Saturday, December 6, 2014

บทบาทของ Enterprise Architecture กับ Service Scienceในการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ตอนที่ 8



บทความตอนที่ 7  ได้นำเสนอความหมายของ View และ Viewpoint ตามกรอบแนวคิด หรือ Framework ของ Zachman เพื่อสร้างแผ่นพิมพ์เขียวสำหรับบรรยายสถาปัตยกรรมองค์กรรูปแบบต่าง ๆ ให้ Stakeholders ที่จะนำไปใช้ทำงานตามหน้าที่และตามความรับผิดชอบ ในบทความนี้จะบรรยายกรอบแนวคิด IEEE 1471 ซึ่งเป็นกรอบมาตรฐานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมระบบอีกรูปแบบหนึ่ง

2.2.     กรอบแนวคิด IEEE 1471
ในราวปี ค..2000 IEEE Computer Society ได้เผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า “Recommended Practice for Architectural Description of Software-Intensive Systems”  ซึ่งเป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับลักษณะเชิงสถาปัตยกรรมของระบบงานที่มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ค่อนข้างมาก หรือกรอบมาตรฐาน หรือกรอบแนวความคิด (Conceptual framework) ที่ใช้อธิบายสถาปัตยกรรมระบบงานที่มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ เนื่องจากมีความเชื่อว่า การพัฒนาหรือการสร้างระบบงานที่มีความสลับซับซ้อนมาก มักจะประสบความล้มเหลวถ้าปราศจากเอกสารที่อธิบายรายละเอียดลักษณะสถาปัตยกรรมของระบบเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้ความเข้าใจตรงกัน IEEE 1471 จึงถือได้ว่าเป็นกรอบมาตรฐานที่แนะนำการอธิบายโครงสร้างในเชิงสถาปัตยกรรมของระบบงาน แต่ไม่ใช่เป็นมาตรฐานเพื่อการสร้างระบบงาน

Architecture description (AD) หรือลักษณะของสถาปัตยกรรม หรือข้อแนะนำที่ใช้เพื่อการบรรยายและอธิบายลักษณะของสถาปัตยกรรมจึงเป็นเจตนาสำคัญของ IEEE 1471 ผลผลิตจากการใช้ข้อเสนอแนะจะเป็นเอกสารชุดหนึ่งที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม (แผ่นพิมพ์เขียว) สถาปนิกมีอิสระที่จะเลือกใช้รูปแบบและสื่อที่ใช้บรรยายรายละเอียดของระบบงานที่กล่าว ปริมาณเนื้อหาสาระจะมากหรือน้อยนั้นให้อยู่ในวิจารณญาณของสถาปนิก แต่ทั้งหมดนี้จะต้องสามารถตอบโจทย์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ได้  กรอบมาตรฐาน IEEE 1471 จึงให้ความสำคัญการอธิบายลักษณะของสถาปัตยกรรมระบบงานที่มุ่งตอบโจทย์หรือสิ่งสำคัญที่อยู่ในความสนใจ (Concerns) ของผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders)  IEEE 1471 ได้เสนอแนะกลุ่ม Concerns และกลุ่ม Stakeholders ไว้ดังนี้

1)        กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) หลัก ๆ ประกอบด้วย
· เจ้าของธุรกิจ หรือเจ้าของโครงการ
· นักวางแผน
· สถาปนิก
· วิศวกรระบบ
· นักพัฒนาซอฟต์แวร์
· นักออกแบบ
· ผู้สร้างและติดตั้งระบบ
· ผู้มีหน้าที่บำรุงรักษาระบบ
· ผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
· ผู้รับเหมา

2)        สิ่งสำคัญที่อยู่ในความสนใจ (Concerns)  อย่างน้อยประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
· วัตถุประสงค์และเป้าหมายของระบบ
· ความเหมาะสมของระบบ หรือความสามารถของระบบที่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ขององค์กร
· ความคุ้มค่าที่จะลงทุน
· ความเสี่ยงในการลงทุน
· ความสามารถในการใช้ระบบ และการบำรุงรักษาระบบ
· ส่วนประกอบของเป็นระบบ
· ความสามารถในการเชื่อมโยงกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบ
· มาตรฐานในการเชื่อมโยงกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบ

IEEE 1471 แนะนำให้นำเสนอ Architecture Description เพื่อตอบโจทย์ (Concerns) ของผู้มีส่วนได้เสียในรูปของ Views (Blueprints) อย่างน้อยหนึ่ง View หรือมากกว่า โดยแต่ละวิวจะอธิบายลักษณะของระบบในมุมมองของ Stakeholder และแต่ละวิวอาจประกอบด้วย Models ได้หลายรูปแบบ เช่น Data model, Business process model ฯลฯ IEEE 1471 ไม่ได้กำหนดวิธีการหรือรูปแบบการสร้าง Model  ปล่อยให้เป็นทางเลือกของสถาปนิก

IEEE 1471 กำหนดให้วิวแต่ละวิวถูกจัดทำขึ้นภายใต้กรอบหรือข้อกำหนดของ Viewpoint โดยให้ถือว่า Viewpoint เป็น Pattern และข้อกำหนดกฎกติกาของการสร้างวิว นั่นหมายความว่า จะต้องมีการกำหนด Viewpoint ไว้ล่วงหน้า หรือนำ Viewpoint ที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ตามความเหมาะสม แต่ละ Viewpoint กำหนดให้มีส่วนประกอบอย่างน้อยดังนี้

·      ชื่อของ Viewpoint เช่น ความสามารถของระบบงาน (Capability)
·      Stakeholder ที่จะนำวิวไปใช้ เช่น นักพัฒนา ผู้ใช้ระบบ และ System integrator
·      Concern ที่วิวถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ Concern ดังกล่าว เช่น ระบบงานทำงานอะไรได้บ้าง ส่วนประกอบของระบบงาน แต่ละส่วนของระบบงานมีวิธีเชื่อมโยงกันอย่างไร
·      ภาษาและเทคนิคที่ใช้สร้าง Model หรือรูปแบบของวิว เช่น UML class diagram BPMN Business Process Models หรือ ArchiMate
·      แหล่งที่มาหรือ Source ของ Viewpoint ที่ใช้ เช่น ปรับปรุงมาจาก Structural viewpoints

ถึงแม้ว่า IEEE 1471 จะเน้นการกำหนดกรอบมาตรฐานเพื่อการสร้าง Views ตาม Viewpoints ให้แก่ระบบงานที่เป็น Software-Intensive  หรือระบบงานที่มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์จำนวนมาก  หรือกล่าวได้ว่าเป็นกรอบมาตรฐานสำหรับงานในสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ แต่พื้นฐานความคิดในเรื่อง Viewpoint-oriented architecture หรือสถาปัตยกรรมเชิง Viewpoints หรือมุมมองนั้น สามารถนำมาใช้กับสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) ได้  ตามกรอบแนวคิดนี้ ความสำคัญอยู่ที่การกำหนดคุณลักษณะของ Viewpoint ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วยผู้ที่รับผิดชอบในงานด้านต่าง ๆ (Actor and role) และรูปแบบการทำงานเพื่อการพัฒนางานด้านต่าง ๆ  จากมุมมอง (Perspective) หรือ View ของเจ้าของงานหรือผู้ที่รับผิดชอบ โดย Viewpoint ตามลักษณะที่กล่าวนี้สามารถตอบโจทย์เพื่อบรรยายเป็นวิวหรือ Blueprints ของ Business Architecture, Data Architecture, Application Architecture, และ Technology Architecture ของสถาปัตยกรรมองค์กรได้  แต่ IEEE 1471 เป็นเพียงข้อเสนอแนะของลักษณะเชิงสถาปัตยกรรมของระบบงาน (Recommended Practice for Architectural Description of Software-Intensive Systems)  เมื่อความนิยมในการจัดทำ Architectural Description ของสถาปัตยกรรมองค์กรเพิ่มมากขึ้น จึงเรียกร้องให้พัฒนาภาษาเพื่อการใช้จัดทำ Views  ภาษาหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือจัดทำ Views ต่าง ๆ ที่ยึดข้อเสนอแนะของ IEEE 1471 เป็นบรรทัดฐานได้แก่ภาษา ArchiMate ที่จะบรรยายรายละเอียดในตอนต่อไป

บทความตอนที่ 9 จะอธิบายกรอบสถาปัตยกรรมองค์กร ArchiMate และภาษา ArchiMate

No comments:

Post a Comment