แนวทางการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงแนวทางส่งเสริมธุรกิจเพื่อให้เกิดความพร้อมในการปรับเปลี่ยนแนวทางทำธุรกิจด้วยดิจิทัลในสองข้อแรก
ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้ทำธุรกรรมด้วยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และปรับปรุงระบบภายในให้พร้อมรับมือกับการทำธุรกิจแบบ
Digital Business และ (2) ส่งเสริมให้เพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวทางแรกนั้นได้กล่าวเฉพาะ “What” เท่านั้น
เรื่อง “How” ยังมีอุปสรรค์ที่ต้องว่ากันอีกยาว
โดยเฉพาะเรื่องข้อตกลงด้านการใช้ Standard messages, เรื่อง Message
translation, เรื่อง Interop ระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐ
รวมตั้งแต่เรื่องมาตรการเกี่ยวกับ Tax-invoice กับกรมสรรพากร
การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ข้ามธนาคาร (National Payment System) เรื่องเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกที่ต้องอาศัยระบบ National Single
Window (NSW) และระบบ Transaction ที่เกี่ยวกับงานด้าน
Logistics ฯลฯ เพื่อให้เกิดกระบวนการธุรกิจแบบ End-to-end
ด้วยอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ซึ่งจะหาโอกาสนำเสนอต่อไป ในบทความตอนใหม่นี้จะกล่าวถึงมาตรการที่
3
การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลเพื่อขยายตลาดและเจาะเข้าตลาดในระดับโลก ในแง่มุมของ “What”
ก่อนดังต่อไปนี้
3.
ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลเพื่อขยายตลาดและเจาะเข้าตลาดในระดับโลก
ในยุคที่ธุรกิจเริ่มใช้ระบบออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการซื้อการขาย
ตลาดการค้าจะไม่มีพรมแดน ประมาณกันว่าภายในปี 2020 กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะเชื่อมโยงกันได้ผ่านอุปกรณ์พกพาด้วยการสื่อสารบรอดแบนด์ความเร็วสูงมาก
ทุกคนในโลกนี้มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะบุกเข้าถึงตลาดได้ทุกมุมโลก
ธุรกิจไทยไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจภาคการผลิต การจำหน่าย
หรือธุรกิจบริการต่างต้องเรียนรู้การตลาดที่อาศัยดิจิทัล (Digital
marketing) เพื่อไม่ให้เสียเปรียบธุรกิจของประเทศอื่นที่มีความรู้ลึกซึ้งในด้านการตลาดแผนใหม่
ถ้านักธุรกิจไทยไม่ตื่นตัวพัฒนาและเรียนรู้หลักการตลาดที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยทุกประเภทเท่าทันผู้อื่น
ก็จะตกอยู่ในสภาพที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ยาก
ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมจำนวนมากที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากดิจิทัลที่ได้กล่าวมาข้างต้น
การส่งเสริมธุรกิจกลุ่ม SMEs ให้เกิดความตระหนักและรีบเร่งปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจด้วยดิจิทัลจึงจำเป็น
และด้านหนึ่งที่ต้องส่งเสริมกันอย่างจริงจังคือการใช้ดิจิทัลเพื่อการตลาดไม่เฉพาะเพียงภายในประเทศแต่ต้องสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกด้วย
การตลาดดิจิทัลมีความซับซ้อนกว่าการตลาดวิธีเดิมมาก
และส่วนหนึ่งต้องอาศัยสื่อใหม่ (New media) ในรูปดิจิทัล สื่อดิจิทัลหรือ Digital media
นี้เป็นสื่อสองทาง ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค
การสร้างความสัมพันธ์นำไปสู่การสร้างความไว้วางใจกัน ในหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจทั่วทั้งโลกได้เปลี่ยนวิธีโฆษณาจากสื่อเดิม
ได้แก่สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุโทรทัศน์มาเป็นการโฆษณาออนไลน์ผ่านสื่อสังคมยักษ์ใหญ่เช่น
Facebook, Google
Aswords และอื่น ๆ การโฆษณาออนไลน์ลักษณะนี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางกว่าและได้ผลแน่นอนกว่า
โดยเฉพาะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เช่นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สมาร์ทโฟนทุกรูปแบบ แท็บเล็ต ทีวีและเครื่องเล่นเกม
จึงมีผลในเชิงการตลาดมากกว่าการตลาดด้วยวิธีเดิมอย่างเปรียบเทียบไม่ได้
นอกจากนี้การตลาดดิจิทัลยังอาจใช้เทคโนโลยีอื่น เช่น Website ขององค์กร ระบบอีเมล์ e-mail ตลอดจนเครือข่ายสังคมสาธารณะอื่นเช่น Twitter, Line ฯลฯ
3.1. การตลาดในยุคดิจิทัล
ตลาดเป็นที่ที่คนเราใช้เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทุกรูปแบบ
รวมทั้งแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลด้วย ในยุคดิจิทัลเกิดตลาดใหม่ คือตลาดดิจิทัล (Digital market) ที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้น เสริมจากตลาดเดิม
(ตลาดทางกายภาพ, Physical market) ที่เราเคยคุ้นเคยกันมานาน
ธุรกิจกลุ่ม SMEs ต้องให้ความสำคัญและต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้สามารถทำธุรกิจในตลาดดิจิทัลนี้ได้
ในตลาดดิจิทัลใหม่นี้รูปแบบการตลาดเปลี่ยนจาก Push มาเป็น Pull
หมายความว่า ในตลาดกายภาพเดิมธุรกิจเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและกติกา
อีกทั้งกำหนดรูปแบบสินค้าและบริการรวมทั้งคุณค่าที่พึงจะได้สำหรับผู้บริโภค แล้วอาศัยกลไกการตลาดทำการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน
(Value in-exchange) แต่ในยุคดิจิทัล ภายใต้การตลาดแบบ Pull
นั้น ผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดความต้องการ (Needs) และความคาดหวังที่จะให้ธุรกิจตอบสนองความต้องการตามบริบทต่าง ๆ (Value
in-context) ผู้บริโภคจะทำการค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งได้รับการแนะนำจากเพื่อน
ๆ จากโลกไซเบอร์เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ แทนที่จะคล้อยตามคำชวนเชื่อและชักนำจากผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านการโฆษณา
การเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้ ผู้บริโภคได้เปลี่ยนจากการเป็นผู้ตาม (Passive consumer)
กลายเป็นผู้นำ (Active consumer)
Philip Kotler กล่าวในหนังเสื่อเรื่อง “Marketing
3.0[1]” ตอนหนึ่งว่าในรอบ
60 ปีที่ผ่านมา การตลาดได้เปลี่ยนแปลงมาถึง 3 ครั้ง จากการตลาดที่ท่านเรียกว่า “Product Management” หรือการจัดการในด้านสินค้าในช่วงทศวรรษ 50s และ 60s
มาเป็นการตลาดแบบ “Customer Management” หรือการจัดการในตัวลูกค้าในช่วงทศวรรษ
70s และ 80s จนได้พัฒนาการมาเป็น “Brand
Management” หรือการจัดการกับตราสินค้าในช่วง 90s จนมาถึงทุกวันนี้
Product management ให้ความสำคัญกับวงจรของสินค้าตั้งแต่การวางแผน
การผลิต และการตลาดโดยให้ความสำคัญในด้านรายได้ ส่วนแบ่งตลาดและผลกำไรจากการจำหน่ายสินค้าเป็นหลัก
เป็นการเน้นที่ความสามารถในการผลิตสินค้าและขายให้ได้มากและกำไรได้มากที่สุด
หลักคิดการตลาดที่เรียกว่า Market Mix และ 4Ps
(Product, Price, Promotion, Place) เป็นแนวทางการบริหารการตลาดที่ยอมรับกันในช่วงเวลานี้
และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์หลังสงครามโลกที่ความต้องการสินค้าทุกชนิดนั้นสูงมาก
ในช่วงทศวรรษ 70s และ 80s เศรษฐกิจโลกเกิดผันผวนอันเนื่องมาจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันโลก
ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจกอร์ปกับการแข่งขันจากกลุ่มประเทศในภาคพื้นอาเซียที่รุนแรงขึ้นเป็นเหตุให้นักการตลาดต้องเปลี่ยนกลยุทธ์หันมาแย่งชิงลูกค้ากัน
ความสามารถในการเข้าใจความต้องการของลูกค้านั้นกลายเป็นสิ่งสำคัญ
หลักการการตลาดเดิมคือ Product Management จึงถูกเปลี่ยนเป็น Customer Management และ Market Mix 4Ps ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็น STP (Segmentation, Targeting, Positioning) นักการตลาดหันมาสนใจตัวลูกค้ามากกว่าตัวสินค้าอย่างที่เคย
เมื่อพัฒนาการของไอซีทีได้เข้าสู่ยุคเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตในช่วงทศวรรษ
90s
ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์สร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในหมู่คนจำนวนมาก
อิทธิผลจาก “ปากต่อปาก” จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทวีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้บริโภคมีโอกาสติดต่อกัน
แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นใกล้ชิดกันเป็นเหตุให้นักการตลาดต้องหันมาเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดเป็นหนที่สาม
โดยเน้นที่ตราสินค้า (Brand) มากขึ้น
เป็นกลยุทธ์ของการสร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อใจให้แก่ลูกค้า Brand
Management จึงได้กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของการตลาดตั้งแต่นั้นมา ตราสินค้า
หรือ แบรนด์ หรือ ยี่ห้อ เป็นภาพพจน์ของสินค้าและตัวธุรกิจในสายตาของผู้บริโภค การสร้างภาพพจน์ที่ดีทำให้เกิดความแตกต่างได้เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน
การตลาดในยุคดิจิทัลจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อให้แบรนด์อยู่ในหัวใจของผู้บริโภค
เพื่อให้บังเกิดผลดังกล่าว
จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางโฆษณาทางเดียว และเปลี่ยนจากวิธียัดเยียดความเชื่อมาเป็นวิธีให้ข้อมูลและเสนอข้อแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์
ยอมรับฟังความเห็นของผู้บริโภคแล้วพยายามหามาตรการสนองตอบลูกค้าให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด
และให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี (Customer Experience) อยู่ตลอดเวลา
วิธีการที่ได้รับความนิยมและได้ผลเป็นที่ยอมรับกันในทุกวันนี้นั้นอาศัยสื่อสังคม (Social
Media) รูปแบบต่าง ๆ ที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป
3.2. ความสามารถของดิจิทัลที่มีต่อการตลาด
ในยุคดิจิทัล
เครื่องมือการตลาดที่ช่วยสร้างแบรนด์ได้ดีประกอบด้วยอย่างน้อยดังนี้
1)
ใช้ Blogs เพื่อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ
เป็นวิธีการให้ความรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นวิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและบริษัทที่ดีวิธีหนึ่ง
2)
ใช้ Micro blogs เช่น Twitter ในการให้ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เป็นวิธีการสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค นอกจากผู้บริโภคจะได้ความรู้และข่าวสารจากบริษัท
ยังสร้างความใกล้ชิดจากการปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องด้วย
3)
ใช้ Video เช่น YouTube ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
อีกทั้งนำเสนอสิ่งที่เป็นความรู้เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคด้วยภาพยนตร์หรือคลิปวีดีโอสั้น
ๆ ซึ่งเป็นวิธีโฆษณาและการสื่อสารทางธุรกิจแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมสูง
และได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลสูงมาก
4)
ใช้ระบบ
Photo-sharing เช่น Flickr.com เพื่อแบ่งปันรูปภาพหรือภาพถ่ายผ่านเครือข่ายสังคม ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยภาพที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง
5)
ใช้ระบบเครือข่ายสังคมสาธารณะเช่น
Facebook, LinkedIn และอื่น ๆ
เพื่อการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างธุรกิจกับชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจ
เครื่องมือที่กล่าวทั้งหมดข้างต้นสามารถนำมาใช้เพื่อโฆษณาและสื่อสารธุรกิจได้ในวงกว้าง
เป็นวิธีที่ประหยัดมาก Paul Gillin แนะนำในหนังสือเรื่อง “Social Marketing to the Business Customer[2]” ว่าเราสามารถใช้สื่อสังคมเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านการตลาดด้านต่าง
ๆ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
1.
รับรู้การเคลื่อนไหวของตลาด
(Market Intelligence) เทคโนโลยีสื่อใหม่ที่กล่าวข้างต้นถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสารกันในตลาดได้อย่างกว้างไกล
ธุรกิจมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้บริโภคและคู่แข่งได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ทำให้สามารถนำข้อมูลการตลาดที่กล่าวมาใช้วางกลยุทธ์ได้เหมาะสมและต่อเนื่อง
2.
ช่วยให้มองเห็นโอกาส
(Identify Opportunities) การติดตามกลุ่มคนที่หลากหลายผ่าน
Twitter หรือเข้าร่วมสมาคมในชุมชนเช่น Facebook สามารถช่วยประเมินสถานการณ์จนนำไปสู่การเห็นโอกาสทางธุรกิจจากข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้ได้
3.
สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าและกลุ่มผู้บริโภคด้วยวิธีการนำเสนอความคิดเห็น
ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งข้อชี้แนะผ่าน Blogs และ Microblogs กลุ่มผู้บริโภคในแต่ละชุมชนมีโอกาสได้รับรู้และตระหนักถึงความเป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือของเราผ่านกระบวนการดังกล่าว
ทำให้พนักงานและบริษัทเป็นที่ยอมรับของสังคม วิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อถือและความชื่อมั่นในแบรนด์ของธุรกิจได้
4.
เป็นเครื่องมือในการทำวิจัยการตลาดแบบง่าย
ๆ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก
การมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในชุมชนผ่านเครือข่ายสังคมในวงกว้าง ทำให้เราสามารถประเมินความเห็น
ความต้องการ รวมทั้งประเมินอำนาจการซื้อในกลุ่มผู้บริโภคแต่กลุ่ม
ทำให้เราได้รับรู้ถึงสภาพที่แท้จริงของตลาดได้ตลอดเวลา
ถือได้ว่าเป็นวิธีการวิจัยการตลาดที่เรียบง่ายและประหยัดที่สุด
5.
เป็นเครื่องมือสนับสนุนและช่วยเหลือลูกค้าได้
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าในยุคดิจิทัล ธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีจากการโฆษณาแบบเดิมมาเป็นการให้ความรู้และเสนอแนะ
รวมทั้งการเสนอการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเมื่อมีโอกาส ธุรกิจอาจให้บริการเหล่านี้ผ่านเว็บไซท์ของตนเอง
หรือผ่านเครือข่ายสื่อสังคมได้
ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคสามารถแสดงความคิดเห็นทั้งด้านลบและด้านบวกต่อสินค้าและธุรกิจ
ให้ลูกค้ามีเวทีเสนอความคิดเห็นได้ แต่ทั้งนี้ธุรกิจต้องจัดบุคลากรให้คอยเฝ้าติดตามและทำการชี้แจงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
รวมทั้งการเสนอแนะให้ลูกค้าที่เป็นประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
ความสามารถเข้าใจประโยชน์และวิธีใช้เทคโนโลยีกลุ่มสื่อสังคมเพื่อการตลาดเป็นความรู้ที่ธุรกิจ
SMEs จำเป็นต้องเรียนรู้ การใช้ดิจิทัลเพื่อการตลาดตามตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นเป็นทักษะและประสบการณ์ใหม่ที่ต้องมีการฝึกฝนจนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
เหล่านี้จำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือในระยะขั้นต้น
ตอนต่อไปจะนำเสนอการส่งเสริมด้วยการสร้างนวัตกรรมบริการ (Service
Innovation) เพื่อเสริมความเข้มแข็งอย่างยั้งยืนของธุรกิจ
No comments:
Post a Comment