Tuesday, December 30, 2014

บทบาทของ Enterprise Architecture กับ Service Scienceในการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ตอนที่ 9



ในบทความ 8 ตอนแรกได้กล่าวถึงว่าเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การแข่งขันในตลาดมีพลวัตรสูงเป็นเหตุให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันและความต้องการของลูกค้าบ่อยมากขึ้น การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์มีผลต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งระบบไอซีที จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องเข้าใจกลไกการทำงาน การจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) จึงมีความจำเป็น  เพราะเป็นวิธีที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างระบบไอซีทีกับระบบงาน ระหว่างระบบงานกับความรับผิดชอบของหน่วยงานและระดับบุคคล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานกับระบบที่สนับสนุนการทำงานเพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กรในรูปเอกสารบรรยายรายละเอียดของงาน ทั้งในรูปแบบบรรยาย เป็นภาพ เป็นตาราง และเป็น Models ของการออกแบบระบบงาน โดยเฉพาะเอกสารบรรยายส่วนที่เป็น Business processes บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของระบบไอที ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่ใช้ในองค์กรทั้งหมด

เราเริ่มด้วยทำความเข้าใจกับ Zachman Framework for Enterprise Architecture ซึ่งถือว่าเป็นกรอบแนวคิดของการทำสถาปัตยกรรมองค์กรชุดแรก Zachman Framework แนะนำให้แบ่งรายละเอียดการบรรยายสถาปัตยกรรมขององค์กร (Architectural description) เป็นเรื่อง ๆ (Description) ที่เหมาะกับความต้องการใช้งานของแต่ละบุคคล (Stakeholder)  โดยให้แบ่งเนื้อเรื่องเป็น 6 เรื่องประกอบด้วย  (1) Data (What) (2) Function (How) (3) People (Who) (4) Network (Where) (5) Time (When)  และ (6)  Motivation (Why)
ในอีกมิติหนึ่ง คือมิติเกี่ยวกับคนใช้ข้อมูล  Zachman กำหนดให้มี 6 กลุ่มได้แก่ (1) ผู้วางแผน (Planner) (2) เจ้าของ (Owner) (3) ผู้ออกแบบ (Designer) (4) ผู้ก่อสร้าง (Builder) (5) ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) และ (6) ตัวองค์กรในฐานะผู้ใช้ (Enterprise)  
Zachman Framework จึงถือได้ว่าเป็นข้อแนะนำการจัดหมวดหมู่เพื่ออธิบายส่วนประกอบสถาปัตยกรรมองค์กรออกเป็น 36 ชนิด (6 เรื่องคูณ 6 กลุ่มผู้ใช้)  ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูล (Data) สำหรับ Planner หรือ Owner นั้น อาจสนใจเพียงแค่ชื่อข้อมูล (Entity) เช่น ชื่อลูกค้า ชื่อสินค้า สถานที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ฯลฯ ในเรื่องเดียวกันนี้ สำหรับนักออกแบบ อาจสนใจรายละเอียดในระดับ Entity Diagram  สำหรับโปรแกรมเมอร์หรือ Builder อาจสนใจข้อมูลระดับตารางข้อมูลประกอบด้วย Rows/Columns และสำหรับผู้ใช้อาจสนใจว่าต้องใช้ระบบฐานข้อมูลชื่ออะไร  กล่าวโดยสรุป Zachman ชี้ให้เห็นว่าเรื่องแต่ละเรื่องสามารถนำเสนอด้วยวิธีแตกต่างกันขึ้นอยู่ที่มุมมองของผู้ที่สนใจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder)

จากนั้น เราได้พูดถึงกรอบมาตรฐาน IEEE 1471 ที่แนะนำว่าการกำหนด Architectural Description สถาปัตยกรรมระบบใด ๆ แทนที่จะกำหนดเนื้อเรื่องและผู้ใช้แบบตายตัวตามข้อแนะนำของ  Zachman framework ควรให้ความเป็นอิสระแก่สถาปนิก โดยแนะนำให้ใช้หลักของความข้อสนใจหรือข้อกังวล (Concerns) ของผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) คือพูดกันง่าย ๆ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ 36 เรื่อง จะน้อยจะมากให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสถาปนิก และให้เรียกแต่ละเรื่องที่กล่าวเป็น “View” ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นแผ่นพิมพ์เขียวหนึ่งชนิดของสถาปัตยกรรมนั่นเอง โดย IEEE 1471 แนะนำว่าในการตอบตอบโจทย์ (Concerns) ของผู้มีส่วนได้เสียนั้น แต่ละเรื่องมีได้มากกว่าหนึ่งวิว คือประกอบด้วยรายงาน Description และ Models ได้หลายรูปแบบ เช่น Data model, Business process model ฯลฯ  เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกวิว  IEEE 1471 กำหนดให้มีแนวคิดของ Viewpoint โดยถือว่า Viewpoint เป็น Pattern หรือข้อกำหนดกฎกติกาของการสร้างวิวนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า Zachman Framework ไม่ได้กำหนดวิธีการ (Methodology) และขั้นตอน (Processes) ในการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร เพียงแต่แนะนำการจัดกลุ่มนำเสนอเนื้อหาของสถาปัตยกรรมเท่านั้น ในขณะที่ IEEE 1471 ก็เป็นเพียงมาตรฐานเพื่ออธิบายสถาปัตยกรรมในรูปของ Views และ Viewpoints  เวลาทำงานจริงนั้น สถาปนิกจำเป็นต้องมีขั้นตอน และต้องใช้เครื่องมือ (Tools) ช่วยการออกแบบแผ่นพิมพ์เขียวด้วย ในบรรดาเครื่องมือเพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรทั้งหลาย เครื่องมือหนึ่งที่มีคนนิยมมากคือเครื่องมือที่เรียกว่า “Archi”  เครื่องมือชุดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานด้วยภาษาภาพที่ชื่อว่า “ArchiMate”  ทั้ง Archi และ ArchiMate ถูกนำมาใช้กับวิธีการและขั้นตอนสร้างสถาปัตยกรรมแบบ TOGAF (The Open Group Architecture Framework)  ArchiMate และ TOGAF ต่างเป็นผลผลิตที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ The Open Group Consortium องค์กรที่ไม่หวังกำไร ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีไอที ประกอบด้วยบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 450 บริษัท
ก่อนที่จะอธิบายเรื่องเครื่องมือ Archi และภาษาภาพ ArchiMate จำเป็นต้องพูดถึง TOGAF เพียงพอที่จะทำให้รู้ว่าวิธีการและขั้นตอนการทำสถาปัตยกรรมองค์กรนั้นมีวิธีและมีขั้นตอนอย่างไร และเครื่องมือ Archi และภาษา ArchiMate ควรนำมาใช้ในโอกาสใด

2.3   The Open Group Architecture Framework (TOGAF)
TOGAF แบ่งสถาปัตยกรรมองค์กรออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
1.         Business architecture เป็นส่วนที่บรรยายกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของธุรกิจที่นำสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์
2.         Application architecture เป็นส่วนบรรยายลักษณะการออกแบบของกลุ่ม Applications ตลอดจนพรรณนาเกี่ยวกับวิธีทำงานร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่าง Applications
3.         Data architecture เป็นส่วนบรรยายรูปแบบการจัดทำฐานข้อมูลและวิธีการเข้าถึงฐานข้อมูล
4.         Technical architecture เป็นส่วนบรรยายระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่รองรับการทำงานของกลุ่ม Applications และระบบฐานข้อมูล ตลอดจนรองรับการทำงานปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบงานและคนทำงาน
TOGAF มีส่วนสำคัญที่เรียกว่า Architecture Development Method (ADM) เป็นส่วนที่กำหนดขั้นตอนการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร สถาปนิกอาจใช้ Zachman Framework เป็นตัวกำหนดชนิดของข้อมูลหรือแผ่นพิมพ์เขียว แล้วอาศัย TOGAF เป็นขั้นตอนสร้างสถาปัตยกรรมได้ โดย TOGAF กำหนดให้มีทั้งสิ้น 8 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.         Phase A: Architecture Vision
งานที่ต้องทำในขั้นที่ 1 หรือ Phase A เป็นการบอกเจตนาและความต้องการของการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร ผลลัพธ์จากขั้นที่ 1 มีลักษณะเป็น Request for Architecture Work ประมาณการงบประมาณที่ต้องใช้ กำหนดเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน้าที่รับผิดชอบ ประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข รวมทั้งอุปสรรค์และข้อกังวล ที่สำคัญต้องบันทึก Baseline และ To-be ของสถาปัตยกรรมองค์กรที่คาดหวังเป็นภาพกว้าง ๆ
2.         Phase B: Business Architecture
ผลจากงานใน Phase A  ถูกนำมาขยายผลเป็นรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวกับ Business Architecture ทำความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างธุรกิจปัจจุบันและของใหม่ วิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจ Business model ปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการทำ Gap Analysis ระหว่างระบบงานปัจจุบันกับระบบงานที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับ Business Architecture
3.         Phase C: Information Systems Architecture
งานใน Phase C เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบรรยายคุณลักษณะของ Data Architecture และ Application Architecture ประกอบด้วยขั้นตอนเช่นการออกแบบคุณลักษณะของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Logical data models) กำหนดประเด็นสำคัญ ๆ เช่นความปลอดภัยของการใช้ข้อมูล ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และเรื่องที่เกี่ยวกับ Performance ของการใช้ข้อมูล และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง Business processes
4.         Phase D: Technology Architecture
ผลจาก Phase C ถูกนำไปออกแบบข้อกำหนดความต้องการของระบบโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่จะสนับสนุนการทำงานภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กร
5.         Phase E: Opportunities and Solutions
งานในขั้นนี้ เป็นเรื่องของการทบทวนและเลือกวิธี Implement โครงการให้ได้ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด และใช้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด เป็นการศึกษาข้อดีข้อเสียของวิธี Implement หลาย ๆ รูปแบบ ที่สำคัญ ต้องกำหนด Priority ว่าอะไรควรทำก่อนและหลัง ควรพิจารณาจากปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขก่อน
6.         Phase F: Migration Planning
เป็นกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับงานใน Phase E Opportunities and Solutions เป็นการวางแผนการทำงานภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กรชุดใหม่ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงานที่ต้องทำ เอกสารที่ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นพิมพ์เขียวมักจะเป็นตารางเวลาทำงาน เช่น Gantt Chart
7.         Phase G: Implementation Governance
งานใน Phase G เป็นเรื่องการจัดลำดับการทำงานของโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กรชุดใหม่ ประเด็นที่ให้ความสำคัญคือเงื่อนไขการรับมอบงาน และประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการรวมทั้งมาตรการแก้ไขต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย ตลอดจนสร้างความพร้อมในการทำงานภายใต้สถาปัตยกรรมองค์กรชุดใหม่ด้วย
8.         Phase H: Architecture Change Management
เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับปรุงเอกสาร ข้อกำหนด และ Models ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้งานสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรทุกขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น

เป็นที่สังเกตว่าการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรไม่ใช่เป็นงานครั้งเดียว แต่เป็นงานที่มีวงจร (Cycle) ปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นระยะ ๆ ตามความจำเป็น งานทุกขั้นตอนจะสร้างแผ่นพิมพ์เขียว (Artifacts) อธิบายรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมองค์กรเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับคนที่เกี่ยวข้องซึ่งแตกต่างกันตามความรับผิดชอบ รายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรตามวิธีการของ TOGAF สามารถอ่านได้จากเอกสารและตำราเกี่ยวกับ TOGAF ได้

ในบทความตอนต่อไป จะอธิบายภาษาภาพ ArchiMate และเครื่องมือ Archi เพื่อการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร

4 comments:

  1. เรียนถามอาจารย์ ผมอยากได้หนังสือไว้ศึกษาเรื่อง EA จะต้องใช้ใน thesis และคิดว่าจะพยายามเอามา implement ในที่ทำงาน ขอคำแนะนำจากอาจารย์ว่าเล่มไหนน่าสนใจด้วยครับ

    ReplyDelete
  2. ขอโทษครับที่ตอบช้า บทความ EA ค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้ แต่หนังสือที่ขอแนะนำมี 2 เล่มคือ Enterprise Architecture at Work โดย Marc Lankhosrst et al และ Building Enterprise Architecture โดย TJ Parro and Jim May ครับ ห่าได้จาก Amazon.com

    ReplyDelete
  3. เป็นบทความภาษาไทยที่ดีมากครับ แจกแจงแต่ละทฤษฎีได้อย่างเรียบง่าย
    ปัญหาการนำไปใช้จริง คือเวลาทำจริงมักเป๋ครับ ถ้าไม่มีคนที่เข้าใจจริงว่าแต่ละขั้นทำไปเพื่ออะไร
    แล้วที่ได้มาใช่สิ่งที่ควรจะได้หรือไม่ ทำให้เสียเวลามาก .. ได้กลับมาอ่านทฤษฎีเป็นภาษาไทยทำให้เข้าใจได้มากขึ้น สำหรับคนที่ไม่แตกฉานภาษาอังกฤษมากนัก ขอขอบพระคุณมากๆครับ

    ReplyDelete
  4. ขอบพระคุณสำหรับความรู้ที่อาจารย์ได้แบ่งปันค่ะ ช่วยเรื่องการทำงานของหนูได้มากเลยค่ะ

    ReplyDelete