Tuesday, December 30, 2014

บทบาทของ Enterprise Architecture กับ Service Scienceในการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ตอนที่ 9



ในบทความ 8 ตอนแรกได้กล่าวถึงว่าเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การแข่งขันในตลาดมีพลวัตรสูงเป็นเหตุให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันและความต้องการของลูกค้าบ่อยมากขึ้น การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์มีผลต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งระบบไอซีที จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องเข้าใจกลไกการทำงาน การจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) จึงมีความจำเป็น  เพราะเป็นวิธีที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างระบบไอซีทีกับระบบงาน ระหว่างระบบงานกับความรับผิดชอบของหน่วยงานและระดับบุคคล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานกับระบบที่สนับสนุนการทำงานเพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กรในรูปเอกสารบรรยายรายละเอียดของงาน ทั้งในรูปแบบบรรยาย เป็นภาพ เป็นตาราง และเป็น Models ของการออกแบบระบบงาน โดยเฉพาะเอกสารบรรยายส่วนที่เป็น Business processes บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของระบบไอที ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่ใช้ในองค์กรทั้งหมด

เราเริ่มด้วยทำความเข้าใจกับ Zachman Framework for Enterprise Architecture ซึ่งถือว่าเป็นกรอบแนวคิดของการทำสถาปัตยกรรมองค์กรชุดแรก Zachman Framework แนะนำให้แบ่งรายละเอียดการบรรยายสถาปัตยกรรมขององค์กร (Architectural description) เป็นเรื่อง ๆ (Description) ที่เหมาะกับความต้องการใช้งานของแต่ละบุคคล (Stakeholder)  โดยให้แบ่งเนื้อเรื่องเป็น 6 เรื่องประกอบด้วย  (1) Data (What) (2) Function (How) (3) People (Who) (4) Network (Where) (5) Time (When)  และ (6)  Motivation (Why)
ในอีกมิติหนึ่ง คือมิติเกี่ยวกับคนใช้ข้อมูล  Zachman กำหนดให้มี 6 กลุ่มได้แก่ (1) ผู้วางแผน (Planner) (2) เจ้าของ (Owner) (3) ผู้ออกแบบ (Designer) (4) ผู้ก่อสร้าง (Builder) (5) ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) และ (6) ตัวองค์กรในฐานะผู้ใช้ (Enterprise)  
Zachman Framework จึงถือได้ว่าเป็นข้อแนะนำการจัดหมวดหมู่เพื่ออธิบายส่วนประกอบสถาปัตยกรรมองค์กรออกเป็น 36 ชนิด (6 เรื่องคูณ 6 กลุ่มผู้ใช้)  ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูล (Data) สำหรับ Planner หรือ Owner นั้น อาจสนใจเพียงแค่ชื่อข้อมูล (Entity) เช่น ชื่อลูกค้า ชื่อสินค้า สถานที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ฯลฯ ในเรื่องเดียวกันนี้ สำหรับนักออกแบบ อาจสนใจรายละเอียดในระดับ Entity Diagram  สำหรับโปรแกรมเมอร์หรือ Builder อาจสนใจข้อมูลระดับตารางข้อมูลประกอบด้วย Rows/Columns และสำหรับผู้ใช้อาจสนใจว่าต้องใช้ระบบฐานข้อมูลชื่ออะไร  กล่าวโดยสรุป Zachman ชี้ให้เห็นว่าเรื่องแต่ละเรื่องสามารถนำเสนอด้วยวิธีแตกต่างกันขึ้นอยู่ที่มุมมองของผู้ที่สนใจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder)

จากนั้น เราได้พูดถึงกรอบมาตรฐาน IEEE 1471 ที่แนะนำว่าการกำหนด Architectural Description สถาปัตยกรรมระบบใด ๆ แทนที่จะกำหนดเนื้อเรื่องและผู้ใช้แบบตายตัวตามข้อแนะนำของ  Zachman framework ควรให้ความเป็นอิสระแก่สถาปนิก โดยแนะนำให้ใช้หลักของความข้อสนใจหรือข้อกังวล (Concerns) ของผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) คือพูดกันง่าย ๆ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ 36 เรื่อง จะน้อยจะมากให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสถาปนิก และให้เรียกแต่ละเรื่องที่กล่าวเป็น “View” ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นแผ่นพิมพ์เขียวหนึ่งชนิดของสถาปัตยกรรมนั่นเอง โดย IEEE 1471 แนะนำว่าในการตอบตอบโจทย์ (Concerns) ของผู้มีส่วนได้เสียนั้น แต่ละเรื่องมีได้มากกว่าหนึ่งวิว คือประกอบด้วยรายงาน Description และ Models ได้หลายรูปแบบ เช่น Data model, Business process model ฯลฯ  เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกวิว  IEEE 1471 กำหนดให้มีแนวคิดของ Viewpoint โดยถือว่า Viewpoint เป็น Pattern หรือข้อกำหนดกฎกติกาของการสร้างวิวนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า Zachman Framework ไม่ได้กำหนดวิธีการ (Methodology) และขั้นตอน (Processes) ในการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร เพียงแต่แนะนำการจัดกลุ่มนำเสนอเนื้อหาของสถาปัตยกรรมเท่านั้น ในขณะที่ IEEE 1471 ก็เป็นเพียงมาตรฐานเพื่ออธิบายสถาปัตยกรรมในรูปของ Views และ Viewpoints  เวลาทำงานจริงนั้น สถาปนิกจำเป็นต้องมีขั้นตอน และต้องใช้เครื่องมือ (Tools) ช่วยการออกแบบแผ่นพิมพ์เขียวด้วย ในบรรดาเครื่องมือเพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรทั้งหลาย เครื่องมือหนึ่งที่มีคนนิยมมากคือเครื่องมือที่เรียกว่า “Archi”  เครื่องมือชุดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานด้วยภาษาภาพที่ชื่อว่า “ArchiMate”  ทั้ง Archi และ ArchiMate ถูกนำมาใช้กับวิธีการและขั้นตอนสร้างสถาปัตยกรรมแบบ TOGAF (The Open Group Architecture Framework)  ArchiMate และ TOGAF ต่างเป็นผลผลิตที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ The Open Group Consortium องค์กรที่ไม่หวังกำไร ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีไอที ประกอบด้วยบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 450 บริษัท
ก่อนที่จะอธิบายเรื่องเครื่องมือ Archi และภาษาภาพ ArchiMate จำเป็นต้องพูดถึง TOGAF เพียงพอที่จะทำให้รู้ว่าวิธีการและขั้นตอนการทำสถาปัตยกรรมองค์กรนั้นมีวิธีและมีขั้นตอนอย่างไร และเครื่องมือ Archi และภาษา ArchiMate ควรนำมาใช้ในโอกาสใด

2.3   The Open Group Architecture Framework (TOGAF)
TOGAF แบ่งสถาปัตยกรรมองค์กรออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
1.         Business architecture เป็นส่วนที่บรรยายกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของธุรกิจที่นำสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์
2.         Application architecture เป็นส่วนบรรยายลักษณะการออกแบบของกลุ่ม Applications ตลอดจนพรรณนาเกี่ยวกับวิธีทำงานร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่าง Applications
3.         Data architecture เป็นส่วนบรรยายรูปแบบการจัดทำฐานข้อมูลและวิธีการเข้าถึงฐานข้อมูล
4.         Technical architecture เป็นส่วนบรรยายระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่รองรับการทำงานของกลุ่ม Applications และระบบฐานข้อมูล ตลอดจนรองรับการทำงานปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบงานและคนทำงาน
TOGAF มีส่วนสำคัญที่เรียกว่า Architecture Development Method (ADM) เป็นส่วนที่กำหนดขั้นตอนการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร สถาปนิกอาจใช้ Zachman Framework เป็นตัวกำหนดชนิดของข้อมูลหรือแผ่นพิมพ์เขียว แล้วอาศัย TOGAF เป็นขั้นตอนสร้างสถาปัตยกรรมได้ โดย TOGAF กำหนดให้มีทั้งสิ้น 8 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.         Phase A: Architecture Vision
งานที่ต้องทำในขั้นที่ 1 หรือ Phase A เป็นการบอกเจตนาและความต้องการของการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร ผลลัพธ์จากขั้นที่ 1 มีลักษณะเป็น Request for Architecture Work ประมาณการงบประมาณที่ต้องใช้ กำหนดเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน้าที่รับผิดชอบ ประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข รวมทั้งอุปสรรค์และข้อกังวล ที่สำคัญต้องบันทึก Baseline และ To-be ของสถาปัตยกรรมองค์กรที่คาดหวังเป็นภาพกว้าง ๆ
2.         Phase B: Business Architecture
ผลจากงานใน Phase A  ถูกนำมาขยายผลเป็นรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวกับ Business Architecture ทำความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างธุรกิจปัจจุบันและของใหม่ วิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจ Business model ปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการทำ Gap Analysis ระหว่างระบบงานปัจจุบันกับระบบงานที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับ Business Architecture
3.         Phase C: Information Systems Architecture
งานใน Phase C เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบรรยายคุณลักษณะของ Data Architecture และ Application Architecture ประกอบด้วยขั้นตอนเช่นการออกแบบคุณลักษณะของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Logical data models) กำหนดประเด็นสำคัญ ๆ เช่นความปลอดภัยของการใช้ข้อมูล ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และเรื่องที่เกี่ยวกับ Performance ของการใช้ข้อมูล และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง Business processes
4.         Phase D: Technology Architecture
ผลจาก Phase C ถูกนำไปออกแบบข้อกำหนดความต้องการของระบบโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่จะสนับสนุนการทำงานภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กร
5.         Phase E: Opportunities and Solutions
งานในขั้นนี้ เป็นเรื่องของการทบทวนและเลือกวิธี Implement โครงการให้ได้ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด และใช้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด เป็นการศึกษาข้อดีข้อเสียของวิธี Implement หลาย ๆ รูปแบบ ที่สำคัญ ต้องกำหนด Priority ว่าอะไรควรทำก่อนและหลัง ควรพิจารณาจากปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขก่อน
6.         Phase F: Migration Planning
เป็นกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับงานใน Phase E Opportunities and Solutions เป็นการวางแผนการทำงานภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กรชุดใหม่ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงานที่ต้องทำ เอกสารที่ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นพิมพ์เขียวมักจะเป็นตารางเวลาทำงาน เช่น Gantt Chart
7.         Phase G: Implementation Governance
งานใน Phase G เป็นเรื่องการจัดลำดับการทำงานของโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กรชุดใหม่ ประเด็นที่ให้ความสำคัญคือเงื่อนไขการรับมอบงาน และประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการรวมทั้งมาตรการแก้ไขต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย ตลอดจนสร้างความพร้อมในการทำงานภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กรชุดใหม่ด้วย
8.         Phase H: Architecture Change Management
เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับปรุงเอกสาร ข้อกำหนด และ Models ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้งานสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรทุกขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น

เป็นที่สังเกตว่าการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรไม่ใช่เป็นงานครั้งเดียว แต่เป็นงานที่มีวงจร (Cycle) ปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นระยะ ๆ ตามความจำเป็น งานทุกขั้นตอนจะสร้างแผ่นพิมพ์เขียว (Artifacts) อธิบายรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมองค์กรเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับคนที่เกี่ยวข้องซึ่งแตกต่างกันตามความรับผิดชอบ รายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรตามวิธีการของ TOGAF สามารถอ่านได้จากเอกสารและตำราเกี่ยวกับ TOGAF ได้

ในบทความตอนต่อไป จะอธิบายภาษาภาพ ArchiMate และเครื่องมือ Archi เพื่อการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร

Monday, December 29, 2014

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจ



               ความแตกต่างระหว่างยุคสารสนเทศ (Information Age) และยุคดิจิทัล (Digital Age) อยู่ที่ยุคดิจิทัลอาศัย เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีศักยภาพสูงทำการปฏิรูปธุรกิจในวงกว้าง ในยุคดิจิทัล อุปกรณ์พกพาที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีผลให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเปลี่ยนบทบาทจาก Passive consumers เป็น Active consumers การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้การตลาดเปลี่ยนไป สู่การตลาดแนวใหม่ที่เป็น Digital marketing อาศัยเทคนิคด้าน Social media ต่าง ๆ แทนการใช้สื่อดั่งเดิม เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์  โดยเน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจแทนที่จะเน้นการผลิตสินค้าและบริการ และพยายามขายสินค้าและบริการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในยุคดิจิทัลนั้นจะให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อแข่งขันกันด้วยบริการที่มีคุณค่า เป็นการแข่งขันด้วยวิธีสร้าง Customer experience นอกจากนี้ ในยุคดิจิทัล ยังให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลที่มีจำนวนมากทั้งข้อมูลภายในและภายนอกองค์กร ทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์ทั้งรูปแบบ Back-casting, Forecasting และ Predicting เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค และหามาตรการสนองตอบความต้องการได้ดีกว่าคู่แข่ง  เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดทางให้ธุรกิจที่รู้วิธีสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นำดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ทางธุรกิจ (Business model innovation) เป็นผลให้เกิดการปฏิรูปแนวทางธุรกิจใหม่ จนสามารถนำหน้าธุรกิจแบบดั่งเดิมได้  ในยุคของดิจิทัลที่ไร้พรมแดน ประเทศใดที่เข้าใจดิจิทัลและสามารถปฏิรูปธุรกิจได้ดีกว่า ย่อมจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน จนนำหน้าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมและทิ้งประเทศที่ด้อยความสามารถด้านดิจิทัลอยู่เบื้องหลัง   สิ่งที่กล่าวทั้งหมด ไม่เฉพาะเกิดขึ้นแก่ภาคธุรกิจ ภาครัฐก็ไม่แตกต่างกัน ทุกประเทศกำลังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินและให้บริการประชาชนโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในลักษณะเดียวกันกับภาคธุรกิจที่กล่าวข้างต้น

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อม และอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับโลก  สิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อม นอกจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาธุรกิจแล้ว รัฐยังต้องให้ความสำคัญที่จะเร่งยกระดับความสามารถของผู้ประกอบขนาดเล็กและขนาดย่อมให้สามารถปรับตัวเข้าไปอยู่ในเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ (Online business) ด้วยเหตุที่ว่าธุรกิจออนไลน์เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะออนไลน์ด้วยอุปกรณ์พกพาที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่กล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินโครงการเร่งด่วนเพื่อการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคธุรกิจด้วยโครงการดังนี้

1.         ส่งเสริมให้ใช้ e-Transaction แบบ End-to-end
ธุรกิจประเภทที่ต้องทำ Fulfillment มีกระบวนการรับใบสั่งซื้อ จัดส่งสินค้า ส่งใบแจ้งหนี้ ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้ต้องส่งเอกสารทางธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้บริการส่งสินค้า รวมทั้งการชำระเงิน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบมาตรฐานในเชิงข้อมูลและโครงสร้างของเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ร่วมกันทั้งระบบ  การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างบริษัทต่างใช้เอกสารธุรกิจที่มีรูปแบบของตนเอง  ถึงแม้ธุรกิจไทยจะใช้ระบบออนไลน์กันมากแล้วก็ตาม แต่ความไม่มีมาตรฐานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ทุกบริษัทต้องบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน การมีระบบมาตรฐาน e-Transaction ที่ใช้ได้ทั้งประเทศจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญเพื่อประเทศจะได้ก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้
               สำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรม กับอีกหลาย ๆ หน่วยงานต่างตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ได้ริเริ่มโครงการมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วระยะหนึ่ง  และสภาอุตสาหกรรมมีดำริที่จะเริ่มใช้  e-Invoice ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน และทำได้เต็มรูปแบบภายในระยะเวลาประมาณสองปี

2.         ส่งเสริมให้ใช้ e-Payment อย่างแพร่หลาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดันให้ใช้มาตรฐานข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment Message Standard) เพื่อเป็นรากฐานการประมวลผลชำระเงินแบบ Straight through processing เป็นการลดต้นทุนเกี่ยวกับการชำระเงินในภาคธุรกิจ  โดยข้อมูลการชำระเงินที่เป็นมาตรฐานนี้จะเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ๆ เช่น e-Invoice และเอกสารการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน โดยกิจกรรมชำระเงินที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เช่น การออกเช็คเพื่อชำระสินค้าและบริการ การโอนเงินระหว่างบัญชีภายในธนาคาร และต่างธนาคาร  การโอนเงินระหว่างประเทศ ฯลฯ การใช้มาตรฐานข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลจะรีบเร่งให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายโดยเร็ว

3.         ส่งเสริมให้ใช้ระบบ ERP รองรับ e-Tranaction และ e-Payment
ธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่างต้องปรับกระบวนการทำงานให้พร้อมรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  ปัจจุบันบริษัทขนาดกลางขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อลงบัญชีและการจัดการทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning, ERP)  เพื่อให้ระบบธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมได้เตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวเองให้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ในเชิงต้นทุนและผลิตภาพ จำเป็นที่ภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการใช้ระบบซอฟต์แวร์ทางบัญชีและระบบ ERP ได้อย่างเหมาะสมกับสถานภาพตามบริบทของธุรกิจแต่ละขนาดและแต่ละชนิด ทำให้ระบบธุรกิจไทยทั้งระบบมีความพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ในยุคดิจิทัล

4.         ส่งเสริมให้ธุรกิจทำธุรกรรมออนไลน์ให้มากขึ้น
การเพิ่มช่องทางการค้าขายด้วยวิธีทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้  การส่งเสริมธุรกิจผ่านช่องทาง e-Commerce นั้นไม่เพียงแค่นำสินค้าออกจำหน่ายแบบออนไลน์ แต่ต้องทำได้ครบวงจร ตั้งแต่การเลือกใช้ e-Marketplace จนถึงการจัดการบริการที่ครบถ้วน ตั้งแต่ระบบบริการจัดส่งสินค้า การประกันความเสี่ยง ระบบการร้องเรียน และระบบชำระเงิน ในกรณีที่ต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยแข่งขันในต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ อาจต้องคำนึงถึงการให้บริการแปลภาษา เพื่อสามารถแปลข้อเสนอและคุณลักษณะสินค้าและบริการจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศด้วย

5.         ส่งเสริมให้เกิดทักษะในด้าน Digital Business Transformation
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า Digital Economy ไม่ใช่เรื่องการใช้ไอซีทีเพื่อปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น แต่เป็นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการ  รวมทั้งนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจใหม่ (New business model) และนวัตกรรมด้านกระบวนการ (Business process innovation) Digital Economy จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม เป็นนวัตกรรมที่อาศัยสิ่งใหม่และสิ่งเก่า (Digital business is doing new things with old things) หมายความว่าต้องอาศัยความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ด้านดิจิทัลสูง และประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เมื่อทั้งสองมารวมกันจึงจะเกิดนวัตกรรมใหม่ที่นำไปสู่การปฏิรูปทางธุรกิจได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้ธุรกิจทำ Business transformation จึงควรเริ่มด้วยกิจกรรมสองเรื่องดังนี้

5.1                   ส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม Digital entrepreneurs จำนวนมาก
เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในด้านดิจิทัลจำนวนมากมีโอกาสร่วมพัฒนาสนองยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นที่รัฐบาลต้องจัดทำแผนการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่เรียกว่า  Digital Entrepreneurs ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้ประกอบใหม่ที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปฏิรูปธุรกิจ สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้แก่นักธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และปรับปรุงธุรกิจเน้นที่การสร้างนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation) และนวัตกรรมด้านกระบวนการ (Business Processes Innovation)
5.2                   ส่งเสริมการเรียนรู้แนวทางการทำ Business transformation
ให้มีสถาบันและหน่วยงานที่มีทักษะด้านสร้างนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปธุรกิจบนพื้นฐานของดิจิทัลเทคโนโลยี ทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ ให้มี Center of Excellence ที่ทำหน้าที่วิจัยและสร้างนวัตกรรมในด้านรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการปฏิรูปธุรกิจที่ทันสมัยและยั่งยืน

6.         ส่งเสริมให้มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูง
การปฏิรูปธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพและทันสมัย เช่น Complex event processes, Advanced data analytics, agent based business processes, etc. เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการสนับสนุนนวัตกรรมบริการในระบบ Digital Business ที่คนไทยจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเองเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ต่างประเทศ  รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองในกลุ่มเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูงที่ทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้

ทั้งหมดที่กล่าว ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์เบื้องต้นที่จะเร่งผลักดันให้ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมและช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามกรอบทิศทางที่กล่าว และด้วยมาตรการที่จะกำหนดต่อไป

Saturday, December 6, 2014

บทบาทของ Enterprise Architecture กับ Service Scienceในการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ตอนที่ 8



บทความตอนที่ 7  ได้นำเสนอความหมายของ View และ Viewpoint ตามกรอบแนวคิด หรือ Framework ของ Zachman เพื่อสร้างแผ่นพิมพ์เขียวสำหรับบรรยายสถาปัตยกรรมองค์กรรูปแบบต่าง ๆ ให้ Stakeholders ที่จะนำไปใช้ทำงานตามหน้าที่และตามความรับผิดชอบ ในบทความนี้จะบรรยายกรอบแนวคิด IEEE 1471 ซึ่งเป็นกรอบมาตรฐานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมระบบอีกรูปแบบหนึ่ง

2.2.     กรอบแนวคิด IEEE 1471
ในราวปี ค..2000 IEEE Computer Society ได้เผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า “Recommended Practice for Architectural Description of Software-Intensive Systems”  ซึ่งเป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับลักษณะเชิงสถาปัตยกรรมของระบบงานที่มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ค่อนข้างมาก หรือกรอบมาตรฐาน หรือกรอบแนวความคิด (Conceptual framework) ที่ใช้อธิบายสถาปัตยกรรมระบบงานที่มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ เนื่องจากมีความเชื่อว่า การพัฒนาหรือการสร้างระบบงานที่มีความสลับซับซ้อนมาก มักจะประสบความล้มเหลวถ้าปราศจากเอกสารที่อธิบายรายละเอียดลักษณะสถาปัตยกรรมของระบบเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้ความเข้าใจตรงกัน IEEE 1471 จึงถือได้ว่าเป็นกรอบมาตรฐานที่แนะนำการอธิบายโครงสร้างในเชิงสถาปัตยกรรมของระบบงาน แต่ไม่ใช่เป็นมาตรฐานเพื่อการสร้างระบบงาน

Architecture description (AD) หรือลักษณะของสถาปัตยกรรม หรือข้อแนะนำที่ใช้เพื่อการบรรยายและอธิบายลักษณะของสถาปัตยกรรมจึงเป็นเจตนาสำคัญของ IEEE 1471 ผลผลิตจากการใช้ข้อเสนอแนะจะเป็นเอกสารชุดหนึ่งที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม (แผ่นพิมพ์เขียว) สถาปนิกมีอิสระที่จะเลือกใช้รูปแบบและสื่อที่ใช้บรรยายรายละเอียดของระบบงานที่กล่าว ปริมาณเนื้อหาสาระจะมากหรือน้อยนั้นให้อยู่ในวิจารณญาณของสถาปนิก แต่ทั้งหมดนี้จะต้องสามารถตอบโจทย์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ได้  กรอบมาตรฐาน IEEE 1471 จึงให้ความสำคัญการอธิบายลักษณะของสถาปัตยกรรมระบบงานที่มุ่งตอบโจทย์หรือสิ่งสำคัญที่อยู่ในความสนใจ (Concerns) ของผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders)  IEEE 1471 ได้เสนอแนะกลุ่ม Concerns และกลุ่ม Stakeholders ไว้ดังนี้

1)        กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) หลัก ๆ ประกอบด้วย
· เจ้าของธุรกิจ หรือเจ้าของโครงการ
· นักวางแผน
· สถาปนิก
· วิศวกรระบบ
· นักพัฒนาซอฟต์แวร์
· นักออกแบบ
· ผู้สร้างและติดตั้งระบบ
· ผู้มีหน้าที่บำรุงรักษาระบบ
· ผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
· ผู้รับเหมา

2)        สิ่งสำคัญที่อยู่ในความสนใจ (Concerns)  อย่างน้อยประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
· วัตถุประสงค์และเป้าหมายของระบบ
· ความเหมาะสมของระบบ หรือความสามารถของระบบที่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ขององค์กร
· ความคุ้มค่าที่จะลงทุน
· ความเสี่ยงในการลงทุน
· ความสามารถในการใช้ระบบ และการบำรุงรักษาระบบ
· ส่วนประกอบของเป็นระบบ
· ความสามารถในการเชื่อมโยงกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบ
· มาตรฐานในการเชื่อมโยงกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบ

IEEE 1471 แนะนำให้นำเสนอ Architecture Description เพื่อตอบโจทย์ (Concerns) ของผู้มีส่วนได้เสียในรูปของ Views (Blueprints) อย่างน้อยหนึ่ง View หรือมากกว่า โดยแต่ละวิวจะอธิบายลักษณะของระบบในมุมมองของ Stakeholder และแต่ละวิวอาจประกอบด้วย Models ได้หลายรูปแบบ เช่น Data model, Business process model ฯลฯ IEEE 1471 ไม่ได้กำหนดวิธีการหรือรูปแบบการสร้าง Model  ปล่อยให้เป็นทางเลือกของสถาปนิก

IEEE 1471 กำหนดให้วิวแต่ละวิวถูกจัดทำขึ้นภายใต้กรอบหรือข้อกำหนดของ Viewpoint โดยให้ถือว่า Viewpoint เป็น Pattern และข้อกำหนดกฎกติกาของการสร้างวิว นั่นหมายความว่า จะต้องมีการกำหนด Viewpoint ไว้ล่วงหน้า หรือนำ Viewpoint ที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ตามความเหมาะสม แต่ละ Viewpoint กำหนดให้มีส่วนประกอบอย่างน้อยดังนี้

·      ชื่อของ Viewpoint เช่น ความสามารถของระบบงาน (Capability)
·      Stakeholder ที่จะนำวิวไปใช้ เช่น นักพัฒนา ผู้ใช้ระบบ และ System integrator
·      Concern ที่วิวถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ Concern ดังกล่าว เช่น ระบบงานทำงานอะไรได้บ้าง ส่วนประกอบของระบบงาน แต่ละส่วนของระบบงานมีวิธีเชื่อมโยงกันอย่างไร
·      ภาษาและเทคนิคที่ใช้สร้าง Model หรือรูปแบบของวิว เช่น UML class diagram BPMN Business Process Models หรือ ArchiMate
·      แหล่งที่มาหรือ Source ของ Viewpoint ที่ใช้ เช่น ปรับปรุงมาจาก Structural viewpoints

ถึงแม้ว่า IEEE 1471 จะเน้นการกำหนดกรอบมาตรฐานเพื่อการสร้าง Views ตาม Viewpoints ให้แก่ระบบงานที่เป็น Software-Intensive  หรือระบบงานที่มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์จำนวนมาก  หรือกล่าวได้ว่าเป็นกรอบมาตรฐานสำหรับงานในสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ แต่พื้นฐานความคิดในเรื่อง Viewpoint-oriented architecture หรือสถาปัตยกรรมเชิง Viewpoints หรือมุมมองนั้น สามารถนำมาใช้กับสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) ได้  ตามกรอบแนวคิดนี้ ความสำคัญอยู่ที่การกำหนดคุณลักษณะของ Viewpoint ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วยผู้ที่รับผิดชอบในงานด้านต่าง ๆ (Actor and role) และรูปแบบการทำงานเพื่อการพัฒนางานด้านต่าง ๆ  จากมุมมอง (Perspective) หรือ View ของเจ้าของงานหรือผู้ที่รับผิดชอบ โดย Viewpoint ตามลักษณะที่กล่าวนี้สามารถตอบโจทย์เพื่อบรรยายเป็นวิวหรือ Blueprints ของ Business Architecture, Data Architecture, Application Architecture, และ Technology Architecture ของสถาปัตยกรรมองค์กรได้  แต่ IEEE 1471 เป็นเพียงข้อเสนอแนะของลักษณะเชิงสถาปัตยกรรมของระบบงาน (Recommended Practice for Architectural Description of Software-Intensive Systems)  เมื่อความนิยมในการจัดทำ Architectural Description ของสถาปัตยกรรมองค์กรเพิ่มมากขึ้น จึงเรียกร้องให้พัฒนาภาษาเพื่อการใช้จัดทำ Views  ภาษาหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือจัดทำ Views ต่าง ๆ ที่ยึดข้อเสนอแนะของ IEEE 1471 เป็นบรรทัดฐานได้แก่ภาษา ArchiMate ที่จะบรรยายรายละเอียดในตอนต่อไป

บทความตอนที่ 9 จะอธิบายกรอบสถาปัตยกรรมองค์กร ArchiMate และภาษา ArchiMate