เมื่อใกล้กำหนดที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ธุรกิจไทยทุกภาคส่วนต่างตื่นตัวที่จะรับมือกับปรากฎการณ์ใหม่
ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า จะเกิดผลอย่างไร สิ่งที่แน่นอนคือ การเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เป็นทั้งโอกาสและภาวะคุกคาม เป็นโอกาส เพราะตลาดจะขยายตัวจาก 64 ล้านคน เป็นกว่าสิบเท่าตัว หรือประมาณ 600 ล้านคน
ในขณะเดียวกัน การแข่งขันก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นกัน
ความอยู่รอดของธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่แต่ละองค์กร ในแต่ละอุตสาหกรรม
ต้องทำขึ้นเพื่อที่จะรับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
คำว่า “กลยุทธ์” (หรือ ยุทธศาสตร์) หรือคำภาษาอังกฤษ
“Strategy” พบใช้ในหลายความหมาย ในต่างบริบท แต่เพื่อความไม่สับสน
ขอใช้ตามความหมายที่ Michael E. Porter แนะนำในหนังสือดัง เรื่อง Competitive Advantage ว่า “เป็นมาตรการที่ทำให้องค์กรสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์
ภายใต้สถานการณ์การแข่งขัน” หรือตามคำพูดของ Porter ว่า “Strategy explains how an organization, faced with
competition, will achieve superior performance.” ตามความหมายนี้
กลยุทธ์จะเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่ทั้งองค์กรและลูกค้า
ไม่ได้เน้นการแย่งชิงตลาดในลักษณะเข่นฆ่าคู่แข่ง แต่เป็นการแข่งขันสร้างคุณค่า (Value
creation) เพื่อบรรลุผลแบบ Win-Win หรือ Positive
sum แทนแนวคิดเดิมที่เป็น Zero sum (มีผู้ได้
ต้องมีผู้เสีย) เมื่อเข้าใจความหมายของกลยุทธ์ตรงกันแล้ว เราจะวิเคราะห์ว่า
ไทยควรดำเนินกลยุทธ์อย่างไรในอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อพร้อมรับมือกับ AEC
1.
ศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีทีของไทยในปัจจุบัน
แทนที่ไทยจะเริ่มด้วยกลยุทธ์ในแบบรุก
คือวางแผนนำสินค้าไอซีทีไทยเจาะเข้าตลาด ASEAN ในทันทีที่เปิดตลาดในปี
2558 เราควรถอยหลังสักสองสามก้าว แล้วพิจารณาดูว่า ทุกวันนี้
เรามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง พูดแบบชาวบ้านคือ ขอเช็คสต๊อกตัวเองก่อน
วิธีเช็คสต๊อกตัวเองที่ดีที่สุดในสภาวะเช่นนี้ คือใช้เครื่องมือ”Diamond
Model” ของ Michael Porter ที่ได้เสนอไว้ในหนังสือชื่อดังอีกเล่มหนึ่ง
คือ “Competitive Advantage of Nations” Porter ตั้งข้อสังเกตว่า
ถ้าเราจะเข้าไปแข่งขันในประเทศอื่น อย่างเช่นในกลุ่มประเทศอาเซียน
ให้สำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงภายในตลาดของประเทศของเราเองก่อน
และต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมไอซีทีของเรา มีศักยภาพในการแข่งขันด้านใด และอ่อนแอด้านใด
เนื่องจากสินค้าและบริการไอซีทีที่จะไปแข่งขันในอาเซียนเป็นผลผลิตที่เริ่มจากตลาดภายในประเทศ
เพื่อแข่งขันภายในประเทศ ถ้าสินค้าและบริการเหล่านี้ ยังไม่สามารถแข่งขันกันเอง
หรือแข่งกับสินค้าของต่างชาติ ภายในในตลาดของเราเองไม่ได้ ก็ยากที่จะนำไปแข่งขันนอกประเทศได้ เครื่องมือ “Diamond
model” ของ Michael Porter ช่วยให้เข้าใจศักยภาพการแข่งขันใน
4 มิติ ประกอบด้วย (1) ปัจจัยการผลิตในประเทศ
(Factor conditions) (2) อุปสงค์ภายในประเทศ (Demand
conditions) (3) อุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องภายในประเทศ (Related
and Support Industries) และ (4) กลยุทธ์
โครงสร้าง และสภาพกาแข่งขันในประเทศในระดับบริษัท (Firm strategy,
structure, and Rivalry)
ก่อนที่จะลงลึกในรายละเอียด
ขอปรับโจทย์ให้ง่ายขึ้นสักเล็กน้อย กล่าวคือ อุตสาหกรรมไอซีที ถูกแยกเป็นธุรกิจ 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าไอซีที
(ICT Goods เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์พ่วงต่อ
อุปกรณ์เครือข่าย ฯลฯ) ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
และฮาร์ดดิสก์ของไทยที่ใหญ่มาก (2) ธุรกิจที่เกี่ยวกัย ICT
Services ประกอบด้วย Software, contents และ ICT
services อื่น ๆ และ (3) ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการโครงสร้างพื้นฐาน
(ICT Infrastructure เช่นการบริการโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต
บรอดแบนด์ไร้สาย ฯลฯ) ในที่นี้
เราจะวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์เฉพาะส่วนที่ (2) คือ
ธุรกิจที่เกี่ยวกับ ICT Services (Software, contents and ICT services อื่น ๆ) เท่านั้น
1)
ปัจจัยการผลิตในประเทศ (Factor
conditions) หมายถึงกลุ่มทรัพยากรที่ใช้ในกระบวนการผลิต
สำหรับธุรกิจประเภท ICT Services โดยเฉพาะซอฟต์แวร์
ปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ บุคลากร คุณภาพของสินค้า และคุณสมบัติพิเศษที่แข่งขันได้นั้นมาจากทักษะและปัญญาของคนเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ไอซีทีและระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่อการผลิต
ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ตลอดจนสถานที่ทำงานที่สนับสนุนการผลิต
ดังที่รู้กันอยู่ว่า
บุคลากรที่อยู่ในภาคการผลิตซอฟต์แวร์ของไทยในปัจจุบัน ประมาณ 4 หมื่นคนนั้น ส่วนใหญ่ผลิตระบบซอฟต์แวร์ระดับเล็ก ส่วนหนึ่งหันไปผลิต Mobile
apps มีจำนวนน้อย ที่มีทักษะด้านสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์
และไม่มีประสบการณ์ในการผลิตระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยส่วนใหญ่
ยังไม่ได้เตรียมตัวสำหรับออกแบบและผลิตซอฟต์แวร์เพื่อบริการแบบ Software as a
Services ยังมีจำนวนไม่มากที่สร้างซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ หรือแบบ Service
Oriented Architecture ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ไทยส่วนใหญ่
จึงยังขาดความโดดเด่นที่จะแข่งขันในอาเซียนได้
ตามแนวคิดของ Michael
Porter ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ปัจจัย ยังไม่สำคัญเท่ากับความสามารถที่แต่ละประเทศจะพัฒนาและปรับปรุงทรัพยากรให้ดีขึ้น
ซึ่งหมายถึงคุณภาพด้านการศึกษาที่จะพัฒนาแรงงานให้แข่งขันได้ ถ้าระบบการศึกษาไทย
สามารถผลิตบัณฑิตด้านซอฟต์แวร์ระดับสูง ที่มีคุณภาพจำนวนเพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้น
ก็จะช่วยแก้สถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง มิฉะนั้น เมื่อมองในภาพรวม ไทยก็ยังยังไม่พร้อมที่จะเข้าแข่งขันในอาเซียนได้ทันที
2)
อุปสงค์ภายในประเทศ (Demand
conditions) เป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะการใช้ระบบซอฟต์แวร์และไอซีทีในทุกภาคส่วน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความต้องการใช้บริการไอซีที ถ้าความต้องการของภาคธุรกิจและภาครัฐเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น
จะช่วยกดดันให้ผู้ผลิตลงทุนด้านนวัตกรรม และเสริมสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการด้านไอซีที
ส่งผลให้การแข่งขันในต่างประเทศมีศักยภาพสูงขึ้น
แต่ความเป็นจริงในขณะนี้
ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยส่วนใหญ่มีโอกาสทำแค่ระบบซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก ป้อนตลาดระดับล่าง
สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ เช่นกลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร และงานภาครัฐ
ส่วนใหญ่จะซื้อระบบซอฟต์แวร์และบริการไอซีทีจากต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจ ICT
Services ของไทยส่วนใหญ่ขาดโอกาสที่จะสร้างผลงานที่โดดเด่น ที่จะแข่งขันได้ในต่างประเทศ
3)
อุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องภายในประเทศ
(Related
and Support Industries) ตามความคิดของ Porter อุตสาหกรรมสนับสนุน หรืออุตสาหกรรมข้างเคียงที่มีศักยภาพสูง
และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ จะช่วยส่งเสริมให้สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้วย
ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการไอซีที อุตสาหกรรมที่ข้างเคียงอาจหมายถึง
ธุรกิจให้การปรึกษาทางธุรกิจ (Business consultants) หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมโครงการ
Open source software ที่โด่ดเด่น เป็นที่รู้จักระดับโลก
อย่างเช่นโครงการ Apache หรือ Linux แม้กระทั่งการศึกษาที่ยอมรับในระดับสากล
อย่างเช่นมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริการ เหล่านี้
ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีผลต่อการทำให้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันด้วย
สำหรับประเทศไทย
อุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะช่วยเสริมผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับของคนต่างชาติยังมองไม่เห็น
แม้แต่ธุรกิจอย่างเช่น Business process outsourcing หรือ
IT outsourcing ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ก็จะมีผลทำให้เกิดความยอมรับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์
และบริการไอซีทีส่วนอื่น ๆ ด้วย แต่เมื่อไทยยังไม่สามารถพัฒนาให้มีธุรกิจเหล่านี้ได้
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และบริการไอซีทีของไทย จึงค่อนข้างจะโดดเดี่ยว
4)
กลยุทธ์ โครงสร้าง
และสภาพกาแข่งขันในประเทศในระดับบริษัท (Firm strategy, structure,
and Rivalry) ในมิตินี้ Porter เสนอแนะว่าความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ
ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการบริหาร การวางกลยุทธ์ และการจัดการกับการแข่งขันภายในประเทศของกลุ่มบริษัท
ว่ามีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพียงใด ถึงแม้จะไม่สามารถระบุได้ว่า
วัฒนธรรมองค์กรกับรูปแบบบริหารแบบใดของแต่ละประเทศ
จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในต่างประเทศก็ตาม แต่วัฒนธรรมบางประเภท
ได้ส่งผลถึงความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด เช่นวัฒนาธรรมของบริษัทญี่ปุ่น
ที่เกื้อหนุนและช่วยเหลือกัน หรือวัฒนธรรมของบริษัทเยอรมัน
ที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพ และวิศวกรรมชั้นสูง วัฒนธรรมเช่นว่านี้
เมื่อรวมกับวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น การมีวินัย และมีระเบียบในการทำงาน
มีความรับผิดชอบซื่อตรงต่อลูกค้าและพันธมิตร การทำงานอย่างมีระบบ ต่างส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยรวม
มีความได้เปรียบเมื่อเข้าสู่การแข่งขันระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้
ถ้าธุรกิจมีการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศอย่างเสรี และรุนแรง จะส่งผลให้ธุรกิจสนใจด้านนวัตกรรม
และสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ลักษณะเช่นว่านี้
จะส่งผลให้ธุรกิจของประเทศพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในต่างประเทศได้เช่นกัน
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการไอซีทีในประเทศไทย
ประกอบด้วยบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่
และเป็นบริษัทจำกัดที่ไม่ใช่บริษัทมหาชน มีเงินทุนไม่มาก
ก่อตั้งขึ้นด้วยบุคคลที่มีความรู้สายไอซีทีส่วนใหญ่ และบริหารบริษัทค่อนข้างเป็นระบบเถ้าแก่
หรือธุรกิจครอบครัว กลุ่มธุรกิจที่บริหารแบบมืออาชีพ
รวมทั้งกลุ่มบริษัทไอซีทีที่เป็นบริษัทมหาชนมีจำนวนน้อยมาก
ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการไอซีทีของไทย มิตินี้
จึงไม่มีความโด่ดเด่นที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบริการไอซีทีของไทยอยู่ในสภาพที่พร้อมจะแข่งขันในอาเซียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การขาดการสนับสุนจากภาครัฐในการแข่งขันในตลาดราชการไทย
และตลาดบริการไอซีทีขนาดใหญ่
จึงเป็นเหตุให้บริษัทไทยกลุ่มใหญ่ขาดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม
และขยายการลงทุนให้เจริญเติบโต เป็นหตุให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการไอซีทีโดยรวมขาดศักยภาพในการแข่งขัน
2.
แนวทางกำหนดกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย
ผลการวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย
ด้วยเครื่องมือ “Diamond Model” ของ Michael
Porter ตามที่นำเสนอมาข้างต้น นำไปสู่การกำหนดแนวทางเชิงกลยุทธ์ เพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันในอาเซียนดังนี้
1)
มิติด้านปัจจัยการผลิตในประเทศ
(Factor
conditions) ไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานักซอฟต์แวร์และบุคลากรด้านบริการไอซีทีให้มีคุณภาพ
จำนวนเพียงพอต่อการขยายตลาดสู่อาเซียน ลำพังอาศัยสถาบันการศึกษาระบบปกตินั้น
ไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์
จำเป็นต้องหามาตรการแก้ไขด้วยการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้านไอซีทีแบบ Lifelong
Learning นอกระบบ โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรไอซีทีของกระทรวงไอซีทีที่ได้กล่าวมาแล้วหลายตอน
เป็นวิธีหนึ่งที่ต้องเร่งทำให้เกิดขึ้น
การสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหรรมไอซีที
ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเฉพาะคนภายในประเทศเท่านั้น ถ้าจำเป็น อาจหาจากต่างประเทศได้
ในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะเมื่อการรวมตัวของอาเซียนเริ่มเป็นผล
การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี ถึงแม้ MRA สายไอซีทีจะยังไม่เป็นที่ตกลงกันในขณะนี้
ก็ยังจะเป็นผลทำให้บุคลากรไอซีทีระดับสูงไหลออกสู่นอกประเทศ
ถ้าเราไม่เตรียมมาตรการบริหารจัดการที่จะนำแรงงานสายไอซีทีระดับสูงมาทดแทน ตามความจำเป็น ไทยจะเผชิญปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
2)
มิติด้านอุปสงค์ภายในประเทศ (Demand
conditions) อุปสงค์ภายในประเทศเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของสินค้าและบริการที่จะไปแข่งขันในประเทศ
ถ้าผู้ประกอบการส่วนใหญ่แข่งขันด้วยระบบซอฟต์แวร์ขนาดเล็กสำหรับกลุ่มลูกค้า SMEs
โอกาสที่จะสร้างความแตกต่างเพื่อการแข่งขันในอาเซียนจะลำบากมาก
มาตรการที่ให้รัฐบาลสนับสนุนจ้างบริษัทไทยสร้างซอฟต์แวร์ให้แก่หน่วยงานของรัฐ
เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
มาตรการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
คือส่งเสริมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์หันมาสนใจซอฟต์แวร์ประเภทบริการลูกค้าผ่านเครือข่าย
และระบบซอฟต์แวร์ที่ทำงานแบบบูรณาการระหว่างกลุ่มธุรกิจในลักษณะเครือข่ายมากขึ้น
รวมทั้งการสนับสนุนผู้ใช้ไอซีทีให้ความสำคัญกับการ Empower บุคลากรขององค์กร และลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการบริการ
(Services) มากขึ้น เป็นกลยุทธ์การสร้าง Demand ชนิดใหม่ เพื่อนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้
3)
มิติด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องภายในประเทศ
(Related
and Support Industries) รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสนับสนุนและข้างเคียงที่ช่วยสร้างภาพพจน์ของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ไทยในสายตาของประชาคมอาเซียน
ซึ่งอาจหมายถึงสร้างอุตสาหกรรมบริการไอซีทีแบบใหม่ เช่น Cloud Computing หรือมาตรการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
และเครือข่ายสังคมในรูปแบบต่าง ๆ
การทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจทุกประเภทอาจถือเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการไอซีทีได้
นอกจากนี้ อาจส่งเสริมให้มีธุรกิจ Business consultant และบริการด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ที่มีคุณภาพ ที่แข่งขันได้ในต่างประเทศ
4)
มิติด้านกลยุทธ์ โครงสร้าง
และสภาพการแข่งขันในประเทศในระดับบริษัท (Firm strategy, structure,
and Rivalry) Porter
ได้ตอกย้ำว่าการแข่งขัน จะทำให้ธุรกิจมีการพัฒนา และสร้างนวัตกรรม
การพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศที่สำคัญ
ดังนั้น ไทยต้องมีมาตรการที่จะผลักดันให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจไอซีที
โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ด้วยการสร้าง Demand ในตลาดภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน
ส่งเสริมให้ธุรกิจไทยไปแข่งขันในต่างประเทศด้วย แต่ทั้งนี้
ต้องมีหน่วยงานที่จะช่วยขจัดอุปสรรค์ที่ธุรกิจไทยจะไปแข่งขันในต่างประเทศ เช่น
เรื่องความรู้ภาษาต่างประเทศ
ความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจของแต่ละประเทศ
รวมทั้งเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยโดยเร็ว
No comments:
Post a Comment