(บทความนี้แปลและเรียบเรียงจาก
Press release ของ Gartner แนะนำโดย poonlarb@cpthailand.com)
คลาวด์คอมพิวติงได้แทรกซึมเข้าสู่ตลาดไอซีทีอย่างมีนัยสำคัญในรอบสองปีที่ผ่านมา
เป็นผลให้ผู้ใช้ไอที ไม่ว่าจะระดับบุคคล หรือองค์กร มีอิสระที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ไอซีทีตามความต้องการ
ช่วยให้หลุดพ้นจากข้อจำกัด และความยุ่งยากในการจัดหาจัดจ้าง และรูปแบบของสัญญาที่ซับซ้อน
จากนี้ไป คลาวด์คอมพิวติงจะช่วยการเลือกใช้ไอซีที โดยเฉพาะเลือกระบบงาน การใช้ข้อมูลข่าวสาร
และการรับบริการจากองค์กรต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่เนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติงยังไม่อยู่นิ่ง
และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อไป ความสับสนในหลาย ๆ ด้าน ยังมีมากมายพอ
ๆ กับความสำคัญ จนบริษัทอย่างการ์ตเนอร์ (Gartner) ต้องออกมาระบุว่า คลาวด์คอมพิวติงเป็นหนึ่งในสิบอย่างของเทคโนโลยีที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
การ์ตเนอร์ยังได้ระบุแนวโน้มเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติง 5 เรื่อง
ที่จะมีผลต่อการวางแผนยุทธศาสตร์ในสามปีข้างหน้าดังนี้
1. กรอบการตัดสินใจอย่างมีแบบแผนจะช่วยให้การลงทุนในคลาวด์คอมพิวติงทำได้อย่างเหมาะสม
ประโยชน์ของคลาวด์ มีตั้งแต่การเปลี่ยนจากการลงทุนมาเป็นค่าใช้จ่าย
ทำให้ค่าใช้จ่ายไอซีทีโดยรวมลดลง การใช้คลาวด์มีความคล่องตัวสูง และลดความยุ่งยากในการใช้ไอซีทีได้
คลาวด์ยังหมายถึงความสามารถที่จะนำทรัพยากรด้านไอซีที ไปสนับสนุนกลุ่มธุรกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า
หรือสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ทำให้การทำธุรกิจมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ก็หาใช่ว่า
ทุกข้อเสนอของคลาวด์จะไปในด้านบวกหมด ยังมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกมาก เช่น
เรื่องของความปลอดภัย เรื่องเกี่ยวกับความโปร่งใส ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับด้านคุณภาพ
และปัญหาการใช้งานอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ความเสี่ยงที่จะผูกขาดกับผู้ให้บริการคนหนึ่งคนใด
เงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาบริการ ตลอดจนปัญหาด้านการทำงานแบบบูรณาการ
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน จำเป็นต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจรับข้อเสนอบริการคลาวด์
2. การใช้คลาวด์คอมพิวติงแบบลูกผสม
(Hybrid cloud) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
คลาวด์คอมพิวติงแบบลูกผสมหมายถึงการใช้บริการจากศูนย์บริการภายนอก (public or private) ร่วมกันและประสานงานกันกับบริการโครงสร้างไอซีที
และระบบงานประยุกต์ขององค์กรเอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง คลาวด์คอมพิวติงแบบลูกผสมจะเป็นบริการไอซีทีแบบครบวงจร
เป็นคลาวชุดเดียวกัน แต่ประกอบด้วย Cloud platform หลายชุด ทั้งของภายในและภายนอกองค์กร
ที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจตามความจำเป็นขององค์กรได้ การ์ตเนอร์แนะนำว่า
เราควรให้ความสำคัญกับความจำเป็นระยะสั้น
โดยเฉพาะการใช้ระบบงานและข้อมูลแบบบูรณาการ และทำงานแบบเชื่อมโยงระหว่างงานภายในและภายนอก
ในกรณี ถ้าจำเป็นต้องมีส่วนที่ต้องใช้บริการจากคลาวด์สาธารณะ
ด้วยระบบซอฟต์แวร์ทั้งที่ทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือเป็นระบบซอฟต์แวร์เฉพาะของตนเอง ก็ควรระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษในเรื่องข้อกำหนดและมาตรฐาน ของการทำงานร่วมกันระหว่างระบบภายในและภายนอก
3. นายหน้าที่จัดหาบริการคลาวด์จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ได้
เมื่อการใช้บริการคลาวคอมพิวติงแพร่หลายมากขึ้น ความจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญในเรื่องคลาวด์ย่อมจะมีมากขึ้น
การบริการในนามของนายหน้าจัดหาบริการคลาวด์ (Cloud services
brokerage, CSB) จะมีบทบาทในฐานะเป็นตัวกลางให้บริการระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการคลาวด์
แนวคิดที่มีคนกลาง CSB ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา
และการ์ตเนอร์คาดว่าความจำเป็นต้องใช้คนกลางมีแนวโน้มสูงขึ้นในอีกสามปีข้างหน้า
เนื่องจากผู้ใช้ไอที ไม่ว่าจะมาจากสายงานไอที หรือสายงานทางธุรกิจ
ต่างต้องการใช้บริการคลาวด์โดยไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางเทคนิคของไอที
เพื่อเตรียมตัวรับความท้าทายนี้ การ์ตเนอร์เชื่อว่า แผนกไอทีขององค์กรต้องศึกษาหามาตรการรับหน้าที่เป็นนายหน้าจัดหาบริการคลาวให้แก่องค์กรเอง
ด้วยการกำหนดกระบวนการจัดหาจัดซื้อบริการคลาว ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุน และดึงดูดให้ผู้ใช้มาขอคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการใช้บริการคลาวด์คอมพิวติง
วิธีการทำงานผ่านนายหน้าขององค์กร อาจนำวิธีและเครื่องมือ เช่นระบบ Internal portals และ Service catalogs มาปรับปรุง เพื่อใช้กับการจัดหาบริการคลาวด์ตามความเหมาะสมได้
4. การออกแบบการทำงานเพื่อคลาวด์โดยเฉพาะเป็นสิ่งจำเป็น
องค์กรส่วนหนึ่งเลือกวิธีโยกย้ายระบบงานปัจจุบันไปใช้บริการจากคลาวโดยตรง
วิธีนี้อาจจะเหมาะกับงานประเภทที่ใช้ทรัพยากรด้านไอทีที่ผันแปรมาก
หรืองานประเภทที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการหวังผลจากการใช้คลาวด์คอมพิวติงอย่างที่ควรได้
ระบบงานก็ต้องถูกออกแบบใหม่ ให้เหมาะกับคุณลักณะการทำงานของคลาวด์ ตลอดจนถึงข้อจำกัด
และโอกาสที่พึงได้จากคลาวด์ การ์ตเนอร์แนะนำว่า องค์กรควรมองไกลไปกว่า เพียงแค่หวังผลจากการโยกย้ายสู่โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เป็นคลาวด์คอมพิวติง
แต่ควรเน้นหาประโยชน์จากคลาวด์ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจทำงานระดับโลกได้
5. คลาวด์คอมพิวติงมีอิทธิพลต่อศูนย์ข้อมูล
(Data center) และรูปแบบการทำงานในอนาคต
การใช้บริการจากคลาวด์สาธารณะนั้น ผู้ใช้มีฐานะเป็นเพียงผู้บริโภคบริการ
โดยมีผู้ให้บริการทำหน้าที่จัดการงานทุกด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมทั้งการบริหารศูนย์ข้อมูล
และการปฎิบัติงานต่าง ๆ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานไอที ถึงแม้องค์กรจะยังสร้างและขยายศูนย์ข้อมูลของตัวเอง
ก็ยังมีความจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดของการบริการแบบคลาวด์ตามลักษณะของศูนย์บริการคลาวด์
ดังนั้น การ์ตเนอร์จึงแนะนำว่า องค์กรควรใช้แนวคิดของคลาวด์คอมพิวติงมาใช้พิจารณาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีและศูนย์ข้อมูล
เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ข้อมูลต่อไปได้
No comments:
Post a Comment