Monday, June 21, 2010

กรอบนโนบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย

ที่ประชุมคณะกรรมการร่างกรอบนโยบายไอซีทีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา รับหลักการเกี่ยวกับนโนบายพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที โดยยึดหลัก Key words สามชุด ชุดที่หนึ่งคือ "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่สองคือ "การใช้กิจการบริการเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจของประเทศ" ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์เรื่อง Stronger Economy ของกรอบนโยบาย ICT 2020 ที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อน และชุดที่สาม "ให้พร้อมแข่งขันในต่างประเทศได้"  เป็นผลให้เกิดประโยคของวิสัยทัศน์ดังนี้."อุตสาหกรรม ICT ของไทยเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ มีพื้นฐานเป็นนวัตกรรมเชิงบริการด้านไอซีที (Innovation in ICT Services) สามารถสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ"
แนวคิดของนวัตกรรมเชิงบริการด้านไอซีที (Innovation in ICT Services) ต้องการสื่อให้เห็นว่า ไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเน้นเอาดีในด้านบริการ มากกว่าจะผลิตเป็นสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็นสินค้ากายภาพ สำหรับซอฟต์แวร์ ถึงแม้จะผลิตเป็นสินค้าซอฟต์แวร์ของเราเอง แต่รูปแบบธุรกิจเป็นกิจการบริการ ที่ประชุมเห็นว่า อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ นับว่าจะยากสำหรับบริษัทไทย ที่จะออกแบบและผลิตสินค้าแข่งขันกับต่างประเทศ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องต้นทุนอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้า เช่น อาศัยเรื่องเงื่อนไขสร้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green ICT Products เป็นตัวตั้ง ซึ่งจะสร้างปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นอีก วิธีที่น่าจะสนับสนุนต่อไป คือขยายฐานการรับจ้างผลิตจากบริษัทต่างประเทศ ถ้ามีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาเรื่องคุณภาพ และกระบวนการผลิตที่มีศักยภาพ มีระบบ Logistic ที่ดีและสะดวก และเมื่อรวมกับจุดเด่นด้านอื่น ๆ ของไทย เช่นภูมิประเทศ ความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นศูนย์กลางของการเดินทางทางอากาศ และทางเรือ และความเป็นมิตรของประชาชนคนไทยโดยรวม น่าจะทำให้ธุรกิจบริการด้านการผลิต สามารถแข่งขันได้ ความสำเร็จในอุตสาหกรรม Hard Disk Drives เป็นตัวอย่างที่ดี ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็เริ่มส่งเสริมให้สร้างทักษะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จำพวกชิ้นส่วน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย NECTEC ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม กำลังส่งเสริมให้เกิดการทำ ODM (Original Design Manufacturer) คือการออกแบบและผลิต เพื่อส่งให้บริษัทอื่นนำไปติดตราเป็นสินค้าของตนเองเพื่อจำหน่าย หรือออกแบบและผลิตชิ้นส่วนเพื่อให้บริษัทอื่นนำไปประกอบเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายต่อไป ทั้งหมดนี้ สามารถดำเนินการในมิติของการบริการได้ทั้งสิ้น แนวคิดนี้ น่าจะใช้ได้ทั้งผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้ในครัวเรือน
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ เนื่องจากซอฟต์แวร์ เป็นสินค้าแบบไม่มีกายภาพ รูปแบบธุรกิจจึงมีลักษณะเป็นบริการอยู่แล้ว จึงแม้จะซื้อสิทธิ์เพื่อการใช้ซอฟต์แวร์ อย่างที่นิยมปฎิบัติกันในปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นกิจการบริการ แต่แนวโน้ม จะหันมานิยมรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า Software as a Service (SaaS) คือจ่ายค่าบริการตามจำนวนและปริมาณการใช้จริง แทนการเหมาจ่ายจากการซื้อสิทธิ์ในการใช้ กรอบนโยบาย ICT2020 แนะนำให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์หันมาเน้นสร้างซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนธุรกิจบริการ หรือสร้างระบบบริการ (Service System) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ฝึกทักษะการออกแบบสถาปัตยกรรม และทางวิศวกรรมระบบซอฟต์แวร์ ที่รองรับงานบริการ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใช้สร้างซอฟต์แวร์ในทำนองนี้ มีมากมายภายใต้ชื่อเรียกรวมกันว่า Service Oriented Architecture (SOA) การ รองรับแผนยุทธศาสตร์ Stronger Economy ที่เน้นการขยายฐานเศรษฐกิจของประเทศด้วยกิจการบริการ จะทำให้ตลาดซอฟต์แวร์ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้มีการลงทุนพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ไทยมีศักยภาพ เช่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ อุตสาหกรรมการศึกษา และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร ซึ่งจะทำให้ไทยมีซอฟต์แวร์กลุ่มนี้ ถูกนำออกไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศได้ด้วย
โดยสรุป คณะร่างกรอบนโยบาย ICT2020 เห็นชอบในยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที ตามวิสัยทัศน์ที่กล่าวข้างต้น ดังนี้
  1. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยด้านไอซีที ให้มีความรู้และทักษะระดับสูง ทัดเทียบกับนา ๆ ชาติได้
  2. ส่งเสริมการพัฒนาสร้าง Brand ไทย และทักษะด้านการตลาดระหว่างประเทศ
  3. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
  4. ส่งเสริมการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออก ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม และบริษัทเกิดใหม่ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อร่วมพัฒนาอุตสหากรรมไอซีทีให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวคิดเบื้องต้น ที่เน้นการขยายตลาดไปต่างประเทศในอีกสิบปีข้างต้น โดยเริ่มที่การพัฒนาฝีมือที่ทัดเทียมต่างประเทศ สร้าง Brand และสร้างทักษะด้านการตลาดต่างประเทศ ซึ่งอาจร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความแข้งเกร่งให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ส่งเสริมการลงทุนในระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้กับอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อสร้างจุดเด่น และสุดท้ายส่งเสริมให้เกิดบริษัทไอซีทีจำนวนมาก ๆ เพื่อเตรียมรองตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็วจากนี้เป็นต้นไป

No comments:

Post a Comment