3. กรอบแนวคิดของการสร้างคุณค่า
(Value
Creation Framework)
ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ให้ความสำคัญกับคุณค่าจากการใช้สินค้าที่ซื้อมา
(Value
In-use) คือสนใจกระบวนการใช้สินค้ามากกว่าที่ตัวสินค้า เป็นเหตุให้ธุรกิจต้องเพิ่มภารกิจมากขึ้น
กล่าวคือ นอกจากที่ต้องผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายแล้ว ยังต้องสนับสนุนให้ลูกค้าสร้างคุณค่าในระหว่างการใช้สินค้าด้วย
ประเด็นท้าทายคือ การสร้างคุณค่านั้นทำกันอย่างไร
มีต้นทุนและค่าจ่ายมากน้อยเพียงใด และช่วยให้ก่อเกิดรายได้หรือไม่อย่างไร ในตอนก่อน
เราได้กล่าวถึงหลักคิดการสร้างคุณค่าให้สินค้าด้วยบริการ (Servitization) ในมุมมองของการเพิ่มคุณค่าให้สินค้าจากบริการในมิติต่าง ๆ บทความตอนนี้จะขยายความเพื่อให้ได้กรอบที่จะใช้สร้างคุณค่าด้วยบริการดิจิทัล
(Enhancing Value for Product Through Digital Services) และแนวคิดการพัฒนาบริการเชิงปฏิสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าในบริบทต่าง
ๆ (Creating Customer Experience Through Interactive Services)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าได้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการขายสินค้าล้วน
ๆ มาเป็นจำหน่ายสินค้าผสมผสานกับบริการมากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคืออุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เริ่มผสมผลิตภัณฑ์รถยนต์กับบริการทั้งที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและที่ไม่ใช้
เช่น บริการจัดหาเงินกู้
บริการจัดหาประกันภัย บริการซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งบริการเช่าใช้รถ
ส่วนบริการที่เน้นการใช้ดิจิทัลนั้น มีตัวอย่างที่เด่น ๆ เช่น บริการสื่อสารระหว่างคนขับกับรถยนต์ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อสั่งให้รถไปหาที่จอดด้วยระบบอัตโนมัติ
บริการวินิจฉัยปัญหาของรถจากทางไกล (Remote Diagnostics) หรือบริการบันเทิงภายในรถไม่ว่าจะเป็นบริการเพลงหรือเล่นวิดิทัศน์
รวมทั้งบริการเตือนภัยในระหว่างขับรถจากสภาวะข้างเคียงรอบด้าน และอื่น ๆ อีกมาก บริการดิจิทัลทั้งหมดทำงานผ่านระบบแพลตฟอร์มที่ใช้รถยนต์เป็นศูนย์กลาง
หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ใช้รถยนต์เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการให้บริการต่าง ๆ
การผสมผสานข้อเสนอใช้ผลิตภัณฑ์ลักษณะเช่นนี้ นิยมเรียกด้วยชื่อต่าง ๆ กันเช่น
ระบบผสมผสานผลิตภัณฑ์กับบริการ (Product-Service System, PSS) หรือระบบผลิตภัณฑ์ (Product System) โดยย่อ หรือ ผสมผสานข้อเสนอ
(Bundled Offering) เป็นต้น
ชื่อเหล่านี้สื่อถึงกลยุทธ์การแข่งขันที่ใช้ความรู้และปัญญาในรูปของบริการ
ซึ่งก็คือ Servitization ที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน ๆ
นั่นเอง ธุรกิจหลาย ๆ
ประเภทกำลังพัฒนาไปสู่การให้บริการผสมผสานในลักษณะเดียวกันที่เน้นการทำให้เกิดคุณค่าให้ลูกค้าเป็นหลัก
พวกเราในฐานะผู้บริโภคมีโอกาสสัมผัสกับ Bundled Offerings มาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย
ไม่ว่าจะเป็นบริการแท็กซี่แบบใหม่ การสั่งอาหารจากที่ต่าง ๆ ให้ส่งถึงที่ที่กำหนด
การสั่งจองโปรแกรมท่องเที่ยวเป็นชุด ต่างใช้แนวคิดของธุรกิจแบบใหม่ที่ผสมผสานสินค้ากับบริการทั้งสิ้น
รูปที่ 2 แสดงคอนเซ็พท์หรือมโนทัศน์ของข้อเสนอ (Offering)
ตามที่กล่าว
รูปที่ 2
แสดงแนวคิดของระบบผลิตภัณฑ์ผสมผสานกับบริการดิจิทัล
รูปที่ 2 แสดงแนวคิดของ
Product-Service System (PSS) ของธุรกิจส่วนใหญ่ในยุคดิจิทัลที่ต้องการแข่งขันด้วยวิธีสร้างคุณค่าให้ลูกค้าในระหว่างการใช้สินค้าและบริการ
(Value in-use) ข้อเสนอจากธุรกิจที่ให้ลูกค้าในรูปแบบใหม่นี้มีองค์ประกอบสามส่วนคือ
ส่วนที่เป็นสินค้าหลัก (Core Product) ส่วนที่เป็นบริการดิจิทัล
(Digital Services) และส่วนต่อประสานกับบริการ (Service
Interface)
3.1.1. ส่วนที่เป็นสินค้าหลัก
พันธกิจของธุรกิจคือผลิตและจำหน่ายสินค้าหลัก
(Core
Product) โดยสินค้าหลักนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่ทำให้ธุรกิจยังคงอยู่ในตลาด
สินค้าหลักเป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นกายภาพ (Physical Product) เช่น รถยนต์ บ้าน เครื่องมือ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีตัวตน
(Intangible Product)
ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ที่เป็นบริการนั่นเอง เช่นบริการทางการเงิน บริการท่องเที่ยว
บริการประกันภัย ฯลฯ
เราได้กล่าวในตอนที่แล้วว่า
ธุรกิจที่เน้นการแข่งขันในตัวสินค้า เป็นการใช้กลยุทธ์แบบ Product-Centric
คือให้ลูกค้าได้คุณค่าเพียงแค่จากตัวสินค้า (Value
in-exchange) กลยุทธ์เช่นที่กล่าวนี้เริ่มทำธุรกิจได้ยากขึ้นและไม่มีความยั่งยืน
เนื่องจากลูกค้าเรียกร้องคุณค่าหรือประโยชน์ไม่เพียงจากตัวสินค้า แต่ต้องการได้คุณค่าและประโยชน์จริงจากการใช้สินค้า
(Value in-use) เมื่อเป็นเช่นนี้ กลยุทธที่แข่งขันในเชิงผลิตภาพจากการผลิตสินค้า
และแข่งขันกันที่ราคา เริ่มจะไม่ได้ผล การตั้งราคาสูงเพื่อให้ได้กำไรมากอันเกิดจากความได้เปรียบจากขนาดและจากแบรนด์
(Brand) ทำได้ยากขึ้น ธุรกิจจำเป็นต้องแข่งขันด้วยบริการเพื่อสร้างคุณค่าจากการใช้สินค้าแทน
โดยธรรมชาติของการให้บริการ ความรู้และภูมิปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญ และลอกเรียนกันยาก
นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีบริการยังต้องอาศัยความสัมพันธ์ (Relationship) ที่ดีกับลูกค้า ต่างกับธุรกิจซื้อขายสินค้า (Transaction) ที่เน้นการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์จากราคาขาย ซึ่งมีความยั่งยืนน้อยกว่ามาก เมื่อเป็นเช่นนี้
ย่อมจะเข้าใจโดยไม่ยากว่า พื้นฐานของการปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัลจึงให้ความสำคัญที่การเพิ่มบริการเพื่อสนับสนุนการใช้สินค้า
หรือ Bundled offering หรือ Product-Service System
(PSS) แนวคิดของธุรกิจใหม่นี้จำเป็นต้องวางแผนให้ครบวงจรตั้งแต่ช่วงออกแบบสินค้า
จนถึงพัฒนาขั้นตอนการบริการตลอดวงจรชีวิตของสินค้า กลยุทธ์ใหม่ของธุรกิจจึงเกี่ยวกับการขาย
Solution มากกว่าขายสินค้าเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้
ธุรกิจจากนี้ไป จะต้องไม่จำกัดเพียงแค่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการหลัก
แต่เป็นธุรกิจที่เสนอตัวเพื่อจำหน่าย Solutions ประกอบด้วยสินค้าและบริการต่าง
ๆ ตามที่นำเสนอในรูปที่ 2 ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาของลูกค้าได้จริง
3.1.2. ส่วนบริการดิจิทัล
(Digital
Services)
หลักคิดของการช่วยลูกค้าสร้างคุณค่าจากการใช้สินค้าที่ซื้อไปนั้น
คือสร้างนวัตกรรมบริการต่าง ๆ สนับสนุนการใช้สินค้าตลอดวงจรชีวิต (Life
Cycle) ของสินค้า ตัวอย่าง เช่นบริการที่ทำให้ผู้โดยสารรถยนต์ฟังเพลงจากอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เครื่องเสียงของรถยนต์ได้
ในกรณีนี้ สินค้าหลักคือรถยนต์ และการบริการฟังเพลงจากอินเทอร์เน็ตเป็นบริการดิจิทัลที่สร้างขึ้นเพื่อทำให้เพี่มคุณค่าแก่ลูกค้าในขณะที่ใช้รถยนต์
นักธุรกิจทุกวันนี้ต้องพัฒนาความสามารถในการสร้างบริการดิจิทัลที่จะสนับสนุนการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าที่หลากหลายโดยมีต้นทุนต่ำและใช้ได้สะดวก
บริการดิจิทัลมีคุณสมบัติที่กล่าวในทุก ๆ ด้าน
บริการที่สร้างเสริมขึ้นให้กับตัวสินค้าหลักนี้มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าหลักทั้งสินค้ากายภาพและสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์บริการ
เช่นถ้าเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ การบริการจะเกี่ยวข้องกับการแนะนำวิธีการใช้
การบริการซ่อมบำรุงรักษา การบริการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่
ถ้าสินค้าหลักเป็นการบริการอาหาร ก็อาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจองโต๊ะล่วงหน้า
บริการแนะนำเมนูอาหาร หรือการบริการส่งอาหารถึงที่ ถ้าสินค้าหลักเป็นที่อยู่อาศัย
บริการเสริมก็อาจมีตั้งแต่การบริการเงินกู้ซื้อบ้าน บริการออกแบบภายใน
และแนะนำการติดตั้งเครื่องตกแต่งบ้านและเลือกแบบเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งการบริการซ่อมแซมบ้านเล็ก
ๆ น้อย ๆ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น บริการทั้งหมดมุ่งเป้าไปที่สนับสนุนการใช้สินค้าและบริการเพื่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ตามบริบทของผู้ใช้
(Value
in-use)
บริการดิจิทัล (Digital Service) คืออะไร คำตอบที่ใช้กันมาก คือบริการที่ทำผ่านอินเทอร์เน็ต
หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และมีกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ คือทำกิจกรรมที่ใช้แรงคนน้อยนั่นเอง
บริการดิจิทัลจึงหมายถึงกระบวนการทำงานที่เป็นดิจิทัล (Digital Processes) ใช้ข้อมูลที่เป็นดิจิทัล (Digital Information) เรียกรวมกันว่าทรัพยากรดิจิทัล
(Digital Resources) เพื่อก่อเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ธุรกิจในยุคดิจิทัลอาศัยหลักคิดนี้ไปพัฒนาทักษะเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้านบริการดิจิทัล
นำมาเสริมให้สินค้าหลักที่จำหน่ายอยู่นี้เกิดคุณค่าที่ลูกค้าต้องการได้จริง
ความสามารถของบริการที่ถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาและความรู้จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการแข่งขัน
บทความเรื่อง “นวัตกรรมบริการดิจิทัล (Digital Service Innovation[2]” จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมที่อาจเป็นประโยชน์
เพื่อให้เข้าใจความหมายของบริการดิจิทัล
ขอยกตัวอย่างเพิ่มขึ้นดังนี้
1)
เครื่องโทรศัพท์พกพาเป็นสินค้าหลัก ผู้ผลิตจัดหาซอฟต์แวร์ให้บริการ
Personal
Hotspot เพื่อให้ลูกค้าใช้เครื่องโทรศัพท์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้
บริการ Personal Hotspot ถือได้ว่าเป็นบริการดิจิทัล
2)
เครื่องเตาอบเป็นสินค้าหลัก
ผู้จำหน่ายจัดบริการผ่านโมบายเพื่อให้ลูกค้าติดต่อขอคำแนะนำใช้อุปกรณ์
หรือขอรับบริการซ่อมแซมแก้ไขในกรณีที่อุปกรณ์มีปัญหาได้อย่างสะดวก
บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยคนเป็นบริการ
แต่โปรแกรมซอฟต์แวร์ที่อำนวยความสะดวกในการติดต่อขอบริการต่าง ๆ เป็นบริการดิจิทัล
3)
รถยนต์เป็นสินค้าหลัก
ผู้จำหน่ายจัดบริการผ่านโมบายเพื่อให้ลูกค้าใช้สิทธิ์ในการขอบริการเช่าใช้รถคันอื่นในขณะที่รถของตนอยู่ในระหว่างซ่อมบำรุง
โปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ให้ผู้ใช้ติดต่อขอบริการเช่ารถเป็นบริการดิจิทัล
ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
จัดรวมสินค้าและบริการหลักและบริการดิจิทัลให้เป็น Product-Service System
ผสมผสานการบริการรูปแบบต่าง ๆ เข้ากับตัวสินค้า จำนวนบริการจะมากหรือน้อยนั้น
ขึ้นอยู่ที่เจตนาและความสามารถของผู้ให้บริการที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คุณภาพและความสามารถของบริการที่นำเสนอนั้นมีผลทำให้เกิดประสบการณ์ตามบริบท
ถ้าสินค้าหลักมีลักษณะเป็นสินค้าประเภทใกล้โภคภัณฑ์ ตัวสินค้าหลักจะไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงแข่งขัน
ความแตกต่างที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อ จึงต้องขึ้นอยู่ที่ความสามารถของบริการที่กลายเป็นเครื่องมือการแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญในยุคดิจิทัล
3.1.3. ส่วนต่อประสานกับบริการ
(Service
Interface)
จากที่ได้บรรยายในตอนที่แล้วว่า ประสบการณ์เป็นเรื่องที่ลูกค้าทำการปฏิสัมพันธ์
(Interaction)
กับธุรกิจ เพื่อทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด
แล้วประเมินความพึงพอใจในผลที่ได้รับ ซึ่งอาจจะบวกหรือลบขึ้นอยู่ที่ความพึงพอใจในมุมมองของลูกค้าจากการได้ปฏิสัมพันธ์แต่ละครั้ง
ดังนั้นการออกแบบระบบบริการดิจิทัลเพื่อให้เกิดความประทับใจในการใช้บริการจึงอยู่ที่รูปแบบและวิธีการปฏิสัมพันธ์ผ่านส่วนที่เรียกว่าส่วนประสานกับบริการ
(Service Interface) หรือนิยมเรียกว่าส่วนประสานกับผู้ใช้ (User
Interface) ซึ่งเป็นส่วนที่ 3 ที่แสดงในรูปที่
2 และแสดงเป็นตัวอย่างตามรูปที่ 3
รูปที่ 3 Service Interface (User Interface) ของบริการจองแท็กซี่สมัยใหม่
รูปที่
3
แสดง Service Interface บางฉากของระบบบริการโมบายเช่ารถแท็กซี่สมัยใหม่เป็นตัวอย่าง
ผู้ใช้บริการจะทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อขอใช้บริการผ่านส่วนประสานบริการนี้จากหน้าจอของอุปกรณ์เช่นเครื่องโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องแท็บเล็ต
การออกแบบส่วนประสานบริการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญ ถ้าหน้าจอถูกออกแบบให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องกดปุ่มกลับไปกลับมาหลาย
ๆ ครั้ง การปฏิสัมพันธ์มีความฉลาดในตัว
เช่นสามารถทำ Autocomplete เพื่อช่วยผู้ใช้ไม่ต้องบันทึกข้อมูลโดยไม่จำเป็น
กล่าวคือ ทุกครั้งที่ผู้ใช้บันทึกข้อมูล เมื่อกดตัวอักษรเริ่มต้นสองสามตัวแรก
ระบบก็จะเข้าใจและเติมเต็มคำให้โดยอัตโนมัติได้ หรือระบบจะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ช่วยคาดเดาขั้นตอนที่ผู้ใช้จะต้องทำต่อไป
แล้วกำหนดแนวทางการทำงานแทนโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยผู้ใช้ประหยัดการต้องทำงานซ้ำ ๆ ทำให้ขั้นตอนการใช้บริการกระชับและไม่สับสน
การออกแบบวิธีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับระบบบริการของธุรกิจในลักษณะที่ทำงานอย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพ
รวดเร็ว เรียบง่าย และสมบูรณ์ด้วยขั้นตอนที่เป็นอัตโนมัติ จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีและเพิ่มคุณค่าให้ลูกค้าได้
จึงกล่าวได้ว่า
ในระบบข้อเสนอ (Offering) ที่ธุรกิจจัดจำหน่ายให้ลูกค้านั้น
ส่วนที่เป็น Core Product and Services เป็นส่วนตอบโจทย์ความต้องการในด้าน
Functions/Features ส่วนที่เป็น Digital Services เป็นส่วนที่ทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มขึ้น และส่วนที่เป็น Service
Interfaces ช่วยทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดี เมื่อรวมกันแล้ว การทำธุรกิจด้วยวิธีการจัดข้อเสนอประกอบด้วยสินค้าหลักและบริการเสริมอื่น
ๆ เพื่อช่วยลูกค้าได้คุณค่าและประสบการณ์ที่ดีจากการใช้สินค้า เป็นแนวทางทำธุรกิจยุคใหม่ที่ยึดถือการสร้างคุณค่าของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางของธุรกิจใหม่ (New Business Logic) ที่เหมาะสม
สามารถช่วยพัฒนาธุรกิจให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืนต่อไป
บทความตอนหน้าที่นำเสนอส่วนที่เหลือของหัวข้อที่
3
เรื่องกรอบแนวคิดของการสร้างคุณค่า
[1] มนู อรดีดลเชษฐ์, “How to ของนวัตกรรมการบริการ Domain ที่ 1 ตอน 2”, http://ictandservices.blogspot.com/2010/11/how-to-domain-1-2.html, November, 23, 2010.
[2]
มนู อรดีดลเชษฐ์, “นวัตกรรมบริการดิจิทัล
(Digital Service Innovation)”, http://ictandservices.blogspot.com/2017/07/digital-service-innovation.html,
July 7, 2017.
No comments:
Post a Comment