Wednesday, August 15, 2012

โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที ตอนที่ 3


บทความตอนแรกของเรื่อง โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีทีเราได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ และวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า โครงการนี้มีภารกิจซ้ำซ้อนกับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้จัดสอนหลักสูตรไอซีทีมาช้านาน หรือไม่อย่างไร ตอนที่สอง เราได้วิเคราะห์ถึงการขาดแคลนบุคลากรไอซีทีระดับสูง และความต้อการบุคลากรที่มีทักษะไอซีทีสมัยใหม่ สำหรับตอนที่ 3 นี้ เราจะพูดถึงความสามารถผลิตบุคลากรไอซีทีกลุ่มซอฟต์แวร์ในสถาบันการศึกษาของไทย และการพัฒนาบุคลากรไอซีที ตามแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015

4)         การผลิตบัณฑิตสาขาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
ครั้งสุดท้ายที่ผมมีโอกาสศึกษาเรื่องการผลิตบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย คือเมื่อประมาณปี 2008 หรือ 4 ปีที่ผ่านมา ในครั้งนั้น เป็นการศึกษาภายใต้โครงการศึกษาการพัฒนาบุคลากรสาขาขาดแคลนของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ ในหัวข้อ การประมาณความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ในสาขาต่าง ๆเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากผมยังไม่สามารถหาข้อมูลในเรื่องนี้ ที่ใหม่กว่า จึงขออนุญาตนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อย่างน้อย ผู้อ่านจะได้เห็นภาพการพัฒนาบัณฑิตสาขาซอฟต์แวร์ของประเทศในระดับหนึ่ง เข้าใจว่าปัญหาการขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยในขณะนี้ คงไม่แตกต่างจากเมื่อ 4-5 ปีก่อนมากนัก (ท่านสามารถอ่านรายงาน การประมาณความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ในสาขาต่าง ๆ ได้จาก Link นี้ครับ)

                     จากรายงานของ สกอ ปี 2550 มหาวิทยาลัยภาครัฐ รวมมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนราชมงคล ได้รับนักศึกษาสาขาต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ระดับปริญญาตรี รวมประมาณ 10,505 คน สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น จำนวนรับเข้าประมาณว่าอยู่ในระดับ 8,000 คน นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาอาชีวอีกประมาณ 5,000 คน โดยภาพรวม ภาคการศึกษาทั้งระบบของไทยในขณะนั้น สามารถรับนักศึกษาสาขาซอฟต์แวร์ ประมาณปีละ 24,600 คน เมื่อเรียนจบหลักสูตร ประมาณว่า บัณฑิตเข้าทำงานเพียงไม่เกิน 17,220 คน จำนวน 12,700 คน เข้าทำงานในฐานะผู้ใช้ซอฟต์แวร์  มีเพียงประมาณ 6,000 คนที่เข้าทำงานในฐานะเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software developers) อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี มีผู้ออกจากภาคการผลิตประมาณร้อยละ 7 หรือประมาณ 2,800 คน ดังนั้น แรงงานเพิ่มสุทธิมีเพียงไม่เกินปีละ 3,200 คนเท่านั้น

                         NECTEC/SIPA ได้สรุปไว้ในรายงาน สรุปผลสำรวจตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยปี 2550” ว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ประเภทต่าง ๆ ประมาณ 41,620 คน แยกตามความชำนาญดังนี้
นักซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์ระดับสูง ประกอบด้วย กลุ่ม Project managers/It professional, software engineers, analysts and designers, และ software architect รวมกัน เทียบได้เป็นร้อยละ 33 ในขณะที่กลุ่ม Programmers & software developer เป็นร้อยละ 53.2 และผู้สนับสนุน เช่นผู้ที่มีหน้าที่ทำ technical documents และ อื่น ๆ อีกร้อยละ 13.8   ส่วนหนึ่งของคนสองกลุ่มหลัง เป็นบัณฑิตจบใหม่
                    รายงานข้างต้น ยังชี้ให้เห็นว่า ในปี 2550 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,400 คน ในขณะที่บัณฑิตจบใหม่ที่เข้าสู่ระบบผลิตซอฟต์แวร์นั้น มีเพียง 3200 หมายความว่า ระบบการศึกษาภาคปกติ มีศักยภาพที่จะผลิตบัณฑิตป้อนตลาดได้เพียงร้อยละ 50 ของความต้องการ และเมื่อพิจารณาถึงความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ระดับสูง คือกลุ่ม Project managers/It professional, software engineers, analysts and designers, และ software architect ยิ่งจะเห็นว่า ความขาดแคลนทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ตามที่รู้กัน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซอฟต์แวร์ไทย โดยเฉพาะระบบใหญ่ ไม่สามารถแข่งขันในตลาดภูมิภาค หรือตลาดโลกได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องซื้อซอฟต์แวร์ระบบใหญ่จากต่างประเทศมาตลอด ปัญหาที่พวกเราประสบมา ไม่ใช่เพราะคนไทยทำซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ไม่เป็น แต่อยู่ที่ข้อจำกัดของระบบการศึกษา ที่ไม่สามารถเพิ่มการผลิตบัณฑิต ในกลุ่มที่มีทักษะด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ ได้เพียงพอกับความต้องการ
                    ประเด็นที่ต้องแก้ไข คือเร่งส่งเสริมให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผลิตบัณฑิตซอฟต์แวร์ระดับสูงให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มจำนวนบัณฑิตที่มีสมรรถนะ ที่จะเป็น Project managers/It professional, software engineers, analysts and designers, และ software architect ได้ในอนาคตอันใกล้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะซอฟต์แวร์ระดับสูง ในรูปศึกษาต่อเนื่อง และ Professional training สำหรับบุคลาการซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่ ให้มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ สถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที น่าจะรับภารกิจนี้ได้ในระดับหนึ่ง

5)         การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านไอซีทีให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ไอซีทีของอาเซียน
    อาเซียนได้จัดทำแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกใช้เป็นกรอบในการพัฒนาศักยภาพไอซีทีของแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง ภายใต้วิสัยทัศน์ดังต่อไปนี้ (อ่านรายละเอียด แผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ฉบับภาษาไทย ได้ที่นี่ครับ)
ไอซีทีจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อให้เกิดการรวมตัวทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจในอาเซียน ไอซีทีจะช่วยการปฎิรูปอาเซียนให้เป็นตลาดเดียว ด้วยวิธีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีทียุคใหม่ และพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีฝีมือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม จัดให้มีนโยบายส่งเสริม และสร้างสภาพแวดล้อมที่มีกฎระเบียบ ด้วยมาตรการดังกล่าว อาเซียนจะเสริมสร้างพลังให้แก่ชุมชน และผลักดันให้อาเซียนมีสถานภาพเป็นศูนย์กลางไอซีที ที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง และคึกคัก  ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เหมาะกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

         วิสัยทัศน์ที่กล่าว นำไปสู่การเสนอยุทธศาสตร์ 6 ข้อ และ 1 ใน 6 ของยุทธศาสตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้มีสมรรถนะและทักษะด้านไอซีที เพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคไอซีที และส่งผลต่อการปฎิรูปเศรษฐกิจในภาคอื่น ๆ ด้วย โดยกำหนดให้มีมาตรการหลัก ๆ เช่น
·      สร้างเกณฑ์การให้ทุนการศึกษาและกำหนดแหล่งเงินทุน
·      สร้างความดึงดูดให้ผู้ที่มีความสามารถของอาเซียนได้เลือกไอซีทีเป็นอาชีพ
·      มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มบุคคลที่มีความถนัดด้านไอซีที
·      พัฒนามาตรฐานวิชาชีพไอซีที และจัดทำโปรแกรมเพิ่มพูนความรู้ด้านไอซีที
           นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะ ส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายทุนมนุษย์ด้านไอซีทีภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยมาตรการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangement, MRA) เพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพสาขาไอซีทีด้วย
           ถ้าประเทศไทยไม่รีบแก้ไขปัญหาความขาดแคลนบุคลากรไอซีทีระดับสูงตามกล่าวข้างต้น ก็จะอยู่ในฐานะเสียเปรียบ นอกจากไทยพลาดโอกาสที่จะส่งซอฟต์แวร์ที่สูงด้วยคุณภาพไปแข่งขันในอาเซียนแล้ว ยังอาจกลายเป็นตลาดซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่สำหรับประเทศอื่น นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการที่บุคลากรซอฟต์แวร์ระดับฝีมือและคุณภาพสูงของไทย จะถูกซื้อตัวไปสร้างผลงานให้แก่ประเทศคู่แข่ง และถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนบุคลาการซอตฟ์แวร์ระดับสูงของไทย รุนแรงยิ่งขึ้น โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีที น่าจะเป็นมาตรการที่ดี ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ผมจะนำเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรไอซีทีแนวใหม่ในตอนต่อไปครับ

No comments:

Post a Comment