Wednesday, July 27, 2011

ความสำคัญของสื่อใหม่ของศตวรรษที่ 21 ตอนที่ 3

ในตอนที่ 1 เราได้แนะนำเรื่องสื่อช่องใหม่สองทางที่มีประสิทธิภาพสูง และตอนที่ 2 พูดเรื่องการประยุกต์ใช้สื่อสังคมในบริบทของวิทยาการบริการสำหรับงานภาครัฐ โดยยกตัวอย่างการให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำคัญ ๆ เช่นนโยบายขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ ในตอนนี้ จะพูดถึงการประยุกต์ใช้สื่อสังคมและ Service Science เพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษายุคใหม่

หลักสำคัญของ Service Science ที่นำมาเป็นพื้นฐานของการออกแบบวิธีการเรียนการสอน คือให้นักศึกษาเป็นผู้ร่วมสร้างคุณค่า เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้ตัวเอง แทนที่จะเป็นผู้รับคุณค่า (คือการทำให้เกิดความรู้) จากอาจารย์ผู้สอนเพียงอย่างเดียว สถาบันมีหน้าที่เพียงเสนอที่จะทำให้เกิดคุณค่า (Value proposition หรือ Offering) เท่านั้น สถาบันจะต้องออกแบบระบบและกระบวนการเรียนการสอนที่อำนวยความสะดวกให้นักศึกษาสร้างความรู้ให้ตนเอง โดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน
สื่อสังคมกลายเป็นสื่อสำคัญที่จะสนับสนุนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ไม่เพียงเน้นเรียนเพื่อความรู้อย่างเดียว แต่ยังต้องสามารถสร้างทักษะเพื่อทำงานร่วมกันกับผู้อื่น สามารถสื่อสารได้ แก้ปัญหาด้วยทักษะและปัญญาได้ และต้องมีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งมีทักษะด้านสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ตามกรอบการเรียนรู้และมาตรฐานผลการเรียนรู้ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา การใช้สื่อสังคมมาช่วยการเรียนการสอนเพื่อบรรลุผลตามแนวทางที่กล่าว สามารถนำแนวความคิดของ Social Learning และ Service Science มาเป็นพื้นฐานของการออกแบบการเรียนการสอนได้

Social Learning เป็นการออกแบบวิธีการเรียนการสอนโดยอาสัยเครื่องมือที่มาในรูปของสื่อสังคม เน้นการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ในลักษณะ Collaborative, Participative, และ Sharing การเน้นความมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการเรียนและการทำกิจกรรมเกี่ยวการเรียน ในลักษณะ Co-creation of value จะเป็นวิธีที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในลักษณะ Reflective หรือสท้อนถึงผลการเรียนรู้ในทุกระยะ มีโอกาสฝึกปฎิบัติ และการฝึกแก้ปัญหาร่วมกับเพื่อนนักศึกษา มีโอกาสใช้ความรู้ในเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งมีโอกาสฝึกการสื่อสารและนำเสนออย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญ การเรียนการสอนในระบบ Social Media บนพื้นฐานของระบบไอซีที ทำให้เราสามารถเก็บบรรทึกประวัติการเรียนรู้ในทุก ๆ กิจกรรม เป็นพอร์ตการเรียนรู้ (Learning Portfolio) ตามรายวิชาของนักศึกษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนแบบ Reflective Learning การเรียนแบบสะท้อนกลับ หรือเรียนแบบไตร่ตรอง (Reflective Learning) ซึ่งเป็นการเรียนแบบปรับปรุงตัวเองจากผลการเรียนที่ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นขั้นตอน การสร้างระบบการเรียนการสอนบนแนวคิดของวิทยาการบริการ ด้วยสื่อสังคม เป็นวิธีที่สามารถตอบโจทย์ของกรอบการเรียนรู้และมาตรฐานผลการเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ เครื่องมือที่นำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนที่มีคุณสมบัติเป็นสื่อสังคม ประกอบด้วย Social Software ในชุด Web 2.0 เช่น Blogs, Wiki, Forum, Online Chat, Syndication, Tagging และ Folksonomy รวมทั้งเทคโนโลยีอื่น เช่น Podcasting, VDO, และ Webminar อาจารย์จะเป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนการสอน และการทำกิจกรรมของแต่ละวิชา โดยเลือกเครื่องมือข้างต้นผสมผสานกันตามความเหมาะสม

การออกแบบระบบการเรียนการสอนในบริบทของวิทยาการบริการนั้น เป็นการนำแนวคิดของวิทยาการบริการเป็นพื้นฐานการออกแบบ เช่น
  1. ทำให้เกิดมาตรการการเรียนโดยเน้นแก้ปัญหา ด้วยปัญญาและความรู้ที่เรียนมา ร่วมกับเพื่อนนักศึกษา คือทำกันเป็นทีม แทนการสอนแบบบรรยายเหมือนในรูปแบบเดิม (A shift to a focus on the creation and use of dynamic operant resources as opposed to the consumption and depletion of static operand resources (Vargo & Lusch 2004)
  2. อาจารย์จะใช้ระบบซอฟต์แวร์ที่มีคุณสมบัติเป็นสื่อสังคม เพื่อเสนอแนะ Explicit knowledge ที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียน เพื่อให้นักศึกษาได้ค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น (A recognition of the strategic advantage of symmetric rather  than asymmetric information) 
  3. หามาตรการทำให้นักศึกษาเป็นผู้ร่วมสร้างคุณค่า คือช่วยตัวเองให้มากขึ้นในการเรียนรู้ แทนที่จะรอให้อาจารย์คอยสอนอย่างเดียว (The customer is always a co-creator of value)
  4. สถาบันการศึกษาทำหน้าที่เพียงแค่จัดทำข้อเสนอ (Value proposition หรือ Offering) ซึ่งก็คือหลักสูตร และการบริการอื่น ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาช่วยตัวเองในการเรียนรู้ แทนที่จะทำการสอนเพื่อหวังให้นักศึกษาเรียนรู้จากการสอน (An understanding that the firm can only make and follow through on value propositions rather than create or add value)
  5. สถาบันการศึกษาทำ หน้าที่เป็นผู้บูรณาการ หรือรวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ  (Resource Integrator) จากแหล่งต่าง ๆ เช่นคณาจารย์ หลักสูตรใหม่ ๆ ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสนับสนุนการร่วมสร้างคุณค่าให้แก่นักศึกษา (Organizations exist to integrate and transform micro- specialized competences into complex services that are demanded in the marketplace)
มาตรการ: เพื่อให้การใช้ช่องทางสื่อสารแบบใหม่ คือสื่อสังคม ในบริบทของวิทยาการบริการอย่างได้ผล  จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก็คือระบบการเรียนการสอนที่อาศัยไอซีทีรองรับดังนี้

  1. สถาบันการศึกษาจะต้องสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีเพื่อการเรียนการสอน ประกอบด้วย ระบบบันทึกกิจกรรมที่นักศึกษาเรียนรู้ เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณสมบัติเป็น Web 2.0 มีระบบจัดการกับบทเรียน และ Learning contents รูปแบบต่าง ๆ เช่น VDO, podcasting, presentation, webminar, ฯลฯ
  2. สถาบันการศึกษาต้องจัดระบบเครือข่ายสังคมให้นักศึกษาและบุคคลอื่นทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ร่วมกัน และติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสาร เกี่ยวกับการเรียนการสอน
  3. อาจารย์จะต้องมีทักษะในการออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละวิชา โดยเน้นการฝึกทักษะและ Soft skill อื่น ที่นอกเหนือจากด้านความรู้ ตามข้อกำหนดของกรอบการเรียนและมาตรฐานผลการเรียนรู้ 
  4. สถาบันจะต้องมีกลไกที่จะให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และสมาคมกับเพื่อนักศึกษาเพื่อการเรียนรู้ โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ต้องสามารถติดต่อกับอาจารย์ที่รับผิดชอบเพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้โดยสะดวก
ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า การออกแบบระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่อาศัยสื่อสังคมและไอซีที หรือที่นิยมเรียกว่าระบบบริการ (Service System) ได้อาศัยหลักความคิดของวิทยาการบริการ เพื่อทำให้เกิด Learning Pedagogy หรือกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่อาศัยการช่วยตัวเองของนักศึกษามากขึ้น ร่วมมือกับเพื่อนนักศึกษามากขึ้น ทำงานเป็นทีมมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนการสอนที่นักการศึกษาหลายคนเชื่อว่าเป็นรูปแบบการเรียนที่ให้ผลที่ดีกว่าการเรียนหน้าชั้นที่นิยมใช้กันในยุคก่อน ๆ

ในตอนที่ 4 จะอธิบายความสำคัญของสื่อสังคม และวิทยาการบริการเพื่อธุรกิจ

No comments:

Post a Comment