3. กรอบแนวคิดการสร้างคุณค่า
(Value
Creation Framework)
(ต่อจากบทความตอนที่แล้ว)
3.2 กิจกรรม
บริการ และกระบวนการสร้างคุณค่า
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า
หลักคิดของธุรกิจที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric) ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เกิดจากการใช้สินค้า (Value in-use) มากกว่าคุณค่าที่เกิดจากการขายสินค้า (Value in-exchange) และการใช้สินค้าจะได้คุณค่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ
และคุณภาพหรือความสามารถของบริการที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้สินค้า
กิจกรรม (Activity) คือสิ่งที่คนเรากระทำ
หรือได้กระทำไป คุณค่า (Value) เกิดจากกิจกรรมที่ทำเป็นขั้นตอน
โดยกิจกรรมนี้ถูกกำหนดขึ้นด้วยตนเอง หรือจากผู้อื่น ถ้ากำหนดขึ้นจากผู้อื่น
อาจเรียกเป็น “บริการ” เพื่อความกระจ่าง
ขอยกตัวอย่างการบริการโดยสารด้วยรถไฟฟ้า กิจกรรมที่ผู้ให้บริการออกแบบให้ผู้โดยสารปฏิบัติ
ประกอบด้วย บริการให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วตามจุดกำหนด
แตะตั๋วบนเครื่องอ่านที่ประตูผ่าน เดินไปรอรถที่สถานี ขึ้นรถขบวนที่จัดให้ ฯลฯ สำหรับกิจกรรมที่ลูกค้ากำหนดขึ้นเอง
ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายเดินทาง เดินทางไปสถานีรถไฟฟ้าเพื่อขึ้นรถ กิจกรรมทั้งหมดรวมกันคือกระบวนการสร้างคุณค่า
(Value Creation Process) ที่ลูกค้าต้องเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าของลูกค้าเองได้
โดยธุรกิจที่จะออกแบบกิจกรรมหรือบริการเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าในลักษณะที่กล่าวจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า
โดยอาศัยหลักการที่จะเสนอดังนี้
3.2.1
กิจกรรมในส่วนที่ลูกค้าต้องทำขึ้นเอง
ภายในกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า (Value
Creation Processes) มีกิจกรรมสองชนิด
ได้แก่กิจกรรมส่วนที่ลูกค้ากำหนดขึ้นเอง
และกิจกรรมที่ผู้ให้บริการจัดทำขึ้นให้บริการ กลุ่มกิจกรรมที่ลูกค้ากำหนดขึ้นเอง
เริ่มตั้งแต่กิจกรรมที่ทำเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการ และกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้สินค้าเพื่อให้ได้คุณค่า
การดำเนินกิจกรรมจากต้นจนจบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนี้ มองได้ว่าเป็นเส้นทางการเดินทางของลูกค้า
(Customer Journey) แยกกิจกรรมได้เป็นสามกลุ่ม
คือกิจกรรมก่อนซื้อสินค้า (Before Purchase)
กิจกรรมระหว่างซื้อ (During Purchase) และกิจกรรมหลังซื้อ
(After Purchase) โดยกิจกรรมหลังซื้อเป็นกิจกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดคุณค่าจากการใช้สินค้า (Value In-Use) รูปที่ 4 แสดงกรอบของกระบวนการสร้างคุณค่า
(Value Creation Framework) ที่ใช้ลำดับกิจกรรมและบริการต่าง ๆ
ของลูกค้าตามที่กล่าว
ช่องทางบริการ
|
กิจกรรมก่อนซื้อ
|
กิจกรรมระหว่างซื้อ
|
กิจกรรมหลังซื้อ
|
เป็นช่องทาง (Channel) ที่ลูกค้าเลือกทำกิจกรรม
และมักจะเป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการจัดทำขึ้น มีลักษณะเป็น Multi-Channel
หรือ Omi-channel[1]
|
พิจารณาการเลือกสินค้า ค้นหาข้อมูลเพื่อประกอบการขออนุมัติ และเพื่อเลือกผู้จำหน่าย
ติดต่อให้เสนอราคา ออกใบสั่งซื้อ หาแหล่งเงินที่ใช้ในการซื้อ ฯลฯ
|
จัดการสั่งซื้อ เจรจาเงื่อนไข ทำสัญญาซื้อ
รอการส่งสินค้า ชำระเงิน จัดการรับสินค้า ฯลฯ
|
ติดตั้งสินค้า
ปรับปรุงดัดแปลงสินค้าเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน บำรุงรักษา และซ่อมแซม
จัดการเรื่องอะไหล่ จัดการเรื่องวัสดุสิ้นเปลือง ฝึกอบรมพนักงานเพื่อใช้สินค้า
การใช้สินค้า ปรับปรุงสินค้าให้ทันสมัย จัดการเรื่องของเสียจากการใช้
จัดการกำจัดสินค้าเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน
|
Customer’s Customer
|
กิจกรรมที่ลูกค้าทำให้ลูกค้าของตัวเอง
ทั้งก่อนซื้อ ระหว่างซื้อ และหลังซื้อ
|
รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างของกิจกรรมหรือกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า
จากตารางที่แสดงในรูปที่
4
ช่องที่หนึ่ง
ระบุชนิดของช่องทางที่ลูกค้าใช้ปฏิบัติงาน
หรือช่องทางที่ผู้ประกอบการจัดไว้ให้บริการ ช่องที่สอง
ระบุกิจกรรมที่ลูกค้าต้องกระทำก่อนการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ช่องที่สาม
ระบุกิจกรรมที่ลูกค้าต้องทำเพื่อสั่งซื้อหรือจัดซื้อสินค้าที่ต้องการ
และช่องที่สี่ ระบุกิจกรรมที่ลูกค้าต้องทำในระหว่างการใช้สินค้า
เป็นกิจกรรมที่ต้องทำตลอดช่วงชีวิตของสินค้า สำหรับบรรทัดสุดท้ายในรูปที่ 4
“Customer’s
Customer” ระบุกิจกรรมที่ลูกค้าทำเพื่อบริการลูกค้าของลูกค้าเอง
กิจกรรมภายในกระบวนการสร้างคุณค่าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดสินค้าและบริการที่ซื้อ
และต่างกันระหว่างลูกค้า โดยความแตกต่างนั้น ขึ้นอยู่ที่ความสามารถ สมรรถนะ
และความต้องการของลูกค้าแต่ละคน ผู้ให้บริการมีหน้าที่เสนอบริการเสริมในบางช่วงของ
Customer
Journey เพื่อให้กระบวนการสร้างคุณค่านี้บังเกิดคุณค่าได้ดียิ่ง ๆ
ขึ้น การจะทำเช่นนี้ได้ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจกิจกรรมภายใน Customer
Journey อีกทั้งวิเคราะห์หาประเด็นปัญหา (Pain Points) ที่ลูกค้าอาจจะประสบในการทำกิจกรรมแต่ละขั้นตอน และศึกษาความต้องการของลูกค้า
(Needs หรือ Gains) อย่างลึกซึ้ง ประเด็นปัญหาและความต้องการจะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอ
(Value Proposition) ในเชิงบริการให้ลูกค้า
เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าได้เต็มที่ตามที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป
3.2.2
ข้อเสนอที่ธุรกิจจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า
ภายใต้หลักคิดของ Customer-Centric
นั้น นอกจากที่ธุรกิจต้องออกแบบและพัฒนาสินค้าเพื่อจำหน่ายแล้ว
ยังต้องเพิ่มพันธกิจเกี่ยวกับการออกแบบกิจกรรมและบริการ เพื่อเสนอให้ลูกค้านำไปสร้างคุณค่าด้วย
การออกแบบกิจกรรมและบริการดังกล่าวต้องให้สอดคล้องกับ Customer Journey หรือกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้าตามที่แสดงในรูปที่ 4 ข้อเสนอทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการในการได้มาซึ่งสินค้า
และการใช้สินค้าตลอดวงจรชีวิตของสินค้า ธุรกิจจะต้องศึกษากลุ่มกิจกรรมที่อาจสร้างปัญหา
หรือก่อเกิดความไม่สะดวก หรือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างคุณค่าของลูกค้า เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขด้วยการสร้างนวัตกรรมบริการ
ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมบริการเพื่อสนับสนุนลูกค้าตลอดช่วงอายุการใช้สินค้าที่ได้มานั้น
กลายเป็นมาตรการสำคัญเพื่อให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันสำหรับธุรกิจยุคดิจิทัล
จึงสรุปได้ว่า กระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า
(Customer’s
Value Creation Process) นั้นประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมที่ลูกค้ากำหนดขึ้นเอง
และกลุ่มกิจกรรม/บริการที่ธุรกิจพัฒนาขึ้นเป็นข้อเสนอ (Offering)
เพื่อช่วยให้กระบวนสร้างคุณค่าของลูกค้ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
โดยกิจกรรมทั้งหมดจะเน้นที่ให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ
และให้ลูกค้าใช้สินค้าและบริการอย่างมีคุณค่าที่ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาของลูกค้าได้
การปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัลจึงเป็นการเปลี่ยนหลักการธุรกิจพื้นฐาน (Business
Logic) จากการผลิตและจำหน่ายสินค้า เป็นการเสนอบริการเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าดำเนินการใช้สินค้าและบริการที่ได้ซื้อไปอย่างมีคุณค่านั่นเอง
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า แนวคิดของธุรกิจใหม่
เป็นเรื่องสร้างข้อเสนอประกอบด้วยสินค้าบวกบริการ แล้วกำหนดกิจกรรมช่วยขับเคลื่อนให้ลูกค้านำข้อเสนอนี้ไปใช้ประโยชน์และทำให้เกิดคุณค่าสูงสุด
โดยกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นวัตกรรมบริการ (Service Innovation) ที่ธุรกิจออกแบบและพัฒนาขึ้น
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแข่งขันธุรกิจในยุคใหม่นี้ ความสามารถและสมรรถนะในการออกแบบกิจกรรมและบริการจึงมีความสำคัญไม่แพ้การออกแบบสินค้า
ธุรกิจสามารถใช้กรอบการเพิ่มคุณค่าด้วยบริการ (Servitization Framework) ที่จะนำเสนอต่อไป เป็นเครื่องมือสร้างนวัตกรรมบริการรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้าได้
รูปที่ 5 แสดงภาพรวมของ
Servitization Framework
รูปที่ 5 แสดงองค์ประกอบสี่ส่วนที่รวมกันเป็นกรอบการสร้างนวัตกรรมบริการเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้า
องค์ประกอบทั้งสี่ ครอบคลุมตั้งแต่หลักคิดการสร้างบริการที่เสริมกิจกรรมเพื่อให้สินค้ามีคุณค่ามากขึ้น
(Complementary Services) และกลุ่มบริการที่ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มพูนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าตลอดช่วงชีวิตการใช้งานจากตัวสินค้าและบริการที่ได้ซื้อไป
มีลักษณะคล้ายระบบซอฟต์แวร์ ที่ผู้ให้บริการมักจะทำการปรับปรุงและหรือเพิ่ม Functionsใหม่ ๆให้ผู้ใช้ได้ใช้งานที่ให้ประโยชน์มากขึ้น องค์ประกอบที่เหลือเป็นเรื่องการให้บริการ
เพื่อลูกค้าจะได้เข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างสดวก (Accessibility) ด้วยวิธีจัดบริการผ่านหลายช่องทาง (Omnichannel) ได้
องค์ประกอบทั้งสามนำไปสู่การทำให้สินค้าและบริการหลักที่ลูกค้าได้ซื้อไปนั้นถูกนำไปใช้ได้อย่างมีคุณค่า
(Usability) ตลอดช่วงชีวิตการใช้งาน ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
3.3.1 การเสริมบริการที่เป็น
Complementary Services
ตามความหมายที่อธิบายโดยวิกิพีเดีย Complementary
หมายถึงสินค้าหรือบริการที่เสริมให้สินค้าหรือบริการอื่น เช่น
น้ำมันเป็นสินค้าเสริมที่ทำให้รถยนต์มีคุณค่า หรือโมมายแอพต่าง ๆ เป็นบริการเสริมของโทรศัพท์มือถือ ปราศจากน้ำมันหรือโมมายแอพ
ทั้งรถยนต์และเครื่องโทรศัพท์มือถือก็มีประโยชน์ไม่มาก หรือไม่มีประโยชน์เลย
ในกรณีการปฏิรูปธุรกิจที่เน้นการสร้างคุณค่าจากการใช้สินค้านั้น Complementary
Services จึงหมายถึงกลุ่มบริการที่ธุรกิจพัฒนาขึ้นเพื่อเสริมกิจกรรมในส่วนที่ลูกค้าต้องทำภายใน
Customer Journey เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกระบวนการสร้างคุณค่า
(Value Creation Process) ของลูกค้าจนนำไปสู่การสร้างคุณค่าได้ตามวัตถุประสงค์
เพื่อความชัดเจน ขอยกตัวอย่างธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เช่นธุรกิจขายอาคารชุด เจ้าของโครงการอาจลงทุนติดตั้งระบบจดจำใบหน้า (Facial
Recognition) เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยที่หน้าอาคาร
เมื่อมีแขกมาเยี่ยม จะได้แยกออกว่าใครเป็นเจ้าของห้องพัก ใครเป็นคนภายนอก
โดยไม่ต้องเสียเวลาแจ้งเจ้าหน้าที่หรือขอแลกบัตรอย่างที่ทำกันส่วนใหญ่ในทุกวันนี้
ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยวิธีจดจำหน้าคนนี้ถือเป็นบริการเสริม
หรือบริการประกอบของสินค้าหลัก (Core Product) ที่ช่วยให้สินค้าหลักมีคุณค่าสำหรับลูกค้ามากขึ้น
เป็นการสนับสนุนสร้างคุณค่าให้ลูกค้าในกระบวนการใช้สินค้าของลูกค้า
หรือการใช้อาคารชุดของผู้อยู่อาศัยนั่นเอง
IKEA[2] เป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนระดับโลก
เป็นบริษัทหนึ่งที่ใช้หลักคิดของ Complementary Products & Services ในการแข่งขัน เช่น บริการใช้เลขรหัสสินค้าบอกตำแหน่งที่วางสินค้าในคลังสินค้า
เพื่อให้บริการแบบ Self Service การจัดห้องในร้านของ IKEA
ที่แสดงการจัดวางเครื่องเรือนเป็นสัดส่วน เป็นการสอนให้ลูกค้าเข้าใจการตกแต่งบ้านด้วยวิธีสาธิตจากของจริง
การจัดสถานที่สนับสนุนให้ลูกค้านั่งปรึกษาหารือกันที่ใกล้กับเครื่องเรือนตัวอย่างที่จับต้องและมองเห็นได้
ช่วยให้ง่ายต่อการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีบริการอื่น ๆ
ที่อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในระหว่างการเลือกซื้อสินค้า เช่น ร้านอาหาร
ห้องเลี้ยงเด็ก และจัดของเล่นให้เด็ก เว็บไซท์ให้ข้อมูล เหล่านี้
ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Complementary Services ซึ่งเมื่อรวมกับเทคนิคการออกแบบหีบห่อเครื่องเรือนที่เรียกว่า
Flat-Packaging ลูกค้าสามารถบริการด้วยตนเอง ตั้งแต่การออกแบบ
การเลือกสินค้า จนถึงขนสินค้ากลับบ้านเพื่อประกอบเองได้ กิจกรรมและบริการที่กล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ
Complementary Services ที่ส่งผลให้ลูกค้าซื้อสินค้าคุณภาพดีในราคาถูกได้
โดยเชิญชวนลูกค้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain ร่วมกันสร้างคุณค่า
(Value Co-creation) ผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้าด้วยการสนับสนุนจาก
Complementary Services ของผู้จำหน่าย
ในยุคดิจิทัล เรานิยมสร้างบริการเสริม (Complementary
Services) ด้วยวิธีการทางดิจิทัลเพราะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายน้อย
การแข่งขันธุรกิจจากนี้ไป ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวสินค้าหลักเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่ที่ใครสามารถเสนอ
Complementary Digital Services ได้ดีกว่าและมากกว่า
เช่นร้านขายเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำ เริ่มเสนอ Complementary
Service ด้วยบริการออกแบบภายใน (Interior Design) ที่ใช้เทคนิค Augmented Reality (AR) ผู้ที่ไม่มีทักษะด้านออกแบบภายในก็สามารถออกแบบได้ด้วยตัวเอง
เจ้าของบ้านเพียงแค่เลือกเฟอร์นิเจอร์จากคาตาล๊อกวางที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของห้องที่จำลองอยู่ในอุปกรณ์แทบแล็ต
แล้วพิจารณาดูว่าชอบหรือไม่ชอบ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถูกใจ
การบริการด้วยเครื่องมือดิจิทัลลักษณะเช่นนี้
เป็นการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าด้วยวิธีง่าย ๆ ตามบริบทที่ลูกค้าต้องการ บริการตามตัวอย่างที่กล่าวถือเป็น
Complementary Services เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าทั้งสิ้น
3.3.2
การเพิ่มพูนบริการ
(Augmented Services)
ตามความหมายที่อธิบายโดยวิกิพีเดีย Augmented
Services หมายถึงบริการที่เพิ่มเข้ามา หรือขยายผลจากสินค้าและบริการเดิม
หรือข้อเสนอเดิม เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์และคุณค่ามากขึ้นตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบริการ
เป็นวงจรชีวิตของสินค้าจากมุมมองของการใช้งานของลูกค้า หลักคิดของการทำ Servitization
ส่วนที่สองนี้ จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจจะต้องสร้างนวัตกรรมบริการใหม่
ๆ สนับสนุนลูกค้าให้ได้คุณค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาที่ลูกค้าใช้สินค้านั้นอาจยาวนานเป็นวัน
เป็นเดือน หรือเป็นปี ในช่วงระยะเวลานี้ กิจกรรมภายในกระบวนการสร้างคุณค่า (Value
Creation Process) ของลูกค้าจะไม่อยู่นิ่ง
สามารถปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มพูนกิจกรรมหรือบริการได้ตามความต้องการของลูกค้า
ธุรกิจจะต้องสามารถสนับสนุนการสร้างคุณค่าอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อไรที่หยุด
จะเปิดโอกาสให้คู่แข่งเข้ามาทำหน้าที่แทนทันที
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน
สมมุติบริษัทหนึ่งได้ขายเครื่องจักรให้ลูกค้าผลิตสินค้า ชีวิตการใช้งานของเครื่องจักรอาจยืนยาวถึง
30
ปี กระบวนการใช้เครื่องจักร นอกจากการผลิตสินค้าแล้วยังมีการบำรุงรักษา
และซ่อมแซมให้เครื่องจักรอยู่ในสภาพพร้อมใช้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกิจกรรมปกติ
แต่เมื่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าถึงจุดที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ IoT
เพื่อช่วยเฝ้าระวังและติดตามการทำงานของเครื่องจักรได้อย่างใกล้ชิด
สามารถนำข้อมูลจากการติดตามการทำงานของเครื่องจักรในทุก ๆ
วินาทีมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์สถานภาพของเครื่องจักร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า
สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการหยุดชะงักด้วยเหตุที่เครื่องจักรเกิดขัดข้องไม่สามารถทำงานได้
บริษัทผู้จำหน่ายจะออกแบบและพัฒนาบริการเป็นข้อเสนอใหม่เสนอให้ลูกค้าเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัยตามลักษณะของ
Augmented Service เป็นผลให้ลูกค้าสามารถพัฒนาสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มอย่างต่อเนื่องได้
การเพิ่มพูนกิจกรรมหรือบริการให้ลูกค้าตลอดช่วงชีวิตการใช้งานของสินค้าที่นอกเหนือจากที่เสนอให้ลูกค้าในช่วงซื้อขายครั้งแรก
นอกจากทำให้ลูกค้าได้คุณค่าและประสบการณ์ที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว
ยังเป็นช่องทางการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจได้ขยายตลาดได้อย่างไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมบริการของธุรกิจ
นวัตกรรมบริการที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและคุณค่าใหม่ตามพัฒนาการสร้างคุณค่าของลูกค้า
การเปลี่ยนแนวความคิด (Mindset)
จากการมุ่งเน้นขายสินค้าเพื่อให้ได้กำไร มาเป็นบริการลูกค้าในกระบวนการใช้สินค้าอย่างมีคุณค่านั้น
ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Relationship) เพื่อให้ได้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ธุรกิจต้องมีมาตรการฝังตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า
เพื่อเรียนรู้ปัญหา เข้าใจความต้องการ สร้างความไว้วางใจ
และทำตัวเป็นที่พึ่งของลูกค้าได้ ทั้งหมดนี้ ทำเพื่อให้ธุรกิจพัฒนาข้อเสนอใหม่ ๆ
ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า และสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างตรงประเด็น ธุรกิจสร้างข้อเสนอบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้จากลูกค้า
จึงอาจเรียกได้ว่าคุณค่าที่จะเกิดขึ้นแก่ลูกค้านั้นมาจากข้อเสนอที่ทำร่วมกันระหว่างธุรกิจกับลูกค้า
(Co-production of Offering) และการที่ธุรกิจสนับสนุนกิจกรรมที่กระทำโดยลูกค้าเพื่อให้ได้คุณค่าที่ต้องการนั้น
เรียกว่าการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Value Co-creation) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่จะนำเสนอในตอนต่อไป
3.3.3
ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ (Accessibility)
เมื่อธุรกิจได้สร้างบริการต่าง ๆ สนับสนุนลูกค้าตามแนวคิดของ
Complementary
Services และ Augmented Services ที่ได้กล่าวมาข้างต้น
สิ่งต่อไปที่ต้องคำนึงถึงคือทำอย่างไรจึงจะให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อเสนอเหล่านี้ได้อย่างสะดวก
การออกแบบกิจกรรมหรือบริการที่อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเข้าถึงข้อเสนอนั้นทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าและกลยุทธ์ในการดึงลูกค้าเข้าหา ในที่นี้เราจะพูดถึงกิจกรรมหรือบริการหลัก
ๆ สามแบบ ประกอบด้วย 1) การเข้าถึงตัวสินค้า 2) การเข้าถึงเพื่อติดต่อใช้บริการทั่วไป
และ 3) การเข้าถึงเพื่อทำรายการซื้อขาย
1) การเข้าถึงตัวสินค้า
การเข้าถึงตัวสินค้าในที่นี้หมายถึงการให้สิทธิ์ลูกค้าได้ใช้สินค้า
ซึ่งอาจเป็นการขายสิทธิ์หรือบริการให้สิทธิ์ในการใช้สำหรับสินค้าราคาแพง เช่นเครื่องจักรในโรงงาน
เครื่องมือกลต่าง ๆ รวมทั้งรถหรู่ รูปแบบเดิมที่ขายสิทธิ์นั้น
ผู้ที่มีเงินมากเท่านั้นจึงมีโอกาสเข้าถึงสินค้าราคาแพงได้ เพื่อให้กลุ่มที่มีเงินทุนไม่มากมีโอกาสด้วย
ธุรกิจต้องปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยเปิดบริการให้เช่าใช้ และจ่ายตามปริมาณที่ใช้จริง
(Pay-Per-Use)
ตัวอย่างที่ให้บริการลักษณะนี้ ได้แก่การเช่าใช้ Super
Computer หรือ Cloud Service ผู้ให้บริการจะต้องจัดระบบบริการดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกสำหรับติดต่อใช้บริการ
โดยพัฒนาเป็นโมบายแอพที่ใช้ง่ายสำหรับคนทุกคน บริการเช่าใช้รถในต่างประเทศ เช่น Car2Go[3] ก็เป็นการบริการลักษณะที่กล่าวและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
2) การเข้าถึงเพื่อติดต่อใช้บริการทั่วไป
การเข้าถึงธุรกิจเพื่อติดต่อขอใช้บริการนั้นมีมากมาย
เช่นบริการขอข้อมูล บริการขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการใช้สินค้า รวมทั้งบริการกลุ่ม
Complementary
และ Augmented Services ที่ผู้ให้บริการจัดทำเสนอขึ้น
ฯลฯ ในยุคดิจิทัล
เรามีช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลากหลายช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าเพื่อเข้าถึงบริการต่าง
ๆ ได้ ช่องทางโซเชียลเป็นช่องทางหนึ่งที่นิยมใช้บริการลูกค้า ช่องทางโซเชียลยังช่วยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับเจ้าหน้าที่ของธุรกิจได้
การปฏิสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลนอกจากจะให้บริการที่มีประสิทธิภาพมาก ยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างธุรกิจกับลูกค้า
ทำให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ที่ดีนำไปสู่การร่วมพัฒนาบริการใหม่ ๆ สนับสนุนการสร้างคุณค่าให้แก่กันและกันได้อย่างต่อเนื่องด้วย
การบริการแต่ละชนิดอาจต้องเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสม
หรืออาจใช้ช่องทางหลายช่องทางแบบ Omnichannel
วิกิพีเดียให้ความหมายของ Omnichannel ว่า “..a
cross-channel content strategy that organizations use to improve their user
experience” การบริการหลายช่องทางแบบ
Omnichannel ให้ความสำคัญที่การบูรณาการข้อมูลของลูกค้าจากการติดต่อใช้บริการผ่านหลาย
ๆ ช่องทาง เช่นช่องทางโทรศัพท์ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ เว็บไซท์
เครือข่ายโซเชียล และระบบโมบาย ธุรกิจส่วนใหญ่ให้บริการลูกค้าผ่านหลายช่องทาง
(Multi-channel) มานานแล้ว
แต่ข้อมูลของลูกค้าที่ติดต่อผ่านแต่ละช่องทางนั้นแยกจากกันเป็นไซโล
ทำให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทไม่สามารถเห็นและเข้าใจตัวลูกค้าตลอด 360 องศาได้ แต่บริการแบบ Omnichannel
เน้นที่บูรณาข้อมูลที่ลูกค้ามาติดต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดและผ่านช่องทางใด
ผู้ให้บริการที่อยู่ช่องทางอื่นก็จะเข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกค้าคนเดียวกันได้ครบถ้วนหมด
เป็นวิธีสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ
ของบริษัทได้ตามความสะดวกของลูกค้าเองได้
3) การเข้าถึงเพื่อทำรายการซื้อขาย
การทำรายการซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยมกันมากในทุกวันนี้
การบริการเกี่ยวกับการซื้อขายครอบคลุมกิจกรรมตั้งแต่การข้นหาข้อมูล การเลือกชนิดและรูปแบบสินค้า
การตกลงราคา การสั่งซื้อ การชำระเงิน การส่งมอบสินค้า ตลอดจนกระบวนการบริการอื่น ๆ
หลังการซื้อ เช่นการร้องเรียน การส่งคืนสินค้า และการเรียกร้องความเสียหาย
ธุรกิจจะต้องสามารถจัดการให้มีระบบที่บริการลูกค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ กระชับ
และมีความถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
จึงจะก่อเกิดประโยชน์และสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้
คนส่วนใหญ่ใช้คำว่า “Digital
Commerce” และ “E-Commerce” ทดแทนกันและกัน
เพื่อสื่อความหมายของการบริการซื้อขายสินค้าแบบออนไลน์ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ Barb
Mosher Zinck เขียนบทความสั่น[4]อธิบายความแตกต่างซึ่งมีนัยสำคัญว่า
อีคอมเมิร์ซเป็นกระบวนการขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ที่เป็นระบบเว็บไซท์ขายของทั่วไป
แต่ Digital Commerce มีความหมายกว้างและครอบคลุมกว่าอีคอมเมิร์ซมาก
ดิจิทัลคอมเมิร์ซเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการที่อาศัยอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายโมบาย รวมทั้งโครงสร้างอื่น ๆ
เพื่อการพาณิชยกรรม เช่นกิจกรรมการตลาดที่เสนอขายสินค้าและบริการ อีกทั้งยังครอบคลุมงานทั้งด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและตลาด
การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการขาย การกำหนดราคา
รวมทั้งงานที่เกี่ยวกับการหาและรักษาลูกค้าด้วยมาตรการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การออกแบบระบบ Digital Commerce เป็นกลไกบริการทำรายการซื้อขายอย่างสะดวก ใช้ง่าย มีขั้นตอนที่กระชับ และรวดเร็วนั้น
เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ Accessibility
การเข้าถึง (Accessibility) เดิมนั้นมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์
อุปกรณ์ หรือบริการเพื่อให้คนพิการสามารถใช้งานได้
แต่ในยุคของการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มุ่งเน้นคุณค่าจากการใช้สินค้า
ความหมายของการเข้าถึงนั้นมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางกว่ามาก
เป็นแนวคิดของการออกแบบกิจกรรมและบริการรวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
รวมกันเรียกว่าข้อเสนอ ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงเพื่อใช้ข้อเสนอได้โดยสะดวก
และได้ประโยชน์และคุณค่าตามเจตนา
3.3.4
การใช้งานจากสินค้า (Usability)
การทำให้ลูกค้าใช้งานได้
(Use
of Product/Services) และได้ประโยชน์จากสินค้าเป็นเงื่อนไขขั้นพื้นฐานของธุรกิจ
ธุรกิจต้องมีมาตรการสร้างคุณค่าจากสินค้าด้วยการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้ใช้งานได้ดีก่อนที่จะมีมาตรการการตลาดเพื่อขายสินค้าที่ตนมี
ธุรกิจต้องมั่นใจว่ามีของดีอยู่ในมือที่ลูกค้าสนใจ ยุคนี้ผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าที่มีประโยชน์
อีกทั้งมีคุณสมบัติที่ดี เริ่มจากการออกแบบดี ผลิตอย่างมีคุณภาพ ใช้งานได้ดี
และอื่น ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม
ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนไปทำธุรกิจด้วยดิจิทัล
ต้องให้มั่นใจว่ามีสินค้าที่ดีพอที่ตลาดสนใจ อาจต้องปรับปรุงหรือพัฒนาตัวสินค้าหรือบริการให้ใช้งานได้ในระดับหนึ่ง
หรือมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง การพัฒนาสินค้าที่มีประโยชน์แก่ผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องละเอียดก่อนมาก
แต่คุ้มค่ากับการลงทุน ตัวอย่างเช่น
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคารชุด ที่ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์อ่านใบหน้าคน (Facial
Recognition) ที่หน้าประตูทางเข้า
เป็นส่วนหนึ่งของระบบรักษาความปลอดภัยแบบอัตโนมัติ ถึงแม้จะมีต้นทุน
แต่ก็ทำให้สินค้าคือตัวอาคารชุดมีคุณค่ามากขึ้นในมุมมองของผู้ใช้บริการ อีกตัวอย่างหนึ่ง
มีบริษัทเอกชนพัฒนาวิธีเลี้ยงโคนมด้วยหญ้าพิเศษ โคให้น้ำนมที่มีสารเมลาโทนิน (Melatonin)
จากธรรมชาติสูงมากเป็นพิเศษ ช่วยทำให้นอนหลับสนิท สร้างคุณค่าสำหรับคนนอนหลับยาก
เหล่านี้ถือว่าเป็นพัฒนาสินค้าโดยเน้นการใช้สินค้า (Usability) ที่ให้คุณค่าเพิ่มขึ้น
สำหรับธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อม การพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น
ตั้งแต่การออกแบบสินค้าอย่างมืออาชีพ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยดึงดูดความสนใจ
และการผลิตอย่างมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน
ธุรกิจต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้มีจุดเด่นที่เกิดจากความชำนาญเฉพาะด้าน
เพื่อดึงดูดให้ตลาดเกิดความสนใจ ก่อนที่จะหามาตรการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายและการบริการด้วยวิธีต่าง
ๆ ตามกรอบแนวคิดของการทำธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้ลูกค้าดังที่กล่าวมาตอนต้น
การพัฒนาสินค้าในยุคดิจิทัลนั้น
ธุรกิจจะไม่ทำตามลำพังเหมือนยุคเดิม
เนื่องจากไม่มีทรัพยากรที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอันหลากหลายได้ครบทุกด้าน
จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรที่อยู่รอบกาย คือกลุ่มพันธมิตร ร่วมกันทำให้เกิดเป็นข้อเสนอที่มีคุณค่า
ตัวอย่างที่ดีคือ กรณีเลี้ยงโคนมเพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพพิเศษที่กล่าวข้างต้น
ธุรกิจต้องอาศัยผลงานวิจัยและความชำนาญจากนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช) การพัฒนาสินค้าให้มีประโยชน์มากขึ้นโดยอาศัยทรัพยากรของพันธมิตรนี้
เป็นลักษณะหนึ่งของ Collaborative Economy ที่จะอธิบายในโอกาสต่อไป
การเข้าถึง (Accessibility) และการใช้งาน (Usability)
เป็นข้อเสนอของธุรกิจที่ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและนำสินค้าไปสร้างคุณค่าได้
ในขณะที่กิจกรรมและบริการในกลุ่ม Complementary และ Augmented
Services ถูกพัฒนาเสริมและเพิ่มพูนขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าของลูกค้าตลอดช่วงชีวิตการใช้งานของสินค้าและบริการ
การมีสมรรถนะสร้างนวัตกรรมบริการในกลุ่ม Complementary และ Augmented
Services ย่อมจะช่วยให้ศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น
ยากที่ผู้อื่นจะตามทันได้ แนวคิดและรายละเอียดเพื่อการพัฒนาบริการต่าง ๆ จะนำเสนอในหัวข้อต่อไป
[1]
Multi-channel หมายถึงช่องทางให้บริการจากหลายช่องทาง
เช่นบริการผ่านโมบาย บริการโดยอาศัยคน บริการผ่านโซเชียล หรือบริการผ่านระบบงาน
สำหรับ Omni-channel นั้นเป็นเหมือน Multi-channel
ต่างกันที่ Omni-channel บริการโดยอาศัยระบบฐานข้อมูลที่รวมศูนย์
เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าที่จุดเดียว
โดยไม่คำนึงว่าลูกค้าจะใช้บริการจากช่องทางใดในแต่ละครั้ง
เพื่อให้สามารถเข้าใจตัวลูกค้าแต่ละคนทั่ว 360 องศาได้
[2]
IKEA Case Study จาก Normann, Richard., Ramirez, Rafael.,
“Designing Interactive Strategy”, https://hbr.org/1993/07/designing-interactive-strategy.
[3]
Car2go เป็นบริการให้เช่าใช้รถยนต์แบบใหม่
ดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.car2go.com/US/en/joining-forces.html
[4]
Zinck, Barb Mosher, “Digital Commerce is Mobile and Content-Driven”,
Diginomica.com, November 24, 2015.
No comments:
Post a Comment