หลายท่านคงจะได้ข่าวแล้วว่า
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มีโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ
มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า
โครงการนี้จะซ้ำซ้อนกับภารกิจของสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานฝึกอบรมวิชาสาขาไอซีที
ของทั้งภาครัฐและเอกชนหรือไม่ และมีความจำเป็นเพียงใด ที่กระทรวงไอซีทีต้องจัดตั้งสถาบันนี้
ก่อนที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้ในรายละเอียด ขอยกข้อความตอนหนึ่ง
เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการ จากหนังสือของกระทรวงไอซีที มาแจงพอเป็นพื้นฐาน
“….[สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งชาติ
(องค์การมหาชน)] ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากร
เพื่อสนับสนุนความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ในวิทยาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ภารกิจหลักคือ วางแผนกำลังคนด้านไอซีที
ยกระดับมาตรฐานหลักสูตรด้านไอซีทีของสถาบันการศึกษา พัฒนาการฝึกอบรมรูปแบบใหม่
เป็นแกนกลางประสานเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ
ตลอดจนประสานการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพไอซีที เพื่อทำ Career Path การให้บริการของสถาบันฯ จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเชี่ยวชาญและทักษะด้านไอซีทีให้เข้มข้นขึ้น
โดยเฉพาะสาขาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ โดยเน้นการต่อยอดจากสถาบันการศึกษาปกติ
เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยสมรรถนะที่เหมาะสม
การจัดตั้งสถาบันฯ
เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 รวมทั้งกรอบนโยบายไอซีทีระยะที่
2 ของประเทศไทย (พ.ศ. 2554-2563) และแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2556) ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันฯ ถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนของภาครัฐ
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม….”
ในบทความนี้
จะวิเคราะห์สองเรื่อง ที่ปรากฎอยู่ในพันธกิจของโครงการจัดตั้งสถาบันฯ คือ
เรื่องความไม่ซ้ำซ้อนกับสถาบันการศึกษา และการพัฒนาฝึกอบรมแบบใหม่
1.
ความซ้ำซ้อนกับภารกิจของสถาบันการศึกษาภาคปกติ
สถาบันฯใหม่นี้ จะทำงานซ้ำซ้อนกับสถาบันการศึกษา
โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา หรือไม่อย่างไร
ขึ้นอยู่ที่คณะบริหารขององค์การมหาชนที่จะตั้งขึ้นใหม่ ว่าจะเลือกกลยุทธ์อย่างไร
ถ้าเลือกไม่ถูกทาง ก็จะเกิดความซ้ำซ้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเลือกถูกทาง
ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และภาคอุตสาหกรรมโดยร่วม ขอเริ่มวิเคราะห์จากภาพที่ 1 ที่แสดงให้เห็น Supply-Demand ในเรื่องพัฒนา
บุคลาการสายไอซีทีจากอดีตสู่อนาคต
ภาพที่ 1 ช่องว่างระหว่าง Demand และ Supply ด้านพัฒนาทักษะไอซีที
ในรอบ 30
ปีที่ผ่านมา ความสามารถด้านการสอนกลุ่มวิชาไอซีทีของสถาบันการศึกษาของประเทศทั้งระบบ
เกือบจะย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่เทคโนโลยีไอซีที ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีสื่อสารและเครือข่าย
ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราไม่สามารถพัฒนาการเรียนการสอน
ให้ได้ทั้งความใหม่ของเนื้อหา และปริมาณบัณฑิตที่มีความรู้ตามสมัย ได้ทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
กลุ่มวิชาสายไอซีที แตกต่างจากวิชาสาขาอื่น ในระดับของพลวัต
การเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหา และจำนวนเรื่องใหม่ ๆ ที่เกิดในสาขาไอซีทีนั้น มีมากมาย
จนครูและอาจารย์ผู้สอน ส่วนใหญ่ ไม่สามารถติดตามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มาสอนนักเรียนนักศึกษาได้อย่างทันการณ์
ซึ่งยังไม่รวมถึงการขาดโอกาสที่อาจารย์จะค้นคว้าวิจัย
ให้ได้ความรู้ที่แตกฉาน และเรียนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเด็กไทย ให้ได้ความรู้ที่ทันสมัยสำหรับการพัฒนาประเทศ
ผลก็คือ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ดัชนีตัวชี้วัดด้านความพร้อม
ความสามารถในการแข่งขัน และด้านพัฒนาเทคโนโลยีของไทย ในเวทีโลก ไม่ว่า จะเป็นค่าย WEF,
UN e-Government Survey, Economist Intelligence Unit e-readiness
rankings, Networked Readiness Index, etc. ต่างลดอันดับลงปีแล้วปีเล่า
แทนที่จะก้าวหน้า แต่กลับถอยหลังอย่างไม่น่าเชื่อ ที่น่าเป็นห่วง คือ
สังคมของเราส่วนหนึ่งยังไม่ยอมรับรู้ปัญหานี้ และยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเด่นชัด
จากการพูดคุยกับผู้ใช้บัณฑิตสายไอซีทีในตลาดแรงงานไทย
พอสรุปได้ว่า ในภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย มีมหาวิทยาลัยจำนวนน้อยมาก ที่สามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการ
ในปริมาณเพียงพอ ที่จะป้อนตลาด แม้จะเพียงป้อนให้แก่กลุ่มสถานบันเกรด A เช่นบริษัทข้ามชาติ สถาบันการเงิน
องค์การขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจนา ๆ ชาติ ก็ยังไม่เพียงพอ การที่จะเพิ่มคุณภาพ
และเพิ่มผลผลิตบัณฑิตตามความต้องการของตลาดนั้น ต้องลงทุนค่อนข้างสูง
จึงยากที่จะคาดหวังได้ว่า จะมีสถาบันใดพร้อมลงทุน ถึงแม้ในกลุ่มสถาบันการศึกษาของรัฐก็ตาม
ภาพที่ 1 สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่าง ระหว่าง Supply—Demand
ของบัณฑิตสายไอซีที ที่เรียนจบหลักสูตรที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย
และมีคุณภาพ วงกลมภายใน แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการผลิตบัณฑิตสายไอซีทีในระบบอุดมศึกษามีข้อจำกัด
ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของตลาดได้ เมื่อเทียบกับวงกลมวงนอก ที่แสดงการขยายความต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่
ๆ ภาพที่ 1 ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า
ช่องว่างระหว่างสองวงกลมนี้ มีแนวโน้มจะห่างมากขึ้น
ถ้าไม่มีมาตรการที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป
ความพร้อมด้านไอซีทีของประเทศคงจะต้องถดถอยต่อไป ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคอื่น
ๆ ของประเทศด้วย
เพื่อให้เห็นประเด็นปัญหาที่กล่าวข้างต้นได้ชัดเจน
ขอเปรียบเทียบทักษะด้านไอซีที กับทักษะของงานก่อสร้าง
งานก่อสร้างมีทั้งโครงการขนาดเล็ก เช่นสร้างบ้านเดี่ยว หรืออาคารห้องแถว
และทักษะการสร้างอาคารใหญ่สูงระฟ้า ทั้งสองกลุ่ม เป็นงานสร้างอาคารเหมือนกัน แต่อาศัยองค์ความรู้
ทักษะ ประสบการณ์ รวมทั้งการใช้เทคนิค และการออกแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความสามารถของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยที่ได้เล่าเรียนมา และมีโอกาสได้สร้างผลงานที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่เปรียบได้กับการสร้างบ้านเดี่ยว หรืออาคารห้องแถว มีน้อยรายมาก ที่มีโอกาสได้สร้างผลงาน
ที่เปรียบเทียบได้กับการสร้างอาคาร 10-20 ชั้น แต่ถ้าพูดถึงนักซอฟต์แวร์ไทยที่สามารถสร้างซอฟต์แวร์ที่เทียบได้กับโครงการอาคาร
30-60 ชั้น หรือมากกว่า คงจะนับตัวได้ หรือไม่มีเลย ดังนั้น ตลาดไทยในส่วนซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่
ที่เทียบได้กับอาคารระฟ้าที่ผ่านมา จึงเป็นตลาดของบริษัทต่างชาติเกือบทั้งหมด
ถ้าจะพัฒนาให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มีความสามารถเท่ากับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย
ที่สามารถออกแบบ ทำการก่อสร้าง และควบคุมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ได้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา
ทั้งในระบบ และนอกระบบ เพื่อให้มีหลักสูตร และมีผู้สอน ที่สามารถผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์
ที่ใช้เทคโนโลยีไอซีทีที่ทันสมัย ในจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
และภูมิภาคได้
ถ้าสถาบันฯ
ที่กระทรวงไอซีทีจะจัดตั้งขึ้นนี้ เน้นแก้ปัญหาที่อยู่ในช่องว่างระหว่างวงกลมสองวงในภาพที่
1 และไม่เข้าไปให้บริการส่วนที่อยู่ภายในวงกลมเล็กภายใน
ปัญหาความซ้ำซ้อนก็จะไม่เกิดขึ้น โครงการจัดตั้งสถาบันฯ ก็จะถูกมองว่า เป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐ
โดยกระทรวงไอซีที จะเข้ามาช่วยแก้ไขความขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ในส่วนที่ตลาดต้องการ
แต่ถ้าหลงทาง เข้าไปทำในสิ่งที่คนอื่นได้ทำอยู่แล้ว คือในส่วนของวงกลมวงในตามภาพ
ก็ถือว่าเป็นข่าวร้ายของพวกเรา ในฐานะคนไทย
ยังมีต่ออีกหลายตอนนะครับ
No comments:
Post a Comment