Sunday, October 7, 2012

ภัยกำลังคุกคามอินเทอร์เน็ต จากผู้กำกับเว็บสากล


สืบเนื่องจากมีข่าวว่า ในปลายเดือนธันวาคม ปีนี้ กลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union, ITU) จะมีการพิจารณาบทบัญญัติว่าด้วยสนธิสัญญาการบริหารโทรคมนาคม และมีผู้เสนอให้นำอินเทอร์เน็ต และ IP Networks and Services เข้าไปอยู่ภายใต้ ITR ด้วย ทำให้เกิดปฎิกิริยาในสังคมอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วทั้งโลก เพราะหมายความว่า นอกจากผลที่ยังไม่ชัดเจนอื่น ๆ จำนวนมาก ที่จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ยังอาจจะต้องจ่ายตังทุกครั้งที่กดคลิกด้วย
วันนี้ ดร ธัชพล โปษยานนท์ ส่งลิงก์เรื่อง Net Threat: The Dangers From Global Web Regulation” เขียนโดย Mr. Robert Pepper VP for global technology policy at Cisco Systemsมาให้อ่าน ทำให้เข้าใจประเด็นปัญหามากขึ้น จึงขอแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยให้อ่านเล่น ๆ

ภัยคุมคามครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ต สืบเนื่องจากมีผู้พยายามเสนอให้แก้ไขสนธิสัญญาโทรคมนาคมระหว่างประเทศ  ถ้าข้อเสนอครั้งนี้สัมฤทธิ์ผล จะเกิดความเสียหายต่ออินเทอร์เน็ตอย่างมหาศาล โลกที่กำลังจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นหนึ่งเดียวด้วยอินเทอร์เน็ต จะสลายกลายเป็นเครือข่ายกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่แยกกระจัดกระจาย การใช้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจะถูกผลักเข้าไปอยู่ภายใต้สนธิสัญญาของบริการโทรคมนาคม และการควบคุมของภาครัฐ ที่ล้าสมัย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 ในยุคนั้น โลกเรามีโทรศัพท์ใช้เพียงเฉลี่ย 8 คู่สายต่อทุก ๆ 100 คน หน่วยงานอิสระภายใต้สหประชาชาติ คือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union, ITU) ได้พยาการณ์ในขณะนั้นว่า ภายในต้นศตวรรษหน้า (ศตวรรษที่ 21) มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกจะต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยโทรศัพท์ และจะได้รับประโยชน์จากโทรศัพท์อย่างทั่วถึงกัน
แต่เมื่อ 30 ปีให้หลัง ปรากฏว่า จำนวนคนที่เข้าถึงโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเพียงประมาณหนึ่งเท่าตัว คือ 17 คู่สายต่อทุกๆ 100 คนเท่านั้น
แต่ความสำเร็จที่น่าอัศจรรย์ กลับกลายเป็นพัฒนาการของระบบโทรศัพท์พกพาและอินเทอร์เน็ต เพราะจนถึงปี 1984 ยังไม่มีระบบโทรศัพท์ไร้สายและอินเทอร์เน็ตเลย แต่เพียงช่วงระยะสั้น ๆ ณ วันนี้ ปรากฎว่า ในทุก ๆ 100 คนของประชาการโลก มีโทรศัพท์พกพาจำนวน 86 เลขหมาย มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 33 คน และจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการบรอดแบนด์ (Fixed and mobile broadband subscription) 24 ราย
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ การเติบโตอย่างมโหฬารในด้านการสื่อสาร (ระบบเคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต) เกิดขึ้นโดยไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของไอทียู (ITU) และไม่ได้อยู่ในความสนใจ ของสนธิสัญญาโทรคมนาคมสากล (International Telecommunications Regulations (ITRs) ของปี 1988
การที่พัฒนาการของอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นภายนอกการกำกับของไอทียูนั้น ไม่ใช่ของแปลก  เพราะเป็นเจตนารมณ์ของกลุ่มประเทศที่รับผิดชอบการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในยุคต้น ๆ
ผลที่ตามมา คือทำให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างมากมาย และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากถึงประมาณ 23,000 ล้านคน คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มถึงกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (7+ พันล้านคน) ในอีก 5 ปีข้างหน้า
อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตของคนเรา เปลี่ยนวิธีการทำงาน การเรียน นันทนาการ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เป็นอิสระจากระยะทางและสถานที่ อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้ถูกสร้างขึ้น  ในขณะที่อุตสาหกรรมดั่งเดิมเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยแปลงและการปฎิรูป ภาครัฐเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับการบริการประชาชนที่ดีขึ้น และสนับสนุนให้เกิดมีการทำงานร่วมกัน และมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งโลก
โดยสรุป อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สำคัญของเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21
แต่การเติบโต และนวัตกรรมที่กล่าว กำลังถูกคุกคาม คนบางกลุ่มพยายามที่จะใช้โอกาส จากวาระทบทวนบทบัญญัติการกำกับโทรคมนาคมสากล ปี 1988 (ITRs) ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ปีนี้ ที่ World Conference on International Telecommunications (WCIT) ผลักดันให้นำอินเทอร์เน็ต และการบริการอินเทอร์เน็ตเข้าไปอยู่ภายใต้ไอทียู ที่กำกับการบริการโทรคมนาคม ที่ค่อนข้างจะล้าสมัย บทบัญญัติการกำกับโทรมคมนาคมสากลแต่เดิม เน้นแต่เรื่องบริการเชื่อมโยงโทรศัพท์แบบมีสาย สำหรับอินเทอร์เน็ตนั้น ยังไม่ได้อยู่ภายใต้ ITR จนถึงบัดนี้ ตามความเป็นจริง ได้มีความเห็นชอบในปี 1988 ให้อินเทอร์เน็ตอยู่นอกกำกับของ ITRs เสียด้วยซ้ำ เพื่อให้อินเทอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และรูปแบบธุรกิจ ในลักษณะเชิงพาณิชย์อย่างอิสระ แทนที่จะถูกแซกแซงโดยหน่วยงานกำกับเช่นไอทียู
ข้อเสนอที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ WCIT ในครั้งนี้ มีตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับการควบคุมเส้นทางจราจรของอินเทอร์เน็ต (Routing of Internet Traffic) ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง โดยหารู้ไม่ว่า จะมีผลต่อการสร้างการแบ่งแยกเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แทนที่จะเชื่อมโยงกัน และคุกคามอิสระภาพของการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย   มีการเสนอให้กำหนดความหมายใหม่ ของโทรคมนาคม ว่าให้ครอบคลุมถึง Computing ด้วย ซึ่งก็หมายถึงการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็นนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอให้มีการกำกับการบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม  ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่จะคุกคามอินเทอร์เน็ตโดยรวม แต่ยังจะเป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และระดับโลกด้วย
พวกเราต้องให้ความสำคัญ ที่จะช่วยเฝ้าระวัง เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบต่อภูมิทัศน์ของอินเทอร์เน็ต และการเติบโต ตลอดจนนวัตกรรม และพลวัตของอินเทอร์เน็ต เราต้องสนับสนุนสนธิสัญญาที่มีหลักการระดับสูง อย่างที่ใช้กำกับการบริการโทรคมนาคมแบบเดิม เช่นการแข่งขันโดยเสรี มีกระบวนการกำกับอย่างเปิดเผยและโปร่งใส เป็นผลให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและบริการอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของโทรคมนาคม
ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่า การเติบโตของอินเทอร์เน็ตไม่ได้สร้างปัญหา หรือความท้าทาย หรือโอกาสที่ต้องให้ภาครัฐ และเอกชน ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ แต่การรับมือกับความท้าทาย และการแก้ปัญหา ไม่ควรนำแนวความคิด และกติกาแบบเดิมของไอทียู ที่ได้พัฒนาในยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมทั่วทั้งโลก ยังเป็นธุรกิจในกำกับของรัฐ และถือรากมาจากธุรกิจไปรษณีย์ การนำบทบัญญัติที่ล้าสมัยจากครั้นโบราณ ซึ่งถูกออกแบบสำหรับธุรกิจที่หมดยุคแล้ว มาใช้กับอินเทอร์เน็ต ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนั้น ย่อมจะทำให้การสร้างนวัตกรรมและการลงทุนมีโอกาสหยุดชงักได้
จริงอยู่ อินเทอร์เน็ตได้เริ่มจากสหรัฐอเมริกา แล้วขยายตัวไปสู่ทั่วอเมริกาเหนือ และภาคพื้นยุโรปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้กระจายครอบคลุมไปแล้วทั่วโลก ด้วยอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วเกินกว่าจะจินตนา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม
การเปลี่ยนแนวทางการกำกับดูแล และรูปแบบธุรกิจของอินเทอร์เน็ต ด้วยรูปแบบที่ใช้กับโทรคมนาคมที่ล้าสมัย ย่อมจะเป็นอุปสรรค์ต่อการเติบโต และเป็นเหตุให้ศักยภาพการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องถดถอยลง
และน่าจะความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงมาก

No comments:

Post a Comment