Tuesday, June 26, 2012

ความพร้อมด้านคลาวด์คอมพิวติงของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซีย


            การบริการใช้คอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์กลายเป็นการบริการสาธารณูปโภคอีกประเภทหนึ่ง เหมือนการบริการใช้น้ำ ใช้ไฟ และโทรศัพท์ จากนี้ไป ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าปัจเจกบุคคล หรือองค์กร มีทางเลือกที่จะลงทุนไอซีทีด้วยตนเอง หรือใช้บริการจากศูนย์บริการจากศูนย์บริการ ท่านสามารถทบทวนความหมายของคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) ตอนก่อนได้

              เมื่อการใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ มีลักษณะเป็นบริการสาธารณูปโภค ผู้ใช้จะจ่ายค่าบริการตามความจริง ไม่มีภาระการลงทุน และไม่ต้องดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากอุปกรณ์ใช้งานประจำตัว เช่นเครื่องพีซี โน๊ตบุค สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ทำให้ประชากรที่จะใช้ประโยชน์จากไอซีทีกว้างขวางขึ้น ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศแพร่หลายในวงกว้าง อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การบริการสาธารณูปโภคแบบใหม่ หรือบริการคลาวด์ (Cloud)โดยย่อนี้ จึงอยู่ในความสนใจของทุกประเทศทุกวันนี้

              ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอข้อมูลจาก AsiaCloud Computing Association เรื่องเปรียบเทียมความพร้อมด้านบริการคลาว 14 ประเทศ เพื่อให้เข้าใจสถานภาพของไทย ว่าพร้อมหรือไม่พร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียอย่างไร ให้เข้าใจจุดอ่อนและจุดแข็ง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาปรับปรุงให้แข่งขันได้ ในเวทีการบริการคลาวด์คอมพิวติง

              จากผลการประเมินของ Asia Cloud Computing Association ปี 2011 ไทยอยู่อันดับที่ 10 จาก 14 ประเทศ (ท่านสามารถอ่านรายงานจากเว็บไซท์ Asia Cloud Computing Association) แสดงว่าไทยยังค่อนข้างล้าหลังในกลุ่มประเทศอาเซีย ถึงแม้ว่า ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน เราจะอยู่ระดับต้น ๆ รองจากสิงคโปร์กับมาเลเซียก็ตาม ก็ยังกล่าวไม่ได้ว่า ไทยมีศักยภาพด้านบริการคลาวด์ใกล้เคียงกับสิงคโปร์และมาเลเซีย (สิงคโปร์อยู่อันดับ 3 ขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับ 7 ของอาเซีย) ไทยยังมีความอ่อนแอหลาย ๆ ด้านที่ต้องรีบเร่งปรับปรุงให้ดีขึ้น

              ความเป็นผู้นำด้านการค้า และการสื่อสารโทรคมนาคมของภูมิภาค สมรรถนะและความพร้อมด้านคลาวด์กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาอย่างจริงจัง ความจริงที่ว่าธุรกิจของไทยยังใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เต็มที่ อีกทั้งยังขาดความพร้อมด้านบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และไม่มีมาตรการเด่นชัดเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราล้าหลังด้านบริการคลาวด์ การใช้คลาวในหลายประเทศ เริ่มกระจายในหมู่ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม โดยเฉพาะบริษัทที่ค่อนไปด้านขนาดเล็ก ด้วยเหตุที่งานยังไม่ซับซ้อนมาก และพร้อมที่จะทดลองคลาวด์กับงานใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายทำรายการ นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพโดยรวม แต่การส่งเสริมให้กลุ่ม SME ใช้คลาวด์อย่างจริงจังนั้น ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐที่จะสนับสนุนด้วยมาตราการจูงใจต่าง ๆ ตั้งแต่การลดภาษี จนถึงการลงทุนให้การศึกษา และสนับสนุนการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เนื่องจากการใช้บริการคลาวด์ เป็นหนทางใหม่ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้แก่ธุรกิจด้วยค่าใช้จ่ายที่่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไอซีทีในแนวเดิม

              Asia Cloud Computing Association ประเมินความพร้อมด้านคลาวด์ โดยอาศัยข้อมูลส่วนหนึ่งจาก World Economic Forum (WEF) และอีกส่วนหนึ่งเก็บข้อมูลด้วยตนเอง แบ่งหัวข้อประเมินเป็นสิบเรื่อง ดังนี้

1.          เงื่อนไขการกำกับดูแล (Regulatory conditions) เป็นการประเมินความพร้อมด้านปกป้องผลประโยชน์ของผู้รับบริการ จากความไม่พร้อม และหรือการให้บริการอย่างไม่มีคุณภาพและไม่รับผิดชอบจากฝั่งผู้ให้บริการ เช่น เรื่องสัญญาที่เป็นธรรม การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เงื่อนไขด้านการใช้สิทธิ์เพื่อเข้าถึงข้อมูลจากทางราชการ ผลประเมินปรากฎว่า ไทยอยู่ในระดับต่ำสุด คือได้คะแนน 5 จาก 10  เรื่องนี้ เราต้องพูดคุยกันอีกมากในเวทีนี้
2.          การเชื่อมโยงด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International connectivity) เป็นการประเมินศักยภาพการเชื่อมโยงด้านโทรคมนาคมความเร็วสูง และราคาที่แข่งขันได้ คงไม่ประหลาดใจว่า ไทยอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน คือคะแนน 5 จาก 10
3.          กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data protection policy) เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 “ร่างพ...คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทย เพิ่งผ่านกฤษฎีกาและผ่านคณะรัฐมนตรี เข้าใจว่าขณะนี้ ยังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ร่างพรบฉบับนี้มีอายุกว่าสิบปี ถูกร่างขึ้นก่อนยุคของคลาวคอมพิวติง จึงไม่แน่ใจว่า มาตราต่าง ๆ ที่ปรากฎในร่างพรบฉบับนี้ จะครอบคลุมประเด็นที่จะนำมาคุ้มครองการบริการและการใช้บริการคลาวหรือไม่ แนวคิดของร่างพรบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปในแนวที่ให้องค์กรที่มีข้อมูลประชาชน ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐ คือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาให้ใบรับรองเพื่อมีสิทธิใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นลักษณะ Self regulate คือให้ประชาคมดูแลกันเอง เมื่อมาถึงยุคคลาวคอมพิวติง เชื่อว่าคงต้องมีการทบทวนใหม่ว่า ร่างพรบฉบับปัจจุบัน ได้ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับบริการคลาว ที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่สังคม ทั้งสังคมไทย และต่างประเทศได้หรือไม่ ด้วยเหตุที่วันนี้ เรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับ การประเมินผลครั้งนี้ จึงได้คะแนนต่ำสุด คือได้ 2 คะแนนจาก 10
4.          คุณภาพด้านบรอดแบนด์ (Broadband quality) เป็นการวัดคุณภาพการให้บริการบรอดแบน์ รวมทั้งจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ทั้งประเทศด้วย เช่นกัน ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนต่ำมาก คือ 5 คะแนนจาก 10
5.          การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล (Government priority) เป็นการวัดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญด้านไอซีทีมากน้อยเพียงใด ดูจากมุมมองการใช้งบประมาณ และการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ไอซีทีของประเทศในภาพรวม ไทยถูกประเมินด้วยคะแนนที่ต่ำเช่นกัน คือได้คะแนน 4.1 จาก 10 คะแนน
6.          คุณภาพของระบบไฟฟ้า (Power grid quality) เป็นการวัดคุณภาพให้บริการด้านไฟฟ้า เป็นการวัดความเพียงพอ และทั่วถึง และคุณภาพของระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าที่รองรับการใช้ไอซีที และอุตสาหกรรมของประเทศอย่างไม่ติดขัด ในข้อนี้ ไทยได้คะแนนค่อนข้างดี คือได้ 7.6 คะแนนจาก 10
7.          การตรวจสอบปิดกั้นอินเทอร์เน็ต (Internet filtering) เป็นการประเมินนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์จากอินเทอร์เน็ต มีนโยบายที่เป็นกลาง และเหมาะสม ระหว่างการให้เสรีภาพด้านข่าวสาร กับการตรวจสอบปิดกั้น เพื่อรักษาศิลธรรมอันดีงาม และความปลอดภัยของประเทศ ในประเด็นนี้ไทยได้คะแนนค่อนข้างดี คือได้คะแนน 7.5 จาก 10
8.          ดัชนีประสิทธิภาพทางธุรกิจ (Business efficiency index) เป็นการประเมินผลจากปัจจัย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านผลิตภาพ ด้านศักยภาพของตลาดแรงงาน ด้านการเงิน การบริหารจัดการ และด้านทัศนคติและคุณค่า ไทยได้คะแนนระดับปานกลาง คือ 6.6 จาก 10
9.          ความเสี่ยงระดับโลก (Global risk) ทุกวันนี้โลกเรามีการเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ประเด็นความเสี่ยงโลกกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับนโยบายของประเทศ การประเมินในข้อนี้ รวมประเด็นสำคัญเจ็ดประเด็น ประกอบด้วย เรื่องเศรษฐกิจ การรักษาความปลอดภัย การกำกับดูแลอย่างธรรมภิบาล การรักษาความปลอดภัยด้านทรัพยากร ภูมิอากาศ การระบาดของโรคภัย และความปรองดองในสังคม ในข้อนี้ ไทยถูกประเมินด้วยคะแนนที่ต่ำมาก คือ 2 คะแนนจาก 10
10.     การพัฒนาทักษะด้านไอซีที (ICT development) เป็นการประเมินทักษะและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล การใช้ไอซีที และทักษะด้านไอซีทีทั่วไป ไทยได้คะแนนปานกลาง คือ 5.7 จาก 10 คะแนน

ในสิบเรื่องที่ใช้เป็นประเด็นประเมินความพร้อมที่กล่าวข้างต้น มีหลายกลุ่มที่ไทยยังมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาก กลุ่มที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข คือ เรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเงื่อนไขการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการคลาว เมื่อผู้ใช้ไม่มั่นใจความปลอดภัย และยังไม่แน่ชัดว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการคลาวนั้น จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร ก็ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการบริการสาธารณูปโภคแบบใหม่นี้อย่างแน่นอน 

ความมั่นคงปลอดภัย และ Regulatory compliance ในการใช้บริการคลาวด์ ยังมีเรื่องที่ต้องพูดกันอีกหลายตอนครับ





No comments:

Post a Comment