Thursday, June 17, 2010

รัฐบาลไทยควรลงทุนสร้างเว็บสังคมเอง หรือปล่อยให้ประชาชนใช้เว็บสังคมสาธารณะ

การเขียนกรอบนโยบาย ICT2020 คงจะขาดไม่ได้ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม (ICT Infrastructure) คณะร่าง ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตกลงรับหลักการในวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดังนี้ “ภายในปี 2020 การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย จะต้องพัฒนาเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานอันจำเป็นต่อชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีความทั่วถึง มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความมั่นคง ดังเช่นการให้บริการไฟฟ้า และน้ำประปา ตามมาตรฐานของประเทศที่เจริญแล้ว”

ผมเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ข้อนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เทคโนโลยี ICT ได้พัฒนามาไกลมากแล้ว และเห็นได้ชัดเจนว่า มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา แต่ที่น่ากังวลคือ คนไทยมีแนวโน้มว่า กำลังจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน และเกรงว่าคนไทยจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ได้เต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ประเทศใด ที่ปรับตัว และสร้างทักษะเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้นำหน้าประเทศอื่น จะได้เปรียบในการ แข่งขันทุก ๆ ด้าน สำหรับประเทศไทย การเร่งทำความเข้าใจเทคโนโลยีแก่ประชาชน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่  คือทำให้ประชากรส่วนใหญ่เข้าใจเทคโนโลยีในระดับที่จะใช้ประโยชน์ได้ ก็ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บทไอซีที ฉบันที่ 2 แล้ว
ปัจจัยสำคัญอย่างที่สอง คือการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เน้นที่ระบบการสื่อสาร Wireless broadband ให้แพร่กระจาย และให้บริการชุมชนในราคาที่ยุติธรรม เพราะจากนี้ไป ระบบการสื่อสารพื้นฐานที่สำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาคือระบบสื่อสารทั้งแบบไร้เสาย และมีสาย ความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังต้องเร่งพัฒนา Digital contents อย่างจริงจัง เพราะการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม จะอยู่บนพื้นฐานของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และ Digital content เป็นปัจจัยพื้นฐานของ Knowledge economy ที่จะเพิ่มผลิตภาพได้ทั้งระบบ ผลิตภาพจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องให้พลเมืองมี Creativity แต่ Creativity จะเกิดจากการสะสม Tacit knowledge ที่แบ่งปันกันได้ และวันนี้ วิธีการทำให้เกิดการแบ่งปัน Tacit knowledge ได้อย่างกว้างขวางคือการใช้เทคโนโลยี Web 2.0 โดยเฉพาะการใช้เว็บสังคม (Social web) หรือเครือข่ายสังคม (Social Network) แล้วแต่จะเรียกกัน ที่ผ่านมา มีการคุยกันในที่ประชุมของคณะร่างฯ ว่า ประเทศไทยควรจะลงทุนสร้างเว็บสังคมของตัวเอง หรือจะปล่อยให้ใช้เว็บสังคมสาธารณะ เช่น Facebook, MySpace, LinkedIn, etc. มีการพูดคุยกันว่า ประเทศเวียตนามประกาศที่จะลงทุนในโครงการเว็บสังคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นการลงทุนโครงการไอซีทีภาครัฐที่ใหญ่ที่สุด มีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องลงทุน ในเมื่อมีเว็บสังคมสาธารณะให้ใช้ฟรี หลายท่านมีความเห็นว่า มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศโดยตรง ถ้าคนไทยค่อนประเทศใช้สื่อสังคมแลกเปลี่ยนแปลงความรู้ ติดต่อสื่อสาร และอื่น ๆ ผ่านสื่อเหล่านี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของเว็บสังคม ซึ่งก็คือประเทศอเมริกา ในวันนี้ เขามีระบบซอฟต์แวร์เพื่อทำการวิเคราะห์และศึกษาจากข้อมูลดิบเหล่านี้ จนสามารถนำสารสนเทศทางสังคมเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านสังคม การเมือง และความมั่นคงได้ ถามว่า ผลอันนี้จะมีนัยสำคัญต่อประเทศแค่ไหน พวกเราต้องช่วยกันคิด

    แต่ถ้ายังคิดไม่ออก เราอาจรองตั้งโจทย์ดูว่า What-if ประเทศไทยจะสร้างเว็บสังคมของเราเองบ้าง จะเสียหายไหม สิ่งแรก คือคงต้องใช้จ่ายเงินภาษีประชาชนหลายร้อยล้านบาท แต่ผมว่า มันน่าจะคุ้มค่า โดยเฉพาะถ้าเราจ้างคนไทยทำเอง อย่าไปจ้างบริษัทต่างชาติ อย่างน้อย ก็เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสทำโครงการซอฟต์แวร์ใหญ่ ๆ เป็นการฝึกวิชา เปิดโอกาสให้นักซอฟต์แวร์ไทยเป็นร้อย ๆ คน มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีพัฒนาระบบเว็บไซท์ขนาดใหญ่ แค่นี้ก็น่าจะคุ้มค่าแล้ว หรือท่านผู้อ่านว่าอย่างไง?

2 comments:

  1. เห็นด้วยค่ะที่ควรสร้างเอง แต่ต้องเป็นไปอย่างจูงใจให้คนมาใช้เพราะเห็นความสำคัญ ประโยชน์ อยากมาใช้เอง เพราะข้อมูลที่พวกเราช่วยกันสร้างตอนนี้ มันอยู่กับต่างประเทศหมด แม้กระทั่งการ port มา back up ยังไม่รู้จะทำได้อย่างไรเลย

    ReplyDelete
  2. มีหลายเรื่องที่รัฐสามารถใช้ประโยชน์จาก Social Web ของรัฐ เรื่องแรกเป็นเวทีสำหรับ Civic empowerment ให้ประชาชนสื่อสารกับรัฐ ว่าเขาเดือดร้อนอะไร และต้องการให้ช่วยเหลืออะไร เมื่อรัฐเริ่มทำการบ้าน response ต่อปัญหาอย่างจริงจัง ผมว่า ประชาชนก็คงเริ่มนิยมใช้ และประชาชนอื่น ๆ ก็คงเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม ผมดูตัวอย่างจากเมื่อวิกฤติพฤษภาที่ผ่านมา ว่า สมาชิกใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทันทีเป็นล้านคน น่าสนใจครับ

    ReplyDelete