การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจแตกต่างจากยุคก่อนมาก ในยุคก่อน
เราใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยงานประมวลผล ปรับปรุงให้งานภายในองค์กรมีความกระชับ
และสามารถใช้ข้อมูลเพื่อการติดตามเฝ้าระวัง (Monitoring)
ตลอดจนช่วยตัดสินใจจนนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในทางธุรกิจ
แต่ในยุคดิจิทัล ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกันในวงกว้าง
การทำงานลักษณะบูรณาการ (Integration) และปฏิสัมพันธ์ (Interaction)
กันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อร่วมกันสร้างคุณค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่าจึงเป็นเป้าหมายหลัก
การเชื่อมโยงกันนอกจากจะทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานองค์กรเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว
ยังเปิดโอกาสให้ร่วมกันสร้างคุณค่า (Value Creation) กับพันธมิตรและลูกค้าได้ด้วย
การบูรณาการกันทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีคุ้มค่า (Optimize resources) ด้วยการแลกเปลี่ยนและใช้ทรัพยากร ข้อมูล ประสบการณ์ ความชำนาญ
และสินทรัพย์อื่น ๆ ร่วมกัน ธุรกิจลงทุนน้อยลง แต่อาศัยทรัพยากรของพันธมิตรมากขึ้น
เทคโนโลยีดิจิทัลนอกจากจะช่วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ (Improve
Efficiency) ยังช่วยพัฒนาธุรกิจในรูปแบบชุมชน (Community-based
Business) เป็นตลาดการค้ารูปใหม่ที่จะแข่งขันด้วยวิธีใหม่ ข้อมูลที่เกิดจากธุรกิจดิจิทัล
ไม่ว่าจะมาจากการบูรณาระบบงานย่อย ๆ ของระบบจัดการทรัพยากรองค์กร (Enterprise
Resource Planning, ERP) หรือจากการใช้ Internet of Things ที่ใช้ Sensors เชื่อมโยงทรัพยากรกายภาพ
(Physical assets) ทุกชนิดกับอินเทอร์เน็ต เช่นเครื่องจักร อุปกรณ์
สินค้า วัสดุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานด้วย ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมและสะสมอย่างเป็นระบบ
แล้วนำไปวิเคราะห์และสร้างเป็นบริการดิจิทัล (Digital Services) ต่าง ๆ ที่สนับสนุนการทำงานอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่ามากขึ้น (Smart) จนนำไปสู่การออกแบบรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
1.
การปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล
PricewaterhouseCoopers (PwC) เขียนในบทความเรื่อง “Industry 4.0—Opportunities and challenges
of the industrial internet” ว่า
การปฏิรูปธุรกิจในยุคดิจิทัลมักจะครอบคลุมสามเรื่องหลัก ๆ คือ 1) ใช้ดิจิทัลบูรณาการระบบห่วงโซ่คุณค่าทั้งแนวตั้งและแนวราบ (Digitization
and integration of vertical and horizontal value chains 2) ใช้ดิจิทัลเพื่อปรับรูปแบบสินค้าและบริการ
(Digitization of the product and service portfolio) และ 3) สร้างนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจดิจิทัล
(Innovative digital business models) ทั้งหมดนี้อาศัยความสามารถของดิจิทัลที่เชื่อมโยงคนเราเป็นชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้ทำงานในลักษณะร่วมมือกัน
และอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เป็นผลจากการเชื่อมโยงกันนี้สร้างบริการดิจิทัลต่าง ๆ
ทำให้เกิดคุณค่าจากสินค้าและบริการที่ได้ผลิตขึ้น
รูปที่ 1 Framework for Industry 4.0 (Source: PwC)
1.1
ใช้ดิจิทัลบูรณาการระบบห่วงโซ่คุณค่าทั้งแนวตั้งและแนวราบ
การบูรณาการงานในแนวตั้งเป็นแนวคิดที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงงานหลัก
ๆ ภายในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่กระบวนการรับการสั่งซื้อ การวางแผนการผลิต งานสั่งซื้อวัสดุ
งานผลิตสินค้า และงานกระจายสินค้ารวมทั้งบริการหลังการขาย
สำหรับการบูรณาการในแนวราบนั้นเป็นเรื่องนำข้อมูลสินค้าและวัสดุคงคลัง
และข้อมูลด้านวางแผนไปเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ลูกค้า และพันธมิตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้กระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุปสงค์เป็นไปอย่างราบรื่น
ทำให้กระบวนงานหลักของธุรกิจมีประสิทธิภาพจนนำไปสู่การลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ได้
1.2
ใช้ดิจิทัลเพื่อปรับรูปแบบสินค้าและบริการ
ธุรกิจที่พัฒนาด้วยดิจิทัลนั้นต่อยอดสินค้าและบริการที่มีอยู่ให้มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าเดิมด้วยบริการดิจิทัลได้
เช่นใช้ซอฟต์แวร์ฝังตัว (Embedded system) ทำให้ตัวสินค้ามีความฉลาดมากขึ้น หรือใช้ Internet of Things (IoT) เชื่อมโยงสินค้ากับอินเทอร์เน็ตทำให้ตัวสินค้าสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบงานได้
เช่นเชื่อมโยงเครื่องจักรด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Sensors) ผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อรายงานสภาพการทำงานของตัวเองในรายละเอียด เป็นประโยชน์ต่องานซ่อมบำรุงรักษา
เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุการทำงานของเครื่องจักรได้ด้วย หรือการเชื่อมโยงธุรกิจกับผู้บริโภคเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับรสนิยมและความต้องการโดยตรงจากผู้บริโภค
นำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล
(Mass customization and personalization) และช่วยให้สินค้าและบริการเดิมมีความสามารถและมีคุณค่ามากขึ้น
1.3
สร้างนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจดิจิทัล
เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงธุรกิจ พันธมิตรและลูกค้า เกิดการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ผ่านเครือข่ายได้อย่างสะดวก
เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเข้าใจความต้องการระหว่างกัน
จนนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีคุณค่าได้อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ความสามารถลักษณะเช่นนี้ทำให้ธุรกิจเริ่มปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการช่วยให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่ได้ซื้อไปด้วยมาตรการต่าง
ๆ การเน้นการสร้างคุณค่า (Value
Creation) รูปแบบใหม่ ๆ ด้วยดิจิทัลในบางครั้งมีผลถึงขั้นปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเก่าโดยสิ้นเชิง
(Discruptive) การประยุกต์ใช้ดิจิทัลในลักษณะเป็นเครือข่ายเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีลักษณะเป็นธุรกิจชุมชน
(Community-based Business) ประกอบด้วยพันธมิตรจำนวนมาก
ต่างคนต่างนำทรัพยากรที่ตนมีมาร่วมกันสร้างข้อเสนอที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างเช่นบริการรถแท็กซี่แบบใหม่ของ Uber
หรือ Grab เป็นต้น
2.
แนวทางปรับเปลี่ยนธุรกิจ
SMEs
ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME) เป็นกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยที่สุด
แต่จากนี้ไป
ธุรกิจคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ใช้เทคโนโลยีเพราะเอสเอ็มอีเป็นส่วนหนึ่งของ Supply
Chain หรือห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มบริษัทใหญ่
และบริษัทใหญ่ทุกวันนี้ไม่มีใครที่ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน
อีกประการหนึ่ง ธุรกิจจากนี้ไปจะแข่งขันรุนแรงขึ้นจึงจำเป็นที่ธุรกิจต้องมีมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ในสภาวะการแข่งขันเช่นทุกวันนี้
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้ธุรกิจคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เอสเอ็มอีสามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลสนับสนุนการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อการแข่งขันในตลาดดิจิทัลและเป็นส่วนหนึ่งของ
Global Value Chain ด้วยการสร้างความสามารถด้านดิจิทัล (Digital
Capability) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในสามด้าน (3-Dimensions
of Business Transformation) ประกอบด้วย 1) เปลี่ยนแปลงด้านที่เกี่ยวกับกระบวนการ
(Change in processes) 2) เปลี่ยนแปลงด้านที่เกี่ยวกับสินค้า
(Change in products) และ 3) เปลี่ยนแปลงด้านที่เกี่ยวกับคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า
(Change in value and customer experiences)
รูปที่ 2 The
3-Dimensions of Business Transformation
2.1.
การเปลี่ยนแปลงด้านที่เกี่ยวกับกระบวนการ
เป็นเรื่องพัฒนาการด้านกระบวนการทำงาน (Business Processes) ของธุรกิจ แต่เดิมธุรกิจอาจเริ่มใช้ไอซีทีเพื่อ
Automate การทำงานบางส่วน เช่นงานวางแผนการผลิต
งานจัดหาวัสดุ งานกระจายสินค้า และงานด้านการเงินการบัญชี
ธุรกิจยังให้ความสำคัญกับการทำงานภายในและเป็นงานที่เรียกว่า Back Office การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานสามารถพัฒนาได้สองทางคือ
1)
เชื่อมโยงกระบวนงาน
Back Office ให้ทำงานบูรณาการกัน
2)
พัฒนากระบวนการที่เป็นงาน
Front Office ประกอบด้วยกระบวนการบริการลูกค้าและกระบวนการร่วมมือกับพันธมิตร
เป็นการพัฒนากระบวนการที่สามารถทำงานเป็นเครือข่ายกับบุคคลภายนอกเพื่อร่วมกันสร้างคุณค่า
(ดูจากแกน X ในรูปที่ 2)
2.2.
การเปลี่ยนแปลงด้านที่เกี่ยวกับสินค้า
เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำมาใช้ปรับเปลี่ยนสินค้าและสินทรัพย์ด้วยการเสริมงานด้านบริการ
นิยมเรียกว่า “Servitization” ทำได้อย่างน้อย
3 แบบ
1)
นำสินทรัพย์และทรัพย์สินต่าง
ๆ เช่นเครื่องจักร อุปกรณ์ ความรู้ทักษะของบุคลากร ข้อมูล ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ
มาปรับแต่งให้เป็นบริการเพื่อเป็นช่องทางใหม่การหารายได้
2)
เพิ่มบริการด้วย
Digital services
ทำให้สินค้าและบริการที่ค้าขายเดิมมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
เช่นจัดบริการจองคิวร้านอาหารผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องไปยืนรับบัตรคิวที่หน้าร้าน
หรือบริการผู้โดยสารที่จองรถแท็กซี่ผ่านมือถือด้วยข้อมูลแสดงความนิยม (Rating) ในตัวคนขับจากประวัติการให้บริการที่ผ่านมา ก่อนจะตัดสินใจตอบรับบริการเพื่อให้เกิดมั่นใจในความปลอดภัยของตัวผู้โดยสารเอง
3)
เปลี่ยนข้อเสนอ
(Offering) ให้เป็นบริการจากสินค้าที่จำหน่ายอยู่เดิม
เช่นแทนที่จะขายขาดตัวเครื่องจักร บริษัทเปลี่ยนข้อเสนอเป็นการให้เช่าใช้
โดยราคารวมบำรุงรักษาหลังการขาย รวมเครื่องอะไหล่ และบริการอื่น ๆ
ที่จำเป็นเพื่อให้ลูกค้าใช้เครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวคิดของธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนจำหน่ายสินค้าและบริการมาเป็นเสนอให้บริการลักษณะที่กล่าวนี้เป็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจในเชิงตัวสินค้าเพื่อทำให้เกิดคุณค่าได้มากกว่า
เป็นแนวคิดที่เริ่มรับความนิยม ด้วยเหตุที่เป็นการแข่งขันด้วยสมรรถนะสร้างนวัตกรรมบริการแทนที่จะแข่งขันที่ตัวสินค้าเหมือนแต่ก่อน
การแข่งขันด้วยวิธีหลังนี้ทำให้ธุรกิจต้องติดกับดัก Commodity Trap คือการแข่งขันด้วยการตัดราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว
ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป
(ดูจากแกน Y ในรูปที่ 2)
2.3.
การเปลี่ยนแปลงด้านที่เกี่ยวกับคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า
การเปลี่ยนแปลงในมิติที่สาม
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค
เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสื่อสารด้วยสื่อผสมได้
สื่อสารผ่านช่องทางเดียวกันคืออินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น Content ชนิดใดก็ตาม
และที่สำคัญที่สุดสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาเพื่อสื่อสารและรับรู้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดได้
คุณสมบัติเช่นว่านี้ถูกนำมาออกแบบบริการดิจิทัลที่ให้ความสะดวกแก่ผู้รับบริการ
นอกจากนี้ดิจิทัลยังเชื่อมโยงระหว่างคนกับคน คนกับข้อมูล และคนกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกายภาพที่จำเป็นสำหรับประกอบธุรกิจ
จึงถูกนำไปออกแบบกระบวนการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Value co-creation) ระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค
การสร้างคุณค่าร่วมกันเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากมุ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายด้วยวิธีการ
Mass production มาเป็นธุรกิจที่เน้นรับฟังความต้องการของผู้บริโภค
และสนองตอบความต้องการด้วยสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการด้วยวิธีการ Mass
customization วิธีการที่กล่าวเป็นการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลที่นำไปสู่การสร้างคุณค่า
(Value Creation) และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ทำให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ที่ดี (Customer Experience) อันเป็นผลที่เกิดจากการทำธุรกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล
(ดูจากแกน Z ในรูปที่ 2)
ตัวอย่างธุรกิจที่มีลักษณะเช่นกล่าวข้างต้นคือ
Uber ที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลออกแบบบริการแบบปฏิสัมพันธ์และให้บริการผ่านอุปกรณ์พกพาเช่นเครื่องโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
โดยจัดให้มีบริการดิจิทัลหลากหลายอย่างที่ล้วนแต่สร้างคุณค่าให้ลูกค้า
เช่นบริการดิจิทัลที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมในตัวผู้ขับจากความเห็นของผู้โดยสารคนอื่น
ๆ ผู้โดยสารตัดสินใจจะรับบริการจากผู้ขับหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ข้อมูลดังกล่าว
การบริการดิจิทัลเช่นนี้นอกจากจากสร้างคุณค่าให้ผู้โดยสารแล้ว
ยังสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าด้วย
ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถอ่านจากบทความเรื่อง
“พัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อธุรกิจยุคใหม่”
ในบทความตอนหน้าได้ครับ
แล้วตามด้วยตอนต่อไปในเรื่อง Business Transformation ด้วยหัวข้อ “วิธีปรับเปลี่ยนธุรกิจของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม”
อ.มนู ครับผมอยู่อาชีวะ เห็นด้วยกับบทความนี้ปัจจุบันมีทั้งหน่วยงานภาครับและเอกชน(ต่างประเทศ)เสนอแทมเพลทบนคราวน์มาให้ใช้ฟรีและทำวิจัยนำร่องใช้งานกับสถานศึกษามีทั้งแลกเปลี่ยนและใช้งานคอนเทนท์ร่วมกัน เป็นลักษณะรวบรวมข้อมูลและคอนเทนท์ที่มีอยู่ของสถานศึกษาในไทยให้เขาร่วมใช้งานและแบ่งบางส่วนให้เยาวชนผ้เรียนเราใช้งาน....ผมไม่แน่ใจและกังวลว่าในด้านหลักการเป้าหมายที่แท้จริงหรือประโยชน์ที่เราได้รับจะคุ้มค่าไหม...อ.ดร.มนู คิดว่าแทมเพลทต่างๆเหล่านี้มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรบ้างครับ...ขอบคุณครับ
ReplyDelete