Saturday, June 18, 2011

วิเคราะห์ ASEAN ICT Master Plan

แผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 (บทแปลภาษาไทย)

วันนี้ขอพูดเรื่องแผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 สักหน่อย เป็นแผน 5 ปี
แผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 มี 6 ยุทธศาสตร์ ผมจะวิเคราะห์ประเด็นหลัก ๆ ที่น่าสนใจ (ข้อความที่ปรากฎอยู่ในวงเล็บ เป็นข้อสังเกตของผมเอง)
  1. อาเซียนเน้นเรื่องการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ระหว่างประชาคมอาเซียน โดยมาตรการทำให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายไม่แพง ตั้งใจทำให้เกิดเป็น ASEAN Broadband Corridor เพื่อสนับสนุนด้านการค้าข้ามพรมแดน (ถ้าประเทศสมาชิกหลัก ๆ เช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่เวียตนามเอง สามารถให้บริการบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพได้ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้าประเทศไทยยังมัวเล่นละครกันอยู่ต่อไป พวกเราคงพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย) ในส่วนของยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนแม่บท ยังมีเรื่องของ MRA (Mutual Recognition Agreement) หรือคนไทยเรียกว่า ข้อตกลงยอมรับร่วมวิชาชีพ เข้าใจว่า Telsom คงจะผลักดันให้วิชาชีพไอซีทีเป็นสาขาเพิ่มจาก 7 สาขาแรกที่ประกาศไปแล้ว ดังนั้น การเคลื่อนไหวแรงงานด้านไอซีทีอย่างเสรีภายในประชาคมอาเซียก็จะเป็นประเด็นที่พวกเราต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าเราไม่มีการเตรียมตัว และบริหารจัดการไม่ดี เราอาจมีปัญหาด้าน Knowledge worker สายไอที แต่ปัญหาจะตรงกันข้ามกับแรงงานต่างด้าว หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญฝีมือดีของไทยรุ่นใหม่จะเคลื่อนย้ายไปต่างประเทศ และแรงงานแบบ Low skill จะทะลักเข้ามาเมืองไทย เกิดปัญหาสองต่อ คือ Low-end ICT workers จะล้นตลาด ในขนาดที่ High-end ICT workers จะขาดอย่างรุนแรง ทำให้ค่าแรงระดับ High-end จะเพิ่มสูงขึ้น จนเสียเปรียบการแข่งขันได้)
  2. ยุทธศาสตร์ต่อไป คือยุทธศาสตร์ที่ 6 (ผมไม่บรรยายเรียงตามเบอร์ของยุทธศาสตร์ แต่จะเรียบเรียงตามเนื้อหา) เป็นยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Digital Divide คือการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำการเข้าถึงไอซีที ซึ่งแตกต่างกับที่เราเคยรู้มา เมื่อยุค 10-20 ปีก่อน เป็นความพยายามให้ผู้ที่ด้อยโอกาส และประชาชนตามชนบทให้มีโอกาสเข้าถึงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน แล้วต่อมาพยายามให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีดิจิตอลอื่น ๆ แต่งวดนี้ เจตนาต้องการให้ประชาชนอาเซียนส่วนใหญ่ สามารถมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้เข้าร่วมในสังคมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมให้มากที่สุด โดยจะทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องมีราคาถูก ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีราคาถูก เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ในกล่าวมาในข้อแรกได้ รองคิดดู ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ประชาชนอาเซียนกว่า 800 ล้านคน หรือประมาณ 8.8% ของประชาชนทั้งโลก จะเชื่อมต่อกันเป็นตลาดเดียว ผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือประเทศที่ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน การศึกษา การตลาด การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างทักษะและศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขัน รวมทั้งพร้อมด้วยภาษากลางของอาเซียน คือภาษาอังกฤษ)
  3. ยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ คือยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 ซึ่งได้แก่ Economic Transformation คงเข้าใจนะครับ ว่า ถ้ายุทธศาสตร์ข้อที่ 4 และ 6 ที่กล่าวข้างต้นทำได้สำเร็จ การปฎิรูปเศรษฐกิจภายในอาเซียน ต้องมาจากอิทธิพลไอซีทีอย่างแน่นอน (ประเทศใดที่พร้อมเรื่องไอซีที ก็จะได้เปรียบกว่า เราก็รู้อยู่ว่า การปฎิรูปธุรกิจภายใต้อิทธิพลไอซีที ก็คือเรื่องของ Service Economy ผู้ใดมีทักษะในด้านนวัตกรรมบริการ ก็จะได้เปรียบในเชิงแข่งขันในเวทีอาเซียนทุกรูปแบบ ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ข้อ ที่ได้กล่าวมาคงจะเห็นชัดเจนว่า จะเตรียมตัวรองรับการทำธุรกรรมแบบ Social Business ที่เน้นความร่วมมือกันเป็น Service Value Network เป็น eBusiness ของศตวรรษที่ 21 ที่ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีประชาชนเป็น co-creators of value เมื่อเป็นเช่นนี้ Goods-based Value chain ของ Michael Porter จะถูกปรับเปลี่ยนเป็น Service-based Value Chain ข้อต่อไป คือยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่จะกล่าวต่อไป ยืนยันข้อสังเกตนี้ได้)
  4. ยุทธศาสตร์ที่ 2 น่าสนใจครับ เพราะเน้นเรื่องการเสริมสร้างพลังให้ประชาชน (People Empowerment) และมีส่วนร่วมกับประชาชน (People Engagement) (พวกเราก็รู้กันอยู่ว่า เครือข่ายสังคมส่งเสริมให้มีการร่วมมือกัน-Collaboration มีส่วนร่วมกัน-Participation และแลกเปลี่ยนแบ่งปันคุณค่าระหว่างกัน-Share-value ซึ่งทั้งสามข้อนี้เป็นพื้นฐานของแนวคิดของ Service Science ยุทธศาสตร์ข้อที่ 2 นี้ ส่งเสริมให้เกิดมีวัฒนธรรมใหม่ที่จะร่วมกันปฎิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบโดยอาศัยไอซีทีและโครงสร้างบรอนแบนด์ความเร็วสูง สำหรับประเทศไทย เราขะถือโอกาสนี้ ขยายตลาด OTOP ไปทั่วถึงประชาชนทั้ง 800 ล้านคนได้ไหม ด้วยหลักคิดของ Service Science, Service Management และ Service Engineering)
  5. ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Human Capital Development (ขณะนี้ เป็นช่วงจังหวะที่ทั่วทั้งโลกกำลังกำหนด Attributes ของบัณฑิตรุ่นใหม่ของศตวรรษที่ 21 เพราะรู้ว่ากระบวนการเรียนการสอนของยุคศวตรรษที่ 20 ไม่เหมาะกับเยาวชนรุ่นใหม่ จึงพร้อมใจกันให้ความสนใจเรื่องของ NQF (National Quality Framework) การเรียนการสอนที่ต้องปฎิวัติกันใหม่หมด หลายคนเชื่อว่า จะเป็นแนวทางของ Blended Learning ที่ผสมผสานระหว่าง Traditional Face-to-face learning กับ Social Learning กับ Distributed Learning กับอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Web 2.0 และ Web 3.0) หัวใจของยุทธศาสตร์ที่ 3 นี้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดมีเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ทั่วทั้งอาเซียน อาศัยยุทธศาสตร์ข้อ  2,4 และ 6 มีการเสนอมาตรการของการส่งเสริมให้มี Center of Excellence ในสาขาต่าง ๆ และสร้างเป็น CoE network ของอาเซียน มีแผนการตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา High skill ในวงกว้าง (เป็นโอกาสที่ดีสำหรับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ที่จะรีบเร่งวางแผนกลยุทธ์ที่จะเข้ามารับคลืนลูกใหม่ลูกนี้ แต่ต้องปรับแนวคิดและยอมรับแนวคิดของ Pedagogy ที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเยาวชนยุคศตวรรษที่ 21)
  6. ยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และ R&D (ถ้าจะเพิ่มผลิตภาพ-Productivity ของอาเซียนทั้งแผง เพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ การเพิ่งพาอาศัยเทคโนโลยีตะวันตกเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดผล การขายแรงงานเพื่อ Outsource การผลิตก็คงไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้เช่นกัน มีทางเดียวคือต้องทำให้ประชาชนอาเซียนมีความสามารถในด้านนวัตกรรม และวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านกระบวนการบริการ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการปฎิรูปเศรษฐกิจภายใต้ไอซีที)
พอมองเห็นภาพไหมครับ ว่าหลังปี 2015 การรวมตัวของอาเซียนในส่วน AEC (ASEAN Economic Committee) จะน่าสนใจเพียงใด ที่สำคัญ มันเป็นทั้งโอกาส และภาวะคุกคาม เป็นโอกาสสำหรับประเทศที่ได้เตรียมความพร้อม เป็นภาวะคุกคามสำหรับประเทศที่ยังไม่พร้อม ยังมองไม่ออกว่า ประเทศไทยจะอยู่ส่วนพร้อม หรือส่วนไม่พร้อม คงต้องรอดูหลังการเลือกตั้งครับ

2 comments:

  1. จากผลพวงจาก MRA ด้านวิชาชีพ(โดยเฉพาะพวกเที่ต้องใช้ License to Practice)นี้ เกรงว่า ผู้จ้างงานที่อยู่ในเมืองไทย จะไป sourcing แรงงานไอทีจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์มาแทนแรงงานไม่มี license ในบ้านเราจังเลยค่ะ สองประเทศนี้เขาเอาจริง เอาจัง เรื่องนี้มาก

    ReplyDelete
  2. เรื่องนี้น่าสนใจมาก และ subject to debate ในสังคมที่จะกลายเป็น Network มากขึ้นทุกที ผมคิดว่าเราควรหัดทำงานกับคนอื่นมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า แทนที่จะเกรงคนไทยหันไปจ้างงานจากต่างชาติ แต่ควรหันมาหาวิธีที่จะสร้างเครือข่ายที่ให้ต่างชาติมาจ้างแรงงานไทย ในขณะที่คนไทยไปจ้างคนต่างชาติด้วย ในสังคมยุคใหม่ที่เริ่มนำงานไปหาคน แทนการพาคนไปหางานนั้น ความสำคัญอยู่ที่ทักษะของการบริหารจัดการเครือข่าย เรื่อง MRA ของ ASEAN ในระยะแรกยังไม่รวม ICT แต่คงไม่นาน ผมคิดว่า เราคงต้องเตรียมตัวคู่ขนานไป MRA ก็ทำไป ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเครือข่ายให้แรงงานไทยถูก recognized โดยต่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของ Crowdsourcng network คงจะดีนะครับ

    ReplyDelete