Thursday, May 24, 2012

ความหมายของ Cloud Computing


ความหมายของคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) ที่จะบรรยายต่อไปนี้ เรียบเรียงและแปลจาก The NIST (National Institute of Standards andTechnology ของสหรัฐอเมริกา) Definition of Cloud ComputingVersion 15, 10-7-09

คลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) เป็นรูปแบบบริการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ ร่วมกันกับผู้อื่น (เช่น เครือข่าย เครื่องเซิร์ฟเวอร์ เครื่องบันทึกข้อมูล ระบบซอฟต์แวร์ และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง) ผ่านเครือข่าย มากน้อยตามความต้องการของผู้ใช้ การปรับเพิ่มและลดซึ่งทรัพยากรคอมพิวเตอร์สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว การบริการคลาวด์ (Cloud) ที่ให้ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรตามความจำเป็นได้ตลอดเวลานั้น มีคุณสมบัติสำคัญ (Essential Characteristics) ห้าประการ และให้บริการ (Service models) ได้สามแบบ มีรูปแบบการใช้งาน (Deployment model) สี่ชนิด ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป
1.          คุณสมบัติสำคัญห้าประการ
1.1.      บริการด้วยตัวเองเมื่อต้องการ (On-demand self-service): ผู้ใช้สามารถระบุความต้องการ และขอใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ เช่นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และระบบบันทึกข้อมูลที่เป็นเครือข่าย ด้วยตนเองได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการ
1.2.      เข้าถึงทรัพยากรคอมพิวเตอร์ได้ในวงกว้างผ่านเครือข่าย (Broad network access): ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ถูกจัดสรรให้ผู้ใช้ใช้งานผ่านเครือข่าย ด้วยกลไกที่เป็นมาตรฐาน ผู้ใช้ทำงานได้ด้วยอุปกรณ์หลากหลายชนิด (เช่น เครื่องโทรศัพท์พกพา เครื่องแล็บท๊อปคอมพิวเตอร์ และเครื่องพีดีเอ (Personal Digital Assistant, PDA))
1.3.      ทรัพยากรถูกรวบรวมจากที่ต่าง ๆ (Resource pooling): ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่จัดสรรให้กลุ่มผู้ใช้นั้น อาจมาจากศูนย์คอมพิวเตอร์หลาย ๆ แห่ง ผู้ใช้แต่ละรายใช้ทรัพยากรที่ถูกจัดสรรให้โดยไม่รบกวนกันและกัน ทรัพยากรชุดเดียวกัน แต่บริการหลาย ๆ คนได้โดยไม่รบกวนกัน เรียกว่า Multi-tenant model ซึ่งต่างกับ Multi-instance ในกรณีหลัง เป็นการบริการด้วยทรัพยากรหลายชุด ผู้ใช้แต่ละรายจะมีหนึ่งชุดเป็นของตนเอง ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ ทั้งที่เป็นกายภาพ (Physical) และที่เป็นเสมือนกายภาพ (Virtual: การจัดสรรอุปกรณ์จากกองกลาง ที่ผู้ใช้รู้สึกเสมือนหนึ่งว่า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แต่ผู้เดียว ทางเทคนิคเรียกว่า Virtualization) ที่นำมาจัดสรรให้ผู้ใช้นั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกัน อาจมาจากศูนย์คอมพิวเตอร์หลาย ๆ แห่ง หรือจากหลาย ๆ ประเทศได้ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ตนกำลังใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากสถานที่ใดในโลก ผู้ใช้สนใจเพียงว่าได้ใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ ตามขนาด และประสิทธิภาพที่ต้องการ แต่ ผู้ใช้อาจขอสิทธิ์ที่จะเลือกตำแหน่งศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ตนต้องการใช้ได้
1.4.      มีความยึดหยุ่นและปรับตัวได้รวดเร็ว (Rapid elasticity): การบริการคลาวต้องสามารถเพิ่มและลดขนาดอุปกรณ์ที่ให้บริการลูกค้าตามความต้องการ และ สามารถจัดสรรโดยอัตโนมัติได้ ในสายตาของผู้ใช้ ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่นำมาให้บริการ มีขนาดไม่จำกัด ผู้ใช้สามารถสั่งให้เพิ่มหรือลดได้ตลอดเวลาตามความต้องการ
1.5.      การบริการที่วัดได้ (Measured service): ระบบที่ให้บริการแบบคลาวด์ต้องวัดปริมาณการใช้ตามชนิดของบริการได้ (เช่น บริการบันทึกข้อมูล บริการประมวลผล ฯลฯ) ตามความเป็นจริง ต้องสามารถติดตามและควบคุมการใช้ทรัพยากรทุก ๆ วินาที เพื่อความโปร่งใส ระบบบริการต้องสามารถรายงานผลการใช้แก่ทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ อย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมา
2.          การบริการสามแบบ (Service Model)
2.1.      Software as a Service (SaaS): เป็นการให้บริการใช้ระบบงาน หรือซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application) ที่ผู้ให้บริการจัดหาให้ ซอฟต์แวร์เหล่านี้ทำงานกับโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ให้บริการแบบคลาว ผู้ใช้จะทำงานผ่าน Web browser ด้วยอุปกรณ์ใดก็ได้  การบริการรูปแบบนี้ ผู้ใช้ไม่มีหน้าที่จัดการหรือควบคุมโครงสร้างพื้นฐานไอที และระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ ทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการ แต่ในบางกรณี ผู้ใช้อาจต้องดูแลข้อกำหนดคุณลักษณะบางประการของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application configuration settings) เพื่อความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ด้วยตัวเอง
2.2.      Platform as a Service (PaaS): เป็นบริการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อปรับปรุงและทดสอบระบบงาน หรือระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Deploy) โดยมีข้อแม้ว่า ระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์จะต้องถูกพัฒนาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่ผู้ให้บริการจัดเตรียมให้เท่านั้น ผู้ใช้ไม่มีหน้าที่จัดการหรือควบคุมโครงสร้างพื้นฐานไอทีใด ๆ (ระบบเครือข่าย เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ระบบซอฟต์แวร์ปฎิบัติงาน (Operating system)  ฯลฯ) ผู้ใช้จะดูแลรับผิดชอบเฉพาะระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ของตัวเอง รวมทั้งข้อกำหนดเงื่อนไขและคุณลักษณะของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการทดสอบ (Application hosting environment configuration) เท่านั้น
2.3.      Infrastructure as a Service (IaaS): เป็นบริการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อการประมวลผล และปรับปรุงทดสอบระบบซอฟต์แวร์ โดยผู้ใช้มีหน้าที่จัดหา ระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์และ ระบบซอฟต์แวร์ปฎิบัติงาน (Operating system)  ผู้ใช้ไม่มีหน้าที่ที่จะจัดการและควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที แต่มีหน้าที่ควบคุมดูแลระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงาน รวมทั้งระบบฐานข้อมูล และในบางกรณีอาจรวมถึงอุปกรณ์บางชนิดของระบบเครือข่าย เช่นระบบไฟร์วอลล์(Firewall)
3.          รูปแบบการใช้งาน (Deployment model) สี่ชนิด
3.1.      คลาวด์ส่วนตัว (Private cloud): เป็นการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที เฉพาะสำหรับองค์กรหนึ่งองค์กรใด ผู้ใช้อาจดูแลอุปกรณ์ไอทีด้วยตนเอง หรือจ้างบุคคลที่สามดูแลให้ก็ได้ อุปกรณ์อาจติดตั้งในสถานที่ของผู้ใช้ หรืออยู่ภายนอกทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้
3.2.      คลาวด์ชุมชน (Community cloud): เป็นการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีร่วมกันเฉพาะในกลุ่มสมาชิกที่มีเรื่องต้องปฎิบัติ หรือต้องกังวลคล้ายกัน เช่นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยการใช้ข้อมูล มีข้อต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของรัฐ หรือขององค์กรเหมือนกัน หรือมีกฏระเบียบและกติกาที่ต้องปฎิบัติคล้ายกัน ชุมชนอาจดูแลและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอทีด้วยชุมชนเอง หรือทำผ่านบุคคลที่สาม อุปกรณ์จะติดตั้งในสถานที่ของชุมชน หรือนอกสถานที่ก็ได้
3.3.      คลาวด์สาธารณะ (Public cloud): เป็นการใช้บริการคลาวด์ร่วมกับสาธารณะชน องค์กรทั่วไป และกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไอทีและระบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
3.4.      คลาวด์ลูกผสม (Hybrid cloud): เป็นการใช้บริการที่ผสมผสานระหว่างคลาวด์ส่วนตัว คลาวด์ชุมชน หรือคลาวด์สาธารณะ ผู้ให้บริการแต่ละราย ที่ให้บริการภายใต้คลาวลูกผสมนี้ ต่างทำงานแบบอิสระ ระบบคราวด์ไม่ว่าจะเชื่อมโยงด้วยเทคนิคที่เป็นมาตรฐาน หรือเทคโนโลยีเฉพาะ จะต้องสามารถทำงานร่วมกันในระดับข้อมูลและระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้

6 comments:

  1. This comment has been removed by a blog administrator.

    ReplyDelete
  2. ฝากไว้เป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมครับ http://pointit.blogspot.com/search/label/cloud

    ReplyDelete
  3. ฝากไว้เป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมครับ http://pointit.blogspot.com/search/label/cloud

    ReplyDelete
  4. I have read your blog its very attractive and impressive. I like your blog salesforce Online Training Bangalore

    ReplyDelete
  5. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete