พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยุคแรก เป็นการทำธุรกิจออนไลน์บนพื้นฐานของแนวคิด หรือ Mindset แบบเดิม ที่ John Hagel III, Brown และ Davison เขียนในเรื่อง The Power of PULL ว่า เป็นการทำธุรกิจแบบ PUSH ธุรกิจเชื่อว่าเขารู้ความต้องการของผู้บริโภคดี จึงได้พยากรณ์ความต้องการล่วงหน้า วางแผนการผลิต แล้วทำการผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ต้นทุนต่ำ (Economies of scales) จากนั้น จะวางแผนการตลาด เพื่อ “Push” สินค้าที่ผลิตได้ให้ผู้บริโภค มองผู้บริโภคเป็นลูกค้าแบบ Passive คือไม่มีบทบาทใด ๆ ในกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน ผู้ผลิตเพียงแค่ทำโฆษณาชวนเชื่อ ลูกค้าก็จะซื้อ ผู้ผลิตจะคิดแทนผู้บริโภคทุกเรื่อง นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการจัดจำหน่าย รวมทั้งการบริการหลังการขาย โดยกำหนดบทบาทผู้ที่เข้าร่วมในห่วงโซ่คุณค่าเบ็ดเสร็จ ด้วยแนวคิดนี้ ธุรกิจจะทำกิจกรรมภายในวงจำกัดมาก ถึงแม้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เพียงใด ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องก็ยังอยู่ในวงจำกัด John Hagel III และคณะบอกว่า ด้วยอิทธิพลของไอซีที ธุรกิจจะเริ่มเข้าสู่ยุค PULL ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดเดิมเกือบทุกเรื่อง เริ่มด้วยผู้บริโภคกลายเป็นลูกค้า Active ที่จะมีส่วนร่วมเกือบทุกเรื่องภายในห่วงโซ่คุณค่า ผู้บริโภคจะเป็นผู้กำหนดความต้องการที่แท้จริง ด้วยข้อมูลและความรู้ที่รับฟังจากเพื่อน ๆ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถครอบงำความคิดของผู้บริโภคได้อีกต่อไป เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป เราต้องกลับมาวิเคราะห์แนวคิดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี (The Three Phases of Changes) ของ Carlota Perez ในยุคปัจจุบันดังนี้
ในช่วงที่ 1 นวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยี ประกอบด้วย Mobile Computing, Social Media และ Cloud Computing ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจจากนี้ไป ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่เริ่มมีผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งระบบมีสายและไร้สาย และการบริการแบบ Cloud computing และในช่วงที่สาม หรือ Phase 3 นั้น เรากำลังหาหนทางใช้เทคโนโลยีไอซีทีใหม่ ๆ ที่กล่าวข้างต้นให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด เทคโนโลยีไอซีทียุคใหม่ส่งเสริมให้คนในสังคมเชื่อมโยงกัน (Connect) มีส่วนร่วม (Participate) และ ทำงานร่วมกัน (Collaborate) ลักษณะเช่นนี้ มีผลต่อการพัฒนาการธุรกิจออนไลน์ คือการทำให้ eCommerce แนวใหม่ที่อาศัยแนวคิดของ PULL
John Hagel III และคณะ ให้ตัวอย่างความแตกต่างระหว่าง PUSH กับ PULL ดังนี้
- PUSH มองว่าทรัพยากรของธุรกิจมีจำกัด จึงต้องมีมาตรการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิผล ถ้าต้องการมีทรัพยากรมาก เราต้องทำให้ขนาดขององค์กรโตขึ้น บริษัทยิ่งใหญ่ ยิ่งจะมีทรัพยากรมาก ยิ่งทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน
- PULL มองว่าทรัพยากรมีอยู่รอบด้าน ไม่จำกัด จึงต้องหาทางบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรจากภายนอก เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น องค์กรจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ของการแข่งขัน แต่เราต้องสร้างสมรรถนะเพื่อการทำงานร่วมกัน และใช้ทรัพยากรจากภายนอกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ตัวอย่างของ PUSH อาจดูได้จากการให้บริการของห้องสมุด ห้องสมุดจะคิดแทนเราในการจัดหาหนังสือ เป็นการ PUSH หนังสือที่เขาคิดว่าเราต้องการ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะสามารถตอบโจทย์ของผู้รับบริการได้เสมอ ในทางตรงกันข้าม การบริการ Google Search เป็นตัวอย่างบริการแบบ PULL เพราะมีความรู้ไม่จำกัดใน World Wide Web เพียงแค่สืบค้นจาก Google เราก็ได้บทความ หนังสือและความรู้ที่ต้องการ เป็นการ PULL ทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไป ที่มีไม่จำกัด
PULL จึงหมายถึงความสามารถที่จะดึงทรัพยากรที่ต้องการจากที่ต่าง ๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการทำกิจกรรม ตามสถานการณ์และโอกาส John Hagel III และคณะ กล่าวว่า การ PULL ทรัพยากรที่มีหลากหลายจากรอบด้านนั้น ทำได้สามระดับ จากระดับพื้นฐานที่สุดคือ ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร (Access) ระดับที่สอง เป็นการดึงดูดใจผู้ที่มีทรัพยากรให้ร่วมทำประโยชน์ (Attract) และระดับที่สาม เป็นการบรรลุผลจากทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Achieve) ธุรกิจยุคใหม่ ภายใต้เทคโนโลยีไอซีที สามารถพัฒนาสมรรถนะในการ PULL จากระดับที่หนึ่งไปจนถึงระดับที่สาม อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นแนวคิดที่นำเอาทรัพยากรจากภายนอกมาเสริมให้เกิดคุณค่า แบบร่วมมือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ใช้ทรัพยากรของกันและกัน เพื่อร่วมเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นคงของธุรกิจ
OTOP เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีความโด่ดเด่นเฉพาะตัว ลำพังตัวเอง ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรทุก ๆ ด้าน ไม่อาจแข่งขันกับใครได้ นอกจากต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง แต่ด้วยแนวคิดของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบ PULL น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กได้ eCommerce แบบที่ร่วมมือกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน และนำทรัพยากรที่มีจำกัดของตัวเองมาเสริมกับทรัพยากรที่จำกัดของพันธมิตร เมื่อรวมกันมาก ๆ ตามแนวคิดแบบ PULL จะสามารถสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการที่ดี รองรับยุทธศาสตร์ด้านสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ SMEs ด้วยไอซีที ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ของกระทรวงไอซีที
เราจะกลับมาพูดถึงแนวคิด PULL ของ John Hagel III และคณะ และวิเคราะห์ว่า จะสามารถเปลี่ยนโฉมของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นรูปแบบใหม่ได้หรือไม่อย่างไรในตอนต่อไปครับ
No comments:
Post a Comment