Wednesday, June 22, 2011

ทำไมรัฐบาลคณะใหม่ต้องมีนโยบายไอซีทีทั้งระยะสั้นและยาว

หลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนโยบายไอซีทีกับตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค จัดโดยสมาคมนักข่าว ฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือหลายฉบับได้ตีพิมพ์ประเด็นเกี่ยวกับที่ผมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายไอซีที 2 ชุด คือชุดสั้น และชุดยาว แต่ไม่ได้เสนอเหตุผลว่าที่มาที่ไป ว่าทำไมต้องมีนโยบายสองชุด เลยถือโอกาสเรียนชี้แจงในที่นี้ ท่านที่อยู่ในแวดวงของเทคโนโลยีที่เห็นด้วย จะได้ช่วยกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดผลได้ในที่สุด
ข้อเสนอของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบการประเมิน Global Competitiveness ของ World Economic Forum ซึ่งแบ่งความสามารถการแข่งขันของประเทศออกเป็น 3 ระดับ คือ
  1. Factor-driven economies หมายถึงศักยภาพของประเทศขั้นพื้นฐาน เช่นมีกฎหมาย มีระบบงบประมาณใช้จ่ายของประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มีระบบการศึกษา และการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ฯลฯ
  2. Efficiency-driven economies หมายถึงศักยภาพด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีระบบแรงงานที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีตลาดการเงินที่น่าเชื่อถือ มีสมรรถนะด้านเทคโนโลยี ฯลฯ
  3. Innovation-driven หมายถึงศักยภาพด้านการสร้างนวัตกรรม และมีระบบธุรกิจที่สับซ้อน
ในปี 2010-2011 ประเทศไทยถูกจัดให้มีศักยภาพการแข่งขันระดับ 2 คือระดับ Efficiency-driven ซึ่งหมายความถึงว่า ไทยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สร้างเศรษฐกิจจากแรงงานราคาถูก ส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อใช้แรงงานของตนเอง และอยู่ในระหว่างที่จะพัฒนาเข้าสู่ขั้นที่ 3 แต่ยังไปไม่ถึง ที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งเทคโนโลยีของต่างประเทศในการสร้างเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่ยังไม่สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันประเทศไทยพัฒนาไปสู่ระดับสูง คือระดับ Innovation-driven อย่างประเทศสิงคโปร์ ตามความเห็นของ WEF ประเทศที่อยู่ในระดับ Efficiency-driven นานเกินไป จะเริ่มประสบปัญหาด้านผลิตภาพ (Productivity) เพราะในด้านหนึ่ง จะเริ่มแข่งขันด้านค่าแรงที่มีคุณภาพกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เรายังไม่สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีระดับสูงของตัวเอง โดยลำพังอาศัยเทคโนโลยีของประเทศอื่น เราจะไม่มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันที่เกินกว่าที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องหาทางให้ประเทศไทยก้าวพันออกจากระดับ Efficiency-driven สู่ระดับ Innovation-driven ให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม และสร้างรูปแบบธุรกิจที่มีความสับซ้อนมากขึ้น

การพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวออกจากระดับ Efficiency-driven สู่ Innovation-driven ต้องมีนโนบายไอซีทีระยะยาว ด้วยเหตุผลหลักสองประการคือ
  1. ไอซีทีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาทุกสิ่งอย่าง เป็นเทคโนโลยีที่จะเสริมสร้างพลัง (Empower) ให้แก่ทุก ๆ ส่วนของระบบเศรษฐกิจ การมีนโยบายที่ดี ไม่ใช่เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอซีที แต่เป็นการขับเคลื่อนทุกระบบของประเทศ คือระบบเศรษฐกิจ ภาคสังคม การศึกษา การเมือง และธุรกิจ จึงจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องวางรากฐานระยะปานกลางและระยาว 4-8 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เหมาะกับการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ภายใต้เทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 (อ่านบทความเรื่อง    ”กระแสการเปลี่ยนแปลงสู่การทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21”)
  2. การพัฒนาประเทศให้เข้าสู่สถานภาพเป็น Innovation-driven ต้องใช้เวลา เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ซึ่งทำไม่ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ
ในระหว่างที่ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างเตรียมตัวผลักดันเปลี่ยนสถานภาพของตัวเองนั้น เรายังต้องดำเนินระบบเศรษฐกิจของเราในสภาพปัจจุบัน คือขยายฐานภาคการผลิตให้แข่งขันได้ และทำทุกวิธีทางที่จะเพิ่มผลิตภาพในด้านแรงงานเพื่อแข่งขันได้ ในสภาวการณ์ที่ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วกำลังขยายการ Outsource สู่ประเทศที่สามมากขึ้น ประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันได้จนกว่าเราจะพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ระดับ Innovation-driven ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีนโยบายไอซีทีฉบับสั้น คือ 1-4 ปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคเศรษฐกิจสามารถพัฒนาและดำเนินการอย่างมีผลิตภาพในสภาพปัจจุบันต่อไปได้อย่างมั่นคงอีกระยะหนึ่ง

1 comment:

  1. ขออนุญาติฝากลิ้งนะคร่ะ สำหรับคนรักการเสี่ยง
    เราเป็นผู้ให้บริการแทงบอลออนไลน์ SBOBET, คาสิโนออนไลน์, gclub, holidaypalace, มั่นคง รวดเร็ว และแน่นอน ฝาก-ถอน ตลอด 24 ชั่วโมง ฝากขั้นต่ำ 500 บาท ... https://www.111player.com

    ReplyDelete