Saturday, December 31, 2016

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 7



              บทความตอนที่ 6  ได้กล่าวถึงนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศไทยบนพื้นฐานของแนวคิด Cyber-Physical System (CPS)  และได้แนะนำความหมายของ Industry 4.0 ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจดิจิทัลที่อาศัยการเชื่อมโยงธุรกิจในทุกมิติ ทั้งแนวลึกและแนวกว้าง (Vertical and Horizontal Integration) ทั้ง Top-floor และ Shop-floor  บทความตอนใหม่นี้จะกล่าวถึงกรอบความคิดของการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย และบทบาทของรัฐในการส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0

1.             กรอบความคิดของการพัฒนา Industry 4.0
       Industry 4.0 ตามที่ได้อธิบายมาในตอนที่แล้ว บางครั้งเรียกว่า “Industrial Internet” หมายถึงการทำธุรกิจที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจและทำประมวลผลข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ จนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รูปแบบธุรกิจ (Business Model) สินค้าและบริการ กระบวนการผลิต และกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ธุรกิจพัฒนาไปในทิศทางที่เน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง  Industry 4.0 เป็นคำที่ใช้เพื่อสื่อความหมายถึงยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจทั้งภายใน (Vertical Integration) และกระบวนการทางธุรกิจภายนอก (Horizontal Integration) ที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการทำธุรกิจใหม่โดยเน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) และประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer Centricity) พื้นฐานสำคัญของ Industrial Internet คือการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network หรือ Value Constellation) เพื่อทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ระหว่างพันธมิตร และทำให้เกิดธุรกิจ Outsourcing มากขึ้นทั่วโลกด้ายวิธีเชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตทุกรูปแบบ ที่สำคัญ เน้นการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อให้การทำงานในทุก ๆ กระบวนการมีความฉลาดและรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังสร้างมาตรการทางธุรกิจที่มีความโดดเด่นและทันสมัยรับมือกับการแข่งขันที่มีพลวัตรสูง

โดยสรุป ธุรกิจและอุตสาหกรรมภายใต้แนวความคิดของ Industry 4.0 หรืออุตสาหกรรม 4.0 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1) สินค้าและบริการ  2)  กระบวนการทำงานแบบบูรณาการ และ 3) รูปแบบธุรกิจ (Business Model)

1)            การพัฒนาสินค้าสินค้าและบริการ
เป็นแนวคิดการ Digitize สินค้าและบริการเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า การใช้อุปกรณ์ Sensors หรือ IoT ทำให้สินค้าสามารถสื่อสารข้อมูลกับผู้บริโภคหรือเครื่องจักร เป็นแนวคิดใหม่ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของใช้ทำงานกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ เช่นเครื่องฉีดน้ำอัตโนมัติที่ใช้ในภาคเกษตรมีอุปกรณ์ Sensors วัดอุณหภูมิและความชื้น เพื่อควบคุมการฉีดน้ำอย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ  หรือการสร้างบริการดิจิทัลที่ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์ได้คุณค่าเพิ่มขึ้น เช่นการสร้าง Mobile apps สารพัดอย่างทำให้เครื่องโทรศัพท์พกพา นอกจากจะใช้เป็นเครื่องสื่อสารโทรศัพท์ ยังสามารถทำงานอื่น ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่การสื่อสารที่ใช้ตัวหนังสือ เช่น Line และ WhatsApp จนถึงเป็นอุปกรณ์เล่นเพลงและดูข่าวชมภาพยนตร์จนถึงการสั่งซื้อสินค้าและชำระเงิน อุตสาหกรรมในยุคดิจิทัลจึงต้องแข่งขันที่นวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความฉลาด และนวัตกรรมด้านบริการดิจิทัลที่สร้างประโยชน์และคุณค่าจากสินค้าและบริการได้อย่างมาก

2)            การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบบูรณาการ
อุตสาหกรรมที่ทำธุรกรรมด้วยดิจิทัลหรือธุรกิจดิจิทัลมักจะทำธุรกรรมส่วนใหญ่ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รูปแบบการทำงานและการบริหารจัดการจะแตกต่างจากเดิมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่กลุ่มกระบวนการงานหลัก (Core processes) เช่นงานด้านการผลิต การจัดหาสินค้า การตลาด การจัดจำหน่าย การบริการหลังการขาย และกลุ่มงานสนับสนุน (Supporting processes) ประกอบด้วยงานด้านการเงินการบัญชี การบริหารบุคลากร การจัดซื้อจัดหา ฯลฯ  รูปแบบงานทั้งหมดต้องถูกออกแบบใหม่และปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การทำงานทุกขั้นตอนมีโอกาสจะทำร่วมกับบุคคลภายนอก หมายถึงกับพันธมิตรและลูกค้า กระบวนการงานหลักของธุรกิจประกอบด้วย 

·       งานด้านจัดซื้อ (Procurement)
·       งานด้านการผลิต (Manufacturing)
·       งานด้านจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) และ
·       งานด้านจัดจำหน่าย (Order management)

กระบวนการงานหลักเหล่านี้ถูกออกแบบให้ทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบบูรณาการกัน (Vertical and Horizontal Integration) ความสลับซับซ้อนของกระบวนการงานหลักเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและขนาดของธุรกิจ ความสามารถออกแบบกระบวนการงานหลักที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรมแบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับคู่ค้าและลูกค้าได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเป็นเรื่องที่บ่งชี้ถึงความสามารถที่ธุรกิจเหล่านี้จะแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล
3)            การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business Model)
 พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจจนถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ใหม่ให้มีลักษณะดังนี้ 

·       เน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) แทนการเพิ่มคุณค่า (Value-added)
·       สร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจเดิม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) จนได้ผลเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
·       สร้างความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่องค์กรเพื่อพัฒนาธุรกิจแนวใหม่บนพื้นฐานของแนวความติดใหม่ (Mindset) ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติ จนเป็นผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
รูปแบบของธุรกิจดิจิทัลจึงเกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสินค้าและบริการ และกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่ร่วมมือกับพันธมิตรในลักษณะเป็นเครือข่ายที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างคุณค่าและตอบโจทย์ของลูกค้าได้ตามบริบท



                       รูปที่ 1  สรุปกรอบแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 (source: PWC, 2014.)

ภาพที่แสดงในรูปที่ 1 นอกจากจะแสดงถึงการพัฒนาธุรกิจ 3 มิติเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ยังตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างพันธมิตรทั้งในรูปแบบการร่วมมือกันหรือรูปแบบการ Outsource และความสำคัญของการใช้ข้อมูลในวงกว้างเพื่อให้เกิดความรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน (Insights) เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัลภายใต้กรอบความคิดของอุตสาหกรรม 4.0 สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ที่มีพลวัตรสูงมากได้

2.             บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0

เป้าหมายของรัฐบาลภายใน 10-20 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกกิจกรรมจะต้องเชื่อมต่อภายในและระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นำประเทศไทยไปเป็นส่วนสำคัญของระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยต้องเริ่มสนับสนุนให้ธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม  Digitize ตนเองให้เป็น Digital Business ก่อน เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศต่อไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยภาครัฐจะต้องเตรียมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในสิ่งต่อไปนี้

2.1.       สนับสนุนให้อุตสาหกรรมปรับตัวให้เป็นธุรกิจดิจิทัล
การ Digitize ธุรกิจให้เป็นธุรกิจดิจิทัลนั้นต้องเริ่มจากการช่วยให้ปรับขั้นตอนการทำงาน (Business processes) เป็นดิจิทัล และสามารถเชื่อมโยงกับคู่ค้าโดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่เพื่อทำรายการค้า (Business Transaction) แบบออนไลน์ ในเบื้องต้นควรครอบคลุมรายการค้าสำคัญพื้นฐาน 4 ชนิดคือ
·       รายการสั่งซื้อ (Purchasing Order, PO)
·       รายการขาย (Invoice)
·       รายการสั่งจ่ายเงิน (Payment)
·       รายการรับเงิน (Receive)

จุดเริ่มต้นเพื่อเตรียมตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 นี้รัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

1)            สนับสนุนให้ใช้มาตรฐานข้อมูลและ Standard Messages ประกอบด้วย

· มาตรฐานรหัสสินค้าสากล ซึ่งขณะนี้ภาครัฐและเอกชนได้ตกลงเลือกมาตรฐาน Global Trade Item Number (GTIN 13 หลัก) ของ GS1
· มาตรฐานรหัสแยกกลุ่มสินค้า ซึ่งขณะนี้ได้ตกลงใช้รหัส UNSPSC ของสหประชาชาติ (UN Development Programme (UNDP)) ภายใต้การจัดการของ GS1 รหัส UNSPSC เป็นมาตรฐานรหัสแยกกลุ่มสินค้าและบริการหลายระดับ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการบริหารจัดการการค้าระดับสากล
· มาตรฐานใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร และสภาอุตสาหกรรม โดยใช้มาตรฐานที่อิงกับมาตรฐานของ UN/CEFACT  มาตรฐานใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์นี้ครอบคลุมถึงเอกสารรายการค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น ใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice) ใบเสร็จรับเงิน (e-Receipt) และอื่น ๆ การใช้มาตรฐานรายการค้าอิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้จะทำให้การค้าออนไลน์ของไทยแบบ End-to-end ทำได้สมบูรณ์ขึ้น
· มาตรฐานข้อมูลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมพัฒนามาตรฐานกลางข้อความการชำระเงิน (Nation Payment Message Standard) ที่จะส่งผลให้ข้อมูลการค้าและข้อมูลการชำระเงินเชื่อมโยงกันได้โดยอัตโนมัติแบบ Straight-Through Processing ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจ ประเทศไทยได้เลือกใช้มาตรฐาน ISO 20022 

ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานข้อความที่ใช้ในกิจกรรมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0


             ยังมีต่อครับ

No comments:

Post a Comment