ข้อควรพิจารณาในการเลือกผู้ให้บริการคลาวด์
(Cloud Service Provider) ตอนที่ 2
ตอนที่ 1 ได้พูดถึงแนวทางการเลือกผู้ให้บริการคลาวด์ และข้อที่พึงตระหนักเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
สำหรับตอนที่ 2 นี้จะแนะนำแนวทางการทำสัญญาบริการกับผู้ให้บริการ
ซึ่งเป็นบทเขียนที่เรียบเรียงมาจากหนังสือเรื่อง “Business in The Cloud:
What Every Business Needs To Know About” เขียนโดย Michael
Hugos และ Derek Hulitzky[1] ซึ่งผมเห็นว่าตรงประเด็นที่นำไปปรับใช้ได้
3.
ข้อคิดในการทำสัญญาบริการ
เหมือนกับสัญญาบริการ ( Service Level Agreement, SLA) อื่น ๆ สัญญาบริการคลาวด์ต้องกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติ
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้บริการสามารถบริการได้อย่างมีคุณภาพตามที่ผู้รับบริการคาดหวังว่าจะได้รับ
สัญญาบริการคลาวด์ จะระบุเงื่อนไขและภาระรับผิดชอบทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
มีรายละเอียดเพียงพอที่จะใช้บังคับตามกฎหมายได้ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญา
รวมทั้งมาตาการการวัดคุณภาพของการดำเนินการบริการอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดวิธีคิดค่าใช้จ่ายตามลักษณะของการใช้บริการอย่างชัดเจน
สัญญาบริการคลาวด์ถูกร่างขึ้นเพื่อคุ้มครองคู่สัญญาด้วยข้อตกลงที่มีเหตุผล สามารถป้องกันการขัดแย้ง และช่วยแก้ปัญหาเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น โดยทั่วไป SLA หรือสัญญาการใช้บริการคลาวด์ต้องมีหัวข้ออย่างน้อยดังนี้
3.1. วัตถุประสงค์ของสัญญา
ส่วนนี้บรรยายวัตถุประสงค์ของการบริการ โดยอธิบายเจตนาของสัญญาเป็นภาพรวม
3.2. ขอบเขตของการบริการ
เป็นส่วนที่จะบรรยาย Scope of Work ที่ผู้ให้บริการสัญญาจะให้บริการ
และผู้รับบริการคาดหวังว่าจะได้รับ เป็นรายละเอียดที่ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้
3.3. ประสิทธิภาพการให้บริการ
ผู้รับบริการต้องให้ความสำคัญกับข้อสัญญาส่วนนี้มาก
เนื่องจากเป็นส่วนที่เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการโดยตรง ถ้าผู้ให้บริการไม่ยอมลงทุนในอุปกรณ์
ลงทุนขนาดช่องความถี่ของระบบสื่อสารที่เหมาะสม และลงทุนจ้างพนักงานที่มีคุณภาพ
ย่อมจะส่งผลสู่การบริการที่ไม่มีคุณภาพจนทำให้เกิดความเสียหายได้ ประเด็นสำคัญ ๆ ที่ต้องกำหนดไว้ในสัญญา
ประกอบด้วยเรื่อง Uptime (ปริมาณเวลาในหนึ่งเดือนที่ระบบคลาวด์ต้องทำงานได้เป็นปกติ หรืออีกนัยหนึ่ง
เป็นการสัญญาว่าระบบคลาวด์ต้องไม่ติดขัด หยุดชะงัก
หรือทำงานไม่ได้ไม่เกินกี่ครั้งภายในหนึ่งเดือน หรือทำงานไม่ได้รวมกันยาวนานเป็นกี่นาที
หรือกี่ชั่วโมงต่อเดือน) มีข้อตกลงเรื่องความเร็วในการประมวลผล (Throughput และ
Response time) และจำนวนผู้ใช้ที่สามารถทำงานพร้อมกันได้โดยไม่ชักช้า
หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการสัญญาว่าต้องสามารถบริการจำนวนผู้ใช้พร้อมกันได้กี่คน ข้อตกลงข้อนี้ต้องกำหนด
Performance ที่เหมาะสม ไม่เกินความจำเป็น
เนื่องจากคุณภาพการให้บริการนั้นเกี่ยวข้องกับการคิดค่าบริการ
ถ้ากำหนดคุณภาพสูงเกินไป ผู้ใช้บริการอาจต้องจ่ายค่าบริการสูงเกินความจำเป็น
เป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่ได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการคลาวด์ยังต้องสามารถตอบโจทย์ของตนเองทางธุรกิจ
เช่นต้องการเข้าถึงลูกค้าได้โดยง่ายและกว้างขวาง หรือต้องการลดความเสี่ยง
หรือต้องการใช้ Functions และ Feature ใหม่
ๆ ที่ตนเองยังไม่มีใช้ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องกำหนดไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน ในกรณีถ้าผู้ใช้ใช้บริการคลาวด์ในกลุ่มงานที่เป็น
Mission Critical ที่เป็นความเป็นความตายขององค์กร
อาจจำเป็นต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกให้ช่วยติดตามประเมินคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ให้บริการสามารถบริการอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องตามที่สัญญาไว้
3.4. มาตรการแก้ไขปัญหา
สัญญาข้อนี้เป็นการกำหนดวิธีแก้ปัญหาการบริการคลาวด์เมื่อเกิดปัญหาขึ้น
เช่นระบบไอซีทีทำงานล่าช้าผิดปกติ อุปกรณ์บางส่วนหรือทั้งระบบทำงานไม่ได้
ระบบงานเกิดการ Shutdown โดยไม่รู้สาเหตุ ฐานข้อมูลล่มสลาย ข้อมูลสูญหาบางส่วนหรือทั้งหมด
การประมวลผลผิดพลาด หรือแม้กระทั่งเมื่อระบบงานถูกไวรัสโจมตี เหล่านี้เป็นต้น นอกจากต้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาแล้ว
ผู้ให้บริการยังต้องกำหนดระยะเวลาแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องในแต่ครั้ง
ข้อกำหนดเหล่านี้ต้องถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และจะต้องมีบทปรับเมื่อผู้ให้บริการไม่สามารถทำตามข้อสัญญา
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดข้อสัญญาเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดเพื่อหลีกเลี่ยงการโต้แย้งเมื่อเกิดกรณีขึ้น
ข้อตกลงในข้อนี้ ผู้ใช้บริการอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบในบางเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในสัญญาด้วย
เช่นผู้ใช้บริการต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพ และได้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อทำงานกับระบบคลาวด์
ผู้ใช้บริการต้องทำงานตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ใช้ระบบคลาวด์ที่นอกเหนือจากงานที่ได้ตกลงกัน
รวมทั้งจำกัดการใช้บริการ (จำนวน End users และปริมาณข้อมูล)ไม่ให้เกินตามข้อตกลง เป็นต้น
3.5. ค่าบริการ
ข้อตกลงข้อนี้ต้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการคลาวด์นั้นประกอบด้วยรายการใด
มีการแสดงวิธีคำนวณคิดค่าบริการด้วย
ที่สำคัญต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินทุกรายการให้ชัดเจน
3.6. หน้าที่ของผู้ใช้บริการ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การใช้บริการคลาวด์
ผู้ใช้บริการมีส่วนต้องรับผิดชอบเพื่อให้การใช้บริการนั้นมีคุณภาพ ดังนั้น
ผู้ให้บริการอาจขอให้กำหนดหน้าที่ของผู้ใช้บริการในสัญญาด้วย แต่ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับชนิดของงานและประเภทบริการที่ใช้ (IaaS, PaaS, SaaS, และหรือ BPaaS, ฯลฯ)
เช่นผู้ใช้ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหาย
เช่นบันทึกข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์หรือผิดกฎหมายเข้าไปในระบบ ผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบในความสมบูรณ์ของระบบซอฟต์แวร์
(ซอฟต์แวร์ที่ไม่มี Bug) นอกจากนี้
ผู้ใช้ต้องให้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้ผู้ให้บริการนำไปปรับปรุงการบริการอย่างมีคุณภาพตามข้อตกลง
3.7. การรับประกัน
ข้อตกลงข้อนี้เป็นการบังคับให้ผู้ให้บริการทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ในสัญญา
โดยเฉพาะข้อเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการตามข้อ 3.3 มาตรการแก้ปัญหาในข้อ 3.4 รวมทั้งการรักษาความลับของข้อมูลและข้ออื่น ๆ ที่จะกล่าวต่อไป และเมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาไม่ว่ากรณีใด
ก็จะมีบทปรับที่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เงื่อนไขในข้อนี้มักจะมีการเจรจาต่อรองกันระหว่างทั้งสองฝ่ายก่อนจะบันทึกลงในสัญญา
ดังนั้น ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีผู้ชำนาญการที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการ
เพื่อไม่เกิดความเสียเปรียบ
3.8. ความมั่นคงปลอดภัย
เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยเป็นข้อกังวลที่อยู่ในใจของผู้ใช้บริการคลาวด์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่
1 จึงจำเป็นที่ผู้ใช้บริการต้องศึกษาอย่างระมัดระวังถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อกังวลนี้
โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบงาน
ผู้ให้บริการต้องเสนอมาตรการที่จะกู้คืนข้อมูลที่สูญหาย เมื่อเกิดเหตุร้ายนี้ขึ้น
เป็นต้น
3.9. การปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย
กรณีที่ผู้ใช้บริการเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของวิชาชีพ
หรือตามกฎหมายบ้านเมือง เช่นองค์กรที่เป็นบริษัทจดทะเบียน สถาบันการเงิน
สำนักงานตรวจสอบ ฯลฯ
ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการดูแลรักษาข้อมูลไม่ให้รั่วไหลสู่ภายนอก
หรือไม่ละเลยจนทำให้เกิดความเสียหาย
ผู้ให้บริการต้องระบุรายละเอียดในเรื่องวิธีการที่จะช่วยทำตามข้อปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่กล่าว
รวมทั้งมาตรการแก้ไขเมื่อมีเหตุอันไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น
3.10. การรักษาความลับของข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญา
ซอฟต์แวร์เป็นตัวอย่างของทรัพย์สินทางปัญญา
ในการใช้บริการคลาวด์นั้นมีโอกาสที่จะใช้ซอฟต์แวร์ของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
นอกจากนี้ข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้บริการที่เข้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการอันเนื่องมาจากการใช้บริการ
เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการต้องรักษา ในกรณีที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องให้บริการผ่านบุคคลที่สาม
เป็นเหตุให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการไปตกอยู่ในมือของบุคคลที่สามซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ
ผู้ให้บริการต้องกำหนดมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลไม่ว่ากรณีใด
ๆ
3.11. การป้องกันความรับผิด (Liability protection)
เนื่องจากผู้ให้บริการคลาวด์อาจติดตั้งระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อยู่ในหลาย
ๆ ประเทศ ในกรณีนี้ ข้อมูลของผู้ใช้บริการอาจถูกกระจายไปประมวลผลอยู่ตามเครื่องคอมพิวเตอร์ในหลาย
ๆ ประเทศแบบอัตโนมัติ ประเด็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการต้องตระหนักคือ
บางประเทศอาจมีข้อห้ามในการประมวลผลข้อมูลบางประเภท
เช่นข้อมูลอันเป็นความลับของทางราชการบางอย่าง ข้อมูลเกี่ยวกับความลับของบุคคล
หรือเกี่ยวกับลัทธิ หรือเกี่ยวกับศาสนา หรือข้อมูลต้องห้ามอื่น ๆ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ให้บริการอาจถูกสั่งห้ามไม่ให้ประมวลผลจากประเทศบางประเทศ
เป็นเหตุให้การใช้บริการต้องหยุดชะงัก
ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องศึกษาร่วมกับผู้ให้บริการล่วงหน้าก่อนจะเริ่มใช้บริการ เพื่อให้รู้ว่ากลุ่มประเทศที่จะมีโอกาสประมวลข้อมูลของตน
รวมทั้งเงื่อนไขและความเสี่ยงที่อาจละเมิดกฎหมายด้านประมวลข้อมูลบางประเภทของประเทศเหล่านั้น
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว
และให้มั่นใจว่าข้อตกลงในสัญญาจะต้องระบุอย่างชัดเจนคือการป้องกันความรับผิด (Liability protection) ในกรณีที่เกิดคดีที่กล่าว
และผู้ให้บริการจะต้องเข้าใจลักษณะข้อมูลของตนที่จะใช้บริการประมวลผลผ่านระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการ
และจะต้องหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะถูกดำเนินคดีอันเป็นเหตุให้การบริการประมวลผลของตนต้องหยุดชะงักทำให้เกิดความเสียหาย
3.12. การทบทวนสัญญา
เนื่องจากการบริการคลาวด์ยังมีการพัฒนาไปเรื่อย
ๆ มีโอกาสที่จะปรับปรุงและเพิ่มเติม Function/Features ให้ดีขึ้นและสมบูรณ์ขึ้นตลอดเวลา เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก
ดังนั้น
จึงจำเป็นต้องร่วมกับผู้ให้บริการติดตามการเปลี่ยนแปลงในด้านความสามารถของคลาวด์คอมพิวติ่ง
ถ้าจำเป็นอาจทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้บริการให้เหมาะสมและทันสมัย ดังนั้นตัวสัญญาจะต้องเปิดโอกาสให้ปรับปรุงแก้ไขได้ตามสถานการณ์
ถ้าจำเป็น
3.13. การยกเลิกสัญญา
เหมือนสัญญาทั่วไป
จำเป็นต้องเปิดช่องให้คู่สัญญาสามารถบอกเลิกสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ เมื่อจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา ก็มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ต้องกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของของข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้บริการสามารถอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูลตามกฎหมายได้
พร้อมด้วยขั้นตอนที่จะโอนย้ายข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการไปสู่ระบบใหม่
และกำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
3.14. การดำเนินการ
เป็นการกำหนดตารางเวลาทำงาน ตั้งแต่การโอนย้ายงานจากระบบเดิม
หรือระบบงานใหม่เพื่อใช้บริการคลาวด์ ไปจนถึงวันที่พร้อมให้บริการ End-users ได้ ที่จะลืมไม่ได้คือ
ภายในตารางทำงานที่ตกลงกับผู้ให้บริการ ต้องกำหนดสิ่งที่ต้องส่งมอบ หรือผลผลิต (Deliverables)
สำคัญ ๆ ตลอดช่วงเวลาการทำงานตามสัญญา
ทั้งหมดที่บรรยายมาข้างต้น
เป็นเพียงตัวอย่างของเงื่อนไขสัญญาการใช้บริการคลาวด์
เงื่อนไขข้อตกลงจริงย่อมจะเปลี่ยนแปลงตามบริบทของโครงการและเจ้าของงาน
ผู้ใช้บริการคลาวด์จำเป็นต้องมีพนักงานที่มีความรู้ในการเจรจากับผู้ให้บริการ
ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ทั้งหมดนี้ หวังว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังตัดสินใจจะใช้บริการคลาวด์
ข้อมูลชุดนี้สามารถใช้เป็นกรอบเพื่อการทำสัญญาบริการคลาวด์
อย่างน้อยได้ในระดับหนึ่ง
[1] Hugos,
Michael H., Hulitzki, Derek, “Business in The Cloud: What Every Business Needs
To Know About”, John Wiley & Sons, Inc., New Jersey, 2010.
No comments:
Post a Comment