ถ้าถามว่า “ดิจิทัล” คืออะไร จะมีคนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าดิจิทัลเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่
ๆ เช่นอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง อุปกรณ์พกพาหลากหลายชนิด ฯลฯ สำหรับบางกลุ่มดิจิทัลอาจหมายถึงการสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกิจการมากขึ้นโดยอาศัยกลุ่มสื่อสังคมที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มองดิจิทัลเป็นโอกาสใหม่ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจสู่ตลาดใหม่ที่คนส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึง
เช่นธุรกิจบริการแท็กซี่แบบใหม่ (Uber, Grabtaxi, etc.) ความเข้าใจดิจิทัลที่มีหลากหลายรูปแบบนี้เป็นผลจากการมองต่างมุมกัน
แต่ที่แน่นอนดิจิทัลมีศักยภาพที่จะพาเราไปสู่การทำธุรกิจแนวใหม่และสร้างโอกาสใหม่
ๆ ที่จะนำพาระบบเศรษฐกิจไปสู่อนาคตที่แข่งขันอย่างยั่งยืนได้
เพื่อให้เข้าใจความหมายของดิจิทัลให้ตรงกัน เราควรมองว่าดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของศตวรรษที่
21 เป็นเทคโนโลยีที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำธุรกิจ 1) ช่วยให้เกิดความคิดใหม่
ๆ ทั้งรูปแบบธุรกิจและกระบวนการทำธุรกิจ และ
2) เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
1.
ช่วยให้เกิดความคิดใหม่
ๆ ทั้งรูปแบบธุรกิจและกระบวนการทำธุรกิจ
ดิจิทัลมีศักยภาพมากที่ช่วยให้เราพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่
ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เรียกว่า Intangible
Innovation หรือนวัตกรรมที่ไม่มีตัวตน หมายความว่าในยุคดิจิทัลคนเราจะค้าขายกันผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น
ทำให้เราขยายเวทีการทำธุรกิจจาก Physical world ไปอยู่ในโลกใบใหม่ที่เรียกว่า
Cyber World หรือ Digital World ธุรกรรมที่ทำกันในโลกดิจิทัลส่วนใหญ่เป็นการบริการ
เปิดโอกาสให้เราสร้างนวัตกรรมที่ไม่เหมือนเก่า
การสร้างนวัตกรรมอาจเป็นการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ทั้งหมด
เช่นธุรกิจแบบ Google หรือนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มคุณค่ามากขึ้นด้วยวิธีการใหม่
ๆ บนฐานของธุรกิจที่มีอยู่เดิมในอุตสาหกรรมเดิม
ตัวอย่างเช่นการบริการแท็กซี่แบบใหม่ที่กล่าวข้างต้น เราต้องตระหนักว่าภายในโลกดิจิทัลนั้น
การทำงานทุกอย่างจะไม่มีข้อจำกัดในด้านสถานที่ (Space) และเวลา
(Time) รวมทั้งการพึ่งพาบุคคล (Actor) เหมือนในโลกกายภาพ
จึงเปิดโอกาสให้คนเราสร้างสรรค์บริการทุกรูปแบบที่หลากหลายให้ผู้บริโภคเลือกตามบริบทของแต่ละบุคคลได้
(Economies of scope) การสร้างข้อเสนอที่หลากหลาย (Density
of options) ที่ผู้บริโภคเลือกไปทำให้เกิดประโยชน์นี้คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่
ๆ ได้อย่างไม่มีขอบเขต ขึ้นอยู่ที่จินตนาการของพวกเรา
2.
เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
ยุคดิจิทัลเป็นยุคที่ต้องทำให้ลูกค้าได้
Real value จากทั้งสินค้าและบริการ หมายความว่าธุรกิจต้องเข้าใจวิธีการที่ลูกค้าใช้สินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง “Customer Experience” หมายถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากการใช้สินค้าและบริการ
มีความพึงพอใจกับคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับ
การทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าในยุคดิจิทัลส่วนใหญ่เกิดจากบริการที่กระทำกันในโลกดิจิทัลอาศัยดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญ
ตัวอย่างเช่น การสร้างระบบงานให้ลูกค้าจองคิวใช้บริการของร้านอาหาร
หรือบริการ ธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือได้
แทนการที่ต้องเดินไปหน้าร้านเพื่อรับบัตรคิวแล้วยืนรอ การบริการยังอาจรวมทั้งช่วยประมาณเวลาก่อนถึงคิวตัวเอง
เพื่อลูกค้าจะได้ใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามความสะดวก
ไม่ต้องเสียเวลายืนรอคิวที่น่าเบื่อหน่าย นี่คือตัวอย่าง Customer Experience ที่ธุรกิจสามารถให้ได้ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี
การสร้าง Customer Experience ด้วยดิจิทัลในบางกรณีอาจต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน
และต้องอาศัยทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เช่นกรณีบริการ Personalized
promotion program ที่ธุรกิจค้าปลีกเริ่มนิยมนำมาใช้ ลูกค้าที่พกเครื่องโทรศัพท์มือถือเข้าร้าน
อาจจะพบประสบการณ์ที่ระบบคอมพิวเตอร์ของร้านค้าจะติดต่อสื่อสารกับโทรศัพท์มือถือตลอดระยะเวลาที่ลูกค้าเดินเยี่ยมชมสินค้าแบบเรียวไทม์
พฤติกรรมการเยี่ยมชมร้านค้าจะถูกส่งไปวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ของร้าน
แล้วทางร้านจะส่งข้อเสนอเข้าเครื่องมือถือในรูปของส่วนลดราคาหรือรายการ Promotion
ที่สร้างขึ้นเฉพาะตัวจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลในขณะที่ลูกค้าเดินชมสินค้าในร้าน
ดิจิทัลที่ใช้นั้นประกอบด้วยระบบ Indoor
Positioning System (IPS) ระบบสื่อสารไร้สายระยะใกล้ประกอบด้วยโทรศัพท์มือถือกับอุปกรณ์
Beacon ตลอดจน Data analytics technique ฯลฯ ผลที่ได้คือ สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเป็นอย่างมากได้
ตัวอย่างนี้ต้องอาศัยความสามารถของดิจิทัลเพื่อทำงานอย่างน้อย 4 เรื่องคือ
1)
การตัดสินใจเชิงรุก
(Proactive decision making) ในยุคดิจิทัลการตัดสินใจในเรื่องแต่ละเรื่องต้องให้ตรงประเด็นและตรงเป้า
เช่นการตัดสินใจยื่นข้อเสนอส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าจากตัวอย่างข้างต้น ถ้าจะทำข้อเสนอใดให้ประทับใจจำเป็นต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรและเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าให้มากที่สุด
การวิเคราะห์จากข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราจำเป็นต้องพึ่งความสามารถของ Data
analytics ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของดิจิทัลเทคโนโลยี
2)
การปฏิสัมพันธ์ตามบริบท
(Contextual interactivity) เพื่อให้เข้าใจลูกค้าและวิธีการที่ลูกค้าสร้างคุณค่าให้ตนเองจำเป็นต้องอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงลูกค้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อศึกษาพฤติกรรมทุกอิริยาบถได้อย่างแม่นยำ
เพื่อจะได้นำไปสร้างข้อเสนอเฉพาะตัวได้ ดิจิทัลเทคโนโลยีกลุ่ม Internet of
Things รวมทั้งกลุ่ม Wearable technology เช่นนาฬิกาข้อมูลไฮเทค
และเทคโนโลยีที่สรวมใสติดตัวได้ เป็นดิจิทัลที่จะสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ได้
จนนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเฉพาะให้ลูกค้าแต่ละคนแต่ละกลุ่มได้ตรงเป้า การใช้ Beacon ที่ติดตั้งในร้านค้ากับ
Beacon ที่ฝังตัวอยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือ (เครื่องสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมี Beacon ติดตั้งจากโรงงาน) โดยทั้งคู่จะติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า ถือได้ว่าเป็น Contextual Interactivity
3)
การทำงานอัตโนมัติแบบเรียวไทม์
(Real-time automation) ในยุคดิจิทัล
การสร้างคุณค่าหรือการทำให้เกิดคุณค่าจากการซื้อขายสินค้าและบริการนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยอุปกรณ์พกพามากขึ้น
โดยลูกค้าจะเพิ่มบทบาทในการทำ Co-creation มากขึ้น
และมาในรูปแบบ Self-service หรือบริการด้วยตัวเอง ธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนา Business
processes หรือกระบวนการต่าง ๆ
ในลักษณะที่ขับเคลื่อนด้วยคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถทำ Self-service
ผ่านระบบดิจิทัลได้ การพัฒนาระบบที่ส่งเสริมให้ลูกค้า Co-create
หรือช่วยตัวเองในลักษณะ Self-service จะช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจเป็นอย่างมาก
ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่ม Customer Experience อย่างน่าประทับใจ จากตัวอย่างข้างต้น
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคอมพิวเตอร์ของห้างกับลูกค้า ตั้งแต่การเสนอโปรแกรม Promotion
พิเศษ ลูกค้าอาจจะตอบปฏิเสธหรือรับข้อเสนอ
ตลอดจนขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อรับข้อเสนอ ทั้งหมดจะมี Business Processes ที่สร้างไว้ล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการบริการลูกค้าในลักษณะเป็น Real-time
automation
4)
นวัตกรรมที่เน้น
Customer Journey (Journey-focused
innovation) Customer Journey หมายถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่ได้เคยติดต่อทำธุรกรรมกับบริษัทมาระยะเวลาหนึ่งผ่านช่องทางหลากหลายชนิด
ตั้งแต่การติดต่อผ่านร้านค้า ผ่านอีเมล์ อินเทอร์เน็ต ทางโทรศัพท์ ทางสื่อสังคม
และช่องทางอื่น ๆ เป็นประวัติที่ลูกค้าคนหนึ่งเคยติดต่อทำธุรกรรมกับบริษัทซึ่งมีทั้งประสบการณ์ที่ดีและประสบการณ์ที่ไม่ดี
ธุรกรรมที่เคยทำกันมาอาจเกี่ยวกับการซื้อสินค้า การขอบริการ หรือการสอบถามข้อมูล
และอื่น ๆ ซึ่งเป็นประวัติที่ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับบริษัทมาระยะเวลาหนึ่ง การประเมินผลจากข้อมูลนี้บ่งบอกถึงความรู้สึกที่ลูกค้ามีต่อบริษัท
Customer Journey จึงเป็นประวัติเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกค้าทำ
สิ่งที่ลูกค้าได้จากบริษัท และความรู้สึกของลูกค้าที่มีต่อบริษัท Customer Journey ช่วยให้ธุรกิจรู้
Insights เกี่ยวกับกลุ่มลูกค้า
และเป็นส่วนที่จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ ๆ ให้ตรงตามความต้องการและสร้างคุณค่าได้แม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างในร้านค้าปลีกข้างต้น
บริษัทมีฐานข้อมูลที่เก็บสะสม Customer Journey ของลูกค้าทุกคน
ทุกครั้งที่ลูกค้าแวะเข้ามาในร้านและเมื่อ Beacon ที่ติดตั้งในร้านได้รับรู้ผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือของลูกค้า คอมพิวเตอร์ของห้างจะนำข้อมูล Customer
Journey ของลูกค้ามาประกอบการพิจารณาเสนอโปรแกรม Promotion พิเศษเฉพาะตัวให้แก่ลูกค้าคนนั้น ๆ
วิธีนี้จะสร้าง Customer experience ได้อย่างมากทีเดียว
ความเข้าใจดิจิทัลตามลักษณะที่กล่าวข้างต้น
ทำให้ธุรกิจต้องกำหนดกลยุทธ์ที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางทำธุรกิจให้สอดคล้องโดยอาศัยความสามารถจากดิจิทัล
การปรับเปลี่ยนจำเป็นต้องคำนึงถึงสองสิ่งคือ
เปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจใหม่ และปรับเปลี่ยนวิธีทำงานให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล
1)
เปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจใหม่
ยุคดิจิทัลเป็นยุคที่ต้องบริการลูกค้าให้ตรงเป้า
ทำให้เกิดคุณค่าแก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด เน้นความสำคัญของ Value creation แทน Value added การสร้างคุณค่าหรือ Value
creationให้ความสำคัญกับบริการที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้ลูกค้า
ในขณะที่การเพิ่มคุณค่าให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้า แต่ไม่คำนึงถึงผลปลายทางที่ลูกค้าจะได้รับ
Value creation ต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดหาทรัพยากรเสนอให้ลูกค้านำไปใช้ประโยชน์ ให้มีทางให้เลือกมากที่สุด
และทำให้เกิดคุณค่าให้ได้มากที่สุด Business
Logic หรือแนวคิดธุรกิจใหม่ตามที่กล่าวข้างต้นเป็นแนวคิดใหม่ที่พนักงานทุกระดับต้องยอมรับ
และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือปรับเปลี่ยนการทำงานมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือสนับสนุนและร่วมมือกับลูกค้าในการทำ Value creation
2)
ปรับเปลี่ยนวิธีทำงานให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล ในยุคดิจิทัล
ธุรกิจทำธุรกรรมอยู่ในโลกสองใบ คือโลกกายภาพที่พวกเราคุ้นเคย และโลกดิจิทัลตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
โลกกายภาพเป็นที่ที่ทำงานด้าน Back
office เป็นสถานที่ผลิตสินค้า เก็บสินค้า และเคลื่อนย้ายสินค้า
ในขณะที่โลกดิจิทัลเป็นสถานที่บริการลูกค้า ติดต่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าและพันธมิตรผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี
เช่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย
ระบบไอทีที่ใช้ต้องไวต่อการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของผู้บริโภค เป็นสถานที่ทำงานด้วย Digitized
data ที่เคลื่อนย้ายอย่างอิสระและเป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับการทำประโยชน์และสร้างคุณค่าให้แก่ทั้งธุรกิจและลูกค้า
โลกดิจิทัลเป็นโลกของเครือข่ายเพื่อให้คนทุกคนร่วมมือกันสร้างคุณค่า
และเป็นที่ที่เกิดไอเดียใหม่ นวัตกรรมใหม่ที่สร้างคุณค่าได้อย่างมาก ธุรกิจที่จะปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลนอกจากต้องเปลี่ยน
Mindset แล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนวิธีการและกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับต้องทำธุรกรรมอยู่ในโลกสองใบโดยเน้นการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าเป็นเป้าหมายหลัก
โดยสรุป
ดิจิทัลเป็นเรื่องของการสร้างความแตกต่าง
เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเร่งความเจริญเติบโตของธุรกิจ การเข้าใจความสามารถของดิจิทัล จะช่วยกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสใหม่
ๆ พัฒนาศักยภาพการแข่งขันที่ยั่งยืน
กลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจส่วนที่อยู่ในโลกดิจิทัลเป็นเรื่องนวัตกรรมบริการที่เน้นความสามารถของดิจิทัลเป็นหลัก จำเป็นต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่รับรู้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เร็วกว่า
อีกทั้งยังสามารถคิดนอกกรอบและใช้ความฝันของคนรุ่นใหม่ทำให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสังคมรุ่นใหม่ได้ ในขณะที่ธุรกิจส่วนที่อยู่ในโลกใบเดิม
คือโลกกายภาพ เป็นธุรกิจดั่งเดิมที่ยังมีความจำเป็น
คนเรายังต้องอาศัยสินค้าและบริการแบบเดิม ๆ และเป็นธุรกิจที่ยังต้องใช้ประสบการณ์และสมรรถนะของคนรุ่นเก่า การพัฒนาธุรกิจในศตวรรษที่ 21 จึงต้องบูรณากิจกรรมในโลกทั้งสองใบเพื่อให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่บริษัท
แก่สังคม และแก่ประเทศได้
No comments:
Post a Comment