Friday, June 28, 2013

Cloud Maturity Model ตอนที่ 3



ในบทความเกี่ยวกับ Cloud Maturity Model สองตอนแรกได้พูดถึงความสำคัญของ Cloud Maturity Model และนำเสนอกรอบความคิดการพัฒนาความสามารถการใช้คลาวด์เป็น 5 ขั้น คือกำหนดเป็นหลักไมล์ 5 ระดับ และกำหนดให้มีการประเมินความสามารถการใช้ Cloud Computing ใน 4 ด้าน เราได้พูดไปแล้ว 2 ด้าน ได้แก่ด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีที และด้านระบบงานประยุกต์ หรือ Applications  ตอนใหม่นี้จะพูดส่วนที่เหลืออีก 2 ด้าน ได้แก่ด้านกระบวนการจัดการไอที หรือ IT Business Processes และด้านรูปแบบงบประมาณเพื่อไอที หรือ Financial model

3.          วุฒิภาวะองค์กรด้านคลาวด์ส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดการไอที (IT Business Processes)
ความสามารถการจัดการบริการไอทีในองค์กร ตลอดจนการจัดกระบวนการให้บริการและการบริหารจัดการทรัพยากรไอที เพื่อให้ผู้ใช้ไอทีมีความสะดวกและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างการให้บริการไอทีจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์รูปแบบเดิม กับการให้บริการผ่าน Cloud computing ความแตกต่างกันนั้นมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์โดยรวม องค์กรที่มีแผนจะใช้บริการ Cloud computing จึงจำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการจัดการและให้บริการไอทีที่สอดคล้องกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักไมล์ 5 ระดับดังนี้

3.1.      ระดับที่ 1  ระดับเริ่มต้น (Traditional) ยังเป็นระดับบริหารทรัพยากรไอทีโดยพนักงานของศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กร การจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ไอทีขึ้นอยู่กับโครงการของผู้ใช้เป็นหลัก กระบวนการให้บริการแก่ผู้ใช้ยังคงเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและคำนึงถึง Up-time ของอุปกรณ์เป็นหลัก เพื่อไม่ให้งานต้องหยุดชะงัก
3.2.      ระดับที่ 2  ระดับที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเสมือน (Visualization) ในระดับนี้องค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ไอทีอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่พิจารณาประสิทธิภาพตามโครงการเหมือนแบบเดิม แต่เป็นประสิทธิภาพในองค์รวม เริ่มให้ความสำคัญกับความสามารถของระบบงานและอุปกรณ์ที่รองรับความต้องการของระบบงานตามยุทธศาสตร์ สามารถรับปริมาณงาน มากน้อยตามความเป็นจริง เริ่มนำเทคโนโลยีเสมือนมาใช้สนับสนุนการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรไอที
3.3.      ระดับที่ 3 ระดับแยกตัวเป็นอิสระ (Abstracted) ในระดับนี้ องค์กรเริ่มกำหนดให้ไอทีเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ และสามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม เริ่มให้ความสำคัญกับ Up-time ของโครงสร้างพื้นฐานไอทีและระบบงานอย่างจริงจังโดยนำระบบจัดการ SLA (Service Level Agreement) มาใช้กับระบบงานที่เป็น Mission critical application และเริ่มเปิดให้ผู้ใช้มีอิสระในการจัดสรรทรัพยากรไอทีมากน้อยตามความต้องการด้วยตนเอง
3.4.      ระดับที่ 4 เป็นระดับมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในระดับนี้ องค์กรเริ่มมีมาตรการจัดสรรและใช้ทรัพยากรไอทีมากน้อยตามความต้องการโดยอัตโนมัติ บางโครงการหรือบางระบบงานเริ่มเคลื่อนย้ายไปใช้บริการคลาวด์ของ ศูนย์บริการภายนอก การใช้ระบบไอทีเริ่มเชื่อมโยงกับระหว่าง Application modules และ components ตามตรรกะของการทำงาน และเป็นอิสระกับระบบโครงสร้างพื้นฐานใด ๆ  คลาวด์เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ (Ecosystem) ของธุรกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบธุรกิจ
3.5.      ระดับที่ 5 เป็นระดับเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimized) ในระดับนี้งานไอทีเริ่มกระจายไปอยู่กับคลาวด์หลาย ๆ ระบบ ทั้งคลาวด์ส่วนตัวขององค์กร และคลาวด์ของศูนย์บริการภายนอก การบริหารจัดการ และกระบวนการให้บริการไอทีแก่ระบบงานต่าง ๆ เป็นอัตโนมัติมากขึ้น ระบบงานต่าง ๆ เริ่มจะถูกขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ (Business processes) ที่มีความยืดหยุ่นและมีพลวัตในการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ของการแข่งขันในตลาด การให้บริการอย่างยืดหยุ่นเป็นหัวใจสำคัญ และการบริหารจัดการไอทีอยู่บนพื้นฐานข้อตกลง SLA

4.          วุฒิภาวะองค์กรด้านคลาวด์ส่วนที่เกี่ยวกับรูปบบงบประมาณ (Financial model)

4.1.      ระดับที่ 1  ระดับเริ่มต้น (Traditional) งบประมาณส่วนใหญ่ยังเป็นงบประมาณด้านใช้จ่ายของศูนย์คอมพิวเตอร์แบบเดิม ๆ ประกอบด้วยเงินเดือนพนักงานของศูนย์ไอที ค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ ค่าเสื่อมราคาด้านฮาร์ดแวร์ และค่าบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในระดับนี้ องค์กรยังต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีเป็นอย่างมาก
4.2     ระดับที่ 2  ระดับที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเสมือน (Visualization) ถึงแม้องค์กรจะเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีเสมือน แต่ก็ยังไม่ได้เฉลี่ยค่าใช้จ่ายมากน้อยตามการใช้จริง กล่าวคือ การลงทุนในด้าน Visualization ยังเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนกลาง การลงทุนและการคิดต้นทุนยังคงมีลักษณะเดิม อย่างไรก็ตาม องค์กรเริ่มให้ความสนใจการวางแผนการใช้ไอทีตามชนิดของงาน และเริ่มมีความคิดที่จะคิดต้นทุนตามชนิดของงาน และมีมาตรการในการจัดการให้การลงทุนมีความคุ้มต่าและให้เหมาะสมกับงาน
4.3     ระดับที่ 3 ระดับแยกตัวเป็นอิสระ (Abstracted) ในระดับนี้ งบประมาณเริ่มจัดสรรตามความต้องการของโครงการ คือจัดตามความจำเป็นของระบบงาน และมีการวัดผลความคุ้มค่าตามเนื้องานจริง รวมทั้งมีการคำนวณค่าใช้จ่ายสอดคล้องกับคุณภาพการให้บริการ คือสอดคล้องกับ SLA  โครงการทุกโครงถูกกำหนดให้มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ และกำหนดตัวเกณฑ์เพื่อประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน
4.4     ระดับที่ 4 เป็นระดับมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในระดับนี้ องค์กรเริ่มเน้นการออกแบบระบบซอฟต์แวร์เป็นส่วน ๆ ตามกระบวนการทำงานและตามชนิดของการบริการ เพื่อนำไปสู่การคิดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริง องค์กรเริ่มอาศัยคุณสมบัติของคลาวด์เป็นเครื่องมือวัดปริมาณการใช้ทรัพยากรของงานแต่ละโครงการตามความเป็นจริง เพื่อเป็นพื้นฐานของการจัดสรรค่าใช้จ่าย เริ่มมีการใช้วิธีโอนค่าใช้จ่ายระหว่างหน่วยงาน (Charge back) จากการใช้บริการไอทีที่ให้บริการข้ามหน่วยงาน เป็นผลให้รู้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านไอทีตามความเป็นจริง
4.5     ระดับที่ 5 เป็นระดับเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimized) ในระดับนี้ค่าใช้จ่ายด้านไอทีจะอาศัยการใช้บริการคลาวด์เป็นพื้นฐานการคำนวณ ในลักษณะใช้ไอทีแบบสาธารณูปโภค ใช้มากจ่ายมาก ใช้น้อยจ่ายน้อยตามเนื้องาน องค์กรเริ่มบังคับใช้สัญญาผูกมัดผู้ให้บริการคลาวด์ ให้ร่วมรับผิดชอบในด้านความเสี่ยงจากการใช้บริการคลาวด์ รวมทั้งผูกงบประมาณค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการคลาวด์กับคุณภาพการบริการที่สัญญาไว้ตาม SLA องค์กรหนึ่ง ๆ อาจมีรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายการใช้บริการคลาวด์แตกต่างกัน เช่นคิดค่าใช้จ่ายตามปริมาณที่ใช้จริง เหมาจ่ายเป็นเดือน หรือจ่ายตามปริมาณขั้นต่ำที่จับจองไว้

จึงเห็นได้ว่า การเปลี่ยนการใช้ไอทีจากแบบดั้งเดิมมาเป็นคลาวด์คอมพิวติง ใช่ว่าจะทำได้ทันที จำเป็นต้องมีการพัฒนาความสามารถ และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งค่านิยม อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อพัฒนาให้เกิดความพร้อม มีมาตรการประเมินความพร้อมตามขั้นตอนที่จะบรรยายมาข้างต้น การสร้างความพร้อมด้านคลาวด์ตามกรอบ Cloud Maturity Model นอกจากช่วยให้องค์กรพัฒนาแนวทางใหม่เกี่ยวกับการเลือกใช้เทคโนโลยี ยังเป็นเกณฑ์ที่จะใช้เลือกคุณสมบัติของผู้ให้บริการคลาวด์ที่เหมาะสมในแต่ละระดับตามหลักไมล์ของวุฒิภาวะการใช้คลาวด์ด้วย

No comments:

Post a Comment