ผมได้นำเสนอ ตอนที่
1เรื่องโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ
ของกระทรวงไอซีที และพยายามตอบคำถามที่หลายคนถามว่า โครงการนี้จะซ้ำซ้อนกับภารกิจของสถาบันการศึกษาภาคปกติหรือไม่
ตามความเห็นของผม ถ้าสถาบันฯ
สามารถจัดการเรียนการสอนในส่วนที่สถาบันการศึกษายังเข้าไม่ถึง
ในส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างกลุ่มวิชาที่สอนในหลักสูตรทั่วไป
กับความรู้ใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ปัญหาอยู่ที่ว่า
อะไรคือช่องว่างที่สถาบันฯ ต้องทำ ใครจะเป็นคนบอกสถาบันฯ
ได้ว่าวิชาที่ควรจะเลือกสอนนั้น เป็นสิ่งใหม่ที่อุตสาหกรรมต้องการ
โดยเฉพาะสิ่งใหม่ในแวดวงไอซีทีนั้น เกิดขึ้นทุกวัน ไม่มีใครสามารถตอบคำถามข้อนี้แบบตรง
ๆ ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้แรงงานที่เกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยียุคศตวรรษที่
21
เรื่องยุทธศาสตร์ของประเทศ เรื่องสถานภาพการใช้ไอซีทีของประเทศ เรื่องสถานภาพของแรงงานด้านไอซีทีของประเทศในปัจจุบัน
และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านไอซีทีให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ไอซีทีของอาเซียน
ประเด็นที่กล่าวทั้งหมด ต่างมีผลต่อการพัฒนาแรงงานด้านไอซีทีทุกระดับ
ที่รัฐบาลต้องเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อน เพื่อให้แน่ใจว่า
ระดับความสามารถการพัฒนาทุนมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวกับไอซีทีนั้น มีความสอดคล้องกับความต้องการใช้แรงงานไอซีที
และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่จะแข่งขันในภูมิภาคและตลาดโลกได้
1)
การเปลี่ยนแปลงการใช้แรงงานที่เกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยียุคศตวรรษที่
21 เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่า แนวคิดการแข่งขันในเชิงธุรกิจยุคปัจจุบัน
และแนวคิดในเชิงยุทธศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน แตกต่างกับยุคก่อนมาก ลองฟังความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง
อย่างเช่น Umair Haque แห่ง Havas Media Labs
ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านสื่อและบริการด้านการปรึกษาของยุโรปที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของโลก
และ Umair
Haque ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับต้น ๆ ของโลก ที่มีอิทธิพลสูงมากในฐานะนักคิดที่ชี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลก
จากการจัดอันดับของ Thinkers50
Umair Haque ได้เขียนบทวิเคราะห์ใน
Blog ของเขาเมื่อปี 2009 ในหัวข้อ “AUser’s Guide to 21st Century Economy” ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ
5 เรื่อง ที่ผมขอเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
a)
บทบาทของการตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการบริโภคที่ถดถอย
โดยชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ของศตวรรษที่ 20 ที่ธุรกิจเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมาก
ๆ (Mass production) และหาทุกวิถีทางด้านการตลาดที่จะผลักดันผลผลิตไปให้ผู้บริโภค
ด้วยการชักจูงให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าที่อาจไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงในความรู้สึกของผู้บริโภค
(Perceived value) กลยุทธ์เช่นนี้ เริ่มจะไม่เกิดผลในศตวรรษนี้
เพราะผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แท้จริง (Real value)
b)
บทบาทของระบบจัดจำหน่ายสินค้าเริ่มเปลี่ยนแปลง
อันเนื่องจากความผันผวนของการบริโภค การออม และการลงทุน ประชาชนเริ่มระวังการใช้จ่ายมากขึ้นสืบเนื่องจากระบบเศรษฐกิจล้มละลายในภาคต่าง
ๆ ของโลก ครั้งแล้วครั้งเล่า ในศตวรรษก่อน ธุรกิจขนาดใหญ่
ที่มีความสามารถจัดช่องจำหน่ายทั่วโลก มักจะมีความได้เปรียบ แต่จากนี้ไป
ห่วงโซ่อุปทานที่มีตัวแทนจำหน่ายที่ยังคงค้าขายด้วยวิธีเดิม ๆ จะไม่มีสามารถทำประโยชน์ได้เหมือนเดิม
การตลาดที่เป็นเครือข่ายคุณค่า (Value network) จะเข้ามาแทนห่วงโซ่คุณค่า
(Value chain) ศตวรรษใหม่
เป็นยุคของการค้าขายด้วยความสัมพันธ์สองทางระหว่างคู่ค้า ลูกค้าจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคุณค่า
c)
ยุทธศาสตร์ในเชิงผลิต
เริ่มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอำนาจซื้อของประชาชนลดลง ประชาชนเริ่มจะเก็บออมมากขึ้น ศตวรรษที่ผ่านมา
ธุรกิจเน้นการขยายกำลังการผลิต เพื่อทำให้เกิด Economies of scale และนำไปสู่ความได้เปรียบด้านต้นทุน ทำให้สินค้าล้นตลาด
เป็นเหตุให้ประชาชนบริโภคเกินความจำเป็น เป็นการสิ้นเปลือง ในศตวรรษที่ 21 เราจะเห็นการปรับกลยุทธ์ของการผลิต โดยลดขนาดการผลิตให้เล็กลง แต่อาศัยการ
Outsource และอาศัยศักยภาพการผลิตจากภายนอกมากขึ้น
ทำให้เกิดธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีความชำนาญพิเศษเฉพาะทางเพิ่มจำนวนมากขึ้น
d)
ยุทธศาสตร์ของธุรกิจจะเปลี่ยนจากการเน้นเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
มาเน้นความร่วมมือ และใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น การแย่งชิงตลาดด้วยการตัดราคา
ได้พิสูจแล้วว่า เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน และได้นำไปสู่ความสูญเสียโดยทั่วหน้า
ยุทธศาสตร์ในเชิงร่วมมือกันสร้างคุณค่า และร่วมกันใช้ทรัพยากรที่ต่างมีจำกัด
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
e)
ยุทธศาสาตร์ในเชิงนวัตกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลง
ในศตวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจส่วนใหญ่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมระดับพื้น ๆ
ที่เกี่ยวกับกระบวนการ (Processes) หรือเกี่ยวกับการออกแบบสินค้า
และบริการ แต่จากนี้ไป ธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับนวัตกรรมระดับสูง
เช่นรูปแบบธุรกิจใหม่ (New business model) รวมทั้งสร้างแนวคิดใหม่
ๆ ด้านบริการ โดยเฉพาะแนวคิดธุรกิจเชิงบริการที่อาศัยความรู้และทักษะ ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคที่แท้จริง
จนถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่า หรือเครือข่ายคุณค่ารูปแบบใหม่ที่สามารถประสานประโยชน์ในวงกว้างได้
เมื่อเทคโนโลยีของศตวรรษที่
21
มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์หลักตามที่กล่าว ศาสตร์ด้านไอซีทีทุกสาขา
และวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก
คนจำนวนมากต้องรีบเร่งปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัย สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
เพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
แต่การปรับตัวของสถาบันการศึกษามักจะไม่ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรม
ทำให้ช่องว่างของวงกลมสองวงในภาพที่ 1 ของบทความตอนที่ 1
มีแต่จะขยายกว้างขึ้น สถาบันฯ
ใหม่ของกระทรวงไอซีทีช่วยแก้ไขได้หรือไม่
2)
เรื่องยุทธศาสตร์ของประเทศ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงไอซีที
ได้ร่างกรอบนโยบายไอซีที 2020 และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
กรอบนโยบายไอซีที 2020 ถูกร่างขึ้นบนพื้นฐานที่จะสนับสนุนการ
Implement แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โดยเฉพาะส่วนของกรอบนโยบายที่ต้องการสร้างความพร้อมด้านความรู้และทักษะไอซีที
เพื่อให้คนไทยมีความสามารถใช้ไอซีทีและข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีวิจารณญาณ
สาระสำคัญของกรอบนโยบายไอซีที 2020 จึงได้กำหนดเป้าหมายด้านพัฒนาความรู้ไอซีทีดังนี้
a)
กำหนดให้มีสัดส่วนการจ้างงานบุคลากร ICT (ICT
Professional) ต่อการจ้างงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3
โดยมีสัดส่วนบุคลากรที่มีทักษะสูงที่ร้อยละ 50 ของบุคลากร ICT ทั้งหมด
b)
กำหนดให้มีสัดส่วนการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะและใช้
ICT (ICT
Professional และ Intensive user) ต่อการจ้างงานทั้งหมด
เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละไม่ต่ำกว่า 20
c)
กำหนดให้มีแผนพัฒนาบุคลากรและ National ICT
Competency Framework เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาความรู้/ทักษะทางด้าน ICT
ให้กับคนกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม
สถาบันฯ
ที่กำลังจะตั้งขึ้น จึงได้กำหนดเป้าประสงค์และพันธกิจของสถาบันฯ
ให้สามารถสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ กล่าวคือ
“…ดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 รวมทั้งกรอบนโยบายไอซีทีระยะที่
2 ของประเทศไทย (พ.ศ. 2554-2563) และแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2556) ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันฯ ถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนของภาครัฐ
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม….”
3)
เรื่องสถานภาพการใช้ไอซีทีของประเทศ
การสำรวจมูลค่าการตลาดไอซีทีของไทยสำหรับปี
2554
ที่ผ่านมา ค่อนข้างจะสับสน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มอบงานให้มีผู้สำรวจและศึกษาหลายกลุ่ม
แต่ละสำนักใช้วิธีสำรวจและประเมินมูลค่าแตกต่างกับที่เคยทำมา เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน
จึงขอยกตัวเลขประมาณการที่ SIPA ได้ประกาศเป็นทางการสำหรับปี
2553 มาใช้ในที่นี้ เพื่อให้ได้ภาพกว้าง ๆ
เกี่ยวกับการลงทุนด้านไอซีทีของประเทศ
โดยสรุป มูลค่าการใช้ไอซีทีของไทยโดยรวม มีมูลค่าประมาณ 555,500 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องพีซีจำนวนประมาณ 3 ล้านชุดต่อปี
ใกล้เคียงกับจำนวนสมาร์ทโฟน ของปีปัจจุบัน และจากการประมาณการของ WITSA
(World IT and Services Alliance) พบว่า
ปริมาณใช้จ่ายไอซีทีของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวนกว่า
80 ประเทศ กล่าวคือ ประมาณร้อยละ 6.3 เทียบกับผลผลิตมวลรวม
(GDP) แต่ถ้าเทียบกับการลงทุนเฉพาะด้านซอฟต์แวร์ ไทยลงทุนเพียงประมาณร้อยละ
0.59 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในขณะที่มาเลเซีย
ประมาณ 0.98% และประเทศสิงคโปร์ 2.79% แสดงให้เห็นว่าทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ของไทยในภาพรวมยังค่อนข้างต่ำ
ข้อสังเกตนี้ ได้รับการยืนยันจากผลการเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขัน โดย WorldEconomic Forum (WEF) ที่ระบุว่าไทยยังขาดประสบการณ์ในการดูดซับการใช้เทคโนโลยีใหม่
ๆ และยังไม่สามารถประยุกต์ไอซีทีระบบใหญ่ ๆ ที่มีความสลับซับซ้อน
เช่นระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นเครือข่ายระดับโลก
จึงเห็นได้ว่า
ไทยมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่ต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านไอซีทีให้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านไอซีทีที่ทันสมัยระดับสูง
การก้าวสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกในศตวรรษที่ 21 ทักษะไอซีทีขั้นสูงเป็นสิ่งจำเป็น เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Big data และ non-SQL เรื่อง Social analytic เรื่อง Cloud computing เรื่อง Semantic web ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความจำเป็นต่อการยกระดับการใช้ประโยชน์จากไอซีที
ที่มีนัยสำคัญต่อการสร้างศักยภาพในการแข่งขันทั้งสิ้น ลำพังระบบการศึกษาภาคปกติ
คงไม่สามารถแก้ปัญหาในระดับประเทศได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็วทันต่อความต้องการ
สำหรับเรื่องเกี่ยวกับสถานภาพของแรงงานด้านไอซีทีของประเทศในปัจจุบัน
และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านไอซีทีให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ไอซีทีของอาเซียน ขอเก็บไว้นำเสนอในตอนต่อไป
No comments:
Post a Comment