Monday, April 10, 2017

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 8



บทความตอนที่ 7  ได้กล่าวถึงบทบาทภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0  ด้านสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ธุรกิจเชื่อมโยงกันตั้งแต่งานผลิตสินค้าในโรงงานจนถึงการจัดการภายในสำนักงาน โครงสร้างพื้นฐานนอกจากเป็นระบบโทรคมนาคมเช่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมและทั่วถึงแล้ว ยังรวมทั้งด้านมาตรฐานที่สนับสนุนการใช้ดิจิทัล เช่นมาตรฐานรหัสสินค้า และมาตรฐานชุดข้อมูลเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่มาตรฐานเอกสารชำระเงิน จนถึงมาตรฐานเอกสารประกอบการทำรายการค้าเช่นใบขนสินค้า ใบแจ้งหนี้อินวอยและใบกำกับภาษีเป็นต้น  บทความตอนที่ 8 นี้ เป็นตอนสุดท้ายของชุด ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems” จะกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ดิจิทัลให้เท่าทันกับธุรกิจขนาดใหญ่

2.             บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0

2.1.       สนับสนุนให้อุตสาหกรรมปรับตัวให้เป็นธุรกิจดิจิทัล

1)            สนับสนุนให้ใช้มาตรฐานข้อมูลและ Standard Messages
 (กรุณาอ่านรายละเอียดจากตอนที่ 7)

2)            สนับสนุนให้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) ทำธุรกิจด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ ขั้นตอนของงานค่อนข้างจะเรียบง่ายแต่ก็ครอบคลุมงานภายในห่วงโซ่คุณค่า ทั้งกระบวนการหลัก (Core processes) จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และกระบวนการสนับสนุน (Supporting processes) เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่  กระบวนงานนั้นมีความหลากหลายในแนวกว้าง แต่งานทุกขั้นตอนไม่ลงลึกมากเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่  เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP โดยย่อ ที่ให้บริการอยู่ในตลาดปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นระบบเล็กก็ตาม ก็ยังมีความซับซ้อนมากเกินความต้องการของ SMEs และมี Functions/Features เกินความจำเป็น นอกจากจะทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบงานเหล่านี้สูงเกินไป ยังเสียเวลาในการเรียนรู้โดยไม่จำเป็น อีกทั้งระบบ ERP เหล่านี้ไม่สามารถปรับตัวให้ทำงานตามความต้องการของธุรกิจได้เร็วตามความจำเป็น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ธุรกิจ SMEs ที่ผ่านมามีความรู้สึกว่าระบบ ERP เหล่านี้ไม่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม เป็นผลให้ SMEs ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอซีทีและไม่พร้อมที่จะปรับธุรกิจเข้ากับสภาพการทำธุรกิจแบบออนไลน์ดังเช่นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ด้วยเหตุที่ธุรกิจ SMEs เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจทุกขนาด เมื่อระบบเศรษฐกิจระดับโลกกำลังจะปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกิจออนไลน์แบบ End-to-end ตลอดห่วงโซ่คุณค่า  กลุ่มธุรกิจ SMEs จึงจำเป็นต้องถูก Digitized ซึ่งหมายถึงต้องปรับกระบวนการทำงานทั้งระบบภายในและส่วนที่ทำธุรกรรมกับบุคคลภายนอกด้วยกระบวนงานที่ใช้ดิจิทัลต้องสามารถรองรับการแข่งขันที่อาศัยความรวดเร็ว (Speed) ปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวตามพลวัตรของตลาด (Agility) และสามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างไกล (Market reach) ด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต่ำได้

ระบบสารสนเทศที่เหมาะกับธุรกิจ SMEs ในยุคดิจิทัลต้องมีลักษณะที่บริการด้วย Cloud Computing มีระบบซอฟต์แวร์ที่เลือกและปรับตัวได้ตามความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างง่าย และมีให้เลือกที่หลากหลาย ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำ  ผู้ใช้ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน และสามารถทำงานได้ด้วยอุปกรณ์พกพาที่มีอยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ หรือถ้ามีก็มีไม่มาก เป็นระบบสารสนเทศที่สามารถปรับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมของธุรกิจทุกรูปแบบ เทคโนโลยีซอฟต์แวร์แบบ Microservice  จึงเหมาะที่จะพัฒนาเพื่อการ Digitize ธุรกิจของ SMEs ตามแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0

ในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา เรามีเทคโนโลยีลักษณะคล้ายกับ Microservices ที่รู้จักในชื่อว่า SOA หรือ Service Oriented Architecture แต่ SOA ในยุคแรกมีความสลับซับซ้อนมาก และผลผลิตคือชิ้นส่วนของซอฟต์แวร์ (Software components) นั้นใช้ยาก เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง นอกจากนี้ยังต้องลงทุนมาก ซึ่งแน่นอน เป็นเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะกับธุรกิจ SMEs ด้วยนา ๆ ประการ SOA ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่คนเราพยายามหาวิธีที่ทำให้ซอฟต์แวร์ถูกสร้างได้ง่ายและใช้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ก็พบอุปสรรค์ด้วยเหตุที่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ยาก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝนอย่างชำนาญ และใช้เวลาพัฒนาค่อนข้างยาว  เทคโนโลยี Microservice ถือได้ว่าเป็นผลจากการปรับปรุงเพื่อให้แนวคิดการสร้างซอฟต์แวร์เป็นชิ้น ๆ นั้นทำได้ง่ายขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายต่ำ  Microservice จึงเหมาะสำหรับการ Digitize ธุรกิจ SMEs เพื่อให้ SMEs จะได้กลายแป็นกลุ่มหนึ่งของเครือข่ายการค้าโลกที่นับวันจะพัฒนาการค้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น

Microservice คือซอฟต์แวร์ชุดเล็ก ๆ ที่ถูกออกแบบให้ทำงานเฉพาะด้าน เช่นงานรับการสั่งซื้อ การจับจองสินค้า รับชำระเงิน จัดส่งสินค้า ฯลฯ Microservice ถูกออกแบบทำหน้าที่บริการที่ทำงานเป็นอิสระ เบ็ดเสร็จในตัว พึ่งพาระบบงานส่วนอื่น ๆ ให้น้อยที่สุด (Loosely coupled) ที่สำคัญ Microservice ต้องมีคุณสมบัติเป็น “Bounded Contexts” ซึ่งหมายถึงซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบให้รู้งานเฉพาะที่รับผิดชอบ ไม่ต้องยุ่งกับโลกภายนอกโดยไม่จำเป็น มีคุณลักษณะเป็น Autonomous ที่บริหารจัดการง่าย  แต่เมื่อนำ Microservices จำนวนหนึ่งมาทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหนึ่ง ๆ ก็สามารถบรรลุผลตามเจตนาได้โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลส่วนอื่น ๆ ของระบบ Platform หรือ Ecosystem ซึ่งถือว่าเป็นงานส่วนกลางที่ถูกออกแบบแยกออกจาก Microservices เมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้ซอฟต์แวร์เพื่องานทางธุรกิจจะมีลักษณะคล้ายกับที่เราใช้ Facebook หรือระบบ E-Commerce ที่ผู้ใช้เรียนวิธีใช้เฉพาะส่วนที่ตนเองสนใจ และทำงานตามขั้นตอน ซึ่งเข้าใจได้ง่าย เพื่อบรรลุผลที่ต้องการเท่านั้น ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Platform  ซึ่งอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ SMEs รัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยลงทุนสร้าง Microservices เพื่อบริการกลุ่ม SMEs อย่างแพร่หลาย

2.2.       สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ด้าน Digital Business Transformation

การพัฒนาธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็น แต่ยังต้องปรับแนวคิดและให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเข้าใจขั้นตอนการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบธุรกิจปัจจุบันให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในโลกดิจิทัล ไม่เฉพาะแข่งขันภายในประเทศหรือภูมิภาค และต้องสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ด้วย

รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมให้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวทางการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนให้ธุรกิจได้รับการอบรมและเรียนแนวทางการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อแข่งขันในยุคดิจิทัลได้  การฝึกทักษาด้าน Digital Business Transformation ควรมีเนื้อหาสาระหลักอย่างน้อยดังนี้

1)            ความสำคัญและผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยให้เข้าใจว่าดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมโยง มี Social technology  เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างชุมชนเพื่อทำธุรกิจแบบใหม่ที่เน้น Value Creation เทคโนโลยีเกี่ยวกับเครือข่ายสังคม (Social Network) เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำธุรกิจครั้งใหญ่ จากเดิมที่เป็นธุรกิจเน้น Optimize internal processes and resources เพื่อสร้างสินค้า มาเป็นสร้างคุณค่าจาก Interaction  เปลี่ยนจาก Value chain ที่ประกอบด้วย Series of linear activities มาเป็น a network of interactions ธุรกิจในโลกของเครือข่ายสังคมเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจมาเป็นวิธีแบ่งปันใช้ทรัพยากรและร่วมมือกัน แทนการแข่งขันการเป็นเจ้าของทรัพยากรเพื่อสร้างความได้เปรียบ
2)            ในโลกของการเชื่อมโยงเป็นชุมชนและเครือข่าย  ธุรกิจสามารถทำงานร่วมกันกับพันธมิตรได้ง่ายและคล่องตัว นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการได้คล่องตัวจนสามารถให้บริการแบบ  Mass customization และ Personalization ที่เน้นคุณค่าจากการใช้สินค้าและบริการ แทน Mass Production ที่เน้นการสร้าง Function/Feature ซึ่งเป็นคุณค่าประจำตัวสินค้าและบริการเพื่อจำหน่ายให้ได้กำไรเท่านั้น
3)            Value Creation Principles เป็นหลักการที่ช่วยการออกแบบระบบงานที่เน้นทักษะด้าน Customer-driven,  Service Science เป็นหลักคิดของการสร้างคุณค่าโดยยึดแนวทางการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุด
4)             ความหมายและความสำคัญของ Interactive Design, ความหมายของ Value Creation System (VCS) แนวคิดการสร้างนวัตกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าด้วยวิธี Interactive Design
5)            แนวคิดการออกแบบ Value Creation System การรวมตัวของ Cyber-Physical System (CPS)  เกิดเป็น Value Constellation เพื่อการทำ Process reconfiguration เพื่อสร้างคุณค่าแบบ Mass customization แนวทางสร้าง Platform เพื่อการทำงานปฏิสัมพันธ์และการ Deliver value
6)            การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อแข่งขันได้ในยุคดิจิทัลต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน (Business Transformation Maturity Model) ทางเลือกการปรับเปลี่ยนธุรกิจยุคใหม่ด้วยดิจิทัล ยุทธศาสตร์เพื่อการปรับปรุงธุรกิจตามแนว Product-centric การปรับปรุงให้เกิดความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อร่วมสร้าง Offerings ที่หลากหลาย การปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยการเน้นเพิ่มบริการ และการปรับเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจที่เน้น Value Creation ด้วยระบบDigital Platform

ที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของเนื้อหาสาระที่ธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ รายละเอียดของเนื้อหาเกี่ยวกับ Digital Business Transformation จะบรรยายในบทความชุดใหม่ต่อไป



No comments:

Post a Comment