Saturday, February 13, 2016

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 3



             สองตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และความสำคัญที่ IoT มีต่อระบบธุรกิจ โดยมีใจความสำคัญว่า IoT เป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแห่งธุรกิจครั้งสำคัญของศตวรรษที่ 21  โดยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ทั้งคน เครื่องจักร สินค้าทุกชนิด และสิ่งของทุกชนิดที่มีกายภาพทำให้สรรพสิ่งทั้งปลายมีความฉลาดมากขึ้น IoT เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างจะ Disruptive คือมีพลังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก  IoT ช่วยให้ธุรกิจปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize) ตลอดกระบวนการผลิต  ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดกับพันธมิตรและลูกค้าจนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีและนำไปสู่การร่วมมือกันเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน IoT เป็นหนึ่งในหลาย เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการปฏิรูทางเศรษฐกิจของทุกประเทศจากนี้เป็นต้นไป จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่ที่ความตระหนักและนโยบายภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปธุรกิจอย่างจริงจัง  ตอนที่สามนี้จะพูดถึงแนวคิดของการปฏิรูทางเศรษฐกิจ (Economic Transformation) ที่เกิดจากอิทธิพลของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานที่นำไปสู่การปฏิรูปแนวทางการทำธุรกิจ (Business Transformation) ที่จะกล่าวถึงในตอนที่ 4 ภายใต้หัวข้อ ความหมายของ Cyber-Physical System” ตอนที่ 5 จะกล่าวถึงเรื่อง IoT กับการยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไทย บทความชุดนี้จะจบด้วยตอนที่ 6 ในหัวข้อ แนวทางส่งเสริม Industry 4.0 ของประเทศไทย

การปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากอิทธิพลของเทคโนโลยี

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ (Economy Transformation) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวในกิจการทางเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะกิจการที่มีการจ้างแรงงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีผลให้ผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการทำให้แรงงานของประเทศได้รับการพัฒนาให้มีทักษะและความสามารถ (Capabilities) ที่จำเป็นต่อการทำให้ผลิตภาพของประเทศเพิ่มขึ้นได้  การปฏิรูปทางเศรษฐกิจจึงเป็นการทำให้แรงงานจากภาคการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำเช่นภาคเกษตรในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ไปสู่แรงงานที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้นทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 3 ครั้ง พัฒนาการทางเทคโนโลยีในแต่ยุคมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูปในแต่ละครั้ง การปฏิรูปทั้ง 3 ครั้งได้แก่[1]
 
1.     จากการล่าสัตว์เร่ร่อนมาเป็นการทำเกษตรกรรม (ภาคเกษตรกรรม)
2.     จากการทำเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม (ภาคอุตสาหกรรม)
3.     จากการทำอุตสาหกรรมมาเป็นการบริการ  (ภาคบริการ)

ทุกวันนี้มูลค่ามวลรวมของประเทศยังคงประกอบด้วยรายได้จากทั้งสามภาค คือภาคเกษตร ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Primary sector ภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรม Secondary sector และภาคบริการ Tertiary sector ที่น่าสนใจคือในหลายทศวรรษที่ผ่านมาสังคมมนุษย์ได้พัฒนาอย่างมากอันเป็นผลสืบเนื่องจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยี กิจการทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นงานและกิจกรรมที่ต้องอาศัยสติปัญญา ทักษะ และความรู้ระดับสูงเช่นงานด้านบริการสาธารณะสุข ด้านการศึกษา ด้านวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้รวมทั้งงานบริหารราชการแผ่นดินและงานบริการของภาครัฐ นักเศรษฐศาสตร์จัดให้งานบริการที่อาศัยความรู้ระดับที่สูงนี้เป็น Quaternary sector หรือภาคเศรษฐกิจระดับที่ 4

1.  การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหม่

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการบริการที่อาศัยความรู้ ทักษะ และสมรรถนะระดับสูงที่สามารถสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจมากขึ้น  แนวคิดของบริการใหม่นี้แตกต่างจากแนวคิดเดิมของธุรกิจบริการของภาคบริการ Tertiary sector ที่คุ้นเคยกัน เช่นบริการด้านอาหาร บริการด้านท่องเที่ยว บริการเสริมสวย บริการด้านนันทนาการ ฯลฯ แต่บริการยุคใหม่ที่ใช้ดิจิทัลเป็นบริการแนวใหม่ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการบริการที่สนับสนุนให้สินค้าทางเกษตรใน Primary sector และผลิตภัณฑ์ใน Secondary sector มีคุณค่าแก่ผู้บริโภคมากขึ้น แนวคิดการบริการแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ไม่มีเจตนาที่จะทดแทนระบบเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมเดิม หรือภาคอุตสาหกรรมเดิม หรือภาคบริการเดิม แต่เป็นการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการเดิมให้เพิ่มขึ้นด้วยบริการแนวใหม่ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นักวิชาการใช้คำว่า “Servitization[2]เพื่อแสดงถึงความพยายามที่ธุรกิจจะหามาตรการสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นให้แก่สินค้าและบริการ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกดิจิทัล นักธุรกิจตระหนักว่าลำพังสินค้าอย่างเดียวนั้นจะไม่สามารถเอาชนะใจผู้บริโภคได้เหมือนในอดีต ลูกค้าสมัยใหม่ไม่เพียงซื้อเพื่อให้ได้สินค้า แต่ต้องการคุณค่าให้มากที่สุดและต้องการตอบสนองความพึงพอใจให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดผลดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมในเชิงบริการที่ประทับใจเสริมรวมกับสินค้าที่ทำให้เกิดคุณค่าได้มากกว่าคู่แข่ง ความเจริญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นอินเทอร์เน็ตและ IoT ช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมดังกล่าวได้ทั้งในด้านรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ (Disruptive business models) และนวัตกรรมด้านกระบวนการทำงาน (Innovative business processes) การบริการที่อาศัยความรู้ ทักษะ และสมรรถนะพิเศษบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน

2.  Automation กับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้แตกต่างกับครั้งก่อน ๆ  เพราะเป็นการปฏิรูปที่อาศัยความรู้ ทักษะ และสารสนเทศที่ก้าวหน้ามากที่เน้นการบริการที่มีคุณค่า เป็นบริการที่สร้างขึ้นเพื่อทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มขึ้นกับสินค้าภาคเกษตร สินค้าภาคการผลิต และสินค้าภาคบริการ เป็นบริการที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ เป็นบริการที่เป็นนวัตกรรมที่อาศัยเทคโนโลยี  แต่การปฏิรูประบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีระดับสูงนี้ถึงแม้จะสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็จริง แต่ในอีกมุมหนึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้การใช้แรงงานและการจ้างงานน้อยลง โดยเฉพาะแรงงานที่อาศัยความรู้และทักษะแบบเดิม ๆ สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้ระบบทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) เพิ่มมากขึ้น และเป็นระบบอัตโนมัติรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมไม่เฉพาะ Shop floor หรือส่วนงานที่เกี่ยวกับการผลิต แต่รวมทั้งงานใน Top floor ซึ่งหมายถึงส่วนงานด้านสนับสนุนและธุรการทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นการใช้ระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับ Horizontal integration และ Vertical integration ด้วย

Horizontal integration หมายถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เป็นการบูรณาการกระบวนการทำงานตั้งแต่การจัดซื้อ การผลิต จนถึงการจำหน่ายและบริการลูกค้าดังที่แสดงในภาพข้างล่าง



                  ที่มา: Industry 4.0: Opportunities and Challenges of Industrial Internet, PWC


ในขณะที่ Vertical integration เป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานภายในทุกหน่วยงานจาก Top floor ลงสู่ Shop floor ดังที่แสดงในภาพข้างล่างนี้



           ที่มา: Industry 4.0: Opportunities and Challenges of Industrial Internet, PWC

ระบบอัตโนมัติในบริบทใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ถือว่าเป็นระบบอัตโนมัติที่ได้พัฒนามาเป็นยุคที่ 3 เป็นระบบอัตโนมัติที่อาศัยอินเทอร์เน็ตและ IoT ระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมได้พัฒนามาแล้วสามยุคดังนี้

1)   ระบบอัตโนมัติยุคที่ 1: Mechanical Automation

Mechanical Automation หมายถึงระบบอัตโนมัติที่อาศัยเครื่องจักรกลโดยเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ เป็นระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรเพื่อช่วยผ่อนแรงคน แต่การควบคุมระบบทำงานยังต้องอาศัยความชำนาญของคน เช่นการขับเรือกลไฟ และรถไฟ หรือเครื่องจักรกลที่ใช้ในโรงงานยุคแรก

2)   ระบบอัตโนมัติยุคที่ 2: Electrical Automation 

Electrical Automation เป็นระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ความสามารถทำงานอัตโนมัตินี้สามารถถูกโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติในระดับตัวเครื่องจักรหรือกลุ่มเครื่องจักรภายในโรงงานเดียวกัน เช่นเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยระบบ CNC (Computer Numerical Control) หรือ PLC (Programmable Logic Controller) ระบบอัตโนมัติยุคที่ 2 นี้ได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพในโรงงานอุตสาหกรรมทุกชนิดเป็นอย่างมาก ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญของมนุษย์ก็ว่าได้

3)   ระบบอัตโนมัติยุคที่ 3: Pervasive Digital Automation

ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในขณะนี้ ระบบอัตโนมัติได้พัฒนาเข้าสู่ยุคที่ 3 ยุคที่เรียกว่า Pervasive Digital Automation ซึ่งหมายถึงระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลประกอบด้วยอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอื่นเช่น Cloud computing, Big data, และ IoT ที่กระจายไปทั่ว ระบบผลิตสินค้าที่อยู่ในประเทศไทยอาจทำงานแบบอัตโนมัติแต่อาศัยการดูแลและควบคุมจากคนทำงานในต่างประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบการผลิตอาจเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์แบบเรียลไทม์ กระบวนการผลิตอาจเชื่อมโยงกับกับการตลาดและการขายเพื่อผลิตสินค้าตามสั่งของลูกค้าจากมุมใดของโลกก็ได้ สินค้าอาจจะถูกออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์จากที่ใดในโลกก็ได้  ความเป็นอัตโนมัติไม่ได้จำกัดอยู่ที่กระบวนการผลิต แต่รวมทั้งกระบวนการโลจิสติกส์ กระบวนการขาย และกระบวนการบริการหลังการขาย ด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ตและ Internet of Things และ Internet of Everything ที่จะกล่าวต่อไป

3.  การปฏิรูปทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาแรงงาน

เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติยุคที่ 3 ที่กล่าวข้างต้น ทำให้การทำงานในทุกภาคส่วนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งภายในองค์กรและภายนอกกับกลุ่มพันธมิตร ทั้งในระดับ Horizontal integration และ Vertical integration ตั้งแต่ Top floor ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบที่นิยมเรียกว่า Information Technology (IT) จนลงไปสู่ Shop floor ที่ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบที่นิยมเรียกว่า Operation Technology (OT) (เราจะอธิบายส่วนนี้ในรายละเอียดในตอนต่อไป ภายใต้หัวข้อ ความหมายของ Cyber-Physical System”) เป็นเหตุให้คนทำงานเดิมถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรและระบบสารสนเทศที่มีความฉลาดมากขึ้น ไม่เพียงในระดับคนงานที่ใช้แรงงาน แต่รวมคนงานในระดับใช้สมองก็จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติที่มีความสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง คนว่างงานก็จะเพิ่มมากขึ้น นอกจากปรากฏการณ์นี้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่จะทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย กล่าวคือในยุคนี้มีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่นิยมเลือกที่จะทำมาหากินอิสระ ไม่กินเงินเดือนประจำของบริษัท คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ว่าจะมาในแบบของผู้ชำนาญเฉพาะด้านที่ทำงานอิสระที่เรียกว่า Freelance หรือเป็นธุรกิจเกิดใหม่ (Startups) ก็ตาม คนในกลุ่มนี้ถ้าตราบใดยังไม่มีรายได้และไม่เข้าระบบภาษีของรัฐ ก็ถือว่าเป็นกลุ่ม Unemployment ด้วย คนว่างงานเพิ่มขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐด้านสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น รัฐจึงจำเป็นต้องหามาตรการเพิ่มรายได้ด้วยวิธีต่าง รายได้ของรัฐที่นำมาใช้จ่ายในกิจการของภาครัฐ รวมทั้งสวัสดิการและค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาคนว่างงานนี้เพิ่มขึ้นปีต่อปีจนมีนัยสำคัญต่อ GDP ของประเทศ  จึงถือได้ว่าปรากฏการณ์นี้จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปได้ นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถตั้งชื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ที่เหมาะสม แต่ขณะนี้เรียกกันว่า ยุคของ GWU (Government, Welfare, Unemployment) และเริ่มเกิดขึ้นกับประเทศตะวันตกแล้วที่ได้พัฒนาด้านผลิตภาพในทุก ๆ ด้านด้วยเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

     สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนานั้น การปฏิรูปที่เรียกว่า GWU คงยังไม่เกิดขึ้นภายในเร็ววัน เนื่องจากยังมีการจ้างงานอย่างมากในทั้งสามภาคของเศรษฐกิจ การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในภาคเกษตร ภาคการผลิตและภาคบริการถึงแม้จะทำให้เพิ่มผลิตภาพ แต่ก็ยังต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากไม่เหมือนประเทศที่เจริญแล้วในภาคตะวันตก การว่างงานของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังอยู่ในลักษณะที่ควบคุมและจัดการได้ อย่างไรก็ตามทุกประเทศต่างก็ยังให้ความสนใจที่จะเพิ่มผลิตภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีทุกรูปแบบและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน  แต่เนื่องด้วยข้อจำกับด้านเงินลงทุนและการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทักษะที่จำเป็น การใช้เทคโนโลยีระดับสูงก็ยังมีน้อยมาก การพัฒนาเพิ่มผลิตผลจึงยังทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากปัญหาของคนว่างงานอันเนื่องจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจตามที่กล่าวข้างต้น ภาคธุรกิจยังอาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานประเภทใหม่ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนแนวทางทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภายในระยะสิบปีจากนี้ไป ตำแหน่งงานใหม่และทักษะใหม่ที่ตลาดแรงงานต้องการอาจประกอบด้วยทักษะที่เป็น Soft skills ส่วนใหญ่ดังนี้[3]

1)       Complex Problem Solving
2)       Critical Thinking
3)       Creativity
4)       People Management
5)       Coordinating with Others
6)       Emotional Intelligence
7)       Judgment and Decision Making
8)       Service Orientation
9)       Negotiation
10)   Cognitive Flexibility

สำหรับปัญหาแรงงานที่ถูกทดแทนด้วยระบบงานอัตโนมัติ เป็นเหตุให้เกิดการว่างงานนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งจัดมาตรการฝึกฝนทักษะและสมรรถนะแบบใหม่ที่ตลาดต้องการ ประกอบด้วยทักษะและสมรรถนะอย่างน้อยเจ็ดเรื่องเพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ดังนี้

1)   สมรรถนะในการทำงานกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือสามารถปรับตัวให้ทำงานจากเอกสารที่เป็นกระดาษมาเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้
2)   สมรรถนะที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ สามารถทำงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระบบงานที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เครือข่ายสังคมในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
3)   สมรรถนะในการสื่อสารด้วยระบบดิจิทัลและสามารถบริหารจัดการกับข้อมูลที่เกิดจากการติดต่อสื่อสารผ่านระบบสื่อสารดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4)   มีจริยธรรมในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีทักษะในการแยกแยะว่าอะไรควรและอะไรไม่ควรทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้าใจ รอบรู้ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบสังคมที่มีต่อการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์
5)   มีสมรรถนะในการสืบค้นข้อมูลจากระบบต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ทำให้เกิดผลงานที่ดีอย่างมากจากการใช้ข้อมูลอย่างสร้างสรรค์
6)   มีสมรรถนะในการปรับใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากยุคดิจิทัลจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ส่วนตัว ใช้ในสำนักงาน และใช้ในโรงงานและงานในภาคสนามมากมาย ความสามารถในการเรียนรู้เพื่อใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายนี้จะเป็นสมรรถนะที่สำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล
7)   มีสมรรถนะในการบริการจัดการความปลอดภัยในการใช้ระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถช่วยปกป้องข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นความลับขององค์กรได้

                    การปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะและความสามารถ (Capabilities) ให้แก่แรงงานของประเทศทั้งสองด้าน คือฝึกทักษะให้แก่กลุ่มแรงงานเดิมที่ล้าสมัยลงเพราะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และพัฒนา Digital Workforce เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยได้เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมมานานแล้ว และได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทันสมัยเพื่อเพิ่มผลผลิตจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก  ปัจจุบันนี้ ส่วนแบ่ง GDP จากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงถึงประมาณร้อยละ 34  ในขณะที่ผลิตผลของภาคเกษตรไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร จนลดส่วนแบ่ง GDP ลงเหลือประมาณร้อยละ 13 เท่านั้น ส่วนที่เหลือคือประมาณร้อยละ 53 เป็นส่วนแบ่งของภาคธุรกิจบริการ เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นประเทศผลิตอาหารรายสำคัญของโลก เกษตรกรรมยังมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาให้เพิ่มผลิตภาพ เคียงบ่าเคียงไหล่กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญขึ้นโดยรวม และเพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่าแต่สินค้าจากภาคเกษตรและภาคการผลิต จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้สู่เศรษฐกิจบริการ ให้เพิ่มสัดส่วน GDP จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 53 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 คืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี



ตอนต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจให้เป็นแบบ Cyber-Physical System ที่อาศัย Internet of Everything (IoE) ประกอบด้วย Internet of Things (IoT), Internet of Human (IoM) และ Internet of Digital (IoD)


[2] Vandeermerwe, Sandra, Rada, Juan, “Servitization of business: Adding value by adding services”,
European Management Journal, Volume 6, Issue 4, Winter 1988, Pages 314-324.
[3] Future of Jobs Report, World Economic Forum