Sunday, September 25, 2011

การร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน รวมถึงพัฒนาบุคลากร ICT ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์นี้ได้กำหนดมาตรการไว้ 7 หัวข้อ ผมจะขอหยิบข้อที่เกี่ยวกับส่งเสริมพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ ๆ ด้าน ICT ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือระบบเศรษฐกิจ เพื่อการระดมสมองก่อน

มาตรการข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะต้องการพัฒนาคนไทยให้มีความรู้ด้านไอซีที ทั้ง ICT Professional และ ICT Users ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือระบบเศรษฐกิจ ก่อนอื่นเราต้องเห็นตรงกันก่อนว่า ความต้องการคนด้านไอซีทีของภาคอุตสาหกรรมหรือระบบเศรษฐกิจคืออะไร ทุกคนปฎิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และรอบด้าน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หลาย ๆ คนมองเห็นว่า ต้องมีการเปลี่ยนแนวคิด หรือ Mindset หรือ Frame of Reference เกี่ยวกับการทำธุรกิจ การศึกษา และการปกครองครั้งใหญ่ แตกต่างจากที่คุ้นเคยกันมาก่อน ถ้ากรอบอ้างอิง (Frame of Reference) ของทุกคนไม่ตรงกัน ก็ยากที่จะเห็นตรงกันในด้านทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านไอซีที

ก่อนอื่น ผมขอยกประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาพูดคุยกันก่อน นักเศรษฐศาสตร์คนดัง ๆ อย่างเช่น Umair Haque ได้ตั้งข้อสังเกตไว้บทความที่ท่านเขียนภายใต้ชื่อ A User's Guide to 21st Century Economics ซึ่งน่าสนใจมาก ผมขอเรียบเรียงเป็นภาษาไทยสำหรับการระดมสมองดังนี้
  1. บทบาทของการตลาดจะเปลี่ยนไป เนื่องจากการบริโภคจะชลอตัวทั่วทั้งโลก ที่ผ่านมา ธุรกิจใช้นโยบายผลักดัน หรืออาจใช้คำว่ายัดเยียดคงไม่ผิด สินค้าและบริการให้ผู้บริโภคเกินความจำเป็น โรงงานต่างผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน แต่สร้างความแตกต่างด้วยการโฆษณา ซึ่งเทคนิคนี้จะไม่บังเกิดผลจากนี้ไป เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ธุรกิจจากนี้ไป จะอยู่รอดด้วยการสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้ลูกค้าเท่านั้น การตลาดจะต้องเปลี่ยนวิธีจากการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นการสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้ผู้บริโภค
  2. บทบาทของช่องทางจำหน่ายจะเปลี่ยนไป เนื่องจากความผันผวนด้านการบริโภค การออม และการลงทุนจะทวีสูงขึ้น ความคิดเดิมของการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายจะไม่บังเกิดผลเหมือนในอดีต ธุรกิจต้องหันมาสร้างเครือข่ายที่สามารถสื่อสารแบบสองทาง แทนการบริหารจัดจำหน่ายตามแบบความคิดของห่วงโซ่คุณค่าเดิม
  3. บทบาทของภาคการผลิตสินค้าจะเปลี่ยนไป สืบเนื่องจากผู้บริโภคทั่วทั้งโลกเริ่มใช้มาตรการประหยัด ในยุคที่ผ่านมา ธุรกิจเน้นการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อให้ได้ประหยัดจากปริมาณ (Economies of Scale) จนเป็นเหตุให้สินค้าล้นตลาด ต่อจากนี้ไป ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์จาก Economies of Scale มาเป็น Economies of Scope ผลิตให้น้อย แต่ตอบโจทย์ และสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคได้ โดยคำนึงถึง Personalization ให้มากขึ้น
  4. ธุรกิจต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เนื่องจากยุคของการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ยุคใหม่นี้ ธุรกิจจะใช้กลยุทธ์สร้างพันธมิตร ร่วมมือกันสร้างคุณค่า ใช้แนวคิดของ Positive Sum แทน Zero Sum 
  5. แนวคิดเกี่ยวกับสร้างนวัตกรรมจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเน้นเรื่องการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ แต่ในยุคใหม่ นวัตกรรมของธุรกิจจะเน้นที่คิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ แนวทางการจัดการ และแนวคิดด้านยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ
Umair Haque ได้กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาถามว่าต้องเริ่มคิดจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไร ในเวลานี้ ธุรกิจควรเริ่มอย่างน้อย 2-3 เรื่องที่กล่าวข้างต้น ธุรกิจที่ยังไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยนให้ตามสมัย จะเผชิญกับปัญหาเป็นอย่างมาก ถ้าจะสรุปจากข้อความข้างต้น ธุรกิจจะต้องเริ่มเตรียมตัวรับมือกับเรื่องต่อไปนี้
  1. สร้างทักษะในการสร้างคุณค่าที่แท้จริง โดยเฉพาะเปลี่ยนแนวคิดจากเน้นขายสินค้า มาเป็นการบริการช่วยสร้างคุณค่า และแก้ปัญหาให้ลูกค้า
  2. สร้างทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งพันธมิตร ลูกค้า และคู่ค้า ธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุคของสังคมเครือข่ายที่ต้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่จำกัด ให้ได้ประโยชน์สูงสุด วิธีเดียวที่จะประสบผลได้ดี คือการร่วมมือกัน และอาศัยทรัพยากรของกันและกัน ร่วมกันสร้างคุณค่า
  3. สร้างธุรกิจบนพื้นฐานของการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนทุกกลุ่ม แทนการแข่งขันแย่งชิงธุรกิจกัน ความยั่งยืนของธุรกิจจะเกิดจากความสามารถช่วยผู้บริโภคและพันธมิตรสร้างคุณค่าให้ตนเอง โดยอาศัยความรู้และทรัพยากรที่มีให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด
  4. มีทักษะด้านการสร้างนวัตกรรมระดับสูง โดยเฉพาะนวัตกรรมการบริการ
ถ้าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจะไปตามทิศทางที่กล่าวข้างต้น การสร้างองค์ความรู้ให้กลุ่ม Knowledge worker เพื่อรองรับแนวคิดการทำธุรกิจในยุคใหม่ ก็จำเป็นต้องอยู่ในทิศทางที่สอดคล้องกัน กรอบนโยบาย ICT 2020 ได้แนะนำมาตรการที่เหมาะสมกับแนวโน้มที่กล่าว โดยเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “….ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และทักษะใหม่ ๆ โดยเฉพาะในสหวิทยาการ (Multidiscipline) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเชิงบริการด้าน ICT เช่น สาขา Service Science, Management, Engineering เป็นต้น…..” มาตรการข้อนี้ น่าจะสนับสนุนธุรกิจในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ องค์ความรู้ใหม่ที่จะต้องเร่งพัฒนาทั้งกลุ่ม ICT Professional และ ICT Users  น่าจะเป็นกลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับ Service Science, Service Management และ Service Engineering

ในตอนต่อไป ผมจะเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง Service Science กับ Social Business

No comments:

Post a Comment