Sunday, April 28, 2013

Cloud Maturity Model ตอนที่ 2

ในบทความตอนที่ 1 ได้พูดถึงความสำคัญของ Cloud Maturity Model และนำเสนอกรอบความคิดที่เรียบเรียงจากบริษัท OnX[1]  โดยกำหนดหลักไมล์หรือเป้าหมายการพัฒนาความสามารถการใช้คลาวด์เป็น 5 ขั้นภายใต้การจัดการไอซีที 4 ด้าน และได้นำเสนอรูปแบบของ Maturity Model ด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีไปแล้ว ในบทความตอนที่ 2 จะนำเสนอ Maturity Model เกี่ยวกับการจัดการไอซีทีด้านที่ 2 คือระบบงานประยุกต์ หรือ Applications

2.          วุฒิภาวะองค์กรด้านคลาวด์ส่วนที่เกี่ยวกับระบบงานประยุกต์หรือแอพพลิเคชั่น
2.1.      ระดับที่ 1  ระดับเริ่มต้น (Traditional) เป็นระดับที่องค์กรเริ่มให้ความสนใจบริการคลาวด์ และอยู่ในระหว่างการเรียนรู้ ระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ใช้อยู่ในองค์กรยังเป็นแบบเดิมที่ทำงานอิงกับเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ การเชื่อมโยงทรัพยากรคอมพิวเตอร์ทั้งภายในและภายนอกยังใช้วิธีผูกกับคำสั่งโดยตรง (Hard code) ระบบซอฟต์แวร์ทำงานไม่ยืดหยุ่น และใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์อย่างสิ้นเปลือง เช่นการจับจองพื้นที่บันทึกข้อมูล ยังใช้วิธีแบ่งส่วนแบบตายตัว เป็นเหตุให้ต้องเพิ่มขนาดของอุปกรณ์เช่นหน่วยบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่องและไม่ประหยัด
2.2.      ระดับที่ 2  ระดับที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) ในระดับนี้องค์กรเริ่มทดลองใช้ระบบงานประยุกต์กับเทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) แต่งานส่วนใหญ่ก็ยังทำงานในลักษณะแบบเดิมที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยตรง ยังทำงานที่ขาดความยืดหยุ่น
2.3.      ระดับที่ 3 ระดับแยกตัวเป็นอิสระ (Abstracted) ในระดับนี้ องค์กรมีความมั่นใจในเทคโนโลยีเสมือน (Virtualization)  และเพิ่มการโอนย้ายระบบงานประยุกต์มาใช้เทคโนโลยีเสมือนมากขึ้น เริ่มทดลองใช้บริการซอฟต์แวร์จากคลาวด์ในรูป Software as a Service (SaaS) และเริ่มทดลองพัฒนาโปรแกรมผ่านบริการแบบ Platform as a Service (PaaS)  เริ่มปรับเปลี่ยนระบบจัดการระบุตัวตน (Identity management) ให้เป็นระบบที่บริหารจากส่วนกลาง ในลักษณะ Single sign-on (SSO) ด้วยเทคโนโลยีระบุตัวตนแบบเปิด (Open protocol) เริ่มพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ให้เป็น SOA มากขึ้น
2.4.      ระดับที่ 4 เป็นระดับมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในระดับนี้ องค์กรได้โอนย้ายระบบงานประยุกต์ไปใช้บริการคลาวด์มากขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ปรับปรุงให้มีโครงสร้างแบบ SOA และมีการประยุกต์ใช้ BPM เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน (Reconfiguration) ให้บริการผู้ใช้ระบบงานด้วยเทคโนโลยีเว็บและ Thin client เช่นอุปกรณ์พกพา (Mobile devices) มากขึ้น สามารถจัดการให้บริการระบุตัวตนแบบรวมศูนย์ (Federated identity management) ได้เต็มรูปแบบ
2.5.      ระดับที่ 5 เป็นระดับเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimized) ในระดับนี้งานไอทีเริ่มกระจายไปอยู่กับคลาวด์หลาย ๆ ระบบ มีทั้งคลาวด์ส่วนตัว และไฮบริด (Hybrid clouds) ทั้งคลาวด์ที่บริการด้วยตนเอง และบริการจากศูนย์บริการภายนอก  สามารถให้บริการเชื่อมโยงกับลูกค้าและพันธมิตรผ่านคลาวด์แบบบูรณาการได้ เป็นลักษณะการบริการคลาวด์แบบสมบูรณ์แบบ คือสามารถจัดสรรทรัพยากรให้แก่ผู้ใช้ตามความจำเป็นโดยอัตโนมัติ และเมื่อซอฟต์แวร์ส่วนใดทำงานเสร็จสิ้นลง ทรัพยากรที่ใช้ทั้งหมดจะถูกส่งคืนให้ส่วนกลางเพื่อจัดสรรให้งานอื่นต่อไป 

การออกแบบระบบซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติงในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) ต้องคำนึงถึงการประหยัดจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ประเด็นสำคัญคือความสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดความประหยัด การประหยัดส่วนใหญ่เกิดจากการบำรุงรักษาระบบซอฟต์แวร์ตลอดช่วงอายุการใช้งาน โดยเฉพาะการ Upgrade ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ดังนั้นระบบซอฟต์แวร์ที่จะให้บริการแบบ SaaS จึงควรมีสถาปัตยกรรมแบบ Multi-tenant คือระบบซอฟต์แวร์ชุดเดียวแต่ให้บริการคนหลาย ๆ คนในขณะเดียวกันได้ เพื่อบริการผู้ใช้ได้จำนวนมาก (Scaling) ระบบซอฟต์แวร์ถูกออกแบบให้แยกทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์หลาย ๆ ตัว (Horizontal scaling) ซึ่งต่างจากการใช้ซอฟต์แวร์แบบเดิม ที่มีการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าเฉพาะราย โดยซอฟต์แวร์แต่ละชุดจะปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Configure) 

ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ประยุกต์ผ่าน Cloud computing บางรายอาจไม่บริการลูกค้าด้วยซอฟต์แวร์แบบ Multi-tenant แต่จะใช้เทคโนโลยีเช่น Virtualization แทน โดยติดตั้งซอฟต์แวร์หนึ่งชุดต่อ Virtual Machine หนึ่งตัว ในกรณีหลังนี้ต้นทุนการดูแลรักษาระบบจะสูงกว่ามาก เมื่อมีลูกค้าจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการทำ Software Maintenance เป็นรายตัว โดยสรุปแล้ว SaaS ที่ให้บริการผ่านคลาวด์ควรมีคุณลักษณะอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1.          Multi-tenancy
Multi-tenancy เป็นสถาปัตยกรรมของซอฟต์แวร์ชุดหนึ่งที่สามารถบริการผู้ใช้ได้หลาย ๆ คน โดยผู้ใช้อยู่ต่างองค์กรและมีข้อกำหนดคุณสมบัติของระบบซอฟต์แวร์บางอย่างแตกต่างกันได้ (ผู้ใช้คนหนึ่ง ๆ เรียกว่าเป็นหนึ่ง Tenant) ผู้ใช้มีสิทธิที่จะปรับแก้คุณสมบัติของระบบซอฟต์แวร์บางอย่างได้ เช่น Business rules, หน้าตาสีสันของ User interface แต่ผู้ใช้ไม่ได้สิทธิ์ที่จะแก้ไขคำสั่งของระบบซอฟต์แวร์โดยตรงได้
2.          การเปลี่ยนรูปแบบและการปรับแต่ง (Configuration and customization)
ระบบซอฟต์แวร์ที่ให้บริการแบบ SaaS ต้องให้ลูกค้าปรับแต่งคุณลักษณะเฉพาะได้ด้วยวิธีเปลี่ยนรูปแบบ (Configuration) โดยอาศัยการเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ (Parameters)  ระบบจะเก็บรักษาค่าพารามิเตอร์ของลูกค้ารายตัวไว้  เป็นผลให้ระบบซอฟต์แวร์ทำงานแตกต่างกันตามค่าของพารามิเตอร์  ความสามารถให้บริการปรับแต่งคุณลักษณะของระบบซอฟต์แวร์นั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบให้ระบบรับพารามิเตอร์ที่หลากหลายได้
3.          ความสามารถบริการด้วยฟีเจอร์ (Features) ใหม่ ๆ (Accelerated feature delivery)
ผู้ให้บริการ SaaS มักต้องเพิ่มฟังชั่นฟีเจอร์เพื่อให้ระบบซอฟต์แวร์มีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากระบบซอฟต์แวร์ให้บริการแบบ Multi-tenant คือมีชุดเดียวแต่บริการลูกค้าได้หลาย ๆ คน การปรับเพิ่มฟังชั่นฟีเจอร์จึงทำโดยผู้ให้บริการเพียงจุดเดียว  แต่มีผลต่อผู้ใช้ทุกคน ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่ำมาก
4.          ทำงานบูรณาการด้วยโปรโตคอล (Protocols) ที่เป็นระบบเปิด (Open integration protocols)
เนื่องจากระบบซอฟต์แวร์ SaaS ถูกออกแบบไม่ให้เข้าถึงระบบฐานข้อมูลและระบบซอฟต์แวร์ของระบบงานอื่นที่เป็นพันธมิตรโดยตรงด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงปลอดภัย การทำงานบูรณาการจึงต้องทำผ่านอินเตอร์เฟซ (Interfaces) อาศัยโปรโตคอลที่เป็นมาตรฐานเช่น HTTP, REST, SOAP and JSON ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่นิยมใช้กับซอฟต์แวร์ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรม Service Oriented Architecture (SOA) และ Web Oriented Architecture (WOA) การใช้ระบบงาน SaaS ที่แพร่หลายร่วมกับการบริการอินเทอร์เน็ตและมาตรฐาน Application Programming Interfaces (API) ทำให้เกิดแนวทางพัฒนาซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่แบบผสมผสาน (Mashup)  ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ผสมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งเพื่อนำเสนอให้ผู้ใช้ข้อมูลได้ง่าย ๆ  ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการแบบ SaaS จึงให้คุณค่ามากกว่าระบบซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบด้วยวิธีเดิม

ตอนต่อไป จะพูดถึง Cloud Maturity Model ที่เกี่ยวข้องกับ  IT Business Processes และ Financial model




No comments:

Post a Comment