Monday, December 29, 2014

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจ



               ความแตกต่างระหว่างยุคสารสนเทศ (Information Age) และยุคดิจิทัล (Digital Age) อยู่ที่ยุคดิจิทัลอาศัย เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีศักยภาพสูงทำการปฏิรูปธุรกิจในวงกว้าง ในยุคดิจิทัล อุปกรณ์พกพาที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีผลให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเปลี่ยนบทบาทจาก Passive consumers เป็น Active consumers การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้การตลาดเปลี่ยนไป สู่การตลาดแนวใหม่ที่เป็น Digital marketing อาศัยเทคนิคด้าน Social media ต่าง ๆ แทนการใช้สื่อดั่งเดิม เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์  โดยเน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจแทนที่จะเน้นการผลิตสินค้าและบริการ และพยายามขายสินค้าและบริการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในยุคดิจิทัลนั้นจะให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อแข่งขันกันด้วยบริการที่มีคุณค่า เป็นการแข่งขันด้วยวิธีสร้าง Customer experience นอกจากนี้ ในยุคดิจิทัล ยังให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลที่มีจำนวนมากทั้งข้อมูลภายในและภายนอกองค์กร ทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์ทั้งรูปแบบ Back-casting, Forecasting และ Predicting เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค และหามาตรการสนองตอบความต้องการได้ดีกว่าคู่แข่ง  เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดทางให้ธุรกิจที่รู้วิธีสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นำดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ทางธุรกิจ (Business model innovation) เป็นผลให้เกิดการปฏิรูปแนวทางธุรกิจใหม่ จนสามารถนำหน้าธุรกิจแบบดั่งเดิมได้  ในยุคของดิจิทัลที่ไร้พรมแดน ประเทศใดที่เข้าใจดิจิทัลและสามารถปฏิรูปธุรกิจได้ดีกว่า ย่อมจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน จนนำหน้าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมและทิ้งประเทศที่ด้อยความสามารถด้านดิจิทัลอยู่เบื้องหลัง   สิ่งที่กล่าวทั้งหมด ไม่เฉพาะเกิดขึ้นแก่ภาคธุรกิจ ภาครัฐก็ไม่แตกต่างกัน ทุกประเทศกำลังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินและให้บริการประชาชนโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในลักษณะเดียวกันกับภาคธุรกิจที่กล่าวข้างต้น

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อม และอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับโลก  สิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อม นอกจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาธุรกิจแล้ว รัฐยังต้องให้ความสำคัญที่จะเร่งยกระดับความสามารถของผู้ประกอบขนาดเล็กและขนาดย่อมให้สามารถปรับตัวเข้าไปอยู่ในเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ (Online business) ด้วยเหตุที่ว่าธุรกิจออนไลน์เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะออนไลน์ด้วยอุปกรณ์พกพาที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่กล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินโครงการเร่งด่วนเพื่อการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคธุรกิจด้วยโครงการดังนี้

1.         ส่งเสริมให้ใช้ e-Transaction แบบ End-to-end
ธุรกิจประเภทที่ต้องทำ Fulfillment มีกระบวนการรับใบสั่งซื้อ จัดส่งสินค้า ส่งใบแจ้งหนี้ ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้ต้องส่งเอกสารทางธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้บริการส่งสินค้า รวมทั้งการชำระเงิน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบมาตรฐานในเชิงข้อมูลและโครงสร้างของเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ร่วมกันทั้งระบบ  การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างบริษัทต่างใช้เอกสารธุรกิจที่มีรูปแบบของตนเอง  ถึงแม้ธุรกิจไทยจะใช้ระบบออนไลน์กันมากแล้วก็ตาม แต่ความไม่มีมาตรฐานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ทุกบริษัทต้องบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน การมีระบบมาตรฐาน e-Transaction ที่ใช้ได้ทั้งประเทศจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญเพื่อประเทศจะได้ก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้
               สำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรม กับอีกหลาย ๆ หน่วยงานต่างตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ได้ริเริ่มโครงการมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วระยะหนึ่ง  และสภาอุตสาหกรรมมีดำริที่จะเริ่มใช้  e-Invoice ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน และทำได้เต็มรูปแบบภายในระยะเวลาประมาณสองปี

2.         ส่งเสริมให้ใช้ e-Payment อย่างแพร่หลาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดันให้ใช้มาตรฐานข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment Message Standard) เพื่อเป็นรากฐานการประมวลผลชำระเงินแบบ Straight through processing เป็นการลดต้นทุนเกี่ยวกับการชำระเงินในภาคธุรกิจ  โดยข้อมูลการชำระเงินที่เป็นมาตรฐานนี้จะเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ๆ เช่น e-Invoice และเอกสารการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน โดยกิจกรรมชำระเงินที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เช่น การออกเช็คเพื่อชำระสินค้าและบริการ การโอนเงินระหว่างบัญชีภายในธนาคาร และต่างธนาคาร  การโอนเงินระหว่างประเทศ ฯลฯ การใช้มาตรฐานข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลจะรีบเร่งให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายโดยเร็ว

3.         ส่งเสริมให้ใช้ระบบ ERP รองรับ e-Tranaction และ e-Payment
ธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่างต้องปรับกระบวนการทำงานให้พร้อมรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  ปัจจุบันบริษัทขนาดกลางขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อลงบัญชีและการจัดการทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning, ERP)  เพื่อให้ระบบธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมได้เตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวเองให้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ในเชิงต้นทุนและผลิตภาพ จำเป็นที่ภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการใช้ระบบซอฟต์แวร์ทางบัญชีและระบบ ERP ได้อย่างเหมาะสมกับสถานภาพตามบริบทของธุรกิจแต่ละขนาดและแต่ละชนิด ทำให้ระบบธุรกิจไทยทั้งระบบมีความพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ในยุคดิจิทัล

4.         ส่งเสริมให้ธุรกิจทำธุรกรรมออนไลน์ให้มากขึ้น
การเพิ่มช่องทางการค้าขายด้วยวิธีทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้  การส่งเสริมธุรกิจผ่านช่องทาง e-Commerce นั้นไม่เพียงแค่นำสินค้าออกจำหน่ายแบบออนไลน์ แต่ต้องทำได้ครบวงจร ตั้งแต่การเลือกใช้ e-Marketplace จนถึงการจัดการบริการที่ครบถ้วน ตั้งแต่ระบบบริการจัดส่งสินค้า การประกันความเสี่ยง ระบบการร้องเรียน และระบบชำระเงิน ในกรณีที่ต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยแข่งขันในต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ อาจต้องคำนึงถึงการให้บริการแปลภาษา เพื่อสามารถแปลข้อเสนอและคุณลักษณะสินค้าและบริการจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศด้วย

5.         ส่งเสริมให้เกิดทักษะในด้าน Digital Business Transformation
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า Digital Economy ไม่ใช่เรื่องการใช้ไอซีทีเพื่อปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น แต่เป็นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการ  รวมทั้งนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจใหม่ (New business model) และนวัตกรรมด้านกระบวนการ (Business process innovation) Digital Economy จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม เป็นนวัตกรรมที่อาศัยสิ่งใหม่และสิ่งเก่า (Digital business is doing new things with old things) หมายความว่าต้องอาศัยความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ด้านดิจิทัลสูง และประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เมื่อทั้งสองมารวมกันจึงจะเกิดนวัตกรรมใหม่ที่นำไปสู่การปฏิรูปทางธุรกิจได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้ธุรกิจทำ Business transformation จึงควรเริ่มด้วยกิจกรรมสองเรื่องดังนี้

5.1                   ส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม Digital entrepreneurs จำนวนมาก
เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในด้านดิจิทัลจำนวนมากมีโอกาสร่วมพัฒนาสนองยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นที่รัฐบาลต้องจัดทำแผนการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่เรียกว่า  Digital Entrepreneurs ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้ประกอบใหม่ที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปฏิรูปธุรกิจ สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้แก่นักธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และปรับปรุงธุรกิจเน้นที่การสร้างนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation) และนวัตกรรมด้านกระบวนการ (Business Processes Innovation)
5.2                   ส่งเสริมการเรียนรู้แนวทางการทำ Business transformation
ให้มีสถาบันและหน่วยงานที่มีทักษะด้านสร้างนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปธุรกิจบนพื้นฐานของดิจิทัลเทคโนโลยี ทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ ให้มี Center of Excellence ที่ทำหน้าที่วิจัยและสร้างนวัตกรรมในด้านรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการปฏิรูปธุรกิจที่ทันสมัยและยั่งยืน

6.         ส่งเสริมให้มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูง
การปฏิรูปธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพและทันสมัย เช่น Complex event processes, Advanced data analytics, agent based business processes, etc. เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการสนับสนุนนวัตกรรมบริการในระบบ Digital Business ที่คนไทยจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเองเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ต่างประเทศ  รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองในกลุ่มเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูงที่ทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้

ทั้งหมดที่กล่าว ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์เบื้องต้นที่จะเร่งผลักดันให้ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมและช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามกรอบทิศทางที่กล่าว และด้วยมาตรการที่จะกำหนดต่อไป

No comments:

Post a Comment