Saturday, June 19, 2010

ยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจที่แข็งเกร่ง

วันเสาร์นี้คณะร่างกรอบนโยบาย ICT2020 ได้พิจารณาถึงเรื่องการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง (Stronger Economy) สำหรับสิบปีข้างหน้า ภายใต้การสนับสนุนจากไอซีที ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างความแข็งแกร่งในภาคเศรษฐกิจจากนี้ไป คงหนีไม่พ้นการสร้างทักษะด้านนวัตกรรมการบริการให้แก่ประเทศ และเพิ่มผลผลิตจากกิจการบริการ  แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตรงกันก่อน คำว่ากิจการบริการไม่ได้หมายความถึงธุรกิจภาคบริการแต่อย่างเดียว นักเศรษฐศาสตร์แบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสามภาค (Sector) คือภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ประเทศที่เจริญแล้วต่างเน้นการเพิ่มผลผลิตในส่วนภาคบริการ จนถึงขั้นรายได้จากภาคบริการสูงถึงประมาณร้อยละ 70-80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ปรากฏอยู่ที่ประมาณร้อยละ 49 ในปี พ.ศ.2551 ถ้าเราจะไล่ตามประเทศที่เจริญแล้วให้ทัน ยังต้องมีงานที่ต้องทำอีกมาก วิธีที่จะเพิ่มผลผลิตในภาคบริการ คือการขยายฐานของภาคบริการ จากเดิมซึ่งมีแต่กิจการบริการเดิม เช่นกิจการท่องเที่ยว การศึกษา การบริการด้านสุขภาพ การก่อสร้าง และอื่น ๆ ให้มีกิจการที่เกิดจากสินค้าของภาคการผลิตด้วย เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แทนที่จะผลิตและขายเครื่องปรับอากาศ ให้เพิ่มบริการที่เกี่ยวกับการปรับอากาศในอาคารอย่างมีประสิทธิผลและประหยัด แทนที่จะขายคอมพิวเตอร์ ให้เพิ่มบริการการปรึกษา บริการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ และบริการที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจำหน่ายสินค้าและบริหารต้นทุน แทนที่จะผลิตและขายยางรถยนต์ เพิ่มบริการใช้ยางรถยนต์อย่างประหยัดและปลอดภัย เป็นการใช้เทคโนโลยีไอซีทีสร้างนวัตกรรมการบริการใหม่ ๆ ที่เพิ่มรายได้แก่ธุรกิจภาคบริการดั่งเดิม ดังนั้น กิจการบริการจึงหมายถึงธุรกิจภาคบริการดั่งเดิม รวมทั้งการบริการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้ากายภาพมาเป็นกลไกของบริการใหม่ ๆ ที่ก่อรายได้ โดยอาศัยความสามารถของไอซีที
    การเพิ่มรายได้จากภาคบริการ ยังอาจหมายถึงการเพิ่มศักยภาพในธุรกิจบางส่วนจากภาคบริการเองด้วยไอซีที เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการด้านการเงิน กิจการบริการที่อยู่เป็นกลุ่ม ๆ ที่กล่าวนี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าอุตสาหกรรมบริการ (Service Industry) หลายประเทศในแทบเอเซียก็ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมบริการในลักษณะเดียวกัน เช่นประเทศสิงคโปร์ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ IN2015 Financial Services และ IN2015 Tourism Hospitality and Retail ประเทศอินเดียก็เช่นกัน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจนในส่วน Healthcare, Financial services, Education, และ Public services ซึ่งล้วนแล้วแต่ยุทธศาสตร์ที่นำเอาไอซีที ไปพัฒนากิจการในส่วนบริการทั้งสิ้น
    กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย NECTEC ได้กำหนดมาตรการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนางานทางภาคธุรกิจ โดยตั้งโครงการสี่โครงการที่เกี่ยวกับงานบริการ ได้แก่ Smart Health, Smart Tourism, Smart Education และ Smart Farms ซึ่งคณะร่างกรอบนโยบาย ICT2020 เห็นว่ามีความสอดคล้องกัน จึงเสนอให้นำสี่อุตสาหกรรมที่กล่าวมาทำเป็น Flagship Projects เพื่อการส่งเสริมการสร้างรายได้ในรูปแบบงานบริการ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพื้นฐาน ที่น่าสนใจคือ เราต้องพัฒนาทักษะด้านการสร้างระบบบริการระดับสูงไปด้วยในตัว ซึ่งก็จะเป็นแหล่งหารายได้ให้แก่ประเทศไทยโดยตรงอีกแหล่งหนึ่ง เนื่องจากระบบบริการ (Service System) โดยคำจำกัดความที่เสนอโดย Cambridge Papers (2007)  คือ “Value co-creation configurations of people, technology, and organizations connected internally and externally by value proposition and shared information” แปลเป็นไทยอาจได้ความว่า “ระบบบริการ เป็นระบบที่มี คน เทคโนโลยี และตัวองค์กร ทั้งที่เป็นของภายใน และจากภายนอก ร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ และสร้างมูลค่า ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงกัน ด้วยข้อมูลข่าวสาร และความคาดหวังในประโยชน์ที่อาจจะได้รับ (Value proposition)
ระบบบริการที่กล่าวข้างต้น เป็นระบบซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมกระบวนการทำงานเกี่ยวกับบริการ เป็นระบบที่คน และองค์กรที่เกี่ยวข้องทำงานปฎิสัมพันธ์กัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคและสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์แบบ Service Oriented Architecture (SOA) ด้วยเหตุผลที่ว่า จะสามารถรองรับการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์เพื่องานบริการ ไปตามสภาพของรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากได้อย่างมีพลวัต
    นอกจากแนวทางการเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ ภายใต้แผนงาน Stronger Economy แล้ว ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก ๆ คือ
  1. สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) แนวคิดการส่งเสริม เช่น การส่งเสริมการสร้างทักษะและความรู้เฉพาะทาง (Skills and Knowledge Specialization) ตัวอย่างคือ ความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความชำนาญด้านออกแบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่โดย SOA และอื่น ๆ  ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย มีกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีความชำนาญเฉพาะทางจำนวนมากพอที่จะดึงดูดความสนใจบริษัทต่างชาติ มาว่าจ้าง Outsource ให้บริษัทไทย ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางการจัดจ้าง Knowledge workers ในยุคใหม่นี้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่ส่งเสริมให้มีการขยายขอบเขตการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายพาณิยช์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มีการส่งเสริมให้ตระหนักถึงการผลิตสินค้าและบริการอย่างมีคุณภาพ  ตลอดทั่วห่วงโซ่อุปทาน โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ
  2. มาตรการพัฒนาคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการ (Value Creation) การสร้างคุณค่าจากนี้ไป ต้องนำแนวคิดในมิติการบริการ (Service Dominant Logic และ Unified Service Theory) มาประยุกต์ใช้ ด้วยเหตุที่ว่า การสร้างคุณค่าแก่สินค้าและบริการ จำเป็นต้องมีหลากหลายความคิด และจะต้องเป็นสินค้าและบริการที่เน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง วิธีที่เกิดประสิทธิผลมากที่สุดคือ ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างคนหลายกลุ่ม รวมทั้งผู้บริโภค (Co-creation) เพื่อการออกแบบและผลิตสินค้าและบริการ โดยอาศัยเครือข่ายสังคม ซึ่งนับวันจะมีผู้นิยมใช้มากขึ้น มาเป็นกลไกเชื่อมโยงกลุ่มบุคคลเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้ Co-creation มีความเป็นไปได้สูง ประหยัด และได้ผลรวดเร็ว
  3. มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคธุรกิจในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ แต่จะไม่จำกัดอยู่ในสี่สาขา คือ โครงการ Flagship ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำให้สาขาธุรกิจกลุ่มนี้แข่งขันได้ และเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศในภาพรวม การส่งสเริมและสนับสนุนจะมีตั้งแต่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยงานด้านการผลิตอย่างมีคุณภาพ ช่วยงานด้านบริหารจัดการ มีระบบ Logistic รองรับเพื่อลดต้นทุน ที่สำคัญคือ ให้มีการนำเทคโนโลยีสื่อสังคม (Social Media) มาสนับสนุนงานด้านการตลาด ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
ทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่เป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง (Stronger Economy)” โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศในสิบปีข้างหน้า นี่เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น เพื่อน ๆ ที่อ่านรายงานนี้ ยังสามารถให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม ต่อเติม และแทรกซึมได้ทุกจุดนะครับ กว่าที่จะเป็นกรอบนโยบายนำเสนอรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ยังต้องผ่านการวิพากษ์จากประชาชน อีกหลายยกครับ

No comments:

Post a Comment