Friday, September 13, 2013

อิทธิพลของบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ตอนที่ 5



             บังเอิญมีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง “The New Digital Age: Reshaping the Future of People, Nations, and Business” เขียนโดย Eric Schmidt, Executive Chairman ของ Google และ Jared Cohen, Director, Google Ideas  พบว่ามีบางตอนที่สนับสนุนสิ่งที่กำลังเขียนในบทความชุดนี้เป็นอย่างดี เลยขออนุญาตแปลและเรียบเรียงบางตอนที่เกี่ยวข้องมาให้อ่านก่อน เพื่อจะได้ช่วยตอกย้ำความสำคัญของบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และช่วยยืนยันว่าเหตุใดธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใดจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในยุคที่การแข่งขันไม่ได้จำกัดเพียงในโลกกายภาพที่เราคุ้นเคย และในโลกเสมือนใบใหม่ที่หลายคนยังไม่รู้จัก

อินเทอร์เน็ตกำลังพาโลกไปไหน
อินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ไม่กี่ชนิดที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เริ่มต้นจากเป็นเพียงแค่วิธีสื่อสารข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ บัดนี้ได้กลายมาเป็นช่องทางให้คนเราแสดงออกถึงพลังและความคิดในทุก ๆ ด้านและในทุกแง่ทุกมุม จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งไม่มีคนสนใจมากนัก หลังจากผ่านกระบวนเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่สลับซับซ้อนที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลมากทั่วพื้นโลก อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นที่เกิดของสิ่งดีงามและเป็นประโยชน์มากมาย พอ ๆ กับสิ่งเลวร้ายที่คาดไม่ถึง แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่พวกเราได้สัมผัสกับมันบนเวทีโลกแห่งนี้และโลกใบใหม่ที่ไม่มีตัวตน
              อินเทอร์เน็ตถือได้ว่าเป็นโครงการทดสอบความเป็นอนาธิปไตย หรือทดลองอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุก ๆ นาทีจะมีคนนับร้อย ๆ ล้าน ร่วมกันสร้างสรรค์และบริโภคเนื้อหาสาระแบบออนไลน์ในปริมาณที่นับไม่ถ้วน โดยกฎหมายเกี่ยวกับเขตแดนนั้นเอื้อมไม่ถึง ความสามารถที่พวกเราแสดงออกได้อย่างอิสระ และมีเสรีภาพที่จะเคลื่อนย้ายข้อมูล  เป็นที่มาของภูมิทัศน์เสมือนจริง (Virtual landscape) ในโลกไซเบอร์ใบใหม่ที่พวกเราเริ่มจะคุ้นเคยในทุกวันนี้ ลองนึกถึงจำนวนเว็บไซท์ที่เราได้แวะเยี่ยมเยียน ปริมาณอีเมล์ที่เราส่งให้แก่กัน จำนวนวารสารและบทความที่เคยอ่านออนไลน์  คิดถึงปริมาณสิ่งที่เราได้เรียนและได้รับรู้จากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเรื่องเล่าและเรื่องโกหกที่เคยพบเป็นประจำในโลกไซเบอร์ ลองนับจำนวนความสัมพันธ์ที่พวกเราได้สร้างขึ้นกับคนทุกกลุ่ม โอกาสการจ้างงานที่ได้เกิดขึ้น รวมทั้งการสร้างความฝันที่เกิดขึ้นผ่านเวทีที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต แล้วทบทวนดูด้วยว่าการขาดการควบคุมเนื้อหาสาระจะก่อเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ตั้งแต่การหลอกลวงออนไลน์ การข่มขู่ การเกิดของเว็บไซท์ที่สร้างความเกลียดชังในสังคม ตลอดจนเกิดห้องสนทนาของผู้ก่อการร้าย ทั้งสิ่งดีงามและสิ่งชั่วร้ายต่างเป็นผลพวงของอินเทอร์เน็ต โลกใบใหม่ที่ไม่มีการปกครองและไม่มีการดูแลจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

              ในขณะที่ปรากฏการณ์ที่กล่าวข้างต้นดำเนินการขยายตัวต่อไป ความเข้าใจเรื่องทุกเรื่องในชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป ตั้งแต่เรื่องปลีกย่อยของชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องสำคัญ ๆ เช่น เรื่องเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะตัว เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยในระดับบุคคล ด้วยพลังของเทคโนโลยี อุปสรรค ที่ครั้งหนึ่งทำให้พวกเราไม่สามารถเข้าถึงกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เช่นปัญหาความแตกต่างในด้านภาษา การขวางกั้นจากภูมิประเทศ ตลอดจนข้อจำกัดอื่นที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร เริ่มจะสลายตัวไปและจะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป ผลที่ตามมาคือคลื่นลูกใหม่ที่เป็นเรื่องการสร้างสรรค์และสร้างโอกาสของมนุษย์ การใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้างกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและด้านการเมือง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้จะไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งก่อน ๆ  การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้จะมีผลกระทบต่อโลกทั้งใบอย่างทั่วถึงกัน ไม่เคยปรากฏครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่จะเหมือนครั้งนี้ ที่คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด จะมีพละกำลังหรือพลังมหาศาลที่ปลายนิ้ว ถึงแม้ปรากฏการณ์เช่นนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ก็เป็นครั้งแรกที่คนทุกคนสามารถหาสาระข้อมูลเป็นเจ้าของ หรือสร้างใหม่เอง หรือเผยแพร่ซึ่งข้อมูลข่าวสารแบบเรียวไทม์ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนกลางแต่อย่างไร

               การแพร่กระจายของเทคโนโลยีการสื่อสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะจินตนาการ ในช่วงสิบปีแรกของศตวรรษนี้ บนโลกใบนี้ จำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้นเพิ่มขึ้นจาก 350 ล้านคนเป็นกว่าหนึ่งพันล้านคน ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ จำนวนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือก็ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ามาก คือเพิ่มขึ้นจากประมาณ 750 ล้านเป็นกว่า 5 พันล้านคน เป็นการเพิ่มประมาณ 7 เท่าตัว การใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์พกพาได้กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ในบางพื้นที่อัตราการเพิ่มนั้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อถึงปี 2025 คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งถูกปิดกั้นจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเนื่องจากขาดเทคโนโลยี และภายในเพียงหนึ่งชั่วคน ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแหล่งความรู้ได้ทั่วโลกด้วยอุปกรณ์พกพาขนาดเท่าอุ้งมือ ถ้าคนเราสามารถรักษาอัตราสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีได้อย่างเช่นทุกวันนี้ ประชากรโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะมีถึง 8 พันล้านคนก็จะสามารถติดต่อกันได้ผ่านระบบออนไลน์
               จากนี้ไป สังคมทุกระดับชนชั้นจะเชื่อมต่อกันได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พวกเราจะมีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายที่แพร่กระจายไปทั่วที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าทุกวันนี้หลายเท่า ส่งผลให้คนเราเพิ่มทั้งประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และการสร้างสรรค์ในทุก ๆ ด้าน สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ฮอตสปอตไร้สายสาธารณะจะช่วยเสริมเครือข่ายความเร็วสูงในบ้านเรือน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบออนไลน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุกวันนี้ยังไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์แบบใช้สายธรรมดา สังคมทุกสังคมจะพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด จนสิ่งประดิษฐ์และสินค้าที่สร้างจากเทคโนโลยีในวันนี้จะซื้อขายเป็นของเก่าล้าสมัยในวันหน้าที่ไม่ห่างไกลจากวันนี้มากนัก เหมือนกับเครื่องโทรศัพท์หมุนที่ได้หมดยุดไปแล้ว
               ในขณะที่คนเราใช้เครื่องมือทันสมัยเหล่านี้มากขึ้น ความสามารถของอุปกรณ์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ตามกฎของมัวร์ (Moore’s Law) ไมโครชิพซึ่งถูกเป็นกระดูดสันหลังของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกชนิดจะเพิ่มความเร็วหนึ่งเท่ากันในทุก ๆ 18 เดือน ซึ่งหมายความว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ในปี 2025 จะทำงานเร็วขึ้นกว่า 64 เท่าเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่ผลิตในปี 2013 ในทำนองเดียวกัน กฎของเทคโนโลยีโทรคมนาคมได้คาดคะเนว่า ปริมาณข้อมูลที่ส่งผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงจะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวทุก 9 เดือน ถึงแม้กฎทางเทคโนโลยีที่กล่าว ในวันหนึ่งจะพบกับขีดจำกัดทางธรรมชาติก็ตาม พัฒนาการที่ไม่น่าเชื่อนี้ก็ได้ช่วยให้เราสามารถทำในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ เช่นใช้เทคโนโลยีประเภทกราฟิกและความจริงเสมือน (Virtual reality) สร้างสรรค์ประสบการณ์ออนไลน์ให้เหมือนจริงหรือดีกว่าได้ ตัวอย่างเช่น สามารถนั่งฟังคอนเสิร์ตของ Elvis Presley เสมือนว่า Elvis ตัวจริงได้ปรากฏตัวแสดงตัวตนเอง
เมื่อพัฒนาการการเชื่อมต่อกันด้วยไอซีทีไปเป็นอย่างรวดเร็วอย่างเช่นทุกวันนี้ บริษัทและองค์กรโดยเฉพาะรุ่นเก่า ๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้าสมัย มิฉะนั้น จะมีความเสี่ยงที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและสูญหายไปในที่สุด จะชอบหรือไม่ก็ตาม เทคโนโลยีการสื่อสารจะเปลี่ยนวิถีการดำเนินการของบริษัทและองค์กรต่อไป เราสามารถติดต่อกับคนที่อยู่ไกลโพ้นได้ และสร้างความสัมพันธ์กับคนต่างแดนต่างวัฒนธรรมที่ไม่เคยรู้จัก สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำธุรกิจร่วมกันอย่างสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สุดท้ายเราจะพบความจริงว่า แท้ที่จริงเรากำลังดำรงชีวิตและทำงานอยู่ในโลกสองใบพร้อมกัน โลกใบแรกที่เราคุ้นเคยคือโลกกายภาพ และโลกใบใหม่คือโลกเสมือนที่ช่วยให้เราเชื่อมต่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนจำนวนมากด้วยอุปกรณ์พกพาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ โลกเสมือนใบใหม่ช่วยเราให้อยู่ในโลกกายภาพใบเดิมอย่างมีคุณภาพ ถึงแม้ในบางครั้ง โลกสองใบนี้จะขัดแย้งกันบ้าง แต่อิทธิพลที่โลกทั้งสองทำหน้าที่ส่งเสริมกันและกัน จะช่วยทำให้เราพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                 บนเวทีแห่งโลกกายภาพ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการกระจายอำนาจที่ครั้งหนึ่งกระจุกอยู่แต่ในองค์การโดยเฉพาะภาครัฐ ให้ไปอยู่กับปัจเจกบุคคลหรือประชาชน ที่ผ่านมาในอดีตได้ชี้ชัดว่าพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกครั้งทุกยุคสมัยได้สร้างพลังอำนาจให้แก่คนกลุ่มใหม่ในขณะที่ลดอำนาจจากกลุ่มที่มีอำนาจกลุ่มเดิม การที่คนเรามีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและเข้าถึงช่องทางการสื่อสารได้ทั่วถึงช่วยให้เรามีส่วนร่วมมากขึ้น และช่วยให้เรามีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและคนอื่นมากขึ้น
               การเปลี่ยนถ่ายอำนาจอันเป็นผลจากความสามารถเชื่อมต่อกลุ่มคนในวงกว้างผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วไปทุกวันนี้ เทคโนโลยีด้านดิจิตอลทำให้เสียงเรียกร้องของคนส่วนหนึ่งได้ยินในวงกว้างเป็นครั้งแรก เป็นเสียงเรียกร้องที่คนอีกส่วนหนึ่งต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากอุปกรณ์พกพาราคาถูกที่เชื่อมต่อคนเหล่านี้เข้ากับชุมชนผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารคมนาคมทีกระจายทั่วทุกพื้นที่และทั่วโลก ผลที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มประจักษ์ว่าประชาชนที่เชื่อมต่อกันได้นี้ปกครองได้ยากขึ้น จากนี้ไปประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะยอมรับฟังเสียงภาคประชาชนและภาคธุรกิจอย่างจริงจัง ภาครัฐเองก็จะต้องเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ก้าวหน้านี้ให้มากขึ้น  เพื่อจะได้รับมือกับความเป็นจริงในยุคใหม่ที่รัฐต้องปกครองประชาชนโดยเน้นคุณค่าและประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
              ในที่สุด การผ่องถ่ายอำนาจไปสู่ภาคประชาชนจะนำมาซึ่งโลกที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าหรือไม่ หรือจะเป็นโลกที่เต็มไปด้วยปัญหามากกว่าปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรอดูต่อไป เพราะพวกเราต่างเพิ่งจะได้สัมผัสความเป็นจริงของโลกทั้งสองที่เชื่อมต่อกัน เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมเช่นอินเทอร์เน็ตทำให้หน้าที่รับผิดชอบของคนทุกคนเปลี่ยนไป ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชน อนาคตของพวกเราทุกคนจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของพวกเราทุกคนที่จะปรับตัวและทำหน้าที่ใหม่ของพวกเราได้ดีเพียงใด เราต่างจะปฏิเสธความเป็นจริงไม่ได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตจะอยู่กับเรา และมีอิทธิพลต่อพวกเราในทุก ๆ ด้านและตลอดไป
             ที่ผ่านมา แต่ละประเทศกำหนดนโยบายสำหรับกิจการภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อมุ่งรักษาอำนาจและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศของตัวเอง มาตรการกีดกันทางการค้าและควบคุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเป็นตัวอย่างที่ดี จากนี้เป็นต้นไป เจตนาของรัฐที่ต้องรักษาอำนาจและความมั่นคงนั้นยังคงเหมือนเดิม แต่มาตรการอาจต้องเปลี่ยน นโยบายของรัฐยุคใหม่อาจต้องมีสองชุด ชุดหนึ่งสำหรับบริหารจัดการกับโลกกายภาพใบเดิม และอีกชุดหนึ่งสำหรับโลกเสมือนใบใหม่ ในบางครั้งนโยบายของโลกกายภาพอาจคัดแย้งกับโลกเสมือน เช่นการออกกฎหมายห้ามกระทำบางอย่างในโลกไซเบอร์เพื่อรักษาความมั่นคงบนโลกกายภาพ รัฐอาจประกาศทำสงครามในโลกไซเบอร์ แต่ในขณะเดียวกันสร้างสันติภาพในโลกกายภาพ ในฐานะสถาบันภาครัฐ จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจของรัฐจากการคุกคามและความท้าทายซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อประชาชนในวงกว้าง

           สำหรับปัจเจกบุคคลนั้น การอยู่ในโลกสองใบหมายถึงการมีเอกลักษณ์หลายเอกลักษณ์ ในยุคที่มีเพียงโลกกายภาพเพียงใบเดียว คนที่มีอาชีพเป็นครู จะมีเอกลักษณ์เพียงเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ทุกคนรู้จักคนที่มีอาชีพครูเป็นครู คนที่มีอาชีพหมอเป็นหมอ คนที่มีอาชีพพ่อค้าเป็นพ่อค้า เอกลักษณ์ของตัวบุคคลค่อนข้างชัดเจน แต่ในโลกใบใหม่ที่คนทั้งโลกเชื่อมโยงกันนั้น ผู้ที่เป็นหมอได้เขียนบทความวิเคราะห์การเมืองเป็นประจำผ่านสื่อ Facebook หรือ Twitter ทำให้คนในโลกไซเบอร์รู้จักหมอผู้นี้ในฐานะนักวิจารณ์การเมือง ในขณะเดียวกันหมอผู้นี้อาจมีประสบการณ์ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และแนะนำสมาชิกในโลกไซเบอร์ผ่านสื่อสังคมอื่นในเรื่องการลงทุนด้วย คุณหมอท่านนี้เลยมีเอกลักษณ์หลายอย่าง การมีหลายเอกลักษณ์ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในด้านหน้าที่รับผิดชอบที่มีต่อสังคม ผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวบุคคลครั้งหนึ่งมีเอกลักษณ์เพียงเป็นผู้บริโภค แต่ในโลกไซเบอร์ใบใหม่ ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดคุณลักษณะของสินค้าและบริการ ผู้บริโภคกำลังเพิ่มเอกลักษณ์ในฐานะผู้ร่วมผลิต ประชาชนก็เช่นกัน เอกลักษณ์ของตัวบุคคลไม่เพียงแค่เป็นประชาชนในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มีเอกลักษณ์แบบใหม่ในฐานะร่วมกำหนดชะตาชีวิตของตนเองร่วมกับรัฐบาล ทั้งหมดนี้ทำให้แนวคิดการบริหารจัดการต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นจริง
            สำหรับองค์กรและธุรกิจนั้น ความสามารถเชื่อมต่อคนได้กว้างขวางเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย การเชื่อมโยงกับตลาดและโลกภายนอกในลักษณะเป็นเครือข่ายมาพร้อมกับความกดดันจากคนจำนวนมากที่มีความเห็นและความต้องการที่หลากหลาย ความคาดหวังจากคนกลุ่มใหญ่ ที่แตกต่างกันทั้งในบริบท ในรสนิยม และการประเมินคุณค่า ทำให้องค์กรและธุรกิจต้องเล่นบทได้หลายบท และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลในหลาย ๆ ด้าน นั่นหมายถึงว่า องค์กรและธุรกิจจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ต้องสามารถเปลี่ยนแนวธุรกิจ หรือตรรกะทางธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่เพียงแค่นี้ โลกแห่งการเชื่อมต่อยังนำมาซึ่งคู่แข่งรายใหม่ ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มาด้วยนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่องค์กรและบริษัททั้งหลายจะปฏิเสธไม่ได้ แต่ต้องรีบเรียนรู้และทำความเข้าใจที่จะปรับตนเองให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีธุรกิจที่ครอบคลุมอยู่บนโลกทั้งสองใบดังกล่าว

ยังมีต่อนะครับ

No comments:

Post a Comment