Saturday, October 26, 2013

ทิศทางของไอซีทีปี 2014 ในสายตาของ Gartner ตอนที่ 1




เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา Gartnerได้เผยแพร่การพยากรณ์เรื่องทิศทางไอซีที ที่เรียกว่า “Top Strategic Technologies for 2014”  ซึ่งหมายถึง  เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่มีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบแก่องค์กรในช่วงสั้น ๆ (3 ปีข้างหน้า)  เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีโอกาสนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ธุรกิจ จึงจำเป็นที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ และพิจารณาลงทุนในด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง  มิฉะนั้นมีความเสี่ยงที่จะตามคู่แข่งไม่ทันได้การพยากรณ์ครั้งนี้ก็เหมือนเช่นเคย มีทั้งหมด 10 รายการ
              ผมพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาฉบับภาษาอังกฤษฉบับย่อ (เพราะไม่มีตังซื้อฉบับใหญ่) และเรียบเรียงให้พอได้ใจความในประเด็นสำคัญ ๆ เป็นภาษาไทย หวังให้ผู้บริหาร หรือผู้ที่สนใจไอซีที แต่ไม่อยู่ในสายเทคนิคโดยตรง ได้มีโอกาสรับรู้พัฒนาการของไอซีทีที่เป็นอยู่ในขณะนี้ที่จะมีผลกระทบต่อกิจการงานและอาชีพของทุกคนทุกอาชีพในอนาคตอันใกล้ ผมได้พยายามเรียบเรียงให้ตรงตามความหมายฉบับภาษาอังกฤษให้มากที่สุด แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ตรงเลยทีเดียว จึงขอแนะนำว่า ถ้าจำเป็น ควรหาโอกาสอ่านจากฉบับภาษาอังกฤษเพื่อความชัดเจนและถูกต้องเพิ่มขึ้น ฉบับภาษาอังกฤษหาได้จาก http://www.gartner.com/newsroom/id/2603623

Gartner’s the Top 10 Strategic Technology Trends for 2014

1.          ความหลากหลายของอุปกรณ์พกพาและการจัดการ (Mobile device diversity and management)
Gartner พยากรณ์ว่าอุปกรณ์พกพา (Mobile device) จะเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น จำนวนพนักงานที่นำอุปกรณ์พกพาส่วนตัวไปทำงาน (Mobile workforce) จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ก็ติดปัญหาที่องค์กรยังคงจำกัดการเชื่อมต่ออุปกรณ์พกพาเข้ากับระบบสารสนเทศขององค์กรด้วยเหตุผลของความปลอดภัย ทำให้พนักงานยังไม่สามารถทำงานในลักษณะทุกอย่าง-ทุกที่-ทุกเวลาได้ การนำอุปกรณ์พกพาส่วนตัวไปใช้ในกิจการขององค์กร เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Bring your own device (BYOD)”  เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้บริหารต้องทบทวนนโยบายกันอย่างจริงจัง องค์กรจะต้องมีความชัดเจนว่า ให้พนักงานใช้อุปกรณ์พกพาส่วนตัวทำอะไรได้แค่ไหน และต้องให้มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัยกับความสะดวกและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
การพยากรณ์ของ Gartner ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า จากนี้ไป เมื่ออุปกรณ์พกพามีความสามารถมากขึ้น  ประชากรโลกก็จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่คนเราจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานทุกชนิดได้แบบทุกที่และทุกเวลา  ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการติดต่อกัน การทำงาน และการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจะกดดันภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ ให้ทบทวนยุทธศาสตร์ด้านบริการใหม่เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

2.         ซอฟต์แวร์แบบใช้กับอุปกรณ์พกพากับซอฟต์แวร์ระบบงานขนาดใหญ่ (Mobile apps and application)
Mobile apps ในที่นี้หมายถึงโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ทำงานกับอุปกรณ์พกพา รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า “app” ส่วน Application หมายถึงระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่ทำงานอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ Server โปรแกรม apps กับ applications ทำงานร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดย apps ทำงานเป็นส่วนหน้า (front stage) และ applications ทำงานอยู่ส่วนหลัง (back stage)  
Gartner พยากรณ์ว่าเนื่องจากภาษาคอมพิวเตอร์ JavaScript จะเพิ่มความสามารถมากขึ้นเป็นผลให้ภาษา HTML5 และระบบบราวเซอร์ (Browser) กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ระดับองค์กร (Enterprise application) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบซอฟต์แวร์ในส่วนติดต่อประสานกับผู้ใช้ (User Interface) โดยใช้เทคโนโลยีเสียงพูดและวิดีโอด้วยเพื่อสื่อสารกับผู้ใช้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
Gartner ยังพยากรณ์ว่าซอฟต์แวร์กลุ่ม apps จะเพิ่มบทบาทมากขึ้น ในขณะที่ซอฟต์แวร์กลุ่ม Applications จะค่อย ๆ ลดบทบาทลง เนื่องจากความสามารถของอุปกรณ์พกพาที่เพิ่มมากขึ้น     ซอฟต์แวร์ประเภท apps มีขนาดเล็กและทำงานเจาะจงกว่า เช่น apps ที่ทำหน้าที่เฉพาะจองห้องพัก  หรือ app ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาร้านค้าที่เสนอส่วนลดราคาพิเศษประจำวัน  ในขณะที่  Application จะทำงานครอบคลุมกว้างขวางกว่า เช่นระบบบริหารงานโรงแรม มีหน้าที่ตั้งแต่บริการจองห้องพักและงานอื่น ๆ ที่ Front office ตลอดจนถึงงาน Back office และงานบริการร้านอาหาร  นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องสร้าง apps ในลักษณะที่สามารถทำงานบูรณาการสนับสนุนขั้นตอนการทำงานของกระบวนงานที่ครบวงจรได้ เช่นกลุ่ม apps ที่ทำหน้าที่บริการลูกค้าจองห้องพัก  มี app บริการ Check-in และอีก app หนึ่งทำหน้าที่บริการ Check-out และอื่น ๆ โดยแต่ละ app ทำงานเป็นอิสระ และต่างเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริการลูกค้าแบบ End-to-end ที่ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์บริการ (Services) ที่ทำงานอยู่บนคลาวด์ ทดแทนระบบบริหารงานโรงแรมที่เป็น Application ได้
Gartner ยังพยากรณ์ว่าการที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะสร้าง app ที่สามารถทำงานบูรณาการให้เป็นงานระดับใหญ่ขององค์กรได้นั้น จะเพิ่มความสลับซับซ้อนมาก จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือซอฟต์แวร์ช่วยการพัฒนา ขณะนี้มีบริษัทสร้างเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ที่กล่าวจำนวนมากกว่า 100 ราย แต่ยังไม่มีเครื่องมือชุดใดสามารถตอบโจทย์ความต้องการนักพัฒนา app ในทุก ๆ ด้านได้อย่างสมบูรณ์  ดังนั้นนักพัฒนาจึงยังไม่มีทางเลือก ต้องยอมใช้เครื่องมือหลาย ๆ ชุดตามความเหมาะสมของ app ที่จะถูกสร้างขึ้น
Mobile apps เป็นซอฟต์แวร์ทำหน้าที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้โดยตรงและตลอดเวลา จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ามีความพอใจหรือไม่จากการใช้บริการ การออกแบบ Mobile apps ที่ดีจะมีผลต่อประสบการณ์ทางอารมณ์ของผู้ใช้ และมีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย นักออกแบบและนักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ Mobile apps จึงจำเป็นต้องมีประสบการณ์หลายด้าน นอกจากความรู้ด้านไอซีที ยังต้องมีความรู้ด้าน Social Science, Service Science และ Operation Research เพื่อช่วยออกแบบและพัฒนา apps ที่ทำงานในเชิงปฏิสัมพันธ์ นำไปสู่การสร้างคุณค่าและความพึงพอใจแก่ลูกค้าที่แท้จริง

3.         อินเทอร์เน็ตของทุกสิ่งทุกอย่าง (The Internet of Everything)
Gartner ขยายความหมายของคำว่า “Internet of Things” ที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ให้เป็น “Internet of Everything” โดยความหมายเดิม คือ “Things” นั้นครอบคลุมสินทรัพย์ทางกายภาพ เช่นอุปกรณ์ เครื่องใช้ เช่นรถยนต์ เครื่องเล่นโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ เช่นกล่องบรรจุอาหาร ฯลฯ อุปกรณ์ Sensors และ RFID เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Things เหล่านี้สื่อสารข้อมูลกับโลกภายนอกผ่านอินเทอร์เน็ตได้  สำหรับ “Everything” นั้น Gartner ให้รวมถึง คน (People) ข้อมูลข่าวสาร (Information) และ สถานที่ (Places) ด้วย Gartner พยากรณ์ว่า จากนี้ไป ความสามารถในการ Digitize ทุกสิ่งทุกอย่าง (Everything) ทำให้เกิดตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่าง (Avatar) ในรูปข้อมูลดิจิตอลที่จะขยายผลการทำกิจกรรมให้กว้างขวางขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบพื้นฐาน (Basic model) การทำธุรกิจใน 4 ด้าน คือ 1) การบริหารจัดการ--Manage 2) การสร้างรายได้--Monetize  3) การปฏิบัติงานและดำเนินงาน—Operate  และ 4) การขยายผลไปในมิติใหม่ ๆ—Extend
Gartner บอกว่าถึงแม้ธุรกิจและองค์กรส่วนใหญ่จะเริ่มตระหนักถึงความสามารถของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แต่องค์กรทั่วไป แม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเองก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวโน้มที่กล่าว และยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวคิดของ Internet of Everything ได้ทันที 
การพยากรณ์ของ Gartner ข้อนี้ สอดคล้องกับความเห็นของนักคิดและนักวิชาการหลายท่านก่อนหน้านี้ว่า การพัฒนาอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้คนเราเข้าสู่ยุคที่ทำธุรกรรมบนโลกสอง 2 ใบ โลกใบแรกคือโลกทางกายภาพที่พวกเราคุ้นเคยกัน เหมาะสำหรับการทำธุรกรรมที่อาศัยคนและทรัพยากรที่มีกายภาพ เหมาะสำหรับการทำธุรกิจที่เป็น Transactional-based คือซื้อสินค้าและบริการในรูปการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ (Value in-exchange) โลกใบที่สองนั้น เป็นโลกไม่มีรูปแบบ หรือ อกายภาพ ซึ่งก็คือ Cyber world นั่นเอง โลกใบที่สองนี้ เหมาะสำหรับทำธุรกรรมที่อาศัยความสัมพันธ์ (Relationship) เป็นการทำธุรกรรมที่อาศัยความรู้และข้อมูลเป็นหลัก การ Digitize ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกกายภาพ แล้วส่งข้อมูลดิจิตอลมาขยายผลในเชิงความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดคุณค่าต่อบนโลกใบที่สอง ความคิด Abstract นี้ นำไปสู่การพัฒนากรอบแนวคิดการทำธุรกิจใหม่ ทำให้เกิด Frame of reference ของการทำธุรกิจใหม่ที่ยังต้องมีการศึกษาและคิดค้นวิธีการที่เหมาะสมอีกมาก

4.         คลาวด์ลูกผสมกับโบรกเกอร์บริการไอที (Hybrid Cloud and IT as Service Broker)
ก่อนอื่นต้องแยกแยะระหว่างศัพท์สองคำนี้ Personal Cloud และ Private Cloud เมื่อแปลเป็นไทย Personal หมายถึง ส่วนบุคคลในขณะที่ Private หมายถึง ส่วนตัวศัพท์ทั้งสองมีความหมายเหมือนกัน คือ เฉพาะตัว  แต่สำหรับคำภาษาอังกฤษ เมื่อใช้ในบริบทของ Cloud เช่น Personal Cloud และ Private Cloud สื่อความหมายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ Personal Cloud สื่อความหมายถึงคลาวด์ที่ใช้เฉพาะตัวบุคคล เช่นคลาวด์ของผม มีไว้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผม ซึ่งผมจะให้คนอื่นมาใช้ด้วยหรือไม่ก็ได้ Personal Cloud ไม่จำเป็นต้องใช้บริการจากศูนย์ภายนอก อย่างเช่น Dropbox  ในขณะนี้มีผู้ผลิตเครื่องเฉพาะให้เราใช้เป็น Personal Cloud ในราคาถูกมากระดับหลายพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่ที่ขนาดความจุของหน่วยบันทึกข้อมูล เมื่อต่ออุปกรณ์ที่กล่าวเข้ากับอินเทอร์เน็ตในบ้านหรือในสำนักงาน เราก็จะได้ระบบ Personal Cloud ที่เราเป็นเจ้าของและดูแลเอง   ในกรณีเราใช้ระบบ Personal Cloud ของเราเองเก็บข้อมูลเหมือนกับใช้บริการภายนอกเช่น Dropbox   
สำหรับ PrivateCloud นั้น เป็นการบริการคลาวด์เต็มรูปแบบ มีทั้งบริการ IaaS, PaaS และSaaS  มีทั้ง InternalPrivate Cloud ที่เป็นศูนย์บริการของเราเอง และ ExternalPrivate Cloud เป็นการใช้บริการจากศูนย์บริการภายนอก
Gartner พยากรณ์ว่าองค์กรที่เริ่มด้วยบริการ Personal Cloud และ Private Cloud จากศูนย์บริการภายนอก สุดท้ายจะลงเอยด้วย Hybrid Cloud จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนให้รอบคอบพร้อมปรับเปลี่ยนไปใช้บริการแบบลูกผสมเมื่อถึงเวลา โดยต้องคำนึงถึงเรื่องการบูรณาการ (Integration) และทำงานร่วมกันกับระบบงานอื่นได้ (Interoperability)  การผสมระบบงานให้ทำงานในสภาพแวดล้อมของ Hybrid cloud นั้นทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับบริบทหรือเหตุการณ์ของธุรกิจ การผสมผสานกันนั้นเป็นการผสมทรัพยากรไอซีทีเพื่อทำงานร่วมกันในสภาวการณ์หนึ่ง  ๆ ทรัพยากรมีทั้ง Software services และข้อมูลด้วย ทั้งส่วนจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กรเอง (Private cloud) และจากศูนย์บริการภายนอก (Public cloud) ตามคำพยากรณ์ของ Gartner การผสมให้ทำงานแบบ Hybrid cloud มี 4 แบบ
1.          การผสมแบบคงที่ (Static Composition)  หมายถึงการแบ่งหน้าที่ระหว่าง Private cloud และ Public cloud ชัดเจน และแน่นอน เช่นในกระบวนการจำหน่ายสินค้าแบบ End-to-end ตั้งแต่สั่งซื้อจนส่งมอบสินค้าและชำระเงิน ส่วนที่ให้บริการค้นหาสินค้า และตรวจสอบราคา รวมทั้งการสั่งซื้อ กำหนดให้ทำผ่าน Public cloud แต่งานด้าน Fulfillment ทั้งหมดให้ทำจากภายใน Private Cloud เป็นต้น
2.           การผสมแบบตามเหตุการณ์ (Event Composition)  ในกรณีนี้ การแบ่งหน้าที่ระหว่าง Private cloud และ Private cloud จะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ เช่น ในกรณีเตรียมตัวเพื่อป้องกันการหยุดชะงักอันเกิดจากภายพิบัติ ได้กำหนดว่า งานปกติที่ทำงานอยู่กับ Private Cloud นั้นให้เพิ่มกระบวนการทำ Backup และพร้อมที่จะกู้คืนจาก Hybrid cloud ได้
3.          การผสมที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับการใช้งาน (Deployment composition)  ความเหมาะสมในที่นี้ เป็นความเหมาะสมในเชิงเทคนิคด้าน System deployment เช่น เราอาจกำหนดให้ระบบงานประมวลผลการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศไป Deploy หรือทำงานบน Public cloud ในต่างประเทศ ในขณะที่ระบบงานสั่งซื้อจากลูกค้าภายในประเทศให้ Deploy จาก Private cloud ในประเทศ  หรือในกรณีที่ธุรกิจมีปริมาณงานที่เพิ่มลดตามฤดูกาล เช่นการสั่งซื้อจากต่างประเทศในเทศกาลคริสต์มาส อาจส่งไปประมวลผลกับ Public cloud ในประเทศจีน ซึ่งมีระบบไอซีทีขนาดใหญ่ แต่มีงานไม่มากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเหมือนประเทศในแถบอเมริกาหรือยุโรป
4.          การผสมสำหรับงานที่ไดนามิก (Dynamic composition)  งานบางประเภทอาจมีปริมาณงานและข้อมูลที่ขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นกรณีที่ธุรกิจจัดรายการพิเศษ แนะนำสินค้าใหม่ มีรายการลดราคาแจกแถม ซึ่งไม่ใช่เป็นธุรกิจปกติ เหตุการณ์เช่นนี้ ประมาณงานและข้อมูลมีเกินกว่าที่ระบบงานใน Private cloud จะรองรับได้  เนื่องจากองค์กรที่ใช้ Private cloud มักจะจัดเตรียมทรัพยากรไอซีทีให้เพียงพอกับงานแบบปกติ ในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้บริการจาก Public cloud เป็นตัวเสริมในช่วงที่มีปริมาณงานมากเกินปกติ  ศัพท์เทคนิคใช้คำว่า “Cloudbursting” สื่อความหมายว่า ปริมาณงานและข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นช่วง ๆ โดยระบบงานถูกออกแบบให้มีความสามารถเฝ้าระวัง และประเมินความต้องการการใช้ทรัพยากรไอซีทีในแต่ละขณะเพื่อปรับลดหรือเพิ่มปริมาณทรัพยากรไอซีทีที่ต้องใช้บริการเพิ่มโดยอาศัย Public cloud เป็นระบบเสริมได้

การผสมบริการ Private cloud และ Public cloud ทั้ง 4 แบบที่กล่าวเป็นเรื่องทางเทคนิคและที่ไม่ใช่เทคนิคที่สลับซับซ้อนพอสมควร ต้องอาศัยทักษะหลาย ๆ ด้าน ทั้งความรู้เกี่ยวกับการทำงานของคลาวด์ มีความรอบรู้เกี่ยวกับข้อเสนอและเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละราย มีความรู้ด้านออกแบบระบบซอฟต์แวร์และการจัดการฐานข้อมูลในสภาวะการทำงานแบบคลาวด์คอมพิวติง รวมทั้งแง่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการคลาวด์ และอื่น ๆ อีกมาก โดยสรุป ผู้ใช้บริการคลาวด์ต้องมีความรู้และทักษะในด้าน 1) กำหนดคุณลักษณะของคลาวด์และการจัดซื้อจัดหาบริการคลาวด์ทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ  2) สามารถออกแบบหรือดำเนินการบูรณาการระบบงานที่จะทำงานในสภาวะของ Hybrid cloud โดยต้องคำนึงถึงมาตรฐานข้อมูล มาตรฐานการเชื่อมโยงระหว่างระบบซอฟต์แวร์ (Software services) ตลอดจนมาตรฐานการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบงานที่เกี่ยวข้องข้ามระบบคลาวด์ของศูนย์บริการที่แตกต่างกัน และ 3) มีทักษะในด้านปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับการทำงานกับคลาวด์  ซึ่งทั้งหมดนี้ รวมทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยในการใช้ระบบงานแบบลูกผสม ถ้าไม่ได้อยู่ในการดูแลของคนที่มีประสบการณ์ ก็จะเกิดปัญหาที่รุนแรงได้ทุกเมื่อ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น Gartner จึงพยากาณ์ว่า ในยุคของคลาวด์คอมพิวติง ผู้ใช้จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชียวชาญในด้านบริการคลาวด์ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในสายอาชีพบริการไอซีทีที่เรียกว่า “Cloud Service Broker (CSB)” หรือโบรกเกอร์บริการคลาวด์ บุคคลผู้นี้มีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ทำหน้าที่เป็นคนกลาง (intermediary) มีหน้าที่หลัก ๆ คือ 

1) บริการในด้าน Aggregation ซึ่งหมายถึงการแนะนำวิธีสร้างสถาปัตยกรรมระบบคลาวด์ ประกอบด้วยผู้ให้บริการคลาวด์หลาย ๆ รายตามความจำเป็นและตามลักษณะงาน เพื่อให้ระบบงานทำงานอยู่กับคลาวด์หลาย ๆ ระบบ ทั้ง Private cloud และ Public cloud ผสมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมั่นคง
2) ช่วยเหลือด้านบูรณาการระบบงาน (Integration) ทั้งระบบงานภายในและระบบงานภายนอกองค์กร บ่อยครั้งการบูรณาการ (Integration) นำไปสู่การออกแบบระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างระบบงานหลาย ๆ ระบบ โดยเฉพาะระบบงานของคู่ค้าที่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน
3) ช่วยเหลือในด้านปรับปรุงแก้ไขโปรแกรม (Customization) บ่อยครั้ง ระบบซอฟต์แวร์ต้องได้การปรับปรุงหรือพัฒนาใหม่ให้เหมาะกับงานในสภาวการณ์ของคลาวด์คอมพิวติง

5.         Cloud/Client Architecture
Gartner มองว่าสถาปัตยกรรมของระบบงานที่ประกอบขึ้นด้วยลูกข่าย (Client) และมีคลาวด์ (Cloud) เป็นแม่ข่ายนั้นยังไม่สามารถขีดเส้นแบ่งชัดเจนแน่นอนว่าอะไรควรเป็นงานของลูกข่าย และอะไรควรเป็นของแม่ข่าย ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่เคยพบในสถาปัตยกรรม Client/Server ในอดีต โดยปกติระบบลูกข่ายเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานกับอุปกรณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต รวมเครื่องทั้งพีซี แล็ปท๊อป และอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ในขณะที่เครื่องแม่ข่ายมีกลุ่มซอฟต์แวร์ทำหน้าที่ให้บริการประมวลผล (Software Services) บนคลาวด์แพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นมาก หมายความว่าตัวซอฟต์แวร์บริการนั้นจะทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดใดก็ได้ที่เชื่อมโยงอยู่กับคลาวด์แพลตฟอร์ม และจะใช้ทรัพยากรไอทีมากน้อยตามความจำเป็น (Elastically scalable) ในกรณีนี้ คลาวด์ทำหน้าที่เป็นจุดควบคุมการทำงานทั้งระบบ โดยมีระบบงานและระบบข้อมูลกระจายอยู่กับอุปกรณ์พกพาของลูกข่ายหลาย ๆ จุดหรือหลาย ๆ ชุดได้  ปัจจุบันนี้ระบบซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนเครื่องลูกข่ายมีทั้งซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเฉพาะอุปกรณ์ (Native application) ใช้แพลตฟอร์มเช่น Android หรือ IOS (Native apps) และซอฟต์แวร์ที่เขียนเพื่อทำงานผ่านบราวเซอร์ (Browser)  แต่เนื่องจากบราวเซอร์ทุกวันนี้จะมีความสามารถมาก จึงกลายเป็นทางเลือกว่างานส่วนไหนควรอยู่กับบราวเซอร์บนเครื่องพกพา หรือควรอยู่กับ Server บนคลาวด์  ทั้งสองทางเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเลือกให้เครื่องลูกข่ายทำงานมากขึ้น ทั้งการประมวลผลและการเก็บรักษาข้อมูลบางส่วน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตและช่องความถี่  ในขณะเดียวกันจะใช้ทรัพยากรด้านคลาวด์น้อยลงด้วย   แต่เมื่ออุปกรณ์พกพาที่เป็นเครื่องลูกข่ายทำงานมากขึ้น ความสลับซับซ้อนของงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของธุรกิจจะเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ต้องกลับมาเพิ่งพาทรัพยากรด้านฝั่งคลาวด์เพิ่มขึ้นเหมือนเดิม จึงเห็นได้ว่า การออกแบบระบบซอฟต์แวร์ให้เกิดความสมดุลในหน้าที่ระหว่างเครื่องลูกข่ายกับคลาวด์ (Cloud/Client architecture)  จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถขีดเส้นแบ่งได้ชัดเจน ยังต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะเลือกแบ่งหน้าที่ระหว่าง Cloud/Client อย่างเหมาะสม

ยังมีอีก 5 เรื่องที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1) The Era of Personal Cloud  2) Software Defined Anything  3) Web-Scale IT  4) Smart Machines และ 5) 3-D Printing  ขอยกยอดไปคุยกันต่อคราวหน้าครับ

No comments:

Post a Comment