เทคโนโลยีรุ่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเว็บสังคมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเบราเซอร์ หรืออุปกรณ์พกพาที่ทันสมัย บ่งบอกให้เห็นว่า ยังต้องมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอีกมาก กว่าที่ทำให้ผู้บริโภคมีความประทับใจ ไม่ต้องกังวลกับความปลอดภัย และสามารถได้ประโยชน์ที่ควรจะได้จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ นักวิจัยและนักพัฒนาก็ไม่ได้อยู่นิ่ง งานปรับปรุงที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสังคม เป็นไปอย่างคึกคัก ซึ่งหวังว่าอีกไม่นาน จะช่วยให้การใช้เว็บสังคมก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง ประเด็นที่ผู้ใช้อยากได้ พอสรุปเป็นหัวข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- แก้ปัญหาที่ข้อมูลกระจัดกระจายมาก ทุกวันนี้ เรามีปัญหาการปะติดปะต่อข้อความที่ปรากฎบนเว็บสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่ม Blogsphere บ่อยครั้งข้อความ หรือบทความสั้น ๆ เหล่านี้ เขียนต่อเนื่องกันเป็นชุด แต่เว้นห่างกันตามระยะเวลาที่ผู้เขียนจะสะดวกเขียน นอกจากนี้ เรื่องราวบางเรื่อง เขียนโดยผู้เขียนหลายคน ปรากฎอยู่บนเว็บสังคมที่ต่างชุดกัน ทำให้ยากต่อการอ้างอิงข้อความที่เกี่ยวโยงกัน ในทำนองเดียวัน จะเป็นประโยชน์มากถ้าเราเชื่อมโยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจากต่างเว็บสังคมเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกันได้ ขณะนี้มีความพยายามที่จะพัฒนาโปรโตคอล Activity Stream ในลักษณะคล้าย Atom protocol ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวในระดับหนึ่ง แต่ที่ผู้ใช้ต้องการ คือความสามารถที่จะรวมบทความ หรือข้อมูลต่าง ๆ จากเว็บสังคมต่างชุด ต่างระบบ เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางที่จะถูกอ้างอิง และเชื่อมโยงกันได้โดยง่าย โครงการ Wave ของ Google น่าจะมีเป้าหมายเดียวกัน ก็หวังว่าเราคงจะได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ในอีกไม่นาน
- ความสามารถในการแสดงตัวตนในกลุ่มเว็บสังคม การแสดงตัวตน และการดูแลความปลอดภัยข้อมูล ให้ปลอดจากการบุกรุกจากผู้ทีไม่ได้รับสิทธิ ถึงแม้ขณะนี้จะมีเทคโนโลยีหลายตัวที่ช่วยงานด้านนี้ได้ในระดับหนึ่ง เช่น OpnID ใช้สำหรับการแสดงตัวตน และ OAuth ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งได้ก็ตาม แต่ก็ยังห่างไกลจากความต้องการของผู้ใช้ ที่ต้องการความคล่องตัวในการแสดงตัวตนข้ามเว็บไซท์ และรักษาความปลอดภัยของข้อมูล แต่ขณะเดียวกัน ให้ความสะดวกแก่ผู้ได้รับสิทธิ์ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้โดยง่าย และสะดวก
- ต้องการเว็บสังคมที่ใช้กับมือถือได้ ขณะนี้ มีเว็บสังคมมากมายที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่กับมือถือ ยังมีน้อยมาก ที่ปรากฎตัวไม่นานมานี้ มี BrightKite และ FourSquare ทั้งคู่เป็นเว็บสังคมน้องใหม่ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือดัง ๆ เช่น iPhone, BlackBerry, Android และ Palm เว็บทั้งคู่ใช้แนวคิดคล้ายกัน คือส่งข่าวให้เพื่อนฝูงว่า ไปเที่ยวที่ไหน กินที่ไหน ทำอะไรอยู่ไหน สามารถดาวโหลดรูปภาพได้ ชวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการให้ส่วนลดได้ ฯลฯ เรายังต้องการระบบเว็บสังคมบนมือถือ ที่มีคุณสมบัติและความสามารถแบบที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ที่หลากหลายกว่านี้
- เว็บสังคมที่สามารถระบุตำแหน่ง ถึงแม้จะมีความเสี่ยงต่อการระเมิดความเป็นส่วนตัว แต่ความสามารถให้เว็บสังคมทำงานร่วมกับการระบุตำแหน่งได้นั้น จะทำให้เกิดประโยชน์อีกมากแก่ผู้ใช้และธุรกิจ ตัวอย่างที่ใช้งานได้คือ Firefox’s Geolocation ในกรณีนี้ ภายใต้การอนุญาตจากเจ้าของคอมพิวเตอร์ บราวเซอร์ Firefox สามารถบอกตำแหน่งสถานที่ หรือร้านค้าที่ต้องการได้ โดยทำงานผ่านระบบ Google Map ระบบระบุตำแหน่งที่ทำงานอย่างปลอดภัย ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าของตำแหน่ง จะทำให้เว็บสังคมมีบทบาทมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
- ความไม่สะดวกในการเข้าเว็บสังคมหลากหลายแห่ง สมาชิกของชุมชนเว็บสังคมมักจะเป็นสมาชิกหลาย ๆ เว็บไซท์ ต้องเสียเวลา Log-in/Log-out วันละหลาย ๆ หน เราต้องการเทคโนโลยีที่ให้เราอ่านข้อมูลจากหลาย ๆ แห่งจากที่จุดเดียวได้อย่างสะดวก ในลักษณะเดียวกับ Friendfeed ที่ให้เราอ่านข้อมูลจาก Facebook, Twitter, Google, ฯลฯ ได้ Friendfeed เป็นเว็บสังคมอีกประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่รวมข้อมูลจากเว็บไซท์หลายแห่งมาอยู่ที่เดียว เราต้องสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เราน่าจะมีเทคโนโลยีที่ให้ความสะดวกกว่านี้ แต่ให้ผลในลักษณะเดียวกันได้
- ความยุ่งยากในการบริโภคข้อมูล จากข้อมูลที่ล้นหลามมากขึ้นทุกวัน สมาชิกเว็บสังคมเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันในปริมาณมาก เชื่อว่าประชากรโลก หนึ่งในสาม เป็นสมาชิกของเว็บสังคมไม่แห่งใดก็แห่งหนึ่ง หรือหลายแห่ง ข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยประชากรกลุ่มนี้ มีทั้งที่เป็นประโยชน์ และที่ไม่มีคุณค่า แต่ข้อมูลที่ไม่มีคุณค่าวันนี้ อาจมีได้ในวันข้างหน้า ปัญหาเผชิญหน้าขณะนี้คือ เทคนิคการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ และการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน จากข้อมูลปริมาณมากนี้ ยังเป็นความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เราหวังว่า อีกไม่นาน คงมีคนคิดค้นวิธีที่จะแก้ปัญหาที่กล่าวนี้ได้
ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัญหาที่รู้กันในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้ชำนาญการด้านเทคโนโลยีเว็บชุมชน ส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด อยู่ในระหว่างการแก้ไข วิจัย และพัฒนา จากกลุ่มผู้ชำนาญการ จึงหวังได้ว่า เมื่อประเด็นทั้งหลายได้ถูกแก้ไข การใช้เว็บชุมชนจะสะดวก และมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เว็บสังคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมแบบสองทาง ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของมนุษย์ต่อไป
No comments:
Post a Comment