Friday, August 31, 2012

แนวทางตัดสินใจเลือกชนิดของบริการคลาวด์


วิธีใช้คอมพิวเตอร์และไอซีทีในลักษณะบริการแบบสาธารณูปโภค (Utility)ได้รับความนิยมมากขึ้น การตัดสินใจเลือกใช้ชนิดบริการคลาวด์เป็นประเด็นที่ผู้บริหารต้องตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ บนพื้นฐานของความเหมาะสมในบริบทของแต่ละองค์กรที่ต่างกัน องค์กรส่วนใหญ่ทุกวันนี้ มีศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ให้บริการคอมพิวเตอร์และไอซีทีของตนเอง ภายใต้การบริหารจัดการของตนเองเป็นส่วนใหญ่ การจะเปลี่ยนแปลงไปใช้บริการคลาวด์แทน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ มีเหตุมีผลที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรต้องเข้าใจและยอมรับ และต้องทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่ดีที่สุด ให้ทำเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ไอซีทีระยะสั้นและปานกลางขององค์กร และต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กรด้วย (IT Strategy-Business Strategy Alignment) 

              จากนี้ไป องค์กรมีทางเลือกใช้บริการคอมพิวเตอร์จากสามแหล่ง คือ ใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ของตนเอง ใช้บริการคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) และใช้บริการคลาวด์สาธารณะ (Pubic Cloud) แต่แนวโน้มที่เห็นชัดเจน องค์กรจะใช้บริการทั้งสามชนิดปนกัน เรียกว่าใช้บริการคลาวด์แบบผสมผสาน หรือ Hybrid Cloud Service ซึ่งจะเป็น Enterprise Computing Environment รูปแบบใหม่ การตัดสินใจเลือกใช้บริการปนกันได้อย่างเหมาะสมกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับผู้บริหาร บทความตอนนี้จะแนะนำวิธีผสมชนิดบริการให้เหมาะสม แต่ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกับการบริการแต่ละชนิดให้ตรงกันก่อน 

1.          การใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ของตนเอง
ศูนย์คอมพิวเตอร์รูปแบบเดิม เป็นศูนย์บริการแบบเอนกประสงค์ (General purpose data center) คือให้บริการคอมพิวเตอร์ทุกอย่าง เบ็ดเสร็จภายในตัว ตั้งแต่บริการพัฒนาระบบงาน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาทั้งระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง และระบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง ให้บริการการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายทุกระดับ รับผิดชอบการบำรุงรักษา แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ทางด้านเทคนิค ตลอดจนการวางแผนการใช้ไอซีทีขององค์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กร
งานที่ใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ มีทั้งงานประเภท Core application เช่นระบบซื้อขาย ระบบบริหารลูกหนี้เจ้าหนี้ ระบบรับชำระเงิน รวมทั้งระบบบริหารทรัพยากรองค์กรอื่น ๆ (Enterprise Resource Management) ระบบบริหารการผลิต การบริการห่วงโซ่อุปทาน ระบบเหล่านี้ เป็นจุดกำเนิดของข้อมูลเหลักขององค์กรที่เกี่ยวข้องข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลสินค้า ข้อมูลด้านการเงิน และข้อมูลเกี่ยวกับพันธมิตรอื่น ๆ นอกจากงานหลักขององค์กรตามที่กล่าว ยังมีงานด้านบริหารอื่น เช่นระบบบริหารบุคคล ระบบลูกค้าสัมพันธ์ ระบบสื่อสารภายในและภายนอก เช่นระบบอีเมล์  ระบบสารบรรณ ระบบบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบเว็บไซท์ ฝ่ายพัฒนาระบบงาน ยังใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดสรรทรัพยากรคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพื่อการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และทดสอบระบบซอฟต์แวร์ใหม่ด้วย

2.          การใช้บริการจากคลาวด์ส่วนตัว (Private cloud)
การบริการคลาวด์ส่วนตัว เป็นลักษณะใช้บริการไอซีทีด้วยระบบงานและอุปกรณ์ที่จัดให้พิเศษ สำหรับใช้งานขององค์กร หรือบริการกลุ่มลูกค้า และพันธมิตรที่องค์กรกำหนด เพื่อการใช้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างมั่นคงและปลอดภัย ระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการคลาวด์ส่วนตัว มักจะต้องติดตั้งระบบไฟรวอลกั้นไว้เป็นด่านหน้า เพื่อป้องกันการบุกรุก ระบบคลาวด์ส่วนตัวอาจติดตั้งอยู่ในองค์กร เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือ Outsource ให้บุคคลที่สามบริหารจัดการ และดูแลอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แทนองค์กรก็ได้

3.          การใช้บริการคลาวด์สาธารณะ (Public cloud) เป็นการใช้บริการไอซีทีจากภายนอก ซึ่งมีทั้งการให้บริการแบบชุมชน คือผู้ใช้ที่มีเบอร์อีเมล์ ก็สามารถ Log-in ใช้งานฟรีได้ จนถึงบริการสาธารณะแบบมีข้อตกลง หรือสัญญาในเชิงธุรกิจ มีค่าบริการ และเงื่อนไขการให้บริการเฉพาะอย่าง

แนวทางการเลือกใช้ชนิดบริการ
การบริการคลาวด์คอมพิวติงเปิดโอกาสให้องค์กรหันมาจัดระเบียบใหม่เกี่ยวกับการใช้ไอซีที โดยจัดแบ่งกลุ่มงาน แล้วเลือกใช้ชนิดบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มงานดังนี้
1.          กลุ่มงานที่เป็นงานหลักขององค์กร เช่นระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ระบบบริหารการผลิต ระบบการเงิน ฯลฯ ระบบงานเหล่านี้ มีปัจจัยเกี่ยวกับด้านความมั่นคงและความลับขององค์กร เป็นระบบที่ต้องการให้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด มีมาตรการบริหารความเสี่ยง และต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของทางราชการ (Regulatory Compliance) รวมทั้งระบบงานแบบเก่า ๆ ที่หลากหลาย แต่ยังใช้งานได้ดี (Legacy systems) ระบบงานเหล่านี้ ยังเหมาะที่จะใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กรเอง
2.          กลุ่มงานที่เป็นงานบริการลูกค้า หรือพันธมิตรภายในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เป็นระบบงานที่เกี่ยวกับบริการให้ข้อมูลข่าวสาร และเป็นงานติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก  เช่นระบบเว็บไซท์ขององค์กร ระบบอีเมล์ ระบบบริการพนักงานที่ต้องพบปะลูกค้าจำนวนมาก ต้องอาศัยข้อมูลจากระบบลูกค้าสัมพันธ์ด้วยอุปกรณ์พกพาหลาย ๆ รูปแบบ ฯลฯ งานกลุ่มนี้เหมาะที่จะใช้บริการประเภทคลาวด์สาธารณะ
3.          กลุ่มงานที่เป็นงานพัฒนาระบบงาน หรือทดสอบระบบงาน เป็นงานที่ทำอยู่ภายในทีมงานที่ไม่ใหญ่มาก ต้องอาศัยข้อมูลสำคัญขององค์กรเพื่อการทดสอบ มีการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เฉพาะอย่าง และใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อเสร็จงานแล้ว ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่จัดสรรให้จะส่งคืนให้แก่ส่วนกลางโดยอัตโนมัติ และจัดสรรให้ใหม่ สำหรับโครงการใหม่ตามความต้องการได้อย่างคล่องตัว งานเช่นนี้ เหมาะที่จะเลือกใช้บริการประเภทคลาวด์ส่วนตัว โดยเฉพาะบริการคลาวด์ส่วนตัวขององค์กรเอง นอกจากนี้ การบริการคลาวด์ส่วนตัว ยังเหมาะสำคัญงานที่ใช้ทำธุรกรรมกับกลุ่มคู่ค้าจำนวนมาก ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นงานธุรกรรมที่ก่อเกิดรายได้หลักที่ทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่คงตัว เช่นการรับการสั่งซื้อ และชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ งานลักษณะนี้ เหมาะที่จะจัดให้ทำงานอยู่ภายในกรอบของคลาวด์ส่วนตัว แทนที่จะใช้คลาวด์สาธารณะที่ต้องจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้บริการคลาวด์ทุกครั้งที่เกิดรายการซื้อขาย

               จึงเห็นได้ว่า องค์กรส่วนใหญ่ มีโอกาสที่จะใช้บริการไอซีทีทั้งสามรูปแบบ ผสมผสานกันในลักษณะที่เรียกว่า Hybrid Cloud บริการที่จะเป็น Hybrid Cloud ได้นั้น มีเงื่อนไขว่า ต้องให้บริการกับงานที่เชื่อมโยงกัน ยังผลให้เกิดคุณค่าอย่างชัดเจน การใช้บริการหลาย ๆ รูปแบบ แต่ไม่เชื่อมโยงกัน ทั้งในเชิงใช้ข้อมูล และหรือ Software services ไม่ถือว่าเป็น Hybrid Cloud ตัวอย่างเช่น ใช้คลาวด์ส่วนตัวเพื่อการพัฒนาระบบงานใหม่ แต่ไม่ได้ใช้ระบบฐานข้อมูลของระบบงานอื่นเพื่อการทดสอบ จากศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือจากคลาวด์สาธารณะ เช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการใช้บริการ Hybrid Cloud หรือตัวอย่างการใช้ระบบงานบริหารลูกค้าสัมพันธ์จากคลาวด์สาธารณะโดยลำพัง อย่างเป็นอิสระ ไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบซื้อขาย ที่ทำงานอยู่ในศูนย์คอมพิวเตอร์ ลักษณะการใช้บริการเช่นนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็น Hybrid Computer  ความเป็นคลาวด์ลูกผสมต้องเป็นการใช้บริการไอซีทีปนกันหลาย ๆ แบบ โดยระบบงานที่เกี่ยวข้องทำงานแบบบูรณาการ (Integration) ทั้งการบูรณาการด้วยข้อมูล และหรือบูรณาการด้วยบริการซอฟต์แวร์ 

              แนวคิดการใช้บริการไอซีทีแบบ Hybrid Computer ตามความหมายที่กล่าวข้างต้น มีความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กร เป็นยุทธศาสตร์ไอทีที่ต้องสอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์ธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นการให้บริการลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ต้องทำงานแบบบูรณาการ เพื่อจะช่วยสลายวิธีทำงานแบบ Silo และพัฒนาวิธีทำงานแบบร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในงานด้านบริการ ผู้ออกแบบระบบงาน Hybrid Cloud Environment จำเป็นต้องรู้เทคนิคที่จะบูรณาการระบบงาน และเลือกรูปแบบบริการระบบงานได้อย่างเหมาะสม ทุกวันนี้ เรานิยมใช้เทคนิคการเชื่อมโยงที่เป็น Service Oriented Integration ทั้งในระดับกระบวนการ (Process level) และระดับข้อมูล ในยุคที่ธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่า (Value creation)ให้ลูกค้าด้วยบริการ ระบบงานที่เป็น Front stage ซึ่งเป็นเวทีสำคัญเพื่อการทำงานปฎิสัมพันธ์ ระหว่างพนักงานขององค์กร ลูกค้า และคู่ค้าจำนวนมาก ต้องสามารถให้บริการได้หลาย ๆ รูปแบบ และด้วยอุปกรณ์พกพาหลากหลายชนิด งานที่กล่าว มีปริมาณข้อมูลที่คาดเดาได้ยาก บางวันอาจมี Traffic ของข้อมูลสูงมาก ในขณะที่บางวันอาจมีน้อยมาก งานลักษณะนี้เหมาะที่จะใช้บริการคลาวด์สาธารณะ ในขณะที่งานประเภทประมวลผลจะจัดการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นงาน Black stage อาจยังเหมาะที่จะใช้บริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กร ทั้งในรูปแบบ Legacy หรือแบบใช้คลาวด์ส่วนตัวที่บริหารด้วยองค์กรเอง หรือบริหารจากบุคคลที่สาม การเลือกใช้บริการไม่ว่าจะเป็นการบริการจากศูนย์คอมพิวเตอร์ จากคลาวด์ส่วนตัว หรือจากคลาวด์สาธารณะ จึงเป็นการตัดสินใจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้หลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเทคนิค และด้านบริหาร และต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านไอที และด้านยุทธศาสตร์ธุรกิจขององค์กร

No comments:

Post a Comment