสำคัญในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากต่างประเทศ
  4. Technology. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถูกมองว่าเป็น Enabling agent สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การบริการ Cloud computing ทำให้เราเข้าถึงไอซีทีได้ทุกหนทุกแห่ง และทุกเวลา จะถูกใช้เป็นเวทีเพื่อการ Empowerment ทำให้คนทำงานติดต่อสื่อสาร เป็นชุมชนที่สนับสนุนซึ่งกันและกันได้ เป็นเหตุให้พฤติกรรมให้คนทำงานเริ่มเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด หลายประเทศให้ความสนใจในการปรับปรุงแนวทางการเรียนการสอนโดยอาศัยไอซีทีเป็นพื้นฐานสำคัญ และเห็นว่า Digital Engineering จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างประสิทธิภาพเพื่อการเรียนการสอนในยุคจากนี้ไป โดยให้ความหมายของ Digital Engineering ว่า เป็นเทคโนโลยีที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานแบบปฎิสัมพันธ์ สามารถจำลองเสมือนจริงได้ อาศัยเทคนิค 3-Dimension และผู้ใช้มีส่วนร่วม ในเชิงสร้าง Add-on feature ได้ ให้ให้เกิด Personalized learning อย่างเป็นรูปธรรม หลายประเทศได้ทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์อาศัยเทคโนโลยี เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้ Strength-based approach เพื่อพัฒนาตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละคน ประเทศอังกฤษให้ความสำคัญเรื่อง Integrated Education เพื่อสร้างทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเน้นภาคปฎิบัติเป็นสำคัญ ประเทศออสเตรเลียมีการปฎิรูปการศึกษาโดยเน้นการพัฒนาตั้งแต่ยังเยาวัย ตลอดจนถึงระดับอุดมศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ให้น้ำหนักด้านการเรียนรู้เทคโนโลยี และการมีธรรมภิบาล ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดจำนวนคนที่ไม่ Contribute ให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญด้าน พัฒนาคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีประสบการณ์ด้านการปฎิบัติ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกปฎิบัติจากภาคธุรกิจได้โดยทั่วหน้ากัน
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงประเด็นหลัก ๆ ที่มีการพูดคุยกันตลอดระยะเวลา 2 วัน เพื่อให้ท่านได้เห็นภาพรวม ว่านักวิชาการ และนักคิด มองอย่างไรเกี่ยวกับกรอบการพัฒนาทุนมนุษย์ของโลก ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลจากเทคโนโลยี เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถแข่งขันกันได้ในเวทีโลกที่ไร้พรมแดน รายละเอียดท่านคงติดตามอ่านได้จากเว็บไซท์ที่กล่าวไว้ข้างต้น เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเริ่มจัดให้มีการดาวโหลดได้ในเร็ววัน