Monday, October 28, 2013

ทิศทางของไอซีทีปี 2014 ในสายตาของ Gartner ตอนที่ 2



บทความ “Top Strategic Technologies for 2014”  ของ Gartner ทั้งหมดมี 10 เรื่อง  ตอนที่แล้ว ได้นำเสนอไป 5 เรื่อง บทความตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ จะนำเสนอที่เหลืออีก 5 เรื่อง

Gartner’s the Top 10 Strategic Technology Trends for 2014 (Continue)

6.          ยุคของคลาวด์ส่วนบุคคล (The Era of Personal Cloud)

Gartner พยากรณ์ว่าคนเราจะใช้คลาวด์ส่วนบุคคล (Personal Cloud) มากขึ้น มีทั้งคลาวด์ส่วนบุคคลชนิดบริการจากภายนอก เช่น Dropbox, Box, iCloud, Google Drive, SkyDrive ฯลฯ และชนิดที่ใช้อุปกรณ์ (Appliances) ของตนเอง ขณะนี้เราหาซื้อเครื่อง Personal Cloud เพื่อใช้เองได้ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ เช่น My Book Live ของ Western Digital, Seagate Central, LenovoEMC ฯลฯ ก่อนยุค Personal Cloud เรานิยมเก็บข้อมูลทุกชนิด เช่นจดหมาย เอกสาร รูปภาพ รูปถ่าย วิดีโอ ฯลฯ ไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งเครื่องพีซี  แล็ปท๊อป อุปกรณ์พกพาต่าง ๆ  อุปกรณ์แต่ละเครื่องเก็บข้อมูลอย่างอิสระ ผู้ใช้ต้องอาศัยอุปกรณ์ตัวที่บันทึกข้อมูลโดยเฉพาะเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ ชีวิตเราต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่มีข้อมูลบันทึกอยู่ เมื่อไรอุปกรณ์เกิดสูญหาย ชีวิตเราก็คงยุ่งยากมากและไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม แต่ในยุคของ Personal Cloud เราเลิกพึ่งพิงอุปกรณ์ แต่กลายมาพึ่งพิงบริการคลาวด์ส่วนบุคคลแทน ที่สำคัญข้อมูลที่เก็บไว้ใน Personal Cloud สามารถเรียกกลับใช้ได้ด้วยเครื่องตัวไหนก็ได้ ไม่ยึดติดกับตัวอุปกรณ์ตัวเดิมอีกต่อไป คนเราเริ่มเป็นอิสระจากอุปกรณ์ เราจะทำงานเมื่อไร ที่ไหน ด้วยอุปกรณ์ตัวไหน ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้อย่างสะดวกผ่านบริการ Personal Cloud  นอกจากนี้ ข้อมูลที่เก็บอยู่กับคลาวด์ส่วนบุคคลยังใช้ร่วมกับคนอื่นได้ เมื่อได้รับการอนุมัติจากเจ้าของแล้ว เพิ่มความสะดวกในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างมาก

7.         ซอฟต์แวร์กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง (Software-Defined Anything)
เพื่อความเข้าใจการพยากรณ์ในข้อนี้ จำเป็นต้องเข้าใจที่มาที่ไปของ Software-Defined Anything (SDx) ในยุคของคลาวด์คอมพิวติง ศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการรายสำคัญ ๆ มักจะเป็นศูนย์ขนาดใหญ่มาก มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตู้บันทึกข้อมูล และตู้ควบคุมการทำงานของระบบเครือข่ายจำนวนมาก ไม่เพียง 10-20 ตู้ แต่อาจมีถึงพัน ๆ หมื่น ๆ หรือแสน ๆ ตู้ การบริหารจัดการให้ระบบไอซีทีที่มีอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ จำนวนมหาศาลนี้ให้ทำงานอย่างราบรื่น มีวิธีบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย ๆ การบริหารศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากนี้ ไม่ง่ายเหมือนเช่นบริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ Mainframe เมื่อ 30-40 ปีก่อน  แม้แต่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของภาคธุรกิจธรรมดาในปัจจุบัน เช่นสถาบันการเงิน ก็ยังมีตู้คอมคอมพิวเตอร์ Servers, Data storage, Network และอุปกรณ์อื่น ๆ  เป็นจำนวนมากกว่ายุคก่อน ๆ  จนการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลแบบเดิม ที่อาศัยความชำนาญของวิศวกรและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์นั้นทำไม่ได้อีกต่อไป ลองจินตนาการดูว่าเรากำลังทำงานกับระบบงานภายใต้ Virtualization เมื่อเกิดติดขัด มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคด้วยประการใดก็ตาม เราจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร อะไรคือจุดเริ่มต้นของฐานข้อมูล โปรแกรมที่เกี่ยวข้องทำงานอยู่กับเครื่อง Server ตัวไหนในขณะเกิดเหตุ  Node ของเครือข่ายเริ่มที่จุดไหน การวินิจฉัยปัญหาด้วยวิธีการโดยผู้ชำนาญการอย่างเดียวแบบเดิมไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน ทางออกคือต้องอาศัยซอฟต์แวร์เป็นตัวช่วย  ซอฟต์แวร์พิเศษจะถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุม ประสานงานระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลก พร้อมติดตามและจดจำงานทุกขั้นตอน เก็บข้อมูลไว้เพื่อช่วยการวินิจฉัยปัญหาและวิเคราะห์หาทางแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดความจำเป็น  นี่คือที่มาของคำว่า Software-defined  ซึ่งหมายความถึงมีซอฟต์แวร์กำหนดวิธีการทำงานและติดตามการทำงานทุกขั้นตอนของอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการประสานงานและร่วมทำงานกันระหว่างกลุ่มทรัพยากรไอซีที  เรามี Software-defined network (SDN) คือระบบเครือข่ายที่มีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่จัดรูปแบบ (Configure) และควบคุมการทำงานของระบบเครือข่ายจากจุดเดียว เรามี  SDDC (Software-defined data center) ที่มีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลที่อาศัย Virtualization เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรไอที นอกจากนี้ยังมีระบบซอฟต์แวร์ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย การจัดการระบบเครือข่าย การจัดการระบบฐานข้อมูล ฯลฯ เรายังมี SDS (Software-defined storage) ที่มีหลักการเดียวกันกับ SDN คืออาศัยซอฟต์แวร์จัดการและควบคุมการทำงานของเครื่องบันทึกข้อมูล และจัดการให้กลุ่มเครื่องบันทึกข้อมูลทำงานภายใต้หลักการของ Virtual Storage 

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่าการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ และการดำเนินงานภายในศูนย์คอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ต้องอาศัยซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมและประสานการทำงานในทุกขั้นตอน นี่คือความหมายของ Software-defined Anything หรือ SDx โดยย่อ  การแก้ไขปัญหาและการกู้คืนระบบงานบางระบบในบางขณะจากจำนวนงานนับร้อยนับพันงานที่ทำพร้อมกันในขณะเกิดเหตุนั้น ปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากระบบฮาร์ดแวร์ แต่เกิดจากระบบซอฟต์แวร์ชุดหนึ่งชุดใด การแกะรอยและการวินิจฉัยปัญหาจึงต้องอาศัยความรู้ทั้งขั้นตอนการทำงานและกระแสงานที่ไหลเวียนอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ และความรู้เกี่ยวกับตัวระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ และซอฟต์แวร์ระดับ Middleware ทุกระบบ ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ผู้มีหน้าที่แกะรอยเพื่อหาทางแก้ไข Software-defined Anything จึงรวมถึง Software-defined Application ด้วย
Software-defined Application เป็นการสร้างซอฟต์แวร์ที่กำหนดแนวทางดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้น ๆ  ในระหว่างการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Development) จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญด้าน Operation อยู่ในทีมคอยให้คำปรึกษาในด้าน Operation กระบวนการเช่นนี้รู้จักกันในชื่อว่า DevOp  หรือการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Development) ที่รวมขั้นตอนด้านการดำเนินงานในศูนย์ข้อมูล (Operation)   ผลที่ได้คือมี Software-defined Operation เป็นส่วนหนึ่งของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ เป็นผลให้ได้ Software-defined Application ตามที่กล่าว
Software-Defined Anything จำเป็นต้องอาศัยมาตรฐานเพื่อให้อุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีของศูนย์ข้อมูลและระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์สามารถทำงานบูรณาการอย่างเป็นระบบกลมกลืนกัน เพื่อให้การซ่อมบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มาตรฐานของการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างยี่ห้อต่างรุ่นมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เป็นประโยชน์แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ในเรื่องนี้ Gartner ได้พยากรณ์ว่า Open Source software จะมีบทบาทมากเพื่อขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ด้วยซอฟต์แวร์ ดังจะเห็นจากความพยายามผลักดันของกลุ่ม Open source ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายโครงการ ตัวอย่างเช่น
1)         OpenStack เป็นโครงการเกี่ยวกับมาตรฐานเทคโนโลยีของคลาวด์คอมพิวติง เน้นบริการ Infrastructure as a Service (IaaS)
2)         OpenFlow เป็นโครงการเกี่ยวกับมาตรการการสื่อสารข้อมูล (Communications protocol) สนับสนุน Software-Defined Network (SDN)
3)         OpenCompute เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย Facebook เพื่อกำหนดมาตรฐานการออกแบบและการสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มาก รวมทั้งมาตรฐานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ไอซีที ที่จะเป็นส่วนประกอบของศูนย์ข้อมูล
4)         OpenRack เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ OpenCompute เกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานของตู้ชั้นวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Servers, data storage unit, routers, power supply, ฯลฯ

Gartner กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการก่อตัวของกลุ่ม Consortiums เพื่อร่วมกันพัฒนามาตรฐานอย่างจริงจังก็ตาม แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงจะร่วมมืออย่างจริงใจและจริงจัง เนื่องจากบริษัทกลุ่มนี้เป็นผู้ครอบงำด้านราคาซึ่งสร้างกำไรได้ดีอยู่ การใช้มาตรฐานร่วมกันหมายถึงการมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้กำไรของตัวเองลดลง ซึ่งพวกเขายังไม่พร้อมที่จะเสี่ยงในช่วงที่ยังเป็นผู้นำตลาดอยู่

8.         Web-Scale IT
ศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์อย่างเช่นของ Facebook, Google และ Amazon มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือมีขนาดใหญ่มาก ๆ ที่สามารถรับมือกับรายการเป็นพัน ๆ ล้านรายการต่อวัน Gartner เรียกศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์เหล่านี้ว่า “Web-scale Data Center”  ประมาณร้อยละ 20 ของศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Hyperscale หรือ Web-scale ศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ให้บริการสาธารณะ อย่างเช่น Google และ Facebook  และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลขององค์กรขนาดใหญ่ เช่นของรัฐบาล สถานบันการเงิน ฯลฯ Gartner พยากรณ์ว่าองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มคิดจะนำสถาปัตยกรรมของศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ไปใช้ในองค์กรมากขึ้น เพื่อให้สามารถบริการและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิดทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ๆ ซึ่งเป็นวิธีกินแดนตลาดให้กว้างขวางด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าผ่านศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์นี้
แต่องค์กรเหล่านี้จะเริ่มเข้าใจว่า การขยายศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์นั้น ความยุ่งยากไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่อยู่ที่การออกแบบให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับประเด็นของการบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาและกู้คืนระบบงานให้สามารถกลับทำงานได้ตามปกติโดยเร็ว โดยไม่กระทบผู้ใช้แต่อย่างใด และต้องนำแนวคิด DevOp มาประยุกต์ดังที่ได้กล่าวมาในเรื่องของ Software-defined Anything  ทักษะการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่สามารถให้บริการอย่างยืดหยุ่น สามารถแก้ปัญหา ณ จุดวิกฤตที่สุด เป็นสิ่งท้าทายที่สุดในการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

9.         Smart Machine
Gartner พยากรณ์ว่าในราวปี 2020 เครื่องจักรกลที่มีอัจฉริยภาพ หรือ Smart Machine หรือเครื่องจักรที่ฉลาด สุดแล้วแต่ใครจะเรียก จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจจนเป็นผลต่อการจ้างงานระดับกลาง เหมือนในยุคที่เครื่องจักรกลอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีผลต่อการจ้างแรงงานระดับล่างในโรงงานอุตสาหกรรม แต่อะไรคือ Smart Machine
Smart Machine คือเครื่องจักรกลที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดความเป็นอัจฉริยะ รถยนต์รุ่นใหม่ที่จอดเองได้ ในอีกปีสองปีข้างหน้ารถยนต์จะสามารถทำตามคำสั่งผ่านเครื่องโทรศัพท์พกพา เราสั่งให้รถขับมารับจากที่จอด หรือเตือนคนขับล่วงหน้าก่อนที่จะขับชนสิ่งกีดขวาง เหล่านี้เป็นตัวอย่างของ Smart Machine สมัยใหม่ ที่น่าทึ่งมากคือระบบคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มชื่อ Watson คอมพิวเตอร์ชุดนี้เข้าใจและตอบคำถามด้วยภาษามนุษย์ได้ และเคยผ่านการทดสอบที่ฮือฮามากในโปรแกรมโทรทัศน์ยอดนิยมของชาวอเมริกัน คือ Jeopardy!  ในการทดสอบครั้งนั้น Watson สามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นมนุษย์ได้อย่างขาดลอย ไอบีเอ็มให้ข่าวว่างานในเชิงพาณิชย์ชิ้นแรกของ Watson คือการวินิจฉัยโรคมะเร็งในปอด เพื่อแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด Smart Machine นอกจากจะทำงานแบบอัตโนมัติได้ ยังคิดเองได้ และเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เพราะเป็นเครื่องจักรที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่รวม Intelligent software agents, expert systems  และ  Virtual Reality ที่จะเสริมความสามารถของหุ่นยนต์รุ่นใหม่ งานใด ๆ ที่มนุษย์ทำได้โดยอาศัยความรู้เพื่อวินิจฉัยและตัดสินใจ ก็จะสามารถทำได้ด้วย Smart Machine เช่นกัน  กลุ่ม Smart Machine ที่ถูกนำมาช่วยทำงานในสำนักงาน หรือในโรงงานเรียกว่า “Digital Workforce” หรือ แรงงานดิจิตอล ในขั้นแรกเครื่องจักรชนิดนี้จะสามารถทำงานอาศัยความรู้พื้นฐานแทนมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะที่ช่วยให้ทำงานสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นได้ สิ่งจูงใจที่ทำให้ธุรกิจหันมาสนใจใช้ Smart Machine ทดแทนมนุษย์เป็นเพราะค่าแรงคนระดับที่มีความรู้นั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์กล่าวว่าโดยเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานสูงถึงประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ในบางธุรกิจ ในสภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย การใช้ Smart Machine ดูเสมือนจะเป็นทางออกที่ดี
                  Gartner พยากรณ์ว่าในระยะเริ่มต้น Smart Machine จะเข้ามารับบทบาทแทนมนุษย์ในงานเช่น เป็นผู้ช่วยและเป็นที่ปรึกษาในด้านข้อมูลและความรู้ ช่วยให้คนสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้านทั้งปัจจุบันและอนาคตได้แม่นยำขึ้น ตลอดจนเป็นผู้ช่วยในด้านปฏิบัติงานบางอย่างที่จะอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลา เช่นรถยนต์ที่ขับเองได้โดยอัตโนมัติ เครื่องจักรช่วยทำงานบ้านได้ และเป็นผู้ช่วยส่วนตัวเพื่อทำงานประจำอื่น ๆ  สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเป็นงานที่ทำได้ด้วยมนุษย์เท่านั้น บัดนี้เริ่มจะทำได้ด้วยเครื่องจักร  Gartner กล่าวว่าความสามารถของไอทีที่ทำให้เกิด Smart Machine ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รุนแรงครั้งสำคัญที่สุด (Disruptive) ในประวัติศาสตร์
              ที่น่าสนใจ Gartner เชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า Cosumerization เกิดขึ้นกับ Smart Machine,  Cosumerization หมายถึงเทคโนโลยีไอซีทีใหม่บางชนิดที่สร้างความนิยมในหมู่ผู้บริโภค ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดธุรกิจหรือองค์กร ตัวอย่างเช่นเครื่องแท็บแล็ตและสมาร์ทโฟน  ซึ่งต่างจากเครื่องพีซีที่เข้าสู่ตลาดภาคธุรกิจก่อนที่ประชาชนธรรมดาจะเริ่มซื้อใช้เป็นสมบัติส่วนตัว ในกรณีของ Smart Machine นั้น Gartner พยากรณ์ว่า มีแนวโน้มที่พนักงานจะลงทุนซื้อใช้เอง เพื่อการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองก่อนหรือระยะเวลาเดียวกันกับที่องค์กรเริ่มตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม ยุคของ Smart Machine ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ธุรกิจที่ปรับใช้ Smart Machine ได้ก่อน จะได้เปรียบด้านการแข่งขันเนื่องจากต้นทุนจะต่ำกว่า และมีความคล่องตัวสูงในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ การผลิตด้วยวิธีทดแทนใช้แรงงานคนด้วยหุ่นยนต์ย่อมทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า Gartner  ยังกล่าวว่างานด้านไอทีจะมีโอกาสถูกระทบจาก Smart Machine เป็นรายต้น ๆ จึงแนะนำผู้นำด้านไอทีว่า
1)         ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มและผลจาก Smart Machine อย่างจริงจัง
2)         ศึกษาผลกระทบที่จะมีต่อการดำเนินงาน (Operation) ในหน่วยงานไอทีขององค์กร (ให้เชื่อมโยงกับการพยากรณ์อีก 2 เรื่องที่กล่าวมาแล้ว คือ Software-defined Anything และ Web-Scale IT)
3)         เตรียมหามาตรการแก้ไขปัญหาคนว่างงานโดยต้องคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และปัญหาทางสังคม


10.   3-D Printing
ลองคิดสักนิดว่า ถ้าเราสามารถออกแบบรูปขนมหวานช็อคโกแลตด้วยฝีมือสมัครเล่นของเราเองผ่าน Digital art โดยเครื่องมือวาดภาพ 3 มิติ เช่น Blender ที่บ้าน แล้วส่งผลงานอันน่าประทับใจไปยังโรงงานทำขนมหวานช็อคโกแลตผ่านอินเทอร์เน็ต วันรุ่งขึ้น ทางโรงงานส่งขนมมาให้เราที่บ้าน หรือไปให้เพื่อน ๆ ในงานวันเกิด หรือวันระลึกถึงอะไรต่อมิอะไร คงจะน่าตื่นเต้นและประทับใจมากไม่น้อย ความสามารถนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยได้ทดลองทำขนมหวานช็อคโกแลตที่กล่าวด้วยเครื่อง 3D Printer หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 
พวกเราทุกคนคงเคยทำฟันเทียมกันมาแล้ว คงยังจำวิธีที่หมอนำดินน้ำมันเหนียว ๆ มาปะบนฟันเต็มปากเพื่อทำรูปฟัน หรือ Dental model เพื่อไปหล่อทำแบบ แล้วนำไปทำเป็นฟันเทียมมาใส่ให้พวกเรา รู้ไหมว่าทุกวันนี้พวกเรามีทางเลือกใหม่ แทนที่จะใช้ดินน้ำมันมาปะให้เปื้อนปาก เขาใช้เครื่องสแกนปาก เพื่อให้ได้ภาพฟันเต็มปากในรูปสามมิติดิจิตอล คือเป็นภาพสามมิติในรูปข้อมูลคอมพิวเตอร์  ข้อมูลชุดนี้ถูกส่งไปโรงงานทำเป็นแม่พิมพ์ (Mold) ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ข่าวว่าผลที่ได้นั้นเที่ยงตรงกว่าวิธีเดิมมาก ฟันเทียมใส่พอดีปากและสวยงามตามต้องการ
ประโยชน์ของ 3D Printer ไม่เพียงตัวอย่างที่กล่าว แต่คนเราใช้ 3D Printer ออกแบบชิ้นส่วนของเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกชนิด เราสามารถออกแบบสินค้าและสิ่งต่าง ๆ ที่มีกายภาพทุกชนิดด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ แล้วนำข้อมูลส่งไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่กล่าว ได้ผลออกมาเป็นของจริงที่จับต้องได้ แล้วนำไปสร้างต้นแบบส่งเข้าสายการผลิตเป็นสินค้าจริงต่อไป นี่คือปรากฏการณ์พัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Gartner พยากรณ์ไว้เป็น 1 ใน 10 อันดับที่จะมีความสำคัญต่อมนุษย์ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป
Gartner พยากรณ์ว่า จำนวนเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ถูกผลิตส่งลูกค้าทั่วโลกในอีกสองปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าหนึ่งเท่าตัว เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ตลาดต้องการในขณะนี้มีราคาระหว่าง 1.5 ล้านถึง 15 ล้านบาท ตลาดนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในตลาดผู้บริโภค สาเหตุหนึ่งของความนิยมที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะช่วยลดต้นทุนการออกแบบได้จริง นอกจากนี้ยังทำต้นแบบที่มีคุณภาพดีกว่าเทคนิคเดิมมาก ที่สำคัญคือลดเวลาการพัฒนาต้นแบบ และลด Time to market ได้เป็นอย่างดีด้วย

              ทั้งสิบข้อนี้คือการพยากรณ์แนวโน้มเทคโนโลยีปี 2014 ของ Gartner ที่น่าสนใจ หลาย ๆ หัวข้อเป็นเรื่องที่หลายคนได้คาดหมายไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่การตอกย้ำของ Gartner ทำให้เรามีความมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน การพยากรณ์จะผิดหรือถูก จะเกิดช้าหรือเร็วนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือทำให้เราตระหนักว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้น ทำให้เรามีกรอบในการพัฒนาและเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าดีกว่าคนอื่น


No comments:

Post a Comment