1.
การหล่อหลอมรวมกันของ
Digital contents (Digital
Convergence)
ข้อมูลในยุคดิจิทัลเกิดขึ้นมากมายจากการทำธุรกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทุกคนที่ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ข้อมูลปรากฏอยู่ในแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง และอื่น ๆ
การจัดการข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการใช้และการไหลเวียนสื่อสารกันเป็นสิ่งสำคัญ Digital
Convergence เกิดได้สามด้านหรือสามมิติดังนี้
1)
มิติเกี่ยวกับรูปแบบข้อมูล
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเสียง รูปภาพ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว
หรือข้อความ ต่างถูกแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลเหมือนกัน
จึงรวมตัวกันเพื่อนำเสนอในที่เดียวกันได้ เช่น เรารวมเสียงพูด รูปภาพ วีดิทัศน์
และข้อความให้ปรากฏหรือนำเสนออยู่บนเว็บหน้าเดียวกันได้ เรียกว่า Content Convergence
2)
มิติเกี่ยวกับช่องทางขนส่งข้อมูล
ในอดีตข้อมูลที่ปรากฏในรูปแบบต่างกันจะถูกส่งให้ผู้รับปลายทางด้วยช่องทางแตกต่างกัน
เช่นสิ่งพิมพ์ถูกส่งด้วยระบบขนส่งทางกายภาพ เสียงส่งไปตามสาย เช่นสายโทรศัพท์ หรือกระจายด้วยระบบกระจายเสียง
ภาพยนตร์ ภาพวีดิทัศน์ก็มีระบบส่งไปถึงผู้รับด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
แต่ในยุคดิจิทัล ข้อมูลถึงแม้จะต่างรูปแบบ ก็จะสามารถขนส่งไปที่ต่าง ๆ
ได้ด้วยช่องทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตมีสาย หรือไร้สาย เรียกว่า
Channel Convergence
3)
มิติเกี่ยวกับการแสดงข้อมูล
อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้เชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ทำงานด้วยดิจิทัลได้ทุกชนิด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เครื่องแท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
เครื่องเล่นเกมส์ และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ
สามรถรับข้อมูลจากสื่อหลากหลายที่กล่าวในข้อ 1 ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทั่วทุกมุมโลก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ข้อมูลดิจิทัลสามารถนำเสนอบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เกือบทุกชนิด
(Device Convergence)
ทั้งสามมิติของ Digital Convergence ที่กล่าว อำนวยความสะดวกแก่ผู้ทำงานที่ต้องใช้ข้อมูลเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังเสริมสร้างความสามารถในการทำงาน (Capabilities) ในทุก
ๆ ด้านอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
2.
ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเรื่องของการเชื่อมโยง
(Connectivity)
อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างในยุคดิจิทัล ในรอบเกือบสามสิบปีตั้งแต่อินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
ได้เกิดพัฒนาการมาแล้วสามยุคดังนี้
1)
อินเทอร์เน็ตยุคที่
1 เป็นอินเทอร์เน็ตที่ถูกนำไปเชื่อมโยงระหว่างคนกับข้อมูล
เราเริ่มสร้างเว็บไซท์หรือเว็บท่า (Website) เพื่อบันทึกข้อมูลข่าวสารไว้เผยแพร่
เป็นครั้งแรกในประวัติมนุษย์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้จำนวนมหาศาลอย่างสะดวกและรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ต่ำ
ส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียเงิน ในรอบสิบปีแรกของอินเทอร์เน็ต
คนเราจำนวนหนึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้มหาศาล
เปิดโอกาสให้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจอย่างไม่มีข้อจำกัด
กระตุ้นให้คนเราพัฒนาก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง
2)
อินเทอร์เน็ตยุคที่
2 เมื่อคนเราพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Social
technology ที่ทำงานร่วมกับอินเทอร์เน็ตได้
ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ยุคที่ 2 โดยเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงระหว่างคนกับคน
การเชื่อมโยงระหว่างคนกับคนเกิดเป็นชุมชนและสังคมใหญ่น้อยและขยายไปทั่วโลก
โลกเราเริ่มไม่มีพรมแดน การติดต่อระหว่างคนกับคนทำได้ต่างชาติต่างภาษา เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์
เพราะ การเชื่อมโยงระหว่างคนทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างกัน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป
จากเดิมที่เคยเป็นผู้บริโภคที่เล่นแต่บทรับ ถูกชักนำให้บริโภคตามผู้ผลิต มาเป็นผู้บริโภคที่เล่นบทรุก
เป็นผู้ชี้นำให้ผู้ผลิตทำในแนวที่ตนเองต้องการ การเชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ตระยะสองนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3)
อินเทอร์เน็ตยุคที่
3 เมื่อเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ด้านอุปกรณ์เซ็นเซอร์
(Sensor) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาถึงจุดที่ราคาลดลงอย่างมาก
มีขนาดเล็ก และขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ได้ จึงสามารถเพิ่มความสามารถแก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง
ๆ อินเทอร์เน็ตถูกนำมาเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นโลก
(Internet of Things) รวมทั้ง RFID, Beacon, GPS,
etc. อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ยุคที่สามด้วยการเชื่อมโยงนอกจากคนกับข้อมูล
คนกับคน
ยังเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกายภาพเพื่อดูดข้อมูลและพฤติกรรมของสิ่งเหล่านี้ไปประมวลผล
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกายภาพรวมทั้งคนมีความ Smart มากกว่าเก่าอันเนื่องมาได้รับการสนับสนุนจากความสามารถเชิงวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต
ยุคที่ 4 ของอินเทอร์เน็ตกำลังก่อตัวขึ้นด้วยเทคโนโลยีเช่น
Blockchain ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็น Secured
Internet คือเป็นอินเทอร์เน็ตที่มีความปลอดภัยสูงมาก ทำให้ข้อมูลที่เคลื่อนย้ายในระบบอินเทอร์เน็ตไม่ถูกแฮก
(Hack) หรือไม่ถูกผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่สมควร
หรือถูกผู้ไม่หวังดีทำลายข้อมูลจนเกิดความเสียหายได้ อินเทอร์เน็ตยุคก่อน ๆ หรือเว็บ (Web) ถูกใช้เพื่อสื่อสารข้อมูล ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สื่อสารในระดับชุมชน
และอื่น ๆ แต่ Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่สร้างระบบเครือข่ายบนอินเทอร์เน็ตเพื่อเคลื่อนย้ายอะไรก็ได้ที่เป็นคุณค่า
(Value) ระหว่างคนสองคน (Peers-to-Peers) เงินมีคุณค่า แต่คุณค่าไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างที่มีคุณค่า
เช่นข้อมูลรักษาโรคส่วนตัวเป็นคุณค่าของเจ้าของข้อมูล โฉนดที่ดินเป็นเอกสารที่มีคุณค่า
ใบรับรองการศึกษาหรือเทียบวุฒิตามวิทยะฐานะมีคุณค่า ใบเกิดและใบทะเบียนสมรสเป็นเอกสารที่มีคุณค่า
ฯลฯ สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้สามารถทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อาศัย Blockchain
ที่มีความปลอดภัยสูง จึงเรียกว่าเป็น Secured Internet
3.
เทคโนโลยีดิจิทัลที่เสริมความสามารถของคน (Digital Capability)
นอกจากความสามารถของดิจิทัลที่มีผลต่อการทำงานและดำรงชีพของคนตามกล่าวข้างต้น
ดิจิทัลยังเสริมสร้างความสามารถของคนในอีกอย่างน้อย 4 ด้าน บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
Gartner เรียกว่า “The Nexus of Forces” เทคโนโลยีดิจิทัลกลุ่มนี้เป็นจุดประสานพลังพื้นฐานของการพัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัล
(Digital Business) การประสานพลังที่กล่าวนี้เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล
4 กลุ่มได้แก่ Social, Mobile, Cloud, and
Information ปรากฏการณ์ของการรวมพลังนำไปสู่การออกแบบธุรกิจรูปแบบใหม่
(New Business Logic) ของศตวรรษที่ 21
ที่จะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
1)
เทคโนโลยีกลุ่มสังคม
(Social) เทคโนโลยีกลุ่มนี้ทำให้เกิดชุมชน (Community)
ที่เชื่อมโยงกันทำกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ชุมชนเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ไม่มีการกีดกันกัน ใครสนใจร่วมกลุ่มไหนสามารถเข้าร่วมได้
สมาชิกในแต่ละชุมชนมีทรัพยากรของตนเองติดตัวไม่ว่าจะเป็นความรู้ ประสบการณ์
ข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรทั้งที่เป็นกายภาพและไม่มีกายภาพ ทุกคนมีทรัพยากรตามกล่าวไม่มากก็น้อย
ทรัพยากรของสมาชิกแต่ละคนนำมาผสมผสานกันกลายเป็นทรัพยากรใหม่
(Novel resouces) ที่มีคุณค่าสำหรับสมาชิกอื่น ๆ การแบ่งปันกัน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และแลกเปลี่ยนกัน
มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาธุรกิจในยุคใหม่ ดังนั้น
ยุทธศาสตร์ของธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องเปลี่ยนแนวจากเดิมที่พยายามควบคุมทรัพยากร (Control
resources) ของตนเอง เพื่อใช้เอง และใช้ทรัพยากรสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ผู้ที่มีทรัพยากรน้อยกว่าก็จะเสียเปรียบและถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากร
แต่ยุคดิจิทัล ด้วยเหตุผลของการขยายตัวของชุมชนผ่านอินเทอร์เน็ต ธุรกิจควรเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการกำกับ
(Orchestrate resources) การใช้ทรัพยากรของพันธมิตรและสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเป็นเช่นนี้
แนวคิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งกำหนดมาตรการทำงานเพื่อ Optimize
กระบวนงานและทรัพยากรเพื่อให้ตนเองมีความได้เปรียบมากที่สุด
มาเป็นการจัดทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์เพื่อความร่วมมือกับบุคคลภายนอกเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ในบริบทของตนเอง
2)
Mobile คือกลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนที่ได้สะดวก
เช่นอุปกรณ์พกพาที่อาศัยเทคนิคการสื่อสารไร้สาย ทำให้เราพกพาอุปกรณ์ไปได้ทุกที่และทำงานได้ทุกเวลา
ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว คนเราเริ่มมีอิสรภาพ สามารถทำงานและทำกิจกรรมได้โดยไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสถานที่และเวลา
ทำให้ผลิตภาพของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
ธุรกิจต้องรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีทำงานใหม่เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Mobility
นี้
3)
Cloud หรือ
Cloud Computing เป็นแนวคิดของการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีในรูปแบบสาธารณูปโภค
(Utility) ความสามารถเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีเป็นแบบบริการเช่าใช้
โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนเองถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ Nicholus Carr เขียนบทความใน
Harvard Business Review ปี 2003 เรื่อง
“IT Doesn’t Matter” และอีกหนึ่งปีต่อมา เขียนเป็นหนังสือชื่อ
“Does It Matter?: Information Technology and the Corrosion of
Competitive Advantage[1]” Carr บอกว่าในอดีตธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากมักจะลงทุนด้านเทคโนโลยีให้มาก
ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบ
ธุรกิจขนาดเล็กที่มีทุนทรัพย์น้อยจะไม่สามารถลงทุนด้านเทคโนโลยีในระดับเดียวกัน
ทำให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขัน แต่กลยุทธ์นี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีอย่างเช่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีราคาและค่าใช้จ่ายลดลงอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังใช้ได้ง่ายขึ้นมากด้วย ยิ่งในยุคดิจิทัลนี้ Cloud Computing เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนด้านเทคโนโลยีมาเป็นการเช่าใช้ หรือใช้เป็นบริการแทน
ใช้มากจ่ายมาก ใช้น้อยจ่ายน้อย เป็นเหตุให้ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเท่าเทียมธุรกิจขนาดใหญ่ในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสูงตามบริบท
ความสามารถในการลงทุนด้านทรัพย์สินจึงไม่ใช่เป็นปัญหาของการแข่งขันอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ในยุคดิจิทัล
เทคโนโลยีด้านสารสนเทศจึงเป็นของทุกคนและของธุรกิจทุกระดับ และเป็นหนึ่งในจำนวน 4
พลังหลักที่จะช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
4)
Information หรือสารสนเทศ ซึ่งเป็นแรงที่ 4 นี้เป็นผลเกิดจากแรงหรือพลัง
3 อย่างแรกที่กล่าวข้างต้น ได้แก่ Social, Mobile, และ Cloud ข้อมูลที่เกิดจากพลังทั้งสามที่กล่าวมีมหาศาลและต่อเนื่อง
ทำให้เราได้ข้อมูลเกือบทุกเรื่องทั้งในแนวกว้างและแนวลึก
เมื่อรวมกับเทคนิคการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้
ทำให้เกิดความรอบรู้ในเชิงลึก (Insights) ในยุคที่คนเราใช้คอมพิวเตอร์และไอซีทีเพื่อประมวลผลข้อมูลขององค์กร
เช่นในงานบริหารทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning, ERP) ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เกิดจากการทำรายการค้าขององค์กร
เป็นข้อมูลภายในเกือบทั้งสิ้น เมื่อเรานำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ทำให้เรารับรู้ความเป็นมาต่างๆ
ที่เกี่ยวกับองค์กรเท่านั้น (Enterprise Insights) แต่ในโลกที่มีพลวัตรสูงอย่างเช่นทุกวันนี้
ความรอบรู้เกี่ยวกับองค์กรเพียงลำพังนั้นไม่เพียงพอ
เราจำเป็นต้องรอบรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบด้านทั่วทั้งโลก (World Insights)
Information/Analytics จึงเป็นแรงที่ 4 ที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกายภาพมีความฉลาดมากขึ้น
(Smart) จากนี้ไป เราต้องการแข่งขันด้วย Smart
Products/Services เราต้องการแข่งขันด้วย Smart Processes และ Smart Factory เป็นต้น
ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นการชี้ให้เห็นความแตกต่างทั้งบทบาทหน้าที่และความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลเมื่อเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ทุกยุคทุกสมัยคนเราจะพัฒนาความสามารถบนพื้นฐานของเทคโนโลยีของสมัยนั้น ตารางที่ 1 ข้างล่าง
จะสรุปความแตกต่างด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระหว่างไอซีทีกับดิจิทัล
ผลของการเปรียบเทียบจะทำให้เข้าว่าด้วยเหตุใดดิจิทัลจึงถูกมองว่าเป็นแรงหรือ Force
ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
และธุรกิจที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของดิจิทัลจะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจที่อาจส่งผลในด้านลบได้รวดเร็วเกินคาด
การประยุกต์ไอซีที
|
การประยุกต์ดิจิทัล
|
1.
เพื่อการประมวลผลข้อมูล
(Computing and data processing)
2.
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
(Improve efficiency)
3.
สนับสนุนธุรกิจที่มุ่งเน้นจำหน่ายสินค้า
(Product-centricity)
4.
สนับสนุนการผลิตในลักษณะ
Mass production
5.
สนับสนุนรูปแบบการปฏิบัติงานในลักษณะเป็น
Value Chain
|
1.
เพื่อการเชื่อมโยงกับภายนอก
สนับสนุนงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างคุณค่า (Value Creation)
2.
เพื่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจ
(Business Transformation) เน้นการสร้างคุณค่า
3.
สนับสนุนธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างประโยชน์และคุณค่าให้ลูกค้า
(Customer-centricity)
4.
สนับสนุนการผลิตในลักษณะ
Mass Customization
5.
สนับสนุนรูปแบบการปฏิบัติในลักษณะเป็นเครือข่าย
หรือ Value Network
|
ตารางที่ 1 สรุปความแตกต่างด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระหว่างไอซีทีกับดิจิทัล
จากคุณสมบัติและความสามารถของดิจิทัลข้างต้น
กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบธุรกิจ
และเป็นพื้นฐานสำคัญของการกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใด นำไปสู่การออกแบบ
Operating Model ของธุรกิจใหม่ โดยเน้นที่กระบวนการหลัก
(Core Processes) ของธุรกิจ บนแนวคิดของธุรกิจใหม่ (New
Business Logic) ที่เน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) และเน้นการบริการลูกค้าให้ได้รับความประทับใจสูงสุด
[1] Carr, Nicholas, G., “Does It Matter?: Information
Technology and the Corrosion of Competitive Advantage”, Harvard Business Review
Press, 1 edition, 2004.
ชอบไอเดียนี้มาก
ReplyDelete