Saturday, December 31, 2011

การร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 (ตอนที่ 7)

เรื่องการ    พัฒนาทุนมนุษย์

ใน 6 ตอนแรก ผมได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 ว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 2 พูดถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เจตนาส่งเสริมให้มีกำลังคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการพัฒนาใช้ไอซีทีในปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจฐานบริการ และฐานความคิดสร้างสรรค์ ทั้งบุคลากรไอซีที และในทุกสาขาอาชีพ และให้ความสำคัญกับการกำหนดกรอบเพื่อพัฒนาและประยุกต์ไอซีทีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
จะเห็นได้ว่า กรอบนโยบายไอซีที 2020 ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความพร้อมให้ไทยแข่งขันในเวทีโลกด้วยความสามารถด้านนวัตกรรม ถ้าใช้ศัพท์ของ WEF หรือ World Economic Forum ก็จะหมายถึงการเตรียมพร้อมให้ไทยปรับฐานะการแข่งขันจาก Efficiency Driven สู่ Innovation Driven การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประสิทธิภาพด้านการผลิต อย่างที่ไทยประสบความสำเร็จจนได้เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกนั้น เป็นการเพิ่มผลิตภาพจากแรงงาน และกระบวนการการผลิตสินค้า ซึ่ง WEF ตั้งข้อสังเกตว่า Efficiency Driven strategy จะไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพให้ประเทศได้ตลอดไป เมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนการผลิตจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่กำลังพัฒนาได้อีกต่อไป เห็นได้ชัดว่าไทยกำลังเข้าสู่สภาพอิ่มตัวของยุทธศาสตร์ Efficiency Driven และต้องเตรียมยกระดับเข้าแข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ทักษะการสร้างสรรค์ การออกแบบกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน แต่มีประสิทธิผล รวมทั้งทักษะการใช้ไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์จึงมีความจำเป็น
ยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ภายในกรอบนโยบายไอซีที 2020 ระยะเวลาสิบปีนี้ ต้องทำได้ทั้งในระดับ Economy of scale และ Economy of scope เนื่องจากภายใต้สภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านเช่นทุกวันนี้ ความรู้ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ มีโอกาสเสื่อมคุณค่า หรือล้าสมัยเร็วขึ้น การเรียนเสริม หรือการเรียนเพิ่ม (Retraining) จึงมีความจำเป็นในกลุ่มบุคลากรที่ใช้ความรู้ (Knowledge workers) ไม่เฉพาะกลุ่มวิชาสาขาไอซีที แต่รวมทั้งวิชาสาขาอาชีพอื่น ๆ ด้วย จำนวนคนที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมจึงไม่ใช่จำนวนพันหรือหมื่น แต่เป็นจำนวนล้าน และเป็นการฝึกอบรมที่เป็นความรู้ที่หลากหลาย การส่งเสริมให้คนสนใจพัฒนาตัวเองในวงกว้างเช่นนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการทำให้เกิดการอบรมที่มีคุณภาพ มีค่าใช้จ่ายต่ำ และสามารถเรียนด้วยความสะดวก คือเรียนตามอัธยาศัย ไม่ต้องลางานเรียนเป็นระยะเวลานาน ๆ หนทางเดียวที่จะให้ได้วิธีการเรียนที่มีคุณลักษณะที่กล่าว คือหนทางใช้ไอซีทีเพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่อย่างมีการจัดการที่ดี และให้ครูอาจารย์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหาวิชา และกระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้เกิด Economy of scale และ Economy of scope ได้ รัฐบาลอาจกำหนดเป็นมาตรการสองมาตรการ คือ 1) ส่งเสริมให้พัฒนาเวทีเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และ 2) ส่งเสริมให้ผู้ที่มีความรู้ ร่วมพัฒนากระบวนการเรียนการสอน (Pedagogy) และเนื้อหาเพื่อการเรียนการสอน (Learning contents) ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
  1. ส่งเสริมให้พัฒนาเวทีเพื่อการเรียนการสอนในลักษณะเป็น Ecosystem for Learning ระบบนิเวศ (Ecosystem) ในที่นี้ หมายถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วยระบบอีเลิร์นนิ่งหลาย ๆ รูปแบบ จากหลาย ๆ สถาบัน ทั้งหมดเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนปฎิสัมพันธ์กัน เพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนลักษณะ Collaborative Learning ระบบการเรียนการสอนยุคใหม่ต้องให้ความเป็นอิสระแก่ผู้เรียน ในการเลือกเวลาและสถานที่เรียน โดยทั้งหมดนี้เน้นผลการเรียน และคุณภาพการเรียนเป็นหลัก เครือข่ายคอมพิวเตอร์ยังให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลมหาศาลทั่วโลก ช่วยเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้แตกฉานยิ่งขึ้นได้ ระบบการเรียนการสอนยุคใหม่ต้องเน้นให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองมากขึ้น เรียนกับเพื่อนร่วมเรียนมากขึ้น ผสมเทคโนโลยีกับการเรียนในชั้นเรียน  ให้สามารถรับความช่วยเหลือและแนะนำจากอาจารย์ ในแบบพบหน้ากัน และปฎิสัมพันธ์กันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเรียนยุคใหม่ นอกจากได้ความรู้แล้ว ผู้เรียนยังต้องฝึกปฎิบัติทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร และ Soft skill อื่นที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ การพัฒนาระบบการเรียนการสอนบนโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผสมผสาน นำส่วนดีของ E-Learning และจุดเด่นของการสอนแบบบรรยายในชั้นเรียนอย่างมีบริหารจัดการ (Managed Blended Learning) จะสามารถลดค่าใช้จ่าย แต่ให้ผลการเรียนที่มีคุณภาพได้ และสามารถบริการได้เป็นจำนวนมากด้วย
  2. ส่งเสริมการพัฒนากระบวนการสอนและสร้างเนื้อหาการเรียนสาขาวิชาต่าง ๆ ประเทศไทยมีผู้มีความรู้ในระดับผู้ชำนาญการ และเป็นครูอาจารย์จำนวนมาก ผู้มีวิชาเหล่านี้เป็นทรัพยากรสำคัญที่จะร่วมกันสร้างเนื้อหาวิชาและออกแบบกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ได้ ถ้ามีการส่งเสริมและสร้างสิ่งมีจูงใจได้อย่างถูกวิธี ในยุคที่ไอซีทีได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมากเช่นนี้ การใช้ไอซีทีเพื่อการสร้างกระบวนการเรียนการสอน และเนื้อหาสาระในรูปแบบ E-Learning เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่จะให้ได้คุณภาพ ต้องมีมาตรการจูงใจ และมีเวทีให้ผู้มีวิชาเหล่านี้ นำผลงานไปใช้ได้อย่างกว้างขวางและสะดวก ระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอนที่กล่าวในข้อ 1 จะตอบโจทย์ด้านการเผยแพร่ผลงานและนำผลงานไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ด้านพัฒนาแรงจูงใจนั้น จะเกิดขึ้นได้ถ้ามีผู้เรียนจำนวนมาก ทำให้คุ้มค่าที่ผู้มีวิชาจะลงทุนลงแรงพัฒนาบทเรียนที่มีคุณภาพ ภายใต้ระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอนนี้ ผู้มีวิชาสามารถนำบทเรียนที่สร้างขึ้น มานำเสนอให้ผู้เรียนแข่งขันกันกับผู้มีวิชาอื่น ผู้เรียนมีอิสระที่จะเลือกเรียนจากบทเรียนของอาจารย์คนใด สุดแล้วแต่คุณภาพของบทเรียน ทำให้เกิดการแข่งขัน การแข่งขันส่งเสริมการพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ถ้าตลาดวิชาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีขนาดใหญ่เป็นจำนวนล้าน ๆ คน โอกาสทางตลาดจะผลักดันให้ผู้มีวิชาหันมาสนใจพัฒนาบทเรียนด้วยเงินทุนของตนเอง โดยรัฐไม่ต้องสนับสนุน กลไกการตลาดจะทำให้เกิดบทเรียนและเนื้อหาดี ๆ ขึ้นได้ รัฐบาลมุ่งส่งเสริมเพียงสองเรื่อง คือส่งเสริมให้มีระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอน และส่งเสริมให้เกิดตลาดการเรียนตลอดชีวิตที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เหลือ ปล่อยให้ขับเคลื่อนด้วยกลไกการตลาดของมันเอง
การพัฒนาทุนมนุษย์จำนวนมากตามกรอบนโยบาย ICT2020 ต้องไม่ลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยของศตวรรษที่ 21 เพื่อใช้กับเรียนการสอนตามแนวคิดการถ่ายทอดความรู้แบบเดิมของศตวรรษที่ 20  การพัฒนากระบวนการจัดการการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และเลือกเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้ดีกว่า และคุ้มค่ากว่า เทคโนโลยีมีบทบาทเพียงเป็นแค่ตัวเสริม แต่ตัวเอกที่สำคัญเป็นอาจารย์ผู้สอน ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนกำกับการเรียนการสอนอย่างเอาใจใส่ มาตรการข้อที่  1 การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมจะช่วย Scale ได้ คือให้บริการผู้เรียนจำนวนมาก ๆ ได้ ทำให้เกิด Economy of scale สำหรับมาตรการข้อที่ 2 ถ้ามาวิธีสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีวิชาเข้ามาร่วมพัฒนาสื่อการเรียน กระบวนการเรียนการสอน และเนื้อหาวิชาที่ทันสมัยและมีคุณภาพ จำนวนมาก ทำให้เกิด Economy of scope ได้ เมื่อรัฐบาลสามารถทำให้มาตรการทั้งสองบรรลุผล จึงจะกล่าวได้ว่านโยบายพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการแข่งขันด้วยมาตรการ Innovation Driven ได้ประสบผลสัมฤทธิ์แล้ว

No comments:

Post a Comment