Saturday, November 3, 2012

คลาวด์ แพลตฟอร์มไหม่สำหรับธุรกิจ (Business Platform) ตอนที่ 2



ในบทความตอนที่แล้ว ได้พูดถึง CSMI ที่การ์ตเนอร์ชี้ให้เห็นว่า กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และได้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอซีที ที่ได้ลงทุน และกำลังลงทุน ด้วยจำนวนเงินมหาศาล ด้านศูนย์ข้อมูลทั่วโลก เพื่อยืนยันว่า คลาวด์คอมพิวติง เป็นพัฒนาการการใช้ไอซีทีครั้งใหม่ ที่นักธุรกิจจะมองข้ามไม่ได้ ความสำคัญของคลาวด์ ไม่เพียงเป็นแค่รูปแบบการใช้ไอซีทีที่ประหยัด แต่เป็นเรื่องของเวที (Platform) ธุรกิจแบบใหม่ ที่จะช่วยให้นักธุรกิจสร้างโอกาส และ Enable หรือ ช่วยให้สามารถทำธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ธุรกิจใช้คอมพิวเตอร์ในยุคแรกเพื่อประมวลผลข้อมูล ทำให้ได้ผลรวดเร็ว ถูกต้อง และเม่นยำ เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแบบ “Transactional” ทั้งหมดเน้นที่ประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร การใช้เครื่องจักรทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ไม่ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ หรือช่วยเปิดตลาดใหม่ หรือสร้างรายได้ใหม่ แต่เป็นการเสริมให้การทำงานภายในดีขึ้น รองรับธุรกิจที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เกิดความประหยัด และลดต้นทุน  งานประมวลผลแบบ Transactional มีขั้นตอนทำงานที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว เช่นงานลงบัญชี งานควบคุมสินค้าคงคลัง งานจำหน่ายสินค้า ฯลฯ  เป็นงานที่ต้องการความแม่นยำ มีความถูกต้องสูง และเป็นงานที่ต้องคำนึงถึงการไม่รั่วไหลข้อมูลทางการค้าสู่ภายนอก ดังนั้น ธุรกิจจึงนิยมใช้ทรัพยากรไอซีทีของตัวเอง คือใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลผ่านศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กรเอง ดังแสดงไว้ในรูปสี่เหลี่ยมซ้ายล่างสุดของภาพข้างล่าง

                
Interactional
ใช้เทคโนโลยี Web 2.0 เพื่อการทำงานแบบร่วมมือกัน ระหว่างพนักงานขององค์กร เน้นให้พนักงานมีส่วนร่วม
ใช้บริการคลาวด์จากภายนอก ในลักษณะ Interactional กับลูกค้า และพันธมิตร เป็นการใช้ไอซีทีแบบเครือข่าย สร้างโอกาสใหม่ได้

Transactional
ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล เป็นการประมวลผลข้อมูลจากรายการทางธุรกิจ (Transactions) เช่นระบบ ERP, SCM, CRM, ฯลฯ
ใช้ไอซีที จากศูนย์บริการคลาวด์ สำหรับทำงาน Transaction processing นำไปสู่การประหยัด

 บริหารทรัพยากรไอทีภายใน
บริหารทรัพยากรไอทีจากภายนอก
                  
                                                                            
       ยุคที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากขึ้น ในฐานะของช่องทางสื่อสารใหม่ขององค์กร กอร์ปกับได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในกลุ่มสื่อสังคมแบบใหม่ ที่เป็นสื่อสองทาง (Web 2.0) การใช้คอมพิวเตอร์และไอซีที ได้ขยายงานจากเดิมเพียงแค่ Transactional เพิ่มด้วยงานประเภท Interactional คือให้พนักงานทำงานปฎิสัมพันธ์แบบออนไลน์ ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม และให้ทำงานร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างพนักงาน  ในระยะเริ่มต้น การทำงานร่วมกัน จำกัดอยู่ภายในองค์กร ยังไม่ได้ขยายสู่การมีส่วนร่วมกับกลุ่มลูกค้าและพันธมิตร ระบบส่งเสริมการทำงานร่วมกันด้วยอินเทอร์เน็ตและ Web 2.0 ยังเป็นระบบไอซีทีที่อยู่ในกำกับดูแลของศูนย์คอมพิวเตอร์ ดังที่แสดงในส่วนบนด้านซ้ายของภาพข้างต้น ผลที่ได้ ก็ยังจำกัดอยู่เพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใน เนื่องจากการมีส่วนร่วมยังจำกัดอยู่ในกลุ่มทรัพยากรขององค์กร ไม่ถึงขั้นเปิดกว้าง เชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกที่มีทรัพยากรหลากหลายมหาศาล ยังไม่ได้ใช้ไอซีทีเชื่อมโยงกับตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งสร้างความแตกต่าง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานภายในองค์กร จำแนกเป็นกลุ่มการทำงาน เช่น
1)         ทำงานร่วมกันในระดับรายการธุรกรรม (Transaction)  เช่นพนักงานในโรงงาน ช่วยพนักงานขายตรวจสอบสถานภาพการผลิตสินค้า ตามใบสั่งซื้อ เพื่อยืนยันวันส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า หรือฝ่ายการเงินช่วยตรวจสอบสถานภาพด้านหนี้สินของลูกค้าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ความร่วมมือกันในระดับนี้ เป็นลักษณะการร่วมมือกันข้ามหน่วยงาน เพื่อเน้นการบริการลูกค้า และสร้างความพอใจให้ลูกค้าเป็นหลัก เรานิยมเรียกการทำงานร่วมกันลักษณะนี้ว่า เป็นงานทลายไซโล (Silo)
2)            ทำงานร่วมกันในระดับบุคคลเกี่ยวกับข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานตามหน้าที่ เช่น พนักงานขายคนใหม่ต้องการรู้ข้อตกลงและเงื่อนไขผูกพันบริษัท ที่พนักงานงานคนเก่าที่ลาออกไปแล้ว ได้ทำกับลูกค้า หรือพนักงานการตลาดต้องการรู้ระเบียบว่าด้วยสวัสดิการพนักงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือพนักงานบัญชีต้องการรู้วิธีใช้ระบบซอฟต์แวร์ชุดใหม่
3)            ทำงานร่วมกันในระดับกลุ่ม ร่วมกันแก้ปัญหา หรือร่วมกันทำงานเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เช่นวิศวกรคนหนึ่ง ช่วยชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาการซ่อมแซมเครื่องยนต์ จากประสบการณ์ของตน ร่วมกับวิศวกรคนอื่น ๆ หรือเจ้าหน้าที่แผนกออกแบบสินค้าร่วมกันแสดงความคิดเห็น และระดมสมองเกี่ยวกับการออกแบบสินค้ารายการใหม่

              มาในบัดนี้ คลาวด์คอมพิวติงได้กลายเป็นตัวเลือกสำคัญ สำหรับการจัดการไอที (IT Management)  เป็นตัวเลือกใหม่ของการ Outsource การใช้ไอซีที การทดลองใช้บริการคลาวด์มักจะเริ่มจากย้ายงานประเภท Transactional บางส่วน จากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กร ไปสู่ศูนย์บริการคลาวด์ภายนอก ตามที่แสดงในช่องขวาล่างของภาพข้างต้น การเลือกใช้บริการคลาวด์เช่นี้ ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอื่นใด นอกจากเปลี่ยนจากรูปแบบลงทุนในสินทรัพย์ มาเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งนำไปสู่การประหยัด และลดระดับของความสับสนวุ่นวาย ที่ต้องบริหารจัดการเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ที่นับวันจะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แลกกับความเสี่ยงอันเนื่องจากไปฝากการจัดการไอทีให้แก่องค์กรภายนอก ที่เราไม่มีสิทธิที่จะไปดูแลควบคุมได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน การใช้บริการคลาวด์ในรูปแบบ (Service model) IaaS, PaaS, และ SaaS จะให้ประโยชน์เพียงแค่เป็นรูปแบบใหม่ของ Outsourcing ที่ไม่ได้สร้างคุณค่าในทางธุรกิจที่แท้จริง ทั้งคุณค่าของลูกค้า คุณค่าของพันธมิตร และคุณค่าขององค์กรเอง

              คุณค่าการใช้คลาวด์จะเกิดขึ้นจริง เมื่อธุรกิจเริ่มมีกลยุทธ์ที่จะขยายงานไปสู่ช่องที่ปรากฎอยู่ด้านขวาบนของภาพข้างต้น เป็นงานประเภท Interactional ผ่านเครือข่ายภายนอก เชื่อมโยงกับลูกค้า ชุมชน ตลาดและพันธมิตร การบริการคลาวด์ IaaS, PaaS, และ SaaS จะกลายเป็น Platform สำหรับทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ที่มีพลังมาก สนับสนุนหลักการการธุรกิจใหม่ในยุคที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเน้นการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการสร้างคุณค่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง กลยุทธ์ของธุรกิจที่กล่าวต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับบุคคลภายนอก สนับสนุนให้บุคคลภายนอกมีส่วนร่วมในลักษณะการร่วมกันสร้างคุณค่า (Value co-creation) ที่สำคัญที่สุด คือต้องสามารถสนับสนุนให้ลูกค้าสร้างคุณค่าให้ตัวเองในบริบทต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับ “Cloud Computing” แบบออนไลน์ เมื่อค้นพบเล่มที่คิดว่าตนสนใจ จึงสั่งซื้อพร้อมชำระเงินผ่านออนไลน์เรียบร้อย (ลูกค้ามีความพอใจ ในบริบท (Context) ณ ขณะที่ต้องการซื้อหนังสือ) ต่อมา เมื่อลูกค้าได้รับหนังสือแล้ว และพบว่า หนังสื่อที่ได้ซื้อนั้น เนื้อหาสาระไม่ได้ครอบคลุมตามที่สนใจ (ผิดหวัง) ต้องการขายหนังสือเล่มดังกล่าว และสั่งซื้อเล่มใหม่ที่เหมาะสมกว่า (ลูกค้าเปลี่ยนบริบท (context) ใหม่) ผู้ขายต้องพยายามหาวิธีช่วยให้ลูกค้าสร้างคุณค่า (ในบริบทใหม่นี้ คือหาผู้ซื้อเล่มเก่า และซื้อเล่มใหม่) ถ้าต้องการให้ลูกค้าพอใจ (Experience ที่ดี) ระบบออนไลน์ขายหนังสือ ต้องถูกออกแบบให้ทำหน้าที่สร้างความพอใจให้ลูกค้า ในบริบทต่าง ๆ ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างของงานที่ต้องใช้วิธีปฎิสัมพันธ์ (Interaction) เกี่ยวกับการบริการลูกค้า สนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละบริบท เป็นงานของการเชื่อมโยงกันแบบเครือข่าย ที่แตกต่างกับระบบซื้อขายสินค้าแบบ Transactional ที่ได้กำหนดขั้นตอนล่วงหน้า ระบบงานที่เป็น Interactional ตามตัวอย่างนี้  มีความไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดขั้นตอนตายตัวล่วงหน้า (ไม่สามารถคาดเดาบริบทของลูกค้าล่วงหน้า)  และต้องพึ่งพาคนภายนอกที่จะเข้ากระบวนการ Co-creation of value  งานลักษณะนี้ เป็นงานที่เหมาะกับการใช้บริการคลาวด์ หรือผู้อีกนัยหนึ่ง การบริการคลาวด์มีศักยภาพสูงที่จะสนับสนุนการทำงานเป็นเครือข่าย และมีลักษณะปฎิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาส และสร้างคุณค่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องงที่แตกต่างจากเดิม คลาวด์คอมพิวติงกลายเป็นเวที หรือ Platform สำหรับรองรับการทำธุรกรรมลักษณะเช่นว่านี้ได้ ฟังดูคล้ายกับ รูปแบบบริการของ amazon.com ไหมครับ ใช่ แน่นอน เราต้องการขยายโอกาสลักษณะนี้ไปสู่ SMEs และธุรกิจอื่น  เพื่อสามารถทำธุรกรรมรูปแบบคล้าย amazon.com ผ่านบริการคลาวด์ โดยไม่ต้องลงุทนและวุ่นวายกับเรื่องยาก ๆ ทางเทคนิค

ตอนต่อไป เราจะเริ่มเจาะลึกในลักษณะ how to มากขึ้นของ Cloud as a Business Platform (CaaBP)

No comments:

Post a Comment