Thursday, August 26, 2010

ทำไมต้องมีสภาไอซีที

ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติสภาไอซีทีผ่านรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ในยุคของ ดร. มั่น พัธโนทัย ด้วยเหตุผลที่ว่า ไอซีทีได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมือง ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ต่างกำหนดการพัฒนาศักยภาพไอซีที เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการแข่งขันในเวทีโลก การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาไอซีทีระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงมีความสำคัญ ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมไอซีทีของไทยตื่นตัวอย่างมาก และพยายามให้ความร่วมมือต่อการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีให้ทันนา ๆ ประเทศในทุกรูปแบบ แต่ทำกันแบบกระจัดกระจาย อย่างไม่มีเอกภาพ ซึ่งเห็นได้จากการที่อุตสาหกรรมไอซีทีมีสมาคมที่เกี่ยวกับไอซีทีมากกว่า 20 สมาคม ทำให้การประสานงานเชิงนโยบายกับภาครัฐ และการแก้ปัญหาให้แก่อุตสาหกรรมไอซีทีไทย ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล การรวมตัวของกลุ่มสมาคมที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีในรูปของสภาไอซีทีที่มีกฎหมายรองรับ น่าจะวิธีที่ดี ที่ทำให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีรวมตัวกัน เพื่อร่วมพัฒนาและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมไอซีทีได้อย่างเป็นเอกภาพ

อีกประการหนึ่ง ในรอบสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาการใช้ไอซีทีทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไอซีทีไทยมีความเข้มแข็ง โดยสร้างกรอบนโนบายและแผนแม่บทไอซีทีของชาติมาแล้ว แต่การดำเนินการพัฒนาไอซีทีไม่ค่อยประสบความสำเร็จตามแผน เหตุผลหนึ่ง คือขาดการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะนี้ กระทรวงไอซีทีอยู่ในระหว่างการร่างกรอบนโนบาย 10 ปีฉบับที่สอง คือ ICT2020 มีหลายยุทธศาสตร์ ที่จำเป็นต้องให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการร่วม Implement ด้วย เช่น ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาทุนมนุษย์ ยุทธศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีที ยุทธศาสตร์พัฒนาและประยุกต์ ICT เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิต ยุทธศาสตร์ใช้ ICT เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยุทธศาสตร์สนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขั้นการร่างแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาประเทศด้วย ICT ตามกรอบนโยบาย ICT2020 ที่จะทำต่อไปนั้น สภา ICT จะสามารถทำหน้าที่ประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันให้ข้อมูลต่อคณะร่างแผนแม่บท เพื่อนำไปสู่แผนที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยได้ดีกว่า และจะช่วยเหลือทางราชการในการ Implement แผนไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ได้อย่างมีเอกภาพด้วย

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะร่างพรบ สภาไอซีที ได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีไอซีที และได้รับความเห็นชอบจากท่านรัฐมนตรีแล้ว ท่านรัฐมนตรีจะผลักดันให้เข้า ครม. โดยเร็ว และนำเข้าคณะกรรมการ กทสช. ซึ่งมีนายกเป็นประธานโดยดำเนินการคู่ขนานกัน ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย แต่ท่านรัฐมนตรีได้ให้สังเกตว่า น่าจะปรับปรุงมาตรที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอยกมาตรา ๗ ซึ่งว่าด้วยวัตถุประสงค์ของสภามาให้ท่านได้อ่าน เผื่อท่านผู้อ่านจะได้ช่วยแนะนำ เพื่อนำไปประกอบการเสนอคณะร่าง เพื่อทำการแก้ไขต่อไป มาตรา ๗ มีข้อความดังนี้

(ก) เสนอแนะนโยบาย และประสานการดำเนินการระหว่างรัฐ และภาคเอกชน เกี่ยวกับงานในสาขาไอซีที เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศ
(ข) ส่งเสริมและก่อให้เกิดการใช้ และพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้อยู่ในระดับสากล และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างมั่นคง
(ค) เสริมสร้าง และกำกับมาตรฐาน และจรรยาบรรณของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไอซีที
(ง) เสนอแนะให้มีการพัฒนาการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในทางบวก
(จ) เสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับไอซีทีให้เหมาะสมเป็นสากลทันต่อความหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และต่อเนื่องของการพัฒนาไอซีทีของโลก

หวังว่าพวกเราในอุตสาหกรรมไอซีที คงจะช่วยกันผลักดันให้ร่างพรบสภาไอซีทีฉบับนี้ ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาไปอย่างราบรื่นต่อไป

No comments:

Post a Comment