ในบทความตอน 1 และ 2 ของเรื่อง “วิธีปรับเปลี่ยนธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมในยุคดิจิทัล”
ได้กล่าวถึงหลักคิดของการปรับเปลี่ยนธุรกิจ และการใช้กรอบการปฏิรูปสองตอนแรก คือ Vertical
Integration และ Horizontal Integration บทความตอนที่
3 จะกล่าวถึงกรอบการปฏิรูปสองตอนสุดท้าย
ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจาก Product-centric เป็น Customer-centric ดังรายละเอียดต่อไปนี้
3.3 ใช้ดิจิทัลเพื่อปรับรูปแบบสินค้าและบริการ
การปรับเปลี่ยนธุรกิจสองส่วนแรกที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงกระบวนการ
เป็นการปรับกระบวนการทำงานจากระบบปิด (Closed
system) เป็นระบบเปิด (Open) ระบบปิดหมายถึงระบบบริหารจัดการที่มีโครงสร้างเป็น
Hierarchy บริหารแบบรวมศูนย์ (Centralization) เป็นระบบทำงานโดยอาศัยทรัพยากรตนเองส่วนใหญ่ และมักจะทำงานในรูป Silo
โดยเฉพาะไม่ทำร่วมกับบุคคลภายนอก ในขณะที่ระบบเปิด เป็นการบริหารงานที่ตรงกันข้าม
เน้นการทำงานเป็นเครือข่าย เป็นการบูรณาการแบบ Horizontal Integration อย่างไรก็ตาม
ธุรกิจยังมีลักษณะเป็น Product-centric หรือที่ Vargo
and Lusch[1] เรียกว่า Goods
Dominant Logic (GDL) ที่เน้น Intrinsic value เป็นหลัก
หลักคิดของ GDL คือผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพด้วยต้นทุนต่ำ
สร้างสมรรถนะการตลาดเพื่อมุ่งขายสินค้าให้มากที่สุดด้วยการทำงานบูรณาการตลอดห่วงโซ่คุณค่า
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในยุคใหม่นี้มีแนวโน้มจะแข่งขันที่ Customer
experience คือแข่งกันว่าใครทำให้ลูกค้าได้คุณค่าและความพึงพอใจจากสินค้ามากกว่ากัน
โดยรายละเอียดเกี่ยวกับหลักคิดที่ทำให้เกิด Customer Experience จะบรรยายในหัวข้อ “Value Creation Principles" ในโอกาสต่อไป
Customer Experience หรือประสบการณ์ที่ดีของลูกค้านั้นเกิดจากหลังการใช้สินค้าและบริการ
เมื่อได้ใช้สินค้าและบริการแล้วจึงจะประเมินได้ว่าสินค้าและบริการนั้นมีคุณค่าหรือไม่ เรียกว่า
Value in-use เมื่อเป็นเช่นนี้ ธุรกิจต้องหันความสนใจมาที่ Extrinsic
Value มากกว่า Intrinsic Value โดยคุณค่าอย่างหลังนี้เป็นคุณค่าที่เกิดจาก
Function/Feature ของตัวสินค้า เป็นคุณค่าลักษณะ “In
itself” ที่มีขอบเขตจำกัด ลอกเลียนกันได้ง่าย
และใช้ต้นทุนสูงในการทำให้มีคุณค่ามาก ๆ แต่
Extrinsic Value เป็นคุณค่าจากบริการ (Services) ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้ตัวสินค้า
เป็นคุณค่าที่สร้างขึ้นอยู่รอบภายนอกตัวสินค้า มากน้อย ดีไม่ดี
ขึ้นอยู่ที่สมรรถนะและกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ เป็นสมรรถนะที่ลอกเลียนแบบยาก
ใช้ต้นทุนต่ำ ผู้ที่ทำได้ดีกว่าจึงได้เปรียบกว่าในเวทีการแข่งขัน
เมื่อปัจจัยสนับสนุนให้เกิดประสบการณ์ที่ดีนั้นเป็นเรื่องการบริการ
(Service) กรอบการปฏิรูปธุรกิจ (Business
Transformation Framework) ในขั้นต่อไปจึงเป็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจมุ่งสู่การสร้างสมรรถนะด้านบริการเพื่อให้เกิดคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค
1)
ปรับสินค้าให้มีบริการเพิ่มขึ้น
(Servitization) (Cube A ในรูปที่ 6)
การบริการหรือสร้างบริการให้ประทับใจ
ผู้ให้บริการและผู้สร้างต้องมีจิตบริการ (Service
Mind) จึงจะทำได้ดี ธุรกิจยุค Product-centric มักจะอ่อนแอในด้านจิตบริการ
การปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปธุรกิจจึงต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยน Mindset หรือแนวความคิดให้เห็นความสำคัญของจิตบริการและพยายามสร้างขึ้นภายในองค์กร
ตัวอย่างเช่น
โรงงานแห่งหนึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปส่งโรงงานอีกแห่งหนึ่งเพื่อประกอบเป็นผลิตภัณฑ์
โรงงานผู้ขายนำชิ้นส่วนไปส่งด้วยรถขนส่งและมีคนงานติดรถไปสองคนเพื่อขนย้ายสินค้าไปยังโกดัง
เจ้าของโรงงานผู้ซื้อเห็นคนงานของผู้ขายพอว่างอยู่
จึงขอร้องให้ช่วยเคลื่อนย้ายกองวัสดุอื่นที่ตนไม่ได้เป็นผู้ขายไปเก็บเป็นที่เป็นทางในโกดัง
กรณีเช่นนี้ ธุรกิจที่มี Mindset เป็น
Product-centric มักจะปฏิเสธ ด้วยความรู้สึกว่าธุระไม่ใช่
เสียแรงคนงานตนเอง เผลอ ๆ
อาจต้องจ่ายตังให้คนงานตนเองเพิ่มขึ้นจากงานที่ไม่ใช่ของตน แต่ธุรกิจที่มีลักษณะ Customer-centric
มีโอกาสจะตอบรับทำงานให้ เพราะถือเป็นการบริการพิเศษให้ลูกค้า
ทำให้ลูกค้าพอใจและมีประสบการณ์ที่ดี มันเป็นเรื่องของ Mindset เป็นเรื่องของจิตอาสาที่จะบริการโดยใช้ทรัพยากรของตนที่มีเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
การปรับเปลี่ยนธุรกิจมุ่งสู่การบริการจึงต้องเริ่มจากการเปลี่ยน Mindset ของนักธุรกิจรวมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
Servitization หรือ Servi-fication เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้หมายถึงรูปแบบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นบริการ
ถึงแม้ว่าฐานของธุรกิจจะผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย แต่ก็ยังสร้างขีดความสามารถด้านบริการเพื่อนำเสนอ
Solutions ร่วมกับสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับคุณค่าและประโยชน์จากตัวสินค้ามากขึ้น
หรือเสนอรูปแบบธุรกิจใหม่ให้ลูกค้าใช้บริการจากสินค้าแทนการซื้อสินค้าเป็นกรรมสิทธิ์
Andy Neely เขียนในบล็อกหัวข้อ “What is
Servitization?”[2]
อธิบายว่า ศัพท์คำนี้หมายถึงการสร้างนวัตกรรมในเชิงกระบวนการเพื่อเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจจากมุ่งเน้นจำหน่ายที่ตัวสินค้ามาเป็นเสนอลูกค้าด้วยระบบที่ประกอบด้วยสินค้าและบริการ
(Product-Service Systems) ที่สามารถสร้างคุณค่าจากการใช้สินค้า
(Value in-use) ธุรกิจยิ่งสามารถสร้างบริการที่เป็นประโยชน์ได้มาก
ก็ยิ่งจะมีศักยภาพในการแข่งขัน
เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า (Customer
Experience) แทนการมุ่งจำหน่ายเพียงสินค้าเพื่อให้ได้กำไร
แกน Y ของรูปที่ 6 Cube A สื่อความหมายตามที่กล่าวข้างต้น
แกน X ในรูปที่ 6 สื่อถึงกลยุทธ์ของธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรและกระบวนการทำงานภายในองค์กรสร้างความสามารถด้านบริการให้ลูกค้า
กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นกลยุทธ์ที่พึ่งพาตนเองครบวงจร และแกน Z ของรูปที่
6 Cube A แสดงว่าเป็นธุรกิจที่ใช้คอมพิวเตอร์และ ICT เพื่อบริการลูกค้า ยังไม่ได้ขยายขีดความสามารถไปในด้านใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
รูปที่ 6 การปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการ
ตัวอย่างของ Servitization ในระดับต้น ๆ ที่กล่าวอาจมีรูปแบบดังนี้
·
นำสินทรัพย์และทรัพย์สินต่าง
ๆ เช่นเครื่องจักร อุปกรณ์ ความรู้ทักษะของบุคลากร ข้อมูล ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ
มาปรับแต่งให้เป็นบริการเพื่อเป็นช่องทางใหม่การหารายได้
·
เปลี่ยนข้อเสนอ
(Offering) ให้เป็นบริการจากสินค้าที่จำหน่ายอยู่เดิม
เช่นแทนที่จะขายขาดตัวเครื่องจักร กลับเปลี่ยนข้อเสนอให้เช่าใช้แทน ราคาเช่าใช้อาจรวมบริการบำรุงรักษา
เครื่องอะไหล่ และบริการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ลูกค้าใช้เครื่องจักรได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
แนวคิดของธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนจำหน่ายสินค้าและบริการมาเป็นเสนอให้บริการลักษณะที่กล่าวนี้เป็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจในเชิงตัวสินค้าเพื่อทำให้เกิดคุณค่าได้มากกว่า
เป็นแนวคิดที่เริ่มรับความนิยม
ด้วยเหตุที่เป็นการแข่งขันด้วยสมรรถนะสร้างนวัตกรรมบริการแทนที่จะแข่งขันที่ตัวสินค้า
การแข่งขันด้วยวิธีหลังนี้ทำให้ธุรกิจต้องติดกับดัก Commodity Trap คือการแข่งขันด้วยการตัดราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว
ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป
2)
ปรับสินค้าให้มีบริการเพิ่มขึ้นพร้อมกับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยสร้างคุณค่า
(Cube B
ในรูปที่ 6) การบริการทำได้หลายรูปแบบ
แต่เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสร้างบริการได้หลากหลาย มีคุณค่า ด้วยต้นทุนต่ำ
เมื่อเทียบกับบริการที่ต้องใช้ทรัพยากรทางกายภาพ แต่ต้องทำงานอย่างบูรณาการ ตัวอย่างเช่น
ธุรกิจที่ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำเช่นกุ้งสด
สามารถเสนอบริการเสริมที่มีคุณค่าด้วยบริการดิจิทัล เช่นบริการสอนลูกค้าในต่างแดนทำต้มยำกุ้งด้วยวิธีนำเสนอสาธิตผ่าน
VDO Clip สั้น ๆ แล้วฝากไว้กับ YouTube เชื่อมโยงตำแหน่งที่เก็บคลิป YouTube ด้วย QR
Code ที่พิมพ์บนซองกุ้งสดทุกซอง การนำเสนอสาธิตทำต้มยำกุ้งลักษณะนี้
เป็นบริการดิจิทัล เมื่อลูกค้าต้องการเรียนรู้วิธีการทำอาหาร
ก็เพียงนำเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรมอ่านรหัส QR ส่องไปยังรหัส
QR ที่พิมพ์บนซองสินค้ากุ้งสด VDO Clip บน YouTube ก็จะถูกส่งมาแสดงบนจอเครื่องโทรศัพท์
เป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีพิมพ์คำอธิบายพร้อมรูปภาพบนคู่มือทำอาหารแจกลูกค้าไปทั่วโลก
ธุรกิจที่มีจิตนาการสูงก็สามารถสร้างนวัตกรรมบริการดิจิทัลลักษณะนี้สร้างคุณค่าจากสินค้าที่ซื้อไปหลากหลายรูปแบบ
เป็นแนวทางสร้างคุณค่าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิผลด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก
3.4 สร้างนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจดิจิทัล
การปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลของธุรกิจส่วนใหญ่จะมุ่งเข้าสู่เป้านี้
นั่นคือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ (New
Business Model) เพื่อสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า (Customer
Experiences) ด้วยการพัฒนาสมรรถนะด้านนวัตกรรมบริการดิจิทัลสนับสนุนการสร้างคุณค่า
(Value Creation) ให้ลูกค้า ซึ่งแตกต่างกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการที่กล่าวในหัวข้อ
3.3 ข้างต้น เพราะการปรับเปลี่ยนระดับนี้ถือเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้เป็นยุทธศาสตร์ดิจิทัล
(Digital Strategy) อย่างแท้จริง
Digital
Strategy เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริการลูกค้าในวงกว้าง (Customer
facing solutions) ที่อาศัยการหล่อหลอม (Convergence) ของเทคโนโลยีเชื่อมโยงในวงกว้าง (Pervasive) การเชื่อมโยงกับลูกค้าและพันธมิตรรวมทั้งเชื่อมโยงกับข้อมูล
อุปกรณ์เครื่องจักร และทรัพยากรอื่น ๆ (Digital
density) ถ้ายิ่งเชื่อมโยงกว้างไกล ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้มีการปฏิสัมพันธ์
(Interaction) ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าและประสบการณ์ (Customer
Experience) ที่ดีให้ลูกค้าได้ ซึ่งต่างกับการใช้ดิจิทัลในรูปแบบอื่นภายใต้กรอบปรับเปลี่ยนธุรกิจ
(Business Transformation
Framework) ที่กล่าวมาแล้วข้างตัน เพราะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบอื่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้นถือเป็นเพียงยุทธศาสตร์ไอซีที
(ICT Strategy) เนื่องจะเป็นมาตรการใช้ดิจิทัลที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันในวงกว้าง
เช่นมีระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่เชื่อมโยงกับระบบอื่น มีระบบสื่อสังคมเพื่อการตลาด
แต่ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ
หรืออาจมีการใช้เทคโนโลยีไร้สายเพื่อความสะดวกในการทำงานหรือบริการ แต่ก็ไม่ทำแบบบูรณาการเพื่อทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเป็นสำคัญ
เพราะทุกระบบยังทำงานด้านหนึ่งด้านใดโดยไม่ได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมุ่งสู่การสร้างคุณค่าให้ลูกค้า
รูปที่ 7 การปรับเปลี่ยนด้วยการสร้างนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจดิจิทัล
1)
จุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจดิจิทัล
แกน Y ของรูปที่ 7 Cube A สื่อความหมายถึงการดำเนินกลยุทธ์ที่มีลักษณะเป็น
Servitization แกน X ในรูปที่ 7
สื่อถึงกลยุทธ์ที่จะร่วมมือกับพันธมิตรให้ได้มาซึ่งทรัพยากรจากพันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง
และแกน Z ของรูปที่ 7 Cube A แสดงว่าธุรกิจยังไม่มียุทธศาสตร์ดิจิทัลที่ลึกซึ้งมากนัก
ยังไม่สามารถสร้าง Digital Services ที่หลากหลาย (Density)
รูปแบบธุรกิจ (Business
Model) ยังไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนมากถึงขั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ในเชิงรูปแบบธุรกิจ
(Business Model Innovation) อย่างไรก็ตาม
ภายใต้กรอบการปรับเปลี่ยนลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่ธุรกิจเริ่มการปฏิรูปรูปแบบธุรกิจใหม่มุ่งสู่การสร้างคุณค่า
(Value Creation) และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าอย่างจริงจัง
2)
การปรับเปลี่ยนที่สร้างนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ
แกน Y ของรูปที่ 7 Cube B สื่อความหมายถึงการดำเนินกลยุทธ์ที่มีลักษณะเป็น
Servitization แกน X ในรูปที่ 7
สื่อถึงกลยุทธ์ที่จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรจากพันธมิตรร่วมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง
และแกน Z ของรูปที่ 7 Cube B แสดงว่าธุรกิจมียุทธศาสตร์ดิจิทัลที่พร้อมปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่มิติใหม่ของการสร้างคุณค่า
(Value Creation) โดยให้ความสำคัญกับ Customer
Experiences ที่แท้จริง รูปแบบธุรกิจเช่นที่กล่าวนี้มีเป้าหมายเน้นการสร้างรายได้จากบริการโดยถือสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกในการร่วมสร้างบริการที่เกิดคุณค่า
ด้วยมาตรการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับลูกค้าและพันธมิตรและทำงานเป็นเครือข่ายอย่างกว้างขวาง
ที่สำคัญมีเวทีการปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกันด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่ทำงานเป็น
Platform[3] เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบเชื่อมโยงกันในวงกว้างกับผู้บริโภค ลูกค้า
พันธมิตร ระบบข้อมูล อุปกรณ์เครื่องจักรและอื่น ๆ ได้ เป็นวิธีขยายวง (Scale)
ความร่วมมือกัน เพื่อหวังผลให้ได้ทรัพยากรและทักษะเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าที่หลากหลาย
(Density) โดยไม่ต้องลงทุนเองถ้าไม่จำเป็น ทั้งหมดนี้จะสนับสนุนยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเป็นหลัก
ซึ่งถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปธุรกิจในยุคดิจิทัล
บทความตอนต่อไปจะนำเสนอกรณีตัวอย่างการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยกรอบการปฏิรูปธุรกิจที่ได้นำเสนอมาข้างต้น
[1]
Vargo, Stephen L., Lusch, Robert F., “Evolving to a New Dominant Logic for
Marketing”, https://www.iei.liu.se/fek/frist/722g60/filarkiv-2011/1.256836/VargoLusch2004a.pdf
[2]
Neely, Andy “What is Servitization?”, http://andyneely.blogspot.com/2013/11/what-is-servitization.html
[3] Platform เป็นระบบซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคนที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง
ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันด้วยวิธีการทางดิจิทัลเพื่อให้เกิดคุณค่าจากการแลกเปลี่ยนบริการระหว่างกัน
No comments:
Post a Comment