Saturday, July 17, 2010

รายงานจากการสัมมนา Mega-Trend in Human Capital and Labor Productivity towards Global Integration

ท่านที่ได้เข้าร่วมสัมมนาในรายการนี้ คงต้องยอมรับว่าได้รับข้อมูลมากมาย และหลากหลายมุมมองจากวิทยากรนา ๆ ชาติจำนวนกว่า 60 ท่าน คุ้มค่าเวลาสองวันที่ไปนั่งฟังอยู่ที่หอประชุมสหประชาชาติ จัดโดยกระทรวงแรงงาน ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำหรับท่านที่พลาดโอกาส ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความ และสาระที่ได้นำเสนอโดยวิทยากรจากเว็บไซท์ของงานนี้ได้ ผมขอสรุปสาระสำคัญ แยกเป็น 4 หัวข้อเกี่ยวกับ Mega-Trend in Human Capital ได้แก่ Trends, Attribute, Coverage, และ Technology
  1. Trends. แนวโน้มในสิบปีข้างหน้าที่เกี่ยวกับทุนมนุษย์ (วิทยากรบางท่านบอกว่าทุนมนุษย์กับทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งเดียวกัน) ให้คำนึงถึง แนวคิดการแบ่งแรงงาน (Division of Labor) ที่เปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กระบวนการของการเจริญเติบโตหรือความมั่งคั่ง ที่เกิดจากการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจจากนี้ไป ส่วนหนึ่งจะเกิดจากการเติบโตของ Intangible output ซึ่งได้แก่การเพิ่มมูลค่าจากบริการ (Servitization) ทำให้บ่วงโซ่มูลค่าทางธุรกิจ (Value chain) เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจจากนี้ไปจะแข่งขันด้วยการบริการมากขึ้น การบริการจากนี้ไป ไม่จำกัดแต่เฉพาะในธุรกิจภาคบริการ (Service Sector) ธุรกิจภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนของบริการมากขึ้น และกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่การสร้างนวัตกรรมการบริการจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสหวิทยาการ (Multi-disciplinary) บุคลาการที่จะเข้าสู่ธุรกิจบริการต้องมีความรู้ทักษะทั้งในแนวกว้างและในแนวลึก เรียกว่า T-shape professionals วิทยากรหลายท่านให้ความเห็นว่า การพัฒนาบุคลาการให้เป็น T-shape professional ควรเริ่มตั้งแต่เยาวัย หรือไม่ก็ไปเสริมทักษะด้านสหวิทยาการจากประสบการณ์การทำงาน หรือเพิ่มวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา เพราะในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ไม่มีเวลาพอที่ให้ความรู้ทั้งแนวกว้างและแนวลึกได้
  2. Attribute. คุณลักษณะของบุคลากรในยุคใหม่นอกจากต้องรู้ภาษาต่างประเทศแล้ว ยังต้องมีทักษะและความรู้ด้านไอซีที คนรุ่นใหม่อยู่กับสื่อสังคมมากขึ้น ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการดำรงชีวิต รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยอาศัยไอซีทีเป็นหลัก หลายคนเห็นว่า คนรุ่นใหม่นอกจากต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาการแล้ว ยังต้องมี Soft skill ในหลายด้าน เช่น Communication skill, Problem solving capability, Adaption to changes, and the skill of critical thinking and analysis การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบใหม่นี้ ควรเริ่มตันในวัยเด็ก และเน้นการสร้างทักษะด้านความสามารถกาสร้างนวัตกรรมด้วย  นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ ยังต้องสอนให้มีความตระหนักในด้านความรับผิดชอบต่อส่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
  3. Coverage. การครอบคลุม ได้ให้ความสำคัญในกลุ่มคนยากจน และผู้ที่ไม่รู้หนังสือ วิทยากรได้ให้แนวคิดในอีกมุมมองหนึ่งว่า ในยุคต่อไป ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ว่ามีคนไม่รู้หนังสือ แต่ปัญหาอยู่ที่กลุ่มคนที่ไม่เพิ่มพูนความรู้ต่อเนื่อง หรือไม่ยอมเข้ารับการ Retrain จะทำอย่างไรจึงจะพัฒนากลุ่มคนสามกลุ่มนี้ คือคนยากจน คนไม่รู้หนังสือ และกลุ่มไม่รับสนองการ Retrain ให้คนกลุ่มนี้เป็นทุนมนุษย์ที่สามารถ Contribute แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้ มีการพูดขึ้นคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น และคนเกษียณอายุช้าลง ต้องคำนึงให้คนผู้สูงอายุ Productive และกลายเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ มีการพูดถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ในภาคเกษตรกรรม ให้มีความรู้ เพื่อลดระดับการถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้ความสำคัญในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากต่างประเทศ
  4. Technology. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถูกมองว่าเป็น Enabling agent สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การบริการ Cloud computing ทำให้เราเข้าถึงไอซีทีได้ทุกหนทุกแห่ง และทุกเวลา จะถูกใช้เป็นเวทีเพื่อการ Empowerment ทำให้คนทำงานติดต่อสื่อสาร เป็นชุมชนที่สนับสนุนซึ่งกันและกันได้ เป็นเหตุให้พฤติกรรมให้คนทำงานเริ่มเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด หลายประเทศให้ความสนใจในการปรับปรุงแนวทางการเรียนการสอนโดยอาศัยไอซีทีเป็นพื้นฐานสำคัญ และเห็นว่า Digital Engineering จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างประสิทธิภาพเพื่อการเรียนการสอนในยุคจากนี้ไป โดยให้ความหมายของ Digital Engineering ว่า เป็นเทคโนโลยีที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานแบบปฎิสัมพันธ์ สามารถจำลองเสมือนจริงได้ อาศัยเทคนิค 3-Dimension และผู้ใช้มีส่วนร่วม ในเชิงสร้าง Add-on feature ได้ ให้ให้เกิด Personalized learning อย่างเป็นรูปธรรม หลายประเทศได้ทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์อาศัยเทคโนโลยี เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้ Strength-based approach เพื่อพัฒนาตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละคน ประเทศอังกฤษให้ความสำคัญเรื่อง Integrated Education เพื่อสร้างทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเน้นภาคปฎิบัติเป็นสำคัญ ประเทศออสเตรเลียมีการปฎิรูปการศึกษาโดยเน้นการพัฒนาตั้งแต่ยังเยาวัย ตลอดจนถึงระดับอุดมศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ให้น้ำหนักด้านการเรียนรู้เทคโนโลยี และการมีธรรมภิบาล ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดจำนวนคนที่ไม่ Contribute ให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญด้าน พัฒนาคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีประสบการณ์ด้านการปฎิบัติ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกปฎิบัติจากภาคธุรกิจได้โดยทั่วหน้ากัน
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงประเด็นหลัก ๆ ที่มีการพูดคุยกันตลอดระยะเวลา 2 วัน เพื่อให้ท่านได้เห็นภาพรวม ว่านักวิชาการ และนักคิด มองอย่างไรเกี่ยวกับกรอบการพัฒนาทุนมนุษย์ของโลก ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลจากเทคโนโลยี เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถแข่งขันกันได้ในเวทีโลกที่ไร้พรมแดน รายละเอียดท่านคงติดตามอ่านได้จากเว็บไซท์ที่กล่าวไว้ข้างต้น เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเริ่มจัดให้มีการดาวโหลดได้ในเร็ววัน

No comments:

Post a Comment