- การพัฒนางานด้านบริการอาศัยการลงทุนด้าน R&D น้อยกว่าภาคการผลิต แต่ภาคบริการจำเป็นต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางมาก และองค์ความรู้ส่วนใหญ่ได้มาจากการเรียนรู้การใช้ระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกจัดให้บริการ
- งานบริการจำเป็นต้องใช้ความรู้สูง การพัฒนาบุคลากรจึงกลายเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กร และพบว่า การขาดบุคลากรที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็น กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาธุรกิจบริการ
- ธุรกิจเกิดใหม่ขนาดเล็กให้ความกระตือรือร้นด้านการพัฒนางานบริการ มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง บริษัทขนาดเล็กมีโอกาสสร้างนวัตกรรมด้านบริการน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่
- การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ทรงสิทธิ์ มีผลทำให้เกิดความตื่นตัว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และสิทธิบัตรของ Business methods แต่ผลกระทบต่อความสามารถในการพัฒนางานบริการยังไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีผลต่อธุรกิจบริการโดยตรง อย่างแน่นอน
รายงานของ OECD ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในรอบสิบปีที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในกลุ่มประเทศ OECD ร้อยละ 70 มาจากกิจการที่เกี่ยวกับบริการ การบริการที่เกี่ยวข้องกับการตลาด (Market Services) มีส่วนแบ่งกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่ารวม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนแนวความคิดการบริการในเชิงการตลาด ที่มีผลทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และการเพิ่มงานในภาคบริการมีผลทำให้ลดการจ้างงานในภาคการผลิต ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มการถ่ายเทแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคธุรกิจบริการ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีความรู้ (Knowledge Workers) OECD เห็นว่าการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการบริการเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพของภาคบริการ และจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมีความเข็มแข้งมากขึ้น ในอดีต ประเทศส่วนใหญ่ได้มองข้ามความสำคัญของนวัตกรรมด้านการบริการ และเน้นไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ จึงเห็นสมควรที่จะชี้แนะให้กลุ่มประเทศ OECD ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านบริการอย่างจริงจังต่อไป
No comments:
Post a Comment