"ให้เรามองธุรกิจทุกเรื่องเป็น "บริการ" สินค้าที่มีตัวตน และการบริการที่ไม่มีตัวตน ต่างให้คุณค่าได้ในรูปของบริการ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร ให้บริการถ่ายเอกสาร ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อผล (Value) มากกว่าตัวสินค้า เป้าหมายของ Service Dominant Logic ต้องการดึงความสนใจออกจากการให้ผลลัพธ์ ไปอยู่ที่ตัวผลลัพธ์ เครื่องถ่ายเอกสารคืออุปกรณ์ที่ให้ผลลัพธ์ เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการ แต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงนั้น คือผลที่ได้ ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ให้ผลลัพธ์ แนวคิดเช่นนี้ จะขจัดช่องว่างระหว่างการตลาดของสินค้าและบริการ ผู้บริโภคไม่สนใจซื้อสินค้าหรือบริการ แต่สนใจข้อเสนอของการบริการที่นำไปสู่ผลที่ต้องการ นอกจากนี้ นักการตลาดยังต้องพยายามให้ลูกค้ามีส่วนร่วม และให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินว่าการบริการนั้น ๆ ให้คุณค่าหรือไม่อย่างไร แทนที่ผู้ขายจะเป็นผู้กำหนด ผู้ขายต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด และถือความรู้และข้อมูลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการขาย พยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคในทุกรูปแบบ แทนที่จะเห็นลูกค้าเป็นเป้าการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว” ข้อความนี้ แปลความหมายมาจากประพจน์แปดข้อ (Foundation Propostions/Premises) ของ Vargo และ Lusch (2004)
ถ้าประพจน์ข้างต้นเป็นจริง คืออธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับบริการ และถ้านำเอา 4Ps ของส่วนประสมผลิตภัณฑ์ (Product Mix) มาเทียบเคียง จะได้เป็นแนวทางทางการตลาดใหม่ดังนี้:
- Product: ให้มองสินค้าทุกชนิดเป็นบริการ และมุ่งขายเป็นบริการ แทนการขายสินค้ากายภาพ สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือผล ให้ถือว่าสินค้าเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ ให้มุ่งหาสินค้าและบริการที่สนองความต้องการของลูกค้าได้
- Price: เมื่อลูกค้ามีส่วนร่วมในการผลิต (Co-creator) ราคาจะขึ้นอยู่ที่ปริมาณของความมีส่วนร่วม ถ้าลูกค้ามีส่วนร่วมมาก ลงแรงมาก ราคาย่อมจะต่ำกว่า ถ้ามีส่วนร่วมน้อย หรือมีบทบาทน้อย ราคาก็ย่อมจะสูงกว่า
- Place: ตามแนวคิดเดิมของการตลาด Place หมายถึงการจัดการให้สินค้าไปอยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลา ด้วยจำนวนและปริมาณให้ได้สัดส่วน แต่แนวคิดตามมิติของบริการ เราจะพยายามให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคให้มาก ในวงกว้าง เป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ ธุรกิจย่อมสามารถคาดหวังว่า ลูกค้าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนด Place มากกว่าธุรกิจ คือลูกค้าเป็นผู้กำหนดสินค้าให้อยู่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกจำนวน
- Promotion: ในยุคอินเทอร์เน็ต และยุคเศรษฐกิจฐานบริการ เสียงของลูกค้าคือเสียงของสวรรค์ หมดยุคของการโฆษณาทางเดียว มันเป็นยุคของการปฎิสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นเครือข่าย ลูกค้าเป็นผู้บอกว่าสินค้าและบริการนั้น ๆ มีคุณค่าหรือไม่ ชอบหรือไม่ ธุรกิจที่สามารถสร้างการปฎิสัมพันธ์ และสื่อสารสองทางกับลูกค้า จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้
Web Computing Platform จึงกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างระบบซอฟต์แวร์สำหรับงานบริการ ระบบซอฟต์แวร์ต้องมีสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์แบบบริการ (Service Orientation) ทำงานกับ RESTful Web Services โดยอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานที่สุดของ World Wide Web ซึ่งประกอบด้วย Hypertext Transfer Protocol (HTTP), Uniform Resource Identifier (URI), และภาษา Markup เช่น HTML, XML, และ JSON
การจัดการงานบริการ (Service Management) ตามกรอบของ Service Science ต้องมีมุมมองที่แตกต่างกับการบริหารจัดการเดิมดังนี้
- แทนที่จะบริหารให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดตามรูปแบบธุรกิจเดิม ในมุมมองของธุรกิจแบบบริการ ต้องให้ความสำคัญกับการเข้าใจลูกค้าให้มาก และบริการอย่างมีประสิทธิภาพในสายตาของผู้บริโภค โดยอาศัยลูกค้าเป็นพันธมิตรที่สำคัญ
- ความสำเร็จของการจัดการงานบริการ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า และสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับลูกค้าได้
- การวัดคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ไม่ได้ทำภายในกระบวนการผลิตอย่างเดียว คุณภาพจะสะท้อนจากลูกค้า และธุรกิจไม่ใช่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอีกต่อไป ลูกค้าเป็นคนกำหนด
- ความยั่งยืนของธุรกิจไม่ได้เกิดจากความสามารถทำกำไรระยะสั้นอีกต่อไป แต่เกิดจากความสามารถของการบริหารจัดการการบริการที่สร้างคุณค่าและประโยชน์แก่ผู้บริโภค จนเกิดสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
- งานบริการเป็นงานที่อาศัยทักษะและความรู้ การจัดการงานบริการ ต้องคำนึงถึงการทำงานแบบบูรณาการ โดยเฉพาะงานด้านการตลาด การปฎิบัติการ และการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับบุคคลภายนอก ประกอบลูกค้า พันธมิตร และผู้ชำนาญการอื่น ๆ
No comments:
Post a Comment